เกษียร เตชะพีระ : “ปรากฏการณ์อาชีพเฮงซวย (Bullshit Jobs) – ตอนต้น

เกษียร เตชะพีระ

(หลังจากแนะนำ เดวิด เกรเบอร์ ผู้เขียนและแนวคิด “อาชีพเฮงซวย” (Bullshit Jobs) ของเขาไปใน ตอนที่แล้ว(คลิกอ่าน) ผมขอนำเสนอเนื้อหาโดยสมบูรณ์ของ “ปรากฏการณ์อาชีพเฮงซวย” ที่มาจากต้นฉบับบทความ “On the Phenomenon of Bullshit Jobs” ของเขาที่ลงพิมพ์ในนิตยสาร Strike!, August 2013. ซึ่งผมแปลร่วมกับคุณจารุวรรณ จันทร์อินทร์ อดีตผู้ช่วยวิจัยและปัจจุบันเป็นนักวิชาการในหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง)

“ในปี ค.ศ.1930 จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ทำนายว่าเมื่อถึงสิ้นคริสต์ศตวรรษ เทคโนโลยีคงจะก้าวหน้าไปเพียงพอจนกระทั่งว่าประเทศต่างๆ อย่างบริเตนใหญ่หรือสหรัฐคงจะบรรลุการทำงานเพียงสิบห้าชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีเหตุผลพร้อมทุกประการที่จะเชื่อว่าเขาถูกต้อง ในแง่เทคโนโลยี เราสามารถทำเช่นนี้ได้เลยทีเดียว

แต่กระนั้น มันก็หาได้เกิดขึ้นไม่

แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เทคโนโลยีดันกลับถูกเรียกระดมมาคิดค้นหาทางต่างๆ ให้พวกเราทั้งหมดทำงานมากขึ้นอีก

เพื่อบรรลุการนี้ อาชีพต่างๆ ต้องถูกสร้างขึ้นซึ่งในทางเป็นจริงแล้วล้วนแต่ไร้สาระทั้งเพ

ผู้คนเป็นทิวแถวมหึมาโดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกาเหนือพากันใช้ชั่วชีวิตการทำงานของตนกระทำภาระหน้าที่ซึ่งพวกเขาแอบเชื่อว่าเอาเข้าจริงไม่จำเป็นต้องทำหรอก

ความเสียหายทางศีลธรรมและจิตวิญญาณที่เกิดจากสถานการณ์นี้หยั่งลึก มันเป็นแผลเป็นอยู่กลางดวงวิญญาณรวมหมู่ของพวกเรา แต่กระนั้นก็แทบไม่มีใครพูดถึงมันเลย”

ทำไมยูโทเปียในคำมั่นสัญญาของเคนส์ ซึ่งเป็นที่เฝ้ารออย่างกระตือรือร้นในยุคคริสต์ทศวรรษที่ 1960 จึงไม่เป็นจริงเสียทีเล่า?

แนวคำอธิบายมาตรฐานทุกวันนี้ก็คือ เคนส์ไม่ได้คำนึงถึงบริโภคนิยมที่เพิ่มขึ้นขนานใหญ่เอาไว้ด้วย เมื่อให้เลือกระหว่างชั่วโมงว่างที่น้อยลงกับมีของเล่นและความสำราญเพิ่มขึ้น พวกเราได้เลือกเอาอย่างหลังแบบรวมหมู่ แนวคำอธิบายนี้นำเสนอนิทานสอนใจที่ฟังดูดี ทว่าแค่ครุ่นคิดไตร่ตรองกับมันสักครู่ก็จะแสดงให้เห็นแล้วว่ามันไม่มีทางเป็นจริงได้

ก็ใช่อยู่ที่ว่าเราได้เห็นเป็นประจักษ์พยานถึงการสร้างอาชีพการงานและอุตสาหกรรมใหม่อันหลากหลายไม่มีที่สิ้นสุดมาตั้งแต่ยุคคริสต์ทศวรรษที่ 1920 แต่มีน้อยมากในประดานั้นที่เกี่ยวข้องในทางใดกับการผลิตและแจกจ่ายซูชิ ไอโฟน หรือรองเท้าวิ่งสนีกเกอร์ฉูดฉาดบาดตา

งั้นเอาเข้าจริงแล้วอาชีพใหม่เหล่านี้คืออะไรกันแน่?

รายงานฉบับหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ซึ่งเปรียบเทียบการจ้างงานในสหรัฐระหว่างปี ค.ศ.1910 กับ 2000 ให้ภาพที่ชัดเจนแก่เรา (และผมอยากตั้งข้อสังเกตด้วยว่ามันเป็นภาพที่สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรอย่างค่อนข้างตรงเผงมากทีเดียว) ในช่วงศตวรรษสุดท้ายที่ผ่านมา จำนวนคนงานที่ถูกจ้างเป็นคนใช้ในบ้าน ในภาคอุตสาหกรรม และในภาคเกษตรหล่นวูบลงฮวบฮาบ

ขณะเดียวกัน “คนงานด้านวิชาชีพ การบริหารจัดการ งานเสมียน งานขายและงานบริการ” เพิ่มเป็นสามเท่าตัว คือเติบโตจาก “หนึ่งในสี่เป็นสามในสี่ของยอดการจ้างงาน”

พูดอีกอย่างก็คือ ตำแหน่งงานการผลิตได้ถูกเปลี่ยนไปเป็นแบบอัตโนมัติเสียส่วนใหญ่เหมือนอย่างที่ทำนายกันไว้นั่นแหละ (ต่อให้คุณนับคนงานอุตสาหกรรมทั่วโลกรวมทั้งมวลมหาชนผู้กรำงานอาบเหงื่อต่างน้ำในอินเดียและจีนเข้าไปด้วย คนงานเหล่านั้นก็ยังคิดเป็นร้อยละของประชากรโลกได้ไม่ใหญ่โตใกล้เคียงกับที่เคยเป็นมาแต่ก่อน)

แต่แทนที่จะปล่อยให้ลดชั่วโมงทำงานลงขนานใหญ่เพื่อปลดปล่อยประชากรโลกให้ได้ทำตามโครงการ ความสำราญ วิสัยทัศน์และความนึกคิดของตนเอง เรากลับได้เห็นการพองตัวเติบใหญ่ขึ้นซึ่งกระทั่งไม่เชิงว่าเป็นของภาค “บริการ” เท่ากับของภาคบริหารจัดการด้วยซ้ำไป โดยครอบคลุมและรวมไปถึงการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาทั้งหมดอย่างเช่นการบริการทางการเงินหรือการตลาดทางโทรศัพท์หรือการขยายตัวอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนของภาคส่วนต่างๆ อย่างกฎหมายบริษัท การบริหารการศึกษาและสุขภาพ ทรัพยากรมนุษย์ และประชาสัมพันธ์ และแม้แต่จำนวนเหล่านี้ก็ยังมิได้สะท้อนให้เห็นถึงผู้คนทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นที่ทำงานจัดหาการสนับสนุนด้านการบริหาร เทคนิค หรือรักษาความปลอดภัยให้แก่อุตสาหกรรมเหล่านี้

หรือจะว่าไปแล้วก็รวมถึงบรรดาอุตสาหกรรมเสริมสารพัดสารเพ (ไม่ว่าคนรับอาบน้ำสุนัข คนส่งพิซซ่าตลอดคืน) ซึ่งเป็นงานที่คงอยู่ได้ก็เพียงเพราะคนอื่นๆ ที่เหลือทุกคนใช้เวลามากมายของตัวไปกับการทำงานอย่างอื่นนั่นเอง

เหล่านี้แหละครับคือสิ่งที่ผมเสนอให้เรียกว่า “อาชีพเฮงซวย”

มันยังกับว่ามีใครสักคนอยู่ข้างนอกนั่นคอยปั้นแต่งอาชีพไร้สาระพวกนี้ขึ้นมาเพียงเพื่อที่จะให้เราทั้งหมดหมั่นทำงานต่อไป และความลึกลับชวนฉงนก็อยู่ตรงนี้นี่เอง

ในระบบทุนนิยม เจ้าสิ่งนี้นี่แหละคือสิ่งที่ไม่คาดคิดกันว่าจะเกิดขึ้น

แน่นอนในบรรดารัฐสังคมนิยมไร้ประสิทธิภาพแบบเก่าอย่างสหภาพโซเวียตที่ซึ่งการมีงานทำถือเป็นทั้งสิทธิและหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์นั้น ระบบก็ปั้นแต่งอาชีพการงานขึ้นมากเท่าที่มันต้องปั้น (นี่คือสาเหตุที่ทำไมในห้างสรรพสินค้าโซเวียตถึงต้องใช้เสมียนสามคนเพื่อขายเนื้อหนึ่งชิ้น)

แต่แน่ล่ะ นี่ก็คือปัญหาชนิดที่การแข่งขันในตลาดถูกคาดหมายว่าจะมาแก้ไขให้นั่นไง ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์นั้น อย่างน้อยที่สุดสิ่งสุดท้ายที่บริษัทหากำไรจะทำก็คือขนเงินมาแจกจ่ายคนงานที่เอาเข้าจริงบริษัทไม่จำเป็นต้องจ้าง แต่เรื่องทำนองนั้นก็ยังดันเกิดขึ้นจนได้ด้วยวิถีทางใดทางหนึ่ง

ขณะที่บริษัททั้งหลายอาจดำเนินการลดขนาดองค์กรลงอย่างเหี้ยมเกรียมนั้น การปลดคนงานออกและเร่งรัดการทำงานให้เร็วขึ้นจะตกหนักอยู่กับผู้คนชนชั้นที่กำลังสร้าง ขน ซ่อมและบำรุงรักษาสิ่งต่างๆ เสมอ และโดยผ่านการเล่นแร่แปรธาตุที่แปลกพิลึกบางอย่างซึ่งไม่มีใครพอจะอธิบายได้ จำนวนของเสมียนกินเงินเดือนก็ดูจะขยายตัวออกไปในที่สุด และลูกจ้างจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ก็พบว่าตัวเองลงเวลาทำงานตั้งสี่สิบหรือกระทั่งห้าสิบชั่วโมงต่อสัปดาห์ในเอกสาร

แต่ในทางเป็นจริงแล้วก็ทำงานแค่สิบห้าชั่วโมงอย่างที่เคนส์ทำนายไว้นั่นแหละ เนื่องจากเวลาที่เหลือถูกใช้ไปจัดองค์กรหรือไม่ก็เข้าร่วมการสัมมนาสร้างแรงบันดาลใจ อัพเดตสถานะในเฟซบุ๊กหรือไม่ก็ดาวน์โหลดทีวีบ๊อกเซ็ต ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่ต่างจากคนงานโซเวียตนั่นเอง

เห็นได้ชัดว่าคำตอบไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ หากเป็นเรื่องศีลธรรมและการเมือง

ชนชั้นปกครองคิดขึ้นมาได้ว่าประชากรที่เป็นสุขและทำการผลิต แถมมีเวลาว่างนั้นเป็นภัยมรณะ (ลองคิดถึงสิ่งที่เริ่มเกิดขึ้นเมื่อสถานการณ์เพียงแค่ชักจะใกล้เคียงกับสภาพที่ว่านี้ในคริสต์ทศวรรษที่ 1960 ดู) และในอีกแง่หนึ่ง ความรู้สึกที่ว่าการทำงานเป็นคุณค่าทางศีลธรรมในตัวมันเอง และใครก็แล้วแต่ที่ไม่ยินยอมสยบให้กับวินัยการทำงานอันเข้มงวดบางอย่างในเวลาส่วนใหญ่ที่ตัวเองตื่นอยู่ย่อมไม่คู่ควรจะได้อะไรเลยนั้น

นับว่าช่วยให้ชนชั้นปกครองสะดวกสบายเป็นพิเศษเลยทีเดียว…