ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : “สุทธิชัย” ไร้ราคา? วาทกรรมใหม่ยุคโซเชียลไล่ล่าสื่อ

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ทั้งที่คุณสุทธิชัย หยุ่น เป็นหนึ่งในสื่ออาวุโสที่มีเครือข่ายสังคมกว้างขวางที่สุดในสังคมไทย

การทำหน้าที่สัมภาษณ์ทีมหมูป่ากลับทำให้โซเชียลวิจารณ์คุณสุทธิชัยรุนแรงขั้นไม่เคยเห็นมาก่อน

โดยเฉพาะวิธีถามว่าสนุกก็อยู่ต่อสิ, ให้เข้าไปอีกจะไปมั้ย หรือพูดว่า “ฉลาดขึ้นแล้วสิ” หลังเด็กตอบคำถามของคุณสุทธิชัยเอง

คุณสุทธิชัยวันนั้นถามคำถามได้เรื่องหรือไม่เป็นเรื่องที่ทุกคนมีมุมมองต่างกัน

และการที่คุณสุทธิชัยเป็นนายทุนสื่อมากว่าสี่สิบปีต้องมีคนเกลียดเป็นธรรมดาแน่ๆ

แต่การที่คนทำสื่อจนอายุ 71 ถูกโซเชียลพูดว่า “สอบตก” ถึงขั้นใช้คำว่า “ใครเลือกคนแบบนี้เข้ามา”

สะท้อนมุมมองที่สังคมออนไลน์มีต่อสื่อซึ่งน่ากังวล

“โซเชียล” เท่ากับ “สังคม” หรือไม่คือเรื่องที่ต้องถกกัน

แต่ธุรกิจการตลาดดิจิตอลอย่าง Hootsuite และ We Are Social ระบุว่าประเทศนี้มีโซเชียลทุกระบบ 51 ล้านบัญชี และคนไทยใช้เน็ตสูงสุดในโลกที่วันละ 9 ชั่วโมง 38 นาที

ปฏิกิริยาในโซเชียลจึงสะท้อนความคิดในสังคมแน่

ส่วนจะสะท้อนแค่ไหนก็เป็นอีกกรณี

ถ้ายอมรับว่าการที่ทหารตั้งคุณสุทธิชัยเป็นกรรมการปฏิรูปประเทศและถูกจ้างให้ทำรายการช่วงไพรม์ไทม์ให้ช่องที่ได้งบฯ จากภาษีปีละ 2,000 ล้าน กับช่องที่คลังถือหุ้นใหญ่ 66% แสดงความยอมรับของรัฐและพลังของเครือข่ายคุณสุทธิชัย

คำวิพากษ์ของโซเชียลก็คือการโจมตีเสาหลักของอำนาจนำในวงการสื่อโดยตรง

ในโลกทัศน์ของ “โซเชียล” อย่างที่กล่าวไป คนทำสื่อที่เป็นนายทุนสื่อด้วยอย่างคุณสุทธิชัยคือส่วนหนึ่งของ “สื่อไทย” ที่ Influencer ทั้งหลายเห็นว่าทำข่าวทีมหมูป่าไร้คุณภาพแทบทั้งหมด

ไม่ว่าคุณสุทธิชัยและเครือข่ายทางสังคมของคุณสุทธิชัยจะมองตัวเองต่างจากคนทำสื่อรุ่นลูกและองค์กรสื่ออื่นอย่างไร

ด้วยความรับรู้ต่อ “สื่อไทย” ที่ถูกสร้างขึ้นมา “โซเชียล” ที่เห็นว่ารัฐบาลทหารทำถูกที่จะคุมสื่อในการทำข่าวช่วยทีมหมูป่าจึงมีเยอะไปหมด ส่วนแอดมินเพจ, User, Influencer ฯลฯ ที่หนุนให้รัฐบาลคุมสื่อต่อไปก็มีไม่น้อย และที่แทบไม่มีคือผู้คัดค้านการขยายอำนาจรัฐเหนือเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสารของประชาชน

ตรงข้ามกับ “สื่อไทย” ที่เห็นว่าการคุมเนื้อหา “โซเชียล” คือการควบคุมสื่อจนคัดค้านความพยายามของทหารกลางปี 2560 ในการออกกฎหมายคุม OTT หรือเนื้อหาของโซเชียลกับเพจต่างๆ “โซเชียล” กลับถือว่าตัวเองไม่ใช่สื่อ

มิหนำซ้ำยังมีส่วนปั่นกระแสให้รัฐบาลทหารควบคุม “สื่อไทย” จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

ด้วยกระแสที่สร้างขึ้นทั้งโดยตั้งใจและไม่เจตนา ปรากฏการณ์ที่ทุกคนลงแรงร่วมใจช่วยทีมหมูป่ากลายเป็นเหตุการณ์ที่รัฐบาลทหารยึดอำนาจในการเข้าถึงความจริงไปหมด

หลายเรื่องน่าสงสัยว่ารัฐมีกฎหมายรองรับหนักแน่นแค่ไหน

และหลายเรื่องเหมือนเป็นคำสั่งตามอำเภอใจที่ไม่ควรมีผลบังคับใช้เลย

ล่าสุด หลังจากการคุมข่าวช่วงปฏิบัติการกู้ภัยได้สำเร็จ รัฐบาลทหารก็ดำเนินการควบคุมข่าวทีมหมูป่าหลังพ้นภัยต่อไป

ตัวอย่างเช่น คุณวิษณุ เครืองาม ระบุว่ารัฐจะมีบทบาทเหมือนผู้จัดการของเด็กๆ แต่ไม่เอาเปอร์เซ็นต์ ขณะที่รัฐบาลเตรียมตั้งคณะกรรมการพิจารณาการทำหนัง, สารคดี และสื่อทุกรูปแบบเกี่ยวกับเรื่องนี้ทันที

เท่าที่รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมเปิดเผย ฝ่ายทหารและมหาดไทยจะอยู่ในคณะกรรมการซึ่งมีอำนาจควบคุมการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับทีมหมูป่า, โค้ชเอก, นักดำน้ำต่างประเทศ, ทีมทหารเรือ ฯลฯ เพื่อปกป้องภาพลักษณ์ของประเทศและสิทธิของเด็กๆ

โดยรัฐบาลอาจเป็นผู้ลงทุนสร้างหนังเรื่องนี้ด้วยตัวเอง

สำหรับสื่อที่ต้องการสัมภาษณ์เด็กๆ ฝ่ายพัฒนาสังคมเชียงรายระบุว่าอาจโดนจำคุกครึ่งปี, ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งปรับทั้งจำ

ส่วนรองปลัดยุติธรรมก็ชี้ว่าพ่อแม่ที่ให้สื่อถามคำถามที่ไม่เหมาะสมกับลูกที่หมอวินิจฉัยว่าเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า/PTSD อาจเข้าข่ายไร้ความสามารถเลี้ยงดูจนรัฐมีสิทธิแยกเด็กไปเลย

เช่นเดียวกับที่สนับสนุนให้รัฐคุมสื่อช่วงปฏิบัติการช่วยทีมหมูป่า “โซเชียล” สนับสนุนการที่รัฐขยายอำนาจการคุมสื่อสู่ช่วงหลังพ้นภัยต่อไป

ผลก็คือไม่มีใครวิจารณ์ที่รัฐให้ทุกคนพูดเรื่องนี้ตามที่รัฐชี้แจงเท่านั้น เช่นเดียวกับแทบไม่มีใครพูดอะไรที่รัฐบาลตั้งตัวเป็นเจ้าชีวิตขั้นคุมเรื่องเล่าเกี่ยวกับงานนี้ระยะยาว

ด้วยความร่วมมือโดยปริยายกับรัฐบาลทหารในการคุมสื่อแบบนี้ “โซเชียล” ไม่ตั้งคำถามเลยว่าพฤติกรรมนี้ทำให้ “ประโยชน์สาธารณะ” เสียหายหรือไม่

สื่อดีต้องเขียนข่าวตามข้าราชการเท่านั้นหรือ

ทำไมเด็กๆ เล่าเรื่องถ้ำจากมุมพวกเขาไม่ได้

และทำไมรัฐทหารมีสิทธิตั้งตัวเป็นเจ้าของเรื่องนี้เหนือทุกคนในสังคม

ภายใต้คำสั่งของรัฐที่ “โซเชียล” สนับสนุนอย่างไม่เป็นทางการให้ปิดปากพ่อแม่และเด็กๆ ผลก็คือ “ผู้รอดชีวิต” กลายเป็นคนที่ถูกห้ามแสดงความเห็นและประสบการณ์ของตัวเองมากที่สุด

ส่วนคนที่มีโอกาสเล่าเรื่องนี้กลายเป็นรัฐบาลทหารและกองเชียร์ซึ่งยัดเยียดให้สังคมได้แค่ข้อมูลด้านเดียวของรัฐบาล

ขณะที่รัฐบาลทหาร, ข้าราชการ และ “โซเชียล” สร้างกระแสว่าปฏิบัติการกู้ชีวิตที่ไหนก็ต้องคุมสื่อเหมือนกัน

น.ส.แชนนอน กอนลีย์ ผู้สื่อข่าวแคนาดา กลับระบุว่าไม่เข้าใจที่การทำข่าวเรื่องนี้ในไทยถูกควบคุมข้อมูลมากขนาดนี้ ถึงแม้เธอจะเคยไปทำข่าวเรื่องผู้ลี้ภัยในพื้นที่วิกฤติอย่างเลบานอนและตุรกี

ทั้งที่ถึงตอนนี้สื่อต่างประเทศจะรายงานคำสัมภาษณ์นักดำน้ำที่ชี้ว่าทางการไทยให้ข้อมูลผิดความจริงตั้งแต่เด็กไม่ได้ว่ายน้ำออกจากถ้ำ, มีการวางยาเด็ก, นักดำน้ำต่างประเทศต้องดำกลับเข้าถ้ำเพื่อขนถังอากาศไปให้ซีลไทย ฯลฯ

แต่คำถามที่โซเชียลตั้งต่ออันตรายของการที่รัฐคุมสื่อก็ไม่ปรากฏแม้แต่นิดเดียว

ไม่ใช่เรื่องลึกลับที่ทุกวันนี้ “โซเชียล” มองตัวเองเป็นสื่อที่จำนวนมากเชื่อว่าตัวเองทำหน้าที่นี้ดีกว่า “สื่อไทย”

โดยเฉพาะในปฏิบัติการช่วยทีมหมูป่าที่การผลิตสื่อของ “โซเชียล” มีแค่ภาพหรือข้อความสั้นๆ จนเชื่อมต่อผู้ติดตามมหาศาลก่อนสื่ออื่นๆ จนทำให้โซเชียลมั่นใจในความเป็นสื่อของตัวเองอย่างไม่เคยเป็น

คำโจมตีที่โซเชียลมีต่อสื่อรุ่นใหญ่อย่างคุณสุทธิชัยว่า “ไร้คุณภาพ” เกิดขึ้นในบริบทที่ “โซเชียล” ภูมิใจในตัวเองแรงกล้าจนกล้าพูดในเรื่องที่คนในวงการสื่อไม่มีวันพูดถึงคุณสุทธิชัยแน่ๆ ไม่ว่าจะไม่ชอบจุดยืน, การสร้างเครือข่ายอุปถัมภ์, อิทธิพลในองค์กรวิชาชีพ หรือวิธีทำมาหากินในฐานะนายทุนอย่างไรก็ตาม

อย่างไรก็ดี ถ้าถือว่า “โซเชียล” เป็นสื่อตามที่คนจำนวนมากเชื่อและในแง่ธุรกิจก็มี “เพจดัง” นับไม่ถ้วนที่มีรายได้จากโฆษณาธุรกิจหรือ “กิจกรรมเพื่อสังคม” เหมือนสื่อที่ขายพื้นที่แลกงบพีอาร์ของรัฐบาล, กระทรวง, องค์กรมหาชน ฯลฯ โซเชียลก็เป็นสื่อที่ต้องระวังเหมือนสื่ออื่นอย่างน้อยสามแง่ด้วยกัน

หนึ่ง คำว่า “สื่อไทย” เป็นมโนภาพที่ครอบคลุมทุกคนและทุกองค์กรสื่อซึ่งความจริงแล้วไม่เกี่ยวกัน คำวิจารณ์ที่สังคมมีต่อ “สื่อไทย” มาจากความไม่พอใจบางคนและบางสื่อที่ถูก “กระแส” ปั่นให้เป็นสื่อทั้งหมด ซึ่ง “โซเชียล” มีโอกาสถูกสังคมต่อต้านเพราะไม่พอใจเพจดังหรือ Influencer คนใดได้เหมือนกัน

อย่าลืมว่าคำโจมตี “สื่อไทย” รุ่นแรกๆ มาจากมุมมองว่าหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่มอมเมาประชาชน, ขายโหนก, ปั่นความงมงาย, ขายข่าวช้างปล้ำเหี้ย, โชว์ภาพศพ หรือแม้แต่โหนข่าวฆ่าข่มขืน ซึ่งทั้งหมดเป็น “content” ที่ “เพจดัง” จำนวนมากปั้นยอดไลก์เรียกยอดแชร์ทุกวันนี้ จะเป็นคลิปหรือภาพก็แล้วแต่กรณี

สอง แม้สื่อจะเป็นธุรกิจในระบบทุนนิยม แต่ “สื่อมวลชน” ในฐานะวิชาชีพอยู่ด้วยความเชื่อมั่นของประชาชนเสมอ คนซื้อสื่อกับบริโภคสื่อเพราะเชื่อว่าสื่อมวลชนพูดความจริงและปกป้องประโยชน์สาธารณะ สื่อจึงเผชิญวิกฤตศรัทธาทันทีที่ความเป็นธุรกิจใต้นายทุนโดดเด่นกว่าวิชาชีพสื่อมวลชน

แม้ “เพจดัง” และ Influencer ทุกวันนี้จะดูไม่เป็น “นายทุน” เท่าเจ้าของสถานีโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ แต่การเติบโตของ “โซเชียล” ทุกวันนี้ทำให้รายได้ที่ไหลเข้าโลกออนไลน์โตเร็วกว่าในอดีตแน่ๆ แอดมินเพจดังหรือเว็บที่เป็น “สื่อ” ซึ่งรับงานทั้งชัดๆ และอ้อมๆ จึงเสี่ยงที่จะสูญเสียความศรัทธาได้ตลอดเวลา

สาม ในขณะที่คนทำสื่อและองค์กรสื่อเคยเติบโตในสังคมประชาธิปไตยจนเห็นความสำคัญของการตั้งองค์กรเพื่อควบคุมและตรวจสอบกันเอง

“เพจดัง” เป็นสื่อที่โตมาในสังคมเผด็จการจนการควบคุมและตรวจสอบกันเองแทบไม่ปรากฏ ไม่ต้องพูดถึงการจัดทำบรรทัดฐานทางวิชาชีพแบบที่คนทำสื่อควรต้องมี

ในอดีตนั้นคนขยะแขยง “สื่อไทย” กลุ่มซึ่งใช้พื้นที่สื่อปลุกปั่นความเห็นที่ผิดความจริงเพื่อสร้างยอดขาย แต่ทุกวันนี้ “เพจดัง” และ Influencer ใช้วิธีปั่นความขัดแย้งหรือโจมตีใครเพื่อสร้างยอด Engagement จนเป็นเรื่องธรรมดาที่หากเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็ทำให้คนแขยงไม่ต่างจากสื่อบางส่วนได้เหมือนกัน

จริงอยู่ว่า User/ Follower/ ทำให้ “โซเชียล” เป็นประตูสู่ข้อมูลข่าวสารที่สำคัญเป็นอันดับต้นในสังคมไทย แต่พัฒนาการและความจริงในปัจจุบันยังไม่มีอะไรชี้ว่าโซเชียลเป็น “สื่อ” เพื่อสร้างสังคมเปิดที่ทุกคนมีส่วนกำหนด ขณะที่มีร่องรอยเยอะมากถึงความคล้ายคลึงกันของโซเชียลกับสื่อแย่ๆ ในอดีตและปัจจุบัน

สื่อไทยจะได้เรื่องแค่ไหนเป็นเรื่องที่ต้องเถียงกัน

เช่นเดียวกับคุณสุทธิชัยเป็นสื่อคุณภาพหรือไม่ก็คงต้องคุยกันเยอะ

แต่ที่แน่ๆ คือโซเชียลมีปัญหาอีกมากที่ต้องแก้

หากอยากจะพัฒนาสู่ความเป็นสื่ออย่างที่ตอนนี้สดุดีตัวเองและใช้เป็นช่องทางทำมาหากิน