“เบียร์” ที่เวียดนาม ผลลัพธ์จากสงคราม สู่ธุรกิจและปัญหาสุขภาพ

วัฒนธรรมการดื่มเบียร์ ไม่ใช่วัฒนธรรมดั้งเดิมของเวียดนาม

แต่ไหนแต่ไรการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวียดนาม จำกัดอยู่เฉพาะแต่กับการดื่มเพื่อเฉลิมฉลอง เครื่องดื่มก็เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่หมักจากข้าว ทำนองเดียวกับเหล้าขาวในเมืองไทย

เบียร์เป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในยุคสงครามเวียดนาม ถึงกับมีการตั้งโรงเบียร์ ผลิตเบียร์ท้องถิ่นขายให้กับทหารอเมริกันจนเป็นที่หลงใหลได้ปลื้มกันนักกับเบียร์ยี่ห้อ “333 เบียร์”

ตอนนี้เบียร์ท้องถิ่นยอดนิยมยังคงเป็น “333 เบียร์” ซึ่งผลิตโดยซาเบโค (ไง่อน เบียร์ คอร์ป) ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดในประเทศ

แต่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดก็คือ การดื่มเบียร์ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเพื่อการเฉลิมฉลองกันอีกต่อไป แล้วก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะเบียร์ในท้องถิ่นอีกแล้ว

แต่ยังนิยมกันไปถึงเบียร์นำเข้าสารพัดยี่ห้ออีกด้วย

 

คนเวียดนามในยามประเทศสงบสันติและมั่งคั่ง ดื่มเบียร์กันทุกวัน เริ่มต้นกันตั้งแต่หัววัน พร้อมๆ กับอาหารเช้ากันเลยทีเดียว

เบียร์ในเวียดนามถึงได้ราคาถูกกว่าน้ำดื่มหนึ่งขวดด้วยซ้ำไป

ดื่มกันจนรัฐบาลเองก็เริ่มเป็นกังวลกับวัฒนธรรมใหม่นี้ เพราะในเวลาเดียวกับที่การดื่มเบียร์ระบาดไปทั่ว อัตราการเกิดปัญหาสุขภาพอันเนื่องมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และปัญหา “เมาแล้วขับ” ก็ทวีขึ้นเป็นเงาตามตัว

จนในที่สุดรัฐบาลก็ต้องหาหนทางจำกัดการโฆษณาเบียร์ให้ได้มากที่สุด ก่อนที่จะกลายเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขของชาติมากกว่านี้

ในร่างกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นตัวตั้งตัวตี กำหนดให้ห้ามขาด การโฆษณาเบียร์ด้วยคัตเอาต์ตามริมถนน ห้ามโฆษณาในภาพยนตร์ ห้ามไม่ให้โฆษณาในการแสดงที่มีเด็กๆ เข้าไปเกี่ยวข้อง

และที่แน่ๆ ก็คือ ห้ามการโฆษณาทางสื่อใหม่ในโซเชียลมีเดียทั้งหลาย

 

จริงๆ แล้วเวียดนามมีกฎหมายห้ามโฆษณา “สุรา” ที่จัดว่าเป็น “ฮาร์ดแอลกอฮอล์” อยู่ก่อนแล้ว

แต่กระทรวงสาธารณสุขให้เหตุผลเอาไว้ว่า เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ประเทศที่ห้ามโฆษณาทั้งสุรา ทั้งเบียร์ ระดับการดื่มน้อยกว่าประเทศที่ห้ามโฆษณาสุราอย่างเดียวมากถึง 11 เปอร์เซ็นต์

ตรัน ทิ ตราง รองผู้อำนวยการกรมการนิติบัญญัติเพื่อสุขภาพของกระทรวง บอกว่า บริษัทผู้ผลิตแอลกอฮอล์ใช้เงินเพื่อการตลาดและประชาสัมพันธ์แต่ละปีสูงถึงหลายล้านล้านด่ง เพื่อดึงดูดผู้บริโภค

ในขณะที่องค์การอนามัยโลกก็ระบุออกมาแล้วว่าเวียดนามมีอัตราผู้ป่วยตับอักเสบบี ซึ่งเป็นสาเหตุเบื้องต้นของโรคมะเร็งตับสูงอยู่แล้ว

แถมยังประเมินด้วยว่า มูลค่าความเสียหายที่เชื่อมโยงถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเวียดนามนั้น คิดเป็นตั้งแต่ 1.3 เปอร์เซ็นต์เรื่อยไปจนถึงสูงสุด 12 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั้งปี

 

ในขณะที่ตัวแทนผู้ผลิตเบียร์อ้างว่า เบียร์เป็นธุรกิจใหญ่ และการผลิตเบียร์และแอลกอฮอล์มี “บทบาทสำคัญ” ในการพัฒนาทั้งเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ในรายงานการสำรวจของนีลเสนเมื่อเดือนมีนาคมบอกเอาไว้ว่า ในเวียดนาม (และประเทศอื่นๆ อีก 4 ประเทศ) มองว่าเบียร์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ไม่ได้เป็นแค่เรื่อง “สนุกสนาน” แต่ยังเป็น “ตัวแทน” ของการเติบโตทางเศรษฐกิจของท้องถิ่นอีกต่างหาก

ปัญหาปวดหัวของทางการเวียดนามในยามนี้ก็คือ ทำอย่างไรถึงจะหาจุดสมดุลให้ได้ระหว่างสุขภาวะกับเศรษฐกิจ การลงทุนและการค้าของประเทศ