มนัส สัตยารักษ์ : สงครามสื่อ

ภารกิจช่วยเหลือ 13 ชีวิต “ลูกหมูป่าอะคาเดมี” ติดถ้ำหลวง ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย นั้น

นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผบ.ศอร. (ศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย) แถลงข่าวอย่างเป็นทางการในช่วงแรกตอนหนึ่งว่า “เรากำลังทำสงครามกับเวลา”

แต่ในความรู้สึกของผู้เสพข่าวอย่างใจจดจ่อต่างตระหนักดีว่า อีกด้านหนึ่งนั้น ศอร.กำลังทำสงครามกับสื่อด้วย

เพราะว่าก่อนที่นักดำน้ำระดับโลกชาวอังกฤษ (จอห์น โวลันเธน กับพวก) จะสาวเกาะเชือกในถ้ำไปเจอกลุ่มลูกหมูป่านั้น มีสื่อ (คนไทย) คนหนึ่งไปสัมภาษณ์คนในครอบครัวลูกหมูป่าที่จิตใจกำลังระทึกด้วยความห่วงใยลูกหลานว่า

“เด็กมาเข้าฝันบ้างหรือเปล่าครับ”!!

ฟังหรืออ่านแล้วก็ไม่น่าเชื่อนะครับ ว่าจะมีนักข่าวสมองขี้อย่างนี้ในโลกของสื่อ

ที่เล่ามาข้างต้น ไม่ได้หมายความว่าสงครามสื่อระหว่าง ศอร.กับผู้สื่อข่าว (บางคน) จะจบสิ้น เพียงแต่ว่าความเฉียบขาดของผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์สามารถหยุดภาพและข่าวที่ทำให้สาธารณชนที่เฝ้าติดตามอยู่ “ไม่เข้าใจผิด” ไปกับความงี่เง่าเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ความเฉียบขาดของ ผบ.ศอร. แม้จะได้ผล แต่ก็ไม่ได้ให้บทเรียนแก่สื่อผู้ดื้อด้านสักเท่าไรนัก เพราะหลังจากภารกิจช่วยชีวิตลูกหมูป่าเสร็จสิ้นเรียบร้อยผ่านไปแล้ว ก็ยังอุตส่าห์มีคำถามที่ไม่สร้างสรรค์หรือไม่น่าถามในวาระนี้ เช่น

“น้องเป็นไทยหรือเปล่า”

“ลูกหมูป่าโดนวางยาสลบก่อนเอาออกมาใช่ไหม”

สรุปว่าเป็นเรื่องที่สังคมและผู้มีอาชีพสื่อด้วยกันจะแก้ไขกันเองต่อไปแล้วละครับ ท่านณรงค์ศักดิ์หรือคนในฐานะเดียวกับท่านไม่จำเป็นต้องตอบคำถามประเภทนี้

พฤติกรรมแย่งข่าวและภาพของสื่อทำนองนี้ ทำให้นึกถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งที่เจ้าหน้าที่และญาติกำลังเคลื่อนย้ายร่างไร้วิญญาณของ “พระเอกปอ” ทฤษฎี สหวงษ์ ออกจากโรงพยาบาล

มีตากล้องผู้สื่อข่าวบางคนพยายามแหวกกลุ่มญาติและเจ้าหน้าที่เข้าไปถ่ายโคลสอัพใบหน้าของปอ ดูเหมือนมีรายหนึ่งพยายามจะเปิดผ้าที่คลุมหน้าของปอด้วย

สื่อรายนั้นถูกสังคมและผู้มีอาชีพสื่อด้วยกันประณามอย่างรุนแรง แต่พฤติกรรม “แย่งข่าว” ก็ยังเกิดขึ้นตลอดมา

เขาคงนึกถึงรางวัลพูลิตเซอร์มากกว่าจะคิดว่าบรรณาธิการไม่เอาภาพไปใช้ หรืออาจหวังว่าจะขายได้ราคาดีกว่าภาพข่าวธรรมดา จึงแสดงพฤติกรรมดังกล่าวนั้นไปอย่างลืมตัว

จริงอยู่ ในฐานะของผู้เสพข่าวเราย่อมอยากได้เนื้อหาและภาพที่ผิดแผกแตกต่างไปจากมุมมองปกติธรรมดาบ้าง มีความลึกมากกว่าที่พบเห็นอยู่ทั่วไป แต่คงไม่ถึงขั้นไปทำร้ายจิตใจของผู้เสียหายหรือขัดขวางเจ้าหน้าที่ผู้กำลังทำงาน

ผมเองก็ชอบที่จะฟังข่าวหรือดูภาพในมุมมองแปลกแตกต่าง ผมชอบดูภาพขนาด medium ของนักมวยในระหว่างพักยก ชอบดูภาพโค้ชของแต่ละทีมฟุตบอลที่ริมสนาม ชอบดูภาพเหตุการณ์ภายหลังเสร็จสิ้นการแข่งขัน ภาพนอกลู่ ภาพรอบเวทีมวย

และผมมักจะยกย่องช่างภาพหนังสือพิมพ์ต่างประเทศที่เสนอภาพจากมุมมองใหม่ๆ ในเหตุการณ์

ตัวผมเอง (โดยอาชีพ) ก็ชอบจดจำภาพจากมุมมองที่แปลกไปจากคนอื่นหมือนกัน เพื่อนำไปใช้ในการเขียนที่ไม่ซ้ำซาก แต่ทั้งนี้ต้องด้วยวิธีที่ไม่ทำร้ายจิตใจใคร

รูปแบบของสื่อแต่ละชนิดและรายการต่างๆ ของสื่อเปลี่ยนแปลงไปตามนาฬิกาโลก ในสมัยที่กรมประชาสัมพันธ์ยังมีชื่อว่า “กรมโฆษณาการ” รายการข่าวจะมีโฆษก (ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า-ผู้ประกาศข่าว) ออกมาอ่านข่าวที่เกิดขึ้นโดยไม่มีความเห็นส่วนตัว

คนวัยผมย่อมจำเสียงอ่านข่าวของ แม่น ชลานุเคราะห์ แห่งกรมโฆษณาการได้

คนในรุ่นถัดมาคงจำทั้งภาพและเสียงของ อาคม มกรานนท์ แห่งทีวีช่อง 4 ได้

ทั้งสองท่านที่ผมเอ่ยถึงอ่านข่าวด้วยภาษาที่ถูกต้อง ไม่แสดงอารมณ์จนโอเวอร์ จบข่าวก็คือจบข่าว ส่วนการวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องในรายการทำนอง “เบื้องหลังข่าว” หรือ “สารคดีเบื้องหลังข่าว” อาจจะมีผู้ร่วมในรายการมากกว่าแค่คนประกาศข่าว และอาจจะจัดทำในลักษณะเป็นแม็กกาซีนไว้ล่วงหน้าก็ได้

ส่วนที่บอกว่าเป็น “รายการสด” นั้นจะสดแบบมีบทหรือมีกรอบป้องกันความผิดพลาดไว้เรียบร้อยแล้ว

พอกาลเวลาล่วงเลยมาถึงยุค 3.0 จน 4.0 เราจะเห็นได้ว่าการสื่อสารด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่หรือสื่อออนไลน์ได้ทำให้ทั้งรูปแบบและเนื้อหาเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง วิธีการหรือวัฒนธรรมของผู้ประกาศข่าวก็เปลี่ยนไปอย่างมากจนยากจะควบคุม

ใช้ภาษาเขียนผิดในไตเติลหรือซับ-ไตเติล หรือ “อักษรวิ่ง” ในจอทีวี เช่น ใช้คำว่า “อนุญาต” เป็น “อนุญาติ” ฯลฯ จนติดตาเด็กและเยาวชน เป็นผลเสียหายแก่ภาษาไทย โดยที่นายสถานีและเจ้าของรายการไม่แก้ไขหรือยับยั้ง

มีการด่าว่ากันด้วยถ้อยคำหยาบคายโดยใช้คำว่า “เหี้ย” แต่ กสทช. กลับวินิจฉัยว่าไม่หยาบคาย

มีประโยคที่ไม่ระบุประธาน (subject) เป็นเหตุให้ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้กระทำ (ความผิด) จึงกล่าวหากันอย่างผิดๆ เกิดคนหัวหมอสร้างวิวาทะโต้เถียงกันไม่จบสิ้นจนต้องอาศัยกฎหมายกันอย่างทุลักทุเล กระบวนการยุติธรรมล่าช้า และความล่าช้าก็คือความไม่ยุติธรรม

ซึ่งก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมขึ้นในบ้านเมือง และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ความขัดแย้งแตกแยกไปทุกวงการอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์วิกฤต สื่อโซเชียลจะแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย

ฝ่ายหนึ่งเชียร์ผู้ที่ตัวเองยกย่องว่าเป็นฮีโร่ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งตำหนิทุกการกระทำของคนที่ตัวเองมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม ต่างก็ทำได้ “ง่าย” ทั้ง 2 ฝ่าย เพียงแค่ส่งภาพและข้อความไปตามความคิดเห็นของตัวโดยเสรี ไม่ต้องคำนึงถึงว่าผลที่ได้อาจจะไม่ “บวก” ตามที่หวังไว้

เชียร์มากไปจนกลายเป็นเชลียร์ก็อาจทำให้ผู้เสพข่าวคลื่นไส้ได้ เชียร์ไม่ครบคนที่ควรเชียร์ คนที่ถูกมองข้ามไปก็จะน้อยใจ

แซะหาปมตำหนิโดยตรรกะเพี้ยนๆ หรือไม่มีเหตุผลรองรับ เช่น กล่าวหาว่า “ทำเพื่อเอาหน้า” ผลเสียกลับตกอยู่กับเจ้านายที่จ่ายเงิน เพราะผู้เสพข่าวจะบริภาษผู้จ่ายเงินอย่างรุนแรงและมากมาย เจ้านายอาจจะสั่งหยุดพูดหรือไม่จ่ายเงินให้อีก

คำพูดที่ฟังดูเหมือนผิดในวันนี้ อาจจะกลายเป็นถูกในวันหน้า

อย่างเช่นกรณีการถามหาใบอนุญาตของ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. ต่อคนขุดเจาะภูเขาและถ้ำ หยุดหรือเปลี่ยนเส้นทางน้ำนั้น แท้จริงออกมาจากส่วนลึกของกวีนักอนุรักษ์ธรรมชาติระดับโลก…

“เด็ดใบไม้ใบหนึ่ง กระเทือนไปถึงดวงดาว”

ที่เขียนนี้ไม่ได้หวังจะแก้ตัวแทนคนที่สื่อตั้งชื่อให้ใหม่ว่า สี ระ อา หรอก แต่เขียนเพราะรู้สันดานนักฉวยโอกาส หลังปรากฏการณ์ “ลูกหมูป่า” สงบและยุติแล้ว