“อนุสาวรีย์ช้างเผือก” สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของเชียงใหม่

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “อนุสาวรีย์ช้างเผือก”

อนุสาวรีย์ช้างเผือก ตั้งอยู่บริเวณข่วงช้าง ด้านหน้าสถานีขนส่งเชียงใหม่แห่งที่ 1 หรือที่คนเชียงใหม่เรียกว่า สถานีขนส่งช้างเผือก เป็นท่าขึ้นรถเพื่อเดินทางระหว่างอำเภอภายในจังหวัดเชียงใหม่ และระหว่างอำเภอไปยังจังหวัดใกล้เคียง

อนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของเชียงใหม่

จากแผ่นจารึก ณ ประตูเชียงเผือก อำเภอเมือง เชียงใหม่ จารึกข้อความว่าสร้างในสมัยพญาแสนเมืองมา กษัตริย์ลำดับที่ 9 ของล้านนาไทย ระหว่าง พ.ศ.1931-1954 โดยมหาดเล็กชื่ออ้ายออบ และอ้ายยี่ระ ซึ่งได้ช่วยเหลือพญาแสนเมืองมาโดยผลัดกันแบกพระองค์ให้พ้นอันตรายจากการโจมตีของกองทัพสุโขทัย กษัตริย์ล้านนาได้ปูนบำเหน็จมหาดเล็กทั้งสองให้เป็นที่ พวกช้างซ้ายขวา หรือขุนช้างซ้าย ขุนช้างขวา ขุนช้างทั้งสองตั้งบ้านเรือนอยู่ทางทิศใต้ของเมืองเชียงโฉม ซึ่งอยู่ทิศด้านตะวันออกของเมืองเชียงใหม่

ขุนทั้งสองได้สร้างรูปปั้นช้างเผือกไว้ด้านซ้ายขวาของประตูช้างเผือก

ต่อมาในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระเจ้ากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้สร้างรูปปั้นช้างเผือก 2 เชือกมีขนาดโตใกล้เคียงกับช้างตัวจริงพร้อมสร้างซุ้มโค้งคลุมช้างเอาไว้ให้มองเข้าไปทางด้านหัวช้าง มีกำแพงล้อมรอบบริเวณทั้ง 4 ทิศ และมีประตูเข้า-ออกได้ทาด้วยสีขาวทั้งตัวช้างและกำแพง

ช้างเชือกที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออกชื่อ “พญาปราบจักรวาล”

และช้างเชือกที่หันหน้าไปทางทิศเหนือชื่อ “พญาปราบเมืองมารเมืองยักษ์” เมื่อวันเสาร์ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 7 พ.ศ.2343 ไว้ทางหัวเวียงนอกประตูช้างเผือก และอยู่ทางฟากตะวันออกของถนนช้างเผือก

จากการสร้างอนุสาวรีย์ช้างเผือก จึงเป็นเหตุให้ในสมัยหลังชื่อประตูรอบคูเมืองทางด้านเหนือเดิมที่ชื่อว่า “ประตูหัวเวียง” เปลี่ยนชื่อเรียกเป็น “ประตูช้างเผือก”

ตามชื่ออนุสาวรีย์ในปัจจุบัน

และในช่วงเวลานี้ เจ้ากาวิละได้อพยพเทครัวชาวไทใหญ่ จากรัฐฉาน ประเทศพม่า ให้มาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณประตูช้างเผือกและประตูช้างม่อยต่อมาในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์เจ้าหลวงเชียงใหม่ลำดับที่ 7 (พ.ศ.2416-2439) ได้อพยพเทครัวชาวไทใหญ่ บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าคง (แม่นํ้าสาละวิน) แถบบ้านแม่คะตวนให้มาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณวัดป่าเป้านอกเมืองเชียงใหม่

ชาวไทใหญ่เหล่านี้ล้วนศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าจึงมีการสร้าง บูรณะเปลี่ยนแปลงวัดในเขตบริเวณนั้น รวมถึงอนุสาวรีย์ช้างเผือกด้วย

ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2443-2446 พบว่าในสมัยนั้นมีชาวมุสลิมเชื้อสายปากี-อินเดีย อีกกลุ่มชุมชนที่อาศัยร่วมกันกับกลุ่มชาวไทใหญ่ ด้วยผู้คนในเขตชุมชนกู่เต้า-ช้างเผือก-ป่าเป้า มีถิ่นกำเนิดที่มาอย่างหลากหลายทั้งชาวไทยมุสลิม ชาวไทใหญ่ คนพื้นเมืองล้านนาจึงทำให้มีการก่อเกิดวัฒนธรรมที่ผสมผสานกันอย่างแยกไม่ออก

โดยเฉพาะชาวไทใหญ่ในชุมชนช้างเผือก-ป่าเป้าที่ให้ความเคารพนับถืออนุสาวรีย์ช้างเผือกเป็นอย่างมากจนมีเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมาว่า ครั้งหนึ่งเมืองเชียงใหม่เกิดโรคห่าระบาด ชาวบ้านช้างเผือกปลอดภัยเพราะสักการะอนุสาวรีย์ช้างเผือกเป็นประจำ

ดังนั้น เมื่อถึงวันสำคัญทางพุทธศาสนา ชุมชนช้างเผือก-วัดป่าเป้าจะนำดอกไม้ธูปเทียนไปบูชา และรดนํ้าดำหัวอนุสาวรีย์ช้างเผือกอยู่เป็นประจำ