ชวนสำรวจ “ระฆัง” กับ “หอไตร” ที่วัดระฆัง ปกรณัมอำพรางสมัยรัชกาลที่ 1

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

วัดระฆังโฆสิตารามฯ หรือที่มักเรียกกันสั้นๆ ว่า “วัดระฆัง” นั้น ไม่ได้ชื่อว่าวัดระฆังมาแต่เดิม เพราะมีหลักฐานปรากฏว่าเดิมวัดนี้มีชื่อเรียกว่า “วัดบางหว้าใหญ่” ส่วนที่เปลี่ยนเป็นเรียกว่าวัดระฆังนั้น เป็นเพราะมีตำนานเล่าว่ามีการขุดพบระฆังที่นี่ ในสมัยรัชกาลที่ 1 ต่างหาก

ว่ากันว่า “ระฆัง” ที่ถูกขุดพบจากวัดแห่งนี้มีเสียงดังกังวาลไพเราะยิ่ง จึงได้ถูกนำไปประดิษฐานอยู่ที่หอระฆัง ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ “วัดพระแก้วมรกต”

และจะถูกใช้งานเฉพาะก็ต่อเมื่อมีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่เท่านั้น (โดยจะตีนับจำนวนครั้ง ตามลำดับของสมเด็จพระสังฆราชองค์นั้น ว่าเป็นองค์ที่เท่าไหร่ของกรุงรัตนโกสินทร์)

แต่ตำนานเรื่องนี้ก็ยังมีความคลุมเครืออยู่มาก

เพราะทางฝั่งวัดสระเกศก็มีตำนานอ้างว่า เป็นระฆังที่ได้มาจากวัดสระเกศต่างหาก นอกจากนี้ยังมีข้อมูลในกลอนเพลงยาวของกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 ที่กล่าวถึงระฆังใบเดียวกันนี้เอาไว้ว่า “แต่แรกหล่อมาก็นานจนปานนี้ สิบเจ็ดปีที่เป็นนิตย์ไม่ผิดกระแสง”

ซึ่งแสดงให้เห็นว่าน่าจะเป็นระฆังที่หล่อใหม่ ไม่ได้พบจากทั้งวัดระฆัง หรือวัดสระเกศเสียหน่อย?

 

ไม่ว่าการเรื่องการค้นพบระฆังดังกล่าวที่วัดระฆัง จะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม แต่น่าสังเกตว่า ความเชื่อที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์เก่าแก่ของจีนมักจะอ้างว่า ยุคสมัยของการปกครองที่ดีจะมีการพบเครื่องดนตรีมีค่าที่เก่าแก่โบราณ ส่วนในยุคที่ข้าวยากหมากแพงนั้น เครื่องดนตรีเหล่านี้จะสูญหายไปอย่างไม่ทราบสาเหตุ

แน่นอนว่า การปกครองที่ดีตามคติของจีนโบราณนั้น ก็ย่อมมาจากจักรพรรดิที่ดี แถมเจ้าเครื่องดนตรีดังกล่าวไม่ใช่ว่าจะเป็นเครื่องดนตรีกระจอกที่ไหนก็ได้นะครับ เพราะจะต้องเป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตี หรือเพอร์คัสชั่น (percussion) ที่ทำมาจากหิน หรือโลหะ

และที่สำคัญก็คือ ต้องเป็นเครื่องดนตรีเพอร์คัสชั่นประเภทที่ใช้ “แขวน” แล้วค่อยตีเท่านั้นด้วย

เครื่องเพอร์คัสชั่นประเภทแขวนที่ทำจากหิน จีนเรียกว่า “ชิ่ง” หรือ “เปียนชิ่ง” มีลักษณะคล้ายบูมเมอแรง พบจากแหล่งโบราณคดีในประเทศจีนอยู่มากพอสมควร โดยมีทั้งที่พบอย่างเดี่ยวๆ และที่พบเป็นชุด ซึ่งมีอายุอยู่ระหว่าง 4,000-2,500 ปีมาแล้ว ทั้งหมดทำขึ้นจากหินอ่อน แต่ก็มักจะมีส่วนประกอบของหินจำพวกหยกผสมอยู่ด้วย

เปียนชิ่ง หรือเครื่องดนตรีหินเหล่านี้ก็พบในญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยเฮอิอัน และมีบันทึกว่าจักรพรรดิสมัยราชวงศ์ซ่ง ได้พระราชทานเปียนชิ่งแปดบาร์ จำนวนสองราวไปให้กับราชสำนักเกาหลีเมื่อปี พ.ศ.1654

เครื่องดนตรีเหล่านี้ยังมีใช้ในพิธีกรรมเฉพาะบางอย่างของทั้งเกาหลีและญี่ปุ่นในปัจจุบันด้วย

แสดงให้เห็นว่า “เครื่องดนตรี” เหล่านี้มีลักษณะเป็น “เครื่องยศ” มากกว่าจะเป็นเครื่องบรรเลงเพื่อความบันเทิงในรูหู

ส่วนเครื่องเพอร์คัสชั่นประเภทแขวนที่ทำจากโลหะ จีนเรียกว่า “เปียนจง” มีการค้นพบอย่างมากมายตามแหล่งโบราณคดีต่างๆ ในเขตประเทศจีนปัจจุบัน ซึ่งทั้งหมดผลิตขึ้นจากสำริด

ที่เก่าแก่สุดพบที่มณฑลหูหนาน กำหนดอายุได้ในช่วง 3,000 ปีมาแล้ว แต่ที่มีชื่อเสียงและสำคัญที่สุดคือ กลุ่มระฆังสำริด จำนวน 65 ชิ้น ขนาดไม่เท่ากัน ขุดพบจากสุสานของเจิงโหวอี่ ในมณฑลหูเป่ย กำหนดอายุได้ในช่วงเกือบๆ 2,500 ปีมาแล้ว

ความนิยมในการใช้ระฆังสำริดเป็นเครื่องดนตรีเริ่มจางหายไปอย่างไม่ปรากฏสาเหตุในช่วงราวต้นคริสตกาล ก่อนจะมีหลักฐานอีกครั้งในสมัยราชวงศ์ซ่ง ที่มีบันทึกพระราชทานเครื่องดนตรีไปให้กับเกาหลีคราวเดียวกับที่พระราชทานเครื่องหินเปียนชิ่งเมื่อปี พ.ศ.1654 นั่นเอง

ดังนั้น เครื่องดนตรีเพอร์คัสชั่นประเภทแขวน ที่ชาวจีนเรียกว่า “เปียนจง” หรือ “ระฆัง” จึงมีลักษณะเป็น “เครื่องยศ” ไม่ต่างไปจากเปียนชิ่งที่เป็นเครื่องหินนั่นแหละนะครับ

 

แนวคิดทำนองเดียวกันก็ปรากฏอยู่ในสังคมอุษาคเนย์ยุคเก่าก่อน ผลการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีโพรเฮียร์ (Prohear) ในประเทศกัมพูชา มีการค้นพบมโหระทึก-กลองทอง (หากกล่าวตามทฤษฎีฝรั่งอย่างเคร่งครัด “มโหระทึก” ไม่ใช่ “กลอง” แต่จัดอยู่ในกลุ่มเครื่องดนตรีประเภท “ฆ้อง” เพราะทำจากโลหะ แต่คำเรียกภาษาพื้นเมืองอุษาคเนย์มีทั้งที่เรียก กลองทอง กลองกบ หรือแม้กระทั่งฆ้องบั้ง) เป็นจำนวนมาก ฝังร่วมอยู่กับศพผู้ตายสมัยเหล็กเมื่อราว 2,500-2,200 ปีมาแล้ว นับเป็นแหล่งโบราณคดีที่มีการค้นพบมโหระทึกมากที่สุดในอุษาคเนย์ตอนใต้

“มโหระทึก” เหล่านี้ไม่ได้ถูกฝังลงไปเพื่อให้ผู้ตายนำไปใช้ตีสังสรรค์ในโลกหน้า แต่มีหน้าที่อย่างเครื่องยศของผู้ตายเหมือนอย่างพระเศวตฉัตร จึงถือได้ว่าเป็นเครื่องมือแสดงศักดินาประเภทหนึ่งไม่ต่างอะไรไปกับความเชื่อเกี่ยวกับ “เปียนชิ่ง” และ “เปียนจง” ของชาวจีน

ในกรณีนี้ “เครื่องดนตรี” จึงแสดงถึงความซับซ้อนทางสังคม (จากการบรรเลงประสานเสียง การใช้งานในพิธีกรรม ฯลฯ) ความเจริญทางเทคโนโลยี (การตัดหิน การหล่อโลหะ ฯลฯ) ความมั่งคั่งของรัฐ (การครอบครองเทคโนโลยี การครอบครองทรัพย์สินมีค่า ฯลฯ)

การค้นพบระฆังที่วัดบางหว้าใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 1 จึงมีฐานะอะไรไม่ต่างไปจากการค้นพบช้างเผือกในระหว่างที่ครองราชย์ และสำคัญพอที่จะเปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ให้เป็นชื่อ “วัดระฆัง”

และยิ่งไม่น่าประหลาดใจอันใดเลยที่ รัชกาลที่ 1 จะทรงพระราชทานเรือนที่พักเดิมของพระองค์ก่อนปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ให้เป็นหอพระไตรปิฎกของวัดนี้ (ไม่ว่าเรือนดังกล่าวจะเป็นเรือนพักเดิมของพระองค์จริงหรือไม่ก็ตามที)

 

ภายในหอไตรฯ หลังดังกล่าวมีภาพเขียนประดับอยู่ที่ฝาผนังเล่าเรื่องเหตุการณ์ต่างๆ ตามปรัมปราคติในพระพุทธศาสนา เขียนขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา แต่ที่น่าสนใจคือในบรรดาภาพเล่าเรื่องต่างๆ มีเรื่องของมฆมาณพ ที่ว่าด้วยเศรษฐีผู้บำเพ็ญบารมีจากการสร้างสาธารณูปโภค เช่น ศาลาที่พักต่างๆ จนกระทั่งได้เสวยชาติเป็นพระอินทร์หลังจากที่เสียชีวิตไป

“พระอินทร์” อาจจะเป็นเทวดาชั้นรองในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูยุคหลัง แต่เป็นเทพชั้นผู้ใหญ่ของศาสนาพุทธเถรวาท ที่สำคัญคือถือกันว่า พระอินทร์เป็น “ราชา” ของเหล่าบรรดาเทวดาทั้งปวงเสียด้วยซ้ำ

ภาพจิตรกรรมตอนนี้เขียนรูปตอนที่บรรดาคนงานของมฆมาณพกำลังสร้างศาลาหรือเรือนพัก ไม่ต่างไปจากภาพในจินตนาการว่ารัชกาลที่ 1 พระองค์ท่านโปรดให้รื้อเรือนพักเดิมของพระองค์มาถวายเป็นพุทธบูชาให้แก่วัดแห่งนี้

การค้นพบระฆัง และการพระราชทานเรือนพักเดิมให้เป็นหอไตรฯ ของวัดระฆัง จึงไม่แน่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง เพราะผูกโยงอยู่กับปกรณัม และความเชื่อในอุดมคติที่ว่าด้วย “กษัตริย์ผู้ทรงธรรม” และ “ยุคสมัยที่แผ่นดินสงบสุข” ท่ามกลางการผลัดเปลี่ยนราชวงศ์จากสมัยธนบุรีเข้าสู่ยุคใหม่ของราชวงศ์จักรี

โดยเฉพาะเมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น ทรงมีเชื้อสายและความเกี่ยวโยงกับจีนอยู่เป็นอย่างมากนั่นเอง