เก็บตกการประชุมนานาชาติที่เนปาล

คราวนี้ ผู้เขียนตามท่านธัมมนันทาไปร่วมประชุมนานาชาติที่อักเษศวรมหาวิหาร เมืองลลิตปุร์ ในกาฏมาณฑุ ประเทศเนปาล เมื่อ 16-17 มิถุนายน 2561

จริงๆ แล้วเป็นงานที่ต่อเนื่องจากความพยายามที่จะไปจัดประชุมเรื่องภิกษุณีที่เนปาลเมื่อ 2560 แต่ปรากฏว่าดูท่าทางแล้ว ภิกษุณีชาวเนปาลยังมีข้อจำกัดหลายประการ ต้องรอให้ท่านพร้อมมากกว่านี้

ในการประชุมคราวนี้ ท่านธัมมนันทาจึงเสนอเจ้าภาพ คือ อักเษศวรมหาวิหารว่า เราอาจจะเปิดประเด็นออกไปให้เป็นประโยชน์กับชาวเนปาลโดยตรง ครั้งนี้ จึงเน้นในเรื่องของสิ่งแวดล้อม โดยใช้พุทธศาสนาเป็นศูนย์กลาง

โดยที่วัดส่วนใหญ่ของเนปาลเน้นเรื่องพิธีกรรมเป็นส่วนมาก ไม่สามารถชักนำชาวพุทธให้ออกมาจากพิธีกรรมในระดับความเชื่อเท่านั้น ท่านเห็นศักยภาพของมหาวิหารที่บริหารจัดการโดยคนรุ่นใหม่ จึงเสนอให้มหาวิหารมีกิจกรรมที่เป็นวิชาการ เพื่อดึงดูดความสนใจชาวพุทธอีกระดับหนึ่ง นอกจากมหาวิหารเป็นศูนย์กลางของพิธีกรรมแล้ว มหาวิหารสามารถจะเป็นสถานศึกษาทางพุทธศาสนาด้วย

จึงเป็นที่มาของการไปร่วมกิจกรรมทางวิชาการของมหาวิหารที่เนปาล

 

ในงานเปิด พิธีอลังการพอสมควร เพราะมีงานสองงานซ้อนกันอยู่ นอกจากจะเป็นงานประชุมนานาชาติที่ว่าแล้ว ยังเปิดตัวนิทรรศการการแสดงแสตมป์ที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาอีกด้วย จึงเรียกคนได้มากกว่าที่คาดคิด

มหาวิหารส่งบัตรเชิญ 500 กว่าชื่อ เตรียมอาหารกลางวันไว้ต้อนรับ 450 ที่ มีคนมาร่วมงานเปิดไม่ต่ำกว่า 350 คน เรียกว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจทั้งของผู้จัด และแขกที่ได้รับเชิญมาในงาน

ครั้งนี้ เนื่องจากเป็นหน้าฝนของเนปาล คุณราเชศ ผู้อำนวยการหนุ่มต้องเรียกวิศวกรเข้ามาปรึกษาว่า จะรับมือกับฝนได้อย่างไร อาคารมหาวิหาร สี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยพื้นที่ตรงกลางโล่ง เราจัดงานตรงพื้นที่โล่งตรงกลางนี้แหละค่ะ จุคนได้ถึง 400 คน เก้าอี้ที่วางไว้รับแขกเต็มหมด จนล้นไปนั่งที่ทางเดินโดยรอบ

ตกลงเขาใช้ผ้าเต็นท์ขึงโยงรับน้ำฝนให้ไหลลงทางเดียว

เก่งค่ะ ต้องชมฝีมือของคนออกแบบเต็นท์ที่จำกัดน้ำให้ไหลลงไปทิศทางเดียวคือทางด้านหลังของงาน

 

แขกรับเชิญที่มาเปิดงานก็สำคัญ คราวนี้เราเชิญท่านชอกกี นีมา ริมโปเช พระภิกษุในนิกายวัชรยาน ตอนที่ท่านมาถึง มีเสียงแตรยาวๆ แบบทิเบตนำมาแต่ไกล บรรดาศรัทธาจุดธูปต้อนรับ

เจ้าภาพต้อนรับท่านด้วยการมอบผ้าขะตะตามแบบประเพณีทิเบต ถ้าผู้รับสูงกว่าท่านมักจะคล้องคอคืนให้กับผู้ถวาย ผ้าขะตะทั่วไปจะเป็นสีขาว ที่ถวายเป็นการต้อนรับพระจะเป็นสีเหลือง ถ้าราคาถูกก็จะมีลายมงคลแปดพิมพ์บนผ้านั้น ถ้าราคาแพงก็จะเป็นการทออยู่ในเนื้อผ้าเลย

กว่าท่านริมโปเชจะถึงเก้าอี้ที่เตรียมไว้ให้ท่านนั่ง ก็ใช้เวลานานพอควร เพราะท่านต้องคอยทักทายและรับของถวายมาตามรายทาง

ในช่วงของพิธีกรรมนี้นานเป็นปกติ เจ้าภาพเชิญผู้เกี่ยวข้องแต่ละท่านกล่าวสัมโมทนียกถา ศาสตราจารย์ ดร.ศังกร ฐาปะ คณบดีของสาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยตรีภูวัน ผู้ร่วมจัดกล่าวถึงการจัดงานในด้านของบทความทางวิชาการและการเชิญแขกที่มาจากต่างชาติ

ท่านธัมมนันทากล่าวชื่นชมในความสำเร็จของการจัดงานครั้งนี้ และอวยพรให้มหาวิหารก้าวหน้าไปด้วยดีในการพัฒนาให้มหาวิหารรับผิดชอบในงานด้านวิชาการพุทธศาสนานอกเหนือไปจากงานด้านพิธีกรรมด้วย

ท่านริมโปเชกล่าวเปิดงาน ตอนนี้ ท่านใช้ภาษาเนปาลีสลับกับภาษาทิเบต มีภาษาอังกฤษบ้างประปราย ดูผู้คนให้ความสนใจดี (ไม่มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ) ช่วงเปิดงานนี้ ใช้เวลาจนเลยเพล ผู้จัดมีความเคารพพระสงฆ์ทั้งภิกษุและภิกษุณีที่จะต้องฉันก่อนเที่ยง สามารถจบงานครึ่งวันเช้าทันเวลา พอดีกับฝนที่ตกลงมาตอนท้ายพิธี

เรียกว่า เลือกเวลาตกได้จังหวะที่ดี

 

งานประชุมทางวิชาการตั้งแต่ตอนบ่ายของวันแรก ย้ายเข้าไปในห้องประชุมที่เป็นห้องสมุดไปด้วยในตัว สามารถจุคนได้เป็นร้อย

งานแสดงนิทรรศการแสตมป์อยู่ที่พื้นที่ชั้นสองของมหาวิหาร ส่วนงานประชุมอยู่ที่ชั้นล่าง บริหารจัดการพื้นที่ได้ดี น่าชม

มีผู้ร่วมเสนองานทางวิชาการทั้งประเทศเนปาลเจ้าภาพ ประเทศไทย (3 บทความ) ประเทศจีนทั้งแผ่นดินใหญ่ และไต้หวัน ประเทศญี่ปุ่น เรียกว่า มหาวิหารมีความก้าวหน้าในการดึงนักวิชาการต่างประเทศได้มากขึ้น และมีผู้เสนอบทความครบพุทธบริษัท 4 ทั้งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา

หัวข้อบทความที่นำเสนอได้แก่

การจัดการวัดที่มีความสนใจในด้านดูแลสิ่งแวดล้อม

การบริหารงานวัดให้เป็นวัดปลอดขยะ

ความปลอดภัยทางอาหารในประเทศไทย

ศาสนาพุทธแนวมานุษยนิยมและการป้องกันสิ่งแวดล้อม

เปรียบเทียบพุทธแบบเนวาร์กับพุทธในกัศมีระ

การศึกษาตำราภาษาสันสกฤต : การทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยริชโช กับเนปาล

การพัฒนาและอิทธิพลของการศึกษาแบบปริยัติในเนปาล

การป้องกันปัญหาโลกร้อนตามคำสอนของพุทธศาสนา

ศึกษาพิธีบวช 1 วัน ในสังคมพุทธในเนปาล

การใช้สติปัฏฐานของพุทธศาสนาในสังคมปัจจุบัน

ผู้ที่มาช่วยดำเนินการประชุมมักจะเป็นอดีตอธิการบดีจากมหาวิทยาลัยต่างๆ และอาจารย์ที่ยังสอนอยู่ในมหาวิทยาลัย

ปัญหาของอาจารย์ชาวเนปาลีก็ไม่ต่างจากไทยมากนัก จะมีบางส่วนที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดี แต่บางส่วนก็ยืนยันที่จะเสนอเป็นภาษาเนปาลี ปัญหานี้นำไปสู่การปรับแผนในการจัดการประชุมครั้งต่อไปด้วย

 

ดูจากความสนใจของผู้ที่มาร่วมประชุม ผู้เขียนเองต้องแวบออกไปพบแพทย์ แต่ผู้เข้าร่วมประชุมชาวเนปาลีตั้งใจร่วมประชุมตั้งแต่ต้นจนจบ

เราทำความเข้าใจได้ว่า การบริหารมหาวิทยาลัยเองยังไม่แข็งแรง ผลจากแผ่นดินไหวที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยบางแห่งยังไม่สามารถสร้างหอประชุมที่พังไปได้ ทำให้โอกาสที่จะมีการประชุมวิชาการเช่นนี้น้อยลง และในการจัดงานแต่ละครั้ง จะติดขัดการขออนุมัติตามขั้นตอนต่างๆ มาก

ในขณะที่การจัดงานที่มหาวิหารไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขออนุญาต ขออนุมัติงบประมาณ ขออนุมัติใช้สถานที่ ฯลฯ

นักวิชาการ ครูอาจารย์ที่มาจึงให้ความสำคัญที่จะมาร่วมเพื่อเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ จากสังคมนักวิชาการภายนอก

ขณะเดียวกัน ตัวเองก็อาจจะมีโอกาสได้เสนองานที่จะนับเป็นผลงานทางวิชาการนำไปสู่การพัฒนาสถานภาพทางวิชาการได้

ในการพูดคุยกัน เพื่อขับเคลื่อนงานไปในอนาคต มีปัญหาเรื่องหาคนเขียนบทความยาก ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีแรงจูงใจ เช่น ไม่มีค่าตอบแทน

ท่านธัมมนันทาจึงเสนอไว้ว่า คราวหน้าจะหาสปอนเซอร์ให้มีค่าเขียนบทความ เรื่องละ 3,000 รูปี (1,000 บาท)

การประชุมทางวิชาการทุกครั้ง ธีมหลักคือพุทธศาสนา เพราะมหาวิหารเป็นพื้นที่ของพุทธศาสนา จึงควรเน้นเนื้อหาที่พุทธศาสนาจะได้ประโยชน์ และคิดวางแผนให้เป็นการขยายงานกิจกรรมเชิงวิชาการของมหาวิหารออกไปด้วย

คณะกรรมการและผู้ร่วมจัดงาน ได้ตกลงกันหลวมๆ โดยหลักการว่า คราวหน้าธีมของเรื่องการประชุมจะเป็น “พุทธศาสนากับประวัติศาสตร์เนปาล” เป็นหัวข้อที่กว้างๆ พอที่จะให้ผู้เสนอบทความแต่ละคนมีพื้นที่ที่จะพลิกแพลงให้ความสนใจของตนเข้ามาในขอบข่ายของการประชุม

 

ในแง่ของวิชาการ มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาในเนปาลยังเป็นน้องเล็กมาก ที่สอนกันระดับมหาวิทยาลัยมีเพียงมหายานและวัชรยาน เคยมีความคิดที่จะเปิดสอนทางเถรวาทแต่ไม่สำเร็จ ท่านธัมมนันทาเลยเสนอจัดหลักสูตรนำร่อง 3 วัน เรื่อง Theravada Monastic เน้นเนื้อหาของเถรวาทและพระวินัยของพระสงฆ์

ปีหน้าหลักสูตรนี้จัดต่อจากงานประชุมประจำปี หลักสูตรนำร่องนี้ เพื่อเรียกความสนใจในบรรดานักวิชาการสายพุทธศาสนาให้หันมาสนใจพุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อสร้างความสนใจที่ถูกต้องเรื่องการบวช ทั้งระดับบรรพชา และอุปสมบท ซึ่งยังเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับสังคมเนปาลโดยทั่วไป

ที่มหาวิหารเองมีห้องพักเรียบง่ายสำหรับแขกสัก 10 คน ผู้ที่มาจากตะวันตกอาจจะพอใจเช่าโรงแรมใกล้มหาวิหารก็อาจจะทำได้ไม่ยากนัก

ช่วงเวลาจัดงานปีหน้าจะหลบฤดูฝน (ช่วงฝนคือช่วงมิถุนายน กรกฎาคม นี้แหละค่ะ) หลวมๆ เราขอให้ทุกคนที่สนใจจะมีส่วนร่วมล็อกเดือนพฤศจิกายนไว้ให้ด้วย

สนใจไหมคะ หลังจากประชุมแล้ว จะมีทัวร์เนปาล คุณราเชศซึ่งเป็นผู้อำนวยการมหาวิหารนั้น ในอาชีพของเขา คือเป็นเจ้าของบริษัททัวร์ด้วย การจัดการจึงลื่นไหลดีมาก คราวนี้น่าสนใจนะ อย่าพลาด พฤศจิกายน 2562 เรามีนัดกันที่เนปาล