หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ ‘คมชัด’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
นกเงือกหัวแรด - แม้ว่านกเงือกจะเป็นนกชนิดผัวเดียวเมียเดียว แต่เมื่อถึงฤดูแห่งความรัก นกตัวผู้จะต้องเริ่มจีบนกตัวเมียใหม่อีกครั้ง การนำอาหารมาป้อน ก็เป็นการจีบอย่างหนึ่ง

หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ

 

‘คมชัด’

 

ผมเริ่มต้นด้วยการดูนก
นี่เป็นประโยคที่ผมบอกใครเสมอ เริ่มด้วยการดูเพราะความสวยงาม น่าสนใจ อยากเห็นให้ได้มากชนิดที่สุด
แต่หลังจากผ่านไปราว 10 ปี สิ่งที่ผมได้จากการดูนก ดูเหมือนจะไม่ใช่จำนวนชนิดของนกที่มีอยู่
ในปี พ.ศ 2542 เดือนตุลาคม ผมมีหนังสือออกมาเล่มหนึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ร่วมด้วยช่วยกัน คุณวิทยา ร่ำรวย เป็นบรรณาธิการ
หนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า “นก ดวงตา และหัวใจ”
ผมเขียนคำนำยืดยาว แต่ในตอนท้ายเขียนไว้ว่า
“ผมเริ่มดูนกโดยมีกล้องสองตาอย่างดี และเทเลสโคบ กำลังขยาย 20 เท่า เป็นเครื่องมือ ด้วยเครื่องมือที่ดีทำให้ผมมีโอกาสรู้จักชื่อนกและชนิดของนกเพิ่มมากขึ้น ในเวลาไม่นาน ผ่านไประยะหนึ่ง จนถึงวันนี้ นานๆ ครั้งผมจะหยิบกล้องสองตาที่เก็บไว้ในเป้ขึ้นมาส่องดู เทเลสโคบนั้นผมมอบให้เด็กๆ ในโรงเรียนแห่งหนึ่งเนิ่นนานหลายปีแล้ว ไม่ใช่เพราะว่าผมเลิกดูนกหรอก แต่ผมดูนกที่พบด้วยสายตาเปล่า
แม้ว่านกอยู่ไกลจากสายตา แต่ไม่ไกลเกินกว่าระยะห่างระหว่างหัวใจของผมกับสายตา
บางทีกล้องสองตา หรือเทเลสโคบคุณภาพดีสักเพียงใด
ก็ให้ภาพ “คมชัด” ได้ไม่เท่ากับมองดูนกต่างๆ ด้วยตาเปล่าในระยะไกล
แต่ผ่านหัวใจ

ผมนึกถึงชื่อและความหมายของหนังสือเล่มนี้ เมื่อกลับจากการใช้ชีวิตอยู่เชิงทิวเขาบูโด จังหวัดนราธิวาส กว่า 2 ปี และกำลังจะไปทำงานในพื้นที่บริเวณนั้นอีกในช่วงกลางปี พ.ศ.2561
สองปีที่นั่นมีความรุนแรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
งานของเราอยู่ในป่า บนภูเขา เมื่อเข้ามาในเมือง มักมีคำถามบ่อยๆ
“ไม่กลัวเหรอ” และมักต่อด้วยประโยค “ระวังตัวด้วยนะ”
คำถามรวมถึงประโยคที่พูดอย่างเป็นห่วง มาจากคนผู้ไม่ได้คุ้นเคยเลย เช่น แม่ค้าในตลาด คนกรีดยาง
รวมถึงผู้ชายที่ขี่มอเตอร์ไซค์หิ้วนกกรงหัวจุก และไปรวมกลุ่มนั่งอยู่ในร้านน้ำชา

“คุณดูเหมือนพวกเราแล้ว ถ้าเดินในตลาดก็ดูไม่ออก”
อาแซ มาเสะ มองผมพลางยิ้มกว้าง เมื่อผมสวมโสร่งแบบเดียวกับเขา
พวกเขาสอนให้ผมนุ่งโสร่งอย่างถูกวิธี ทำให้รู้ว่านี่คือชุดที่สวมใส่แล้วสบายจริงๆ
อาแซ มาเสะ ชายผู้มีลูก 7 คน จากหมู่บ้านตาเปาะ คือชาวบ้านคนแรกที่พาผมขึ้นไปดูนกเงือกบนภูเขา ในครั้งแรกที่ผมมา 6 ปีก่อนหน้า
ถึงตอนนี้ ทุกคนเห็นว่าอาแซกับผมมีความสนิทสนมไม่ต่างจากเพื่อนสนิท
ในความเป็นจริง มิตรภาพของเราคล้ายครูกับลูกศิษย์มากกว่า
อาแซสอนผมแทบทุกอย่าง ตั้งแต่ทริก การใช้อุปกรณ์ ปีนต้นไม้ ถ่ายทอดประสบการณ์จากการเฝ้าสังเกตนกเงือกมายาวนานให้ฟัง อีกทั้งควบคุมการติดตั้งห้าง ซึ่งอยู่สูงจากพื้นกว่า 20 เมตร เพื่อเป็นซุ้มบังไพรสำหรับถ่ายภาพนกชนหิน
อาแซเป็น “บาบอ” ของคนในหมู่บ้าน บาบอ หมายถึงผู้ชายที่มีความชำนาญ รอบรู้ในงานที่ตัวเองทำ
เขาคือครูของผม

หมู่บ้านเชิงทิวเขาบูโด ไม่เพียงทุกคนจะยึดถือวิถีมุสลิมอย่างเคร่งครัด วัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ ยังเป็นเช่นเดิม
หากมีคนเสียชีวิต ทุกคนในหมู่บ้านถือเป็นหน้าที่ต้องมาร่วมพิธี
ในงานเลี้ยง หรือที่เรียกว่ากินเหนียว คนมาร่วมงานจะแต่งตัวด้วยชุดงดงาม
อาแซพาผมไปร่วมงานกินเหนียวบ่อยๆ รวมทั้งพิธีสุหนัดของเด็กผู้ชายในหมู่บ้าน
ผมได้รับเกียรติให้อยู่ในวงเสื่อที่กั้นล้อมกันสายตา ในเสื่ออนุญาตให้เฉพาะพ่อ ญาติสนิท อาวุโส และโต๊ะมูเด็ง หรือผู้ทำพิธีเท่านั้น
เวลาเราเข้าเมือง อาแซแกล้งทำเป็นบอดี้การ์ด ยืนกอดอกระแวดระวังภัยให้
ขณะอยู่บนภูเขา อาแซจะปีนขึ้นไปดูความเรียบร้อยของเชือกที่รัดฐานห้าง อันเป็นซุ้มบังไพร ว่ามีกระรอกมาแทะเชือกหรือไม่
ผู้ชายทุกคนจะไม่ทำงานในวันศุกร์ เพราะช่วงบ่ายพวกเขาต้องไปมัสยิด
ดังนั้น เมื่อต้องขึ้นไปทำงานบนเขา เราจะไปวันเสาร์ และลงมาวันพฤหัสฯ
เย็นวันนั้นเราจะคุยกันสนุก ทำอาหารที่อยากกิน และของหวานพิเศษคือ ขนมปังราดนมข้นหวาน

ตลอดเวลาที่อยู่เชิงทิวเขาบูโด ผมรู้สึกราวกับได้ย้อนช่วงวันเวลากลับไปอดีต
คล้ายกับว่า ผมอยู่ในที่ซึ่งเวลาหยุดเดินมา 30 ปีแล้ว
ประเพณี วัฒนธรรม จริงจัง ดั้งเดิม ไม่ใช่ชนิดปรุงแต่งเพื่อสำหรับการท่องเที่ยว
ชายหนุ่มในชุดพื้นเมือง หญิงสาวสวยงามด้วยการปกปิดร่างกายมิดชิด
สิ่งเหล่านี้เลือนหายไปหมดแล้วในแห่งอื่นๆ ของประเทศไทย

งานชิ้นนี้ผมเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึง
คำนำหนังสือ เพื่อเขียนถึง “บาบอ” และเพื่อนๆ เชิงเขาบูโด
หนังสือที่มีความหมายว่า ผม “เห็น” นก แม้ว่าจะดูพวกมันด้วยสายตาเปล่าโดยไม่ผ่านกล้องขยาย
สิ่งหนึ่งที่อาแซ รวมทั้งชาวบ้านคนอื่นในหมู่บ้านกระทำเสมอคือ สวดขอพรให้เหตุการณ์ร้ายๆ ยุติ ความสงบเกิดขึ้นโดยเร็ว
ดูนกด้วยสายตาเปล่าอย่างผ่านหัวใจ
กว่าสองปีที่อยู่เชิงทิวเขาบูโด ผมใช้วิธีนี้เช่นกัน

แม้ว่าทุกวันนี้อาแซจะไม่ได้อยู่ช่วยงานโครงการนกเงือก เขามีภาระและงานมากจนไม่มีเวลาพอ
การลงไปทำงานครั้งนี้ ผมจะไม่มี “บาบอ” คอยดูแลแล้ว
ผมจำได้ดีถึงสิ่งต่างๆ ที่เขาสอนไว้ แต่สิ่งหนึ่งที่เขามักส่ายหัวเพราะสอนแล้วผมคืบหน้าช้ามากคือ ภาษายาวี อันเป็นภาษาถิ่นที่พวกเขาใช้
มีอยู่สองคำที่ผมจำได้ดี เพราะเป็นคำแรกๆ ที่ผมถามอาแซ
นั่นคือคำว่า ดวงตา หมายถึง มาตอ
และหัวใจคือ ยาตง
ความหมายของสองคำนี้ ผมถามอาแซตั้งแต่วันแรก
ถามด้วยความเชื่อมั่นว่า มองด้วยการใช้สองคำนี้ร่วมกัน
ภาพที่เห็นย่อม “คมชัด” อย่างที่มันเป็น

บรรยายภาพ
นกเงือกหัวแรด – แม้ว่านกเงือกจะเป็นนกชนิดผัวเดียวเมียเดียว แต่เมื่อถึงฤดูแห่งความรัก นกตัวผู้จะต้องเริ่มจีบนกตัวเมียใหม่อีกครั้ง การนำอาหารมาป้อน ก็เป็นการจีบอย่างหนึ่ง