อุรุดา โควินท์ / ความทรงจำ : รู้จักรอ

ซุปใส ดูไร้รสชาติ ดูไร้พิษสง สอนให้ฉันรู้จักรอ

แค่รอ สั้นๆ แต่ในทางปฏิบัติไม่ง่าย โดยเฉพาะกับคนใจร้อนอย่างฉัน

แรกทีเดียว ฉันไม่ยอมรอ รอไม่เป็น วัยรุ่นใจร้อน ก็ซุปก้อนไง ผงนู่น ผงนี่ ใส่ลงไป ตั้งน้ำให้เดือดกินได้แล้ว กินได้จริง แต่กินไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนที่เคยกิน นั่นก็เพราะฉันไม่ทำอย่างที่แม่กับยายสอน

ฉันคิด-ไม่น่าจะมีหนทางเดียว ถ้าจะไปให้ถึงซุปอร่อย อะไรกัน ตั้งสี่สิบนาที หนึ่งชั่วโมง หรือบางทีก็ชั่วโมงครึ่ง กับอาหารที่ใช้เวลากินไม่ถึงสิบนาที

บางเรื่องอาจมีหลายหนทาง แต่กับซุป ฉันไม่เห็นทางอื่น นอกจากรอคอย

ไม่มีใครอยากรอ กาลเวลาที่ย่างไปข้างหน้าอย่างเตาะแตะต้วมเตี้ยมมันน่ารำคาญเสียจริง แต่รสมือของยาย ของแม่ บอกว่า ไม่อาจเป็นอื่นไปได้ ฉันต้องเรียนรู้ที่จะรอ เริ่มต้นจากการทำซุป ขยับขยายสู่หลายเรื่องในชีวิต

แค่รู้จักรอ ฉันก็เบาสบาย

สิบนาที = นานเท่านาน หากฉันจับตาที่นาฬิกา เร่งให้ผ่าน เร่งเสียทุกวินาที

แต่ 8 ชั่วโมงที่เราหลับ กลับสั้นเหมือนการกะพริบตา

ใจความสำคัญของ “นาน” คือความรู้สึก

 

เมื่อมีครัวของตัวเอง ครัวที่ฉันจะนั่งอ่านหนังสืออย่างโปร่งใจ ฉันลงมือทำอาหาร วางกรรมวิธีไว้ในเวลา ถอนตัวเองออกมาสู่เรื่องอื่น แล้วค่อยย้อนกลับไปในเวลาสมควร

ฉันสั่งเดรสปักมือ โดยเลือกสีไหมเอง โอนเงินมัดจำครึ่งหนึ่ง แล้วฉันก็ไม่คิดถึงมันอีก จนกว่าช่างจะส่งข่าวมาว่าใกล้เสร็จแล้ว ฉันทำต้นฉบับที่ดีที่สุดส่งแก่สำนักพิมพ์เพื่อพิจารณา แล้วเริ่มงานชิ้นใหม่ บอกตัวเองว่า งานส่วนที่เหลือไม่เกี่ยวกับฉัน จนกว่าจะได้คำตอบจากสำนักพิมพ์

ฉันไม่แน่ใจ “รู้จักรอ” ของยาย หมายถึงอะไร แต่สำหรับฉัน หมายถึงการปล่อยมันไป ไม่ต้องรอ

เป็นบทเรียนที่ได้จากการเคี่ยวซุป จับเวลา เปิดไฟอ่อน แล้วเดินออกมาจากเตา ไม่ต้องคิดถึงซุปและเวลาอีกเลย

หากไม่รอ เคี่ยวซุปเป็นงานครัวที่จัดอยู่ในโหมดเบาสบายอย่างขนนก ล้างกระดูก ใส่น้ำสะอาด ตั้งไฟแรงให้เดือด ช้อนฟองทิ้ง เบาไฟอ่อน มีรากผักชีก็หย่อนลงไป มีหอมหัวใหญ่ก็ร่วมขบวนได้ และหากมีหัวผักกาด ซุปจะยิ่งอร่อย ปิดท้ายด้วยเกลือทะเล

ทั้งหมดทั้งปวงของการทำซุปก็มีเท่านี้ จับเวลา และลืมมันไป

 

45 นาทีผ่าน จะได้ซุปใสที่พร้อมทำแกงจืด ทำก๋วยเตี๋ยว กลิ่นหอม รสหวานเค็ม เจืออยู่ในความใสนั้น

นอกจากได้เรียนรู้การรอคอยจากซุป ฉันยังได้รู้-ผักมีรสหวาน หากรู้วิธีดึงมันออกมา

ยายชอบทำก๋วยเตี๋ยวให้เรากินในวันเสาร์อาทิตย์ ต้มซุปหม้อใหญ่จากกระดูกข้อ หอมหัวใหญ่ หัวผักกาด กะหล่ำปลี และปลาหมึกแห้ง ซุปอร่อยอย่างนุ่มนวล นอกจากเกลือ ยายไม่ใส่เครื่องปรุงอะไรอีก แล้วเราก็อร่อยกับก๋วยเตี๋ยวหม้อนั้นทั้งวัน

แม่ชอบทำซุปมะกะโรนี ซุปของแม่คล้ายคลึงของยาย เพียงแค่ไม่ใส่ปลาหมึก ถ้าวันไหนได้กินมะกะโรนี ฉันถือว่าเป็นมื้อพิเศษ

ซุปของแม่เกือบจะเป็นแกงจืด ฉันไม่แน่ใจว่ามันอร่อย แต่เพราะฉันชอบมะกะโรนี ฉันจึงตักถ้วยแล้วถ้วยเล่า

ครั้นโตเป็นผู้ใหญ่ เมนูเดิมๆ ก็จางไปจากความทรงจำ สองสามปีมานี้ ฉันพบว่าตัวเองกินแต่อาหารรสจัด ซึ่งไม่ผิด แต่ครั้นกลับมาคิดอย่างถ้วนถี่ คำว่าอร่อย ไม่ได้เจาะจงไปที่ความจัดจ้านเท่านั้น แต่หมายรวมเอาความนุ่มนวล กลมกล่อมด้วย

ฝึกให้ตัวเองอร่อยกับรสนวลๆ ฉันก็มีเมนูให้เลือกทำมากขึ้น

ที่น่าแปลกใจก็คือ เมื่อกินอาหารรสจืดบ่อยขึ้น พอกลับมากินรสจัด ฉันรับรสได้มากขึ้น

 

ซุปมะกะโรนีของฉันแตกต่างจากของแม่ ฉันใช้ผักมากกว่า หลากหลายกว่า และใส่เยอะกว่า นอกจากนั้น ฉันแยกส่วนระหว่างซุปกับมะกะโรนี ไม่ต้มรวมกัน ค่อยเติมเวลาเสิร์ฟ มะกะโรนีจึงไม่อืดอยู่ในหม้อ (กรณีที่กินไม่หมด)

แน่นอน-หัวใจของซุปอยู่ที่การรอ ฉันเคี่ยวกระดูกก่อน ใช้ไฟอ่อน 45 นาที จากนั้นจึงใส่มะเขือเทศหั่นชิ้นเล็กๆ แคร์รอตหั่นเต๋า หอมหัวใหญ่หั่นเสี้ยว และพริกระฆังหั่นเต๋า เร่งไฟขึ้นมาหน่อย ครั้นเดือด ค่อยกลับมาเบาไฟอ่อน หย่อนใบกระวานลงหม้อ 2 ใบ เติมเกลือกับพริกไทยดำบดหยาบ แล้วทิ้งหม้อไว้กับเตา 1 ชั่วโมงเต็ม

ซุปหม้อนี้ปรุงรสด้วยเกลือกับพริกไทยเท่านั้น ได้ความหวานจากหอมหัวใหญ่ ความเปรี้ยวนวลใจจากมะเขือเทศ เคล็ดลับของฉันคือทำทิ้งไว้หนึ่งคืน เพื่อความอร่อยยกกำลัง

ครั้นถึงมื้อเช้า ก็แค่ต้มมะกะโรนีให้สุก เอาซุปมาอุ่น ตักมะกะโรนีใส่ถ้วย ตามด้วยซุป โรยพริกไทยดำสักนิด ต้นหอมซอยสักหน่อย เป็นอาหารเช้าที่เบาใจ เบาท้อง กินได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

บางคนอาจคิด โห… กว่าจะได้กิน เคี่ยวเกือบสองชั่วโมง รออีกหนึ่งคืน นานไปมั้ย

สองชั่วโมงที่เคี่ยว ฉันทำงานอื่นไปด้วย ส่วนหนึ่งคืนที่ซุปอยู่ในตู้เย็น ฉันก็หลับสนิท และฝันดี

สำหรับฉัน ทำซุปไม่นานสักนิด (ก็ไม่ได้รอ)

ฉันสองถ้วยเป็นมื้อเช้า เหลือเก็บไว้ในตู้เย็นได้อีก ซุปรสแบบนี้ หากินที่ไหนไม่ได้ นอกจากจะทำเอง

นี่คือรางวัลของคนเข้าครัว คือผลลัพธ์ของการรอคอย คือการมอบความไว้วางใจแก่วัตถุดิบและไฟ และเป็นรางวัลที่ทุกคนย่อมได้รับ ขอเพียงลงมือทำ และเข้าใจรอ