ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 กรกฎาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | ดังได้สดับมา |
ผู้เขียน | วิเวกา นาคร |
เผยแพร่ |
เสถียร โพธินันทะ วิสัชนาต่อไปว่า ถ้าเราพิจารณาด้วยสายสมุทัย คือ อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ฯลฯ เช่นนี้โดยลำดับแล้ว
โลกสมุทัยก็เกิดขึ้น
ถ้าพิจารณาด้วยสายดับ คือ เพราะอวิชชาดับสังขารจึงดับ เพราะสังขารดับวิญญาณจึงดับ ฯลฯ เช่นนี้โดยลำดับไซร้ ก็เป็นโลกนิโรธะ (คือ พระนิรวาณ)
ฝ่ายมัธยมิกะยกพระพุทธภาษิตขึ้นอ้างอิงว่า
“เมื่อสิ่งอันนี้มีอยู่ สิ่งอันนั้นก็มี
สิ่งอันนั้นจะเกิดขึ้นก็เพราะเกิดขึ้นแห่งสิ่งอันนี้
เมื่อสิ่งอันนั้นไม่มีอยู่ สิ่งอันนี้ก็ย่อมไม่มี
สิ่งอันนี้จะดับได้ก็เพราะดับแห่งสิ่งอันนั้น”
ในปัจจยาการนั่นเองเมื่อกล่าวโดยสายเกิดก็เป็นโลกสมุทัย เมื่อกล่าวโดยสายดับก็เป็นโลกนิโรธะหรือพระนิรวาณ
เพราะฉะนั้น ใช่ว่าจะมีพระนิรวาณต่างหากไปนอกเหนือปรากฏการณ์แห่งปัจจยาการนี้
อนึ่ง เพราะเห็นแจ้งในโลกแห่งสมุทัย นัตถิกทิฏฐิจึงไม่เกิดขึ้น
และเพราะเห็นแจ้งในโลกนิโรธะ สัสสตทิฏฐิจึงไม่เกิดขึ้น
อนึ่ง เมื่อธรรมทั้งปวงเกิดจากเหตุปัจจัยจึงปราศจากแก่นสาร ตัวตน เมื่อปราศจากตัวตน อะไรเล่าที่เป็นผู้เกิด ท่องเที่ยวในวัฏสงสาร อะไรเล่าที่เป็นผู้ดับสรรพกิเลส บรรลุพระนิรวาณ
เราจะเห็นได้ว่า ว่างเปล่าทั้งสิ้น ไม่มีสภาวะใดเกิดขึ้นหรือดับไป
เพราะฉะนั้น ผู้บรรลุพระนิรวาณไม่มีแล้ว พระนิรวาณอันผู้นั้นจะบรรลุจึงพลอยไม่มีไปด้วย
นาคารชุนอรรถาธิบายต่อไปอีกว่า พระพุทธองค์ตรัสเทศนาหลัก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รวมลงได้ที่ศูนยตานี้เอง
และดังนั้น ในปรัชญาปารมิตาสูตรจึงกล่าวว่า
รูปัง ศูนยตา ตัท รูปัง รูปก็คือความสูญ ความสูญก็คือรูปนั้น คืออสังขตะ อสังขตะแท้ก็เป็นเพียงสมมติบัญญัติ ความจริงย่อมเป็นสูญ
บัณฑิตที่สอดส่องด้วยปัญญาเท่านั้นจึงจักตรัสรู้ถึง
เพราะอสังขตะย่อมเป็นธรรมคู่กับสังขตะ ปราศจากสิ่งที่เป็นอยู่ด้วยตัวมันเองเหมือนกัน
เมื่อแสดงปรัชญามาถึงตรงนี้พวกอัสติวาทินก็แย้งขึ้นว่า เมื่อสังขตะ อสังขตะล้วนเป็นสูญแล้ว การบำเพ็ญมรรคผลต่างๆ มิไร้สาระไปด้วยหรือ ความเห็นอย่างนี้มิเป็นอุจเฉทวาทะหรือ
นาคารชุนก็โต้กลับไปว่า
เพราะสิ่งทั้งปวงเป็นของสูญ ปราศจากสิ่งที่เป็นอยู่ด้วยตัวมันเองน่ะสิ ปุถุชนจึงจักบำเพ็ญมรรคผลภาวนา เป็นอริยบุคคลได้
คนทำชั่วจึงไปสู่นรกได้ คนทำดีจึงไปสู่สวรรค์ได้
ถ้าหากมีสิ่งที่เป็นอยู่ด้วยตัวของมันเองแล้วมันจะเกิด ดับ แปรเปลี่ยนภาวะจากปุถุชนไปเป็นอริยเจ้าอย่างไรได้หนอ
เพราะสิ่งที่เป็นอยู่มีอยู่ด้วยตัวของมันเองย่อมหมายถึงสิ่งนั้นจะต้องไม่หมายอิงอาศัยสิ่งอื่นเลย สำเร็จในตัวของมันเอง
ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง
เช่นนี้เป็นการหักล้างกฎ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของพระพุทธองค์ และทิฏฐิอย่างนี้เป็นสัสสตวาทะหรือ
ฝ่ายมาธยมิกให้อุปมาอย่างโลกๆ ว่าเหมือนกับอาศัยที่ว่าง
เราปรารถนาจะสร้างอะไร อะไรจึงจักสร้างขึ้นได้ ณ เนื้อที่ว่างตรงนั้น ไม่ว่าจะมากหรือน้อย อุปไมยดั่งอาศัยศูนยตา
เหตุปัจจัยทั้งหลายจึงจักแสดงบัญญัติขึ้นมาได้ฉันนั้น
ในคัมภีร์มาธยมิกศาสตร์ซึ่งเป็นคัมภีร์สำคัญที่สุดในบรรดาปกรณ์ต่างๆ ของฝ่ายมาธยมิกนั้นเริ่มต้นคัมภีร์ด้วยบทคาถาว่า
“อนุตปาทะ ไม่มีความอุบัติ อนิโรธะ ไม่มีความดับ
อศาศวตะ ไม่มีความเที่ยง อนุจเฉทะ ไม่มีความขาดสูญ อเนการถะ ไม่มีอรรถแต่อย่างเดียว อนานารถะ ไม่มีอรรถนานาประการ
อนาคมะ ไม่มีการเข้ามา อนิรคมะ ไม่มีการออกไป
ผู้ที่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นเหตุปัจจัย ดับเสียได้ซึ่งปปัญญจมายา ธรรมทั้งปวง ข้าพเจ้า (คือนาคารชุน) ขออภิวันทนาการแด่พระพุทธองค์ ผู้เป็นเอกในบรรดาวาทะทั้งหลาย”
บาทคาถานี้เป็นหัวใจสำคัญของปรัชญาฝ่ายมาธยมิก