จิตต์สุภา ฉิน : แบ่งพื้นที่ในใจให้ ‘แชตบ็อต’

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ความตั้งใจในการเขียนคอลัมน์ของซู่ชิงในวันนี้คือการพูดถึงแชตบ็อตโดยเฉพาะเลยค่ะ

เพราะเชื่อสิคะว่าปีหน้าเราจะต้องพูดถึงเทคโนโลยีแชตบ็อตที่คอมพิวเตอร์สามารถสื่อสารโต้ตอบกับเราได้ราวกับเป็นมนุษย์ที่มีความคิดความอ่านเพิ่มมากขึ้นแน่ๆ

ดังจะเห็นได้จากเทรนด์ตลอดทั้งปีที่ผ่านมาว่าบิ๊กบอสในวงการเทคโนโลยีล้วนแล้วแต่หันมาให้ความสนใจกับแมชชีน เลิร์นนิ่ง หรือปัญญาประดิษฐ์กันแทบทั้งสิ้น

และวันนี้ซู่ชิงก็มีสองตัวอย่างของแชตบ็อตที่น่าสนใจมาฝากคุณผู้อ่านค่ะ

 

แชตบ็อตตัวแรกเป็นเรื่องที่ได้ฟังครั้งแรกรู้สึกเหงา เศร้า แต่ในขณะเดียวกันก็เข้ามาอุดช่องโหว่ในจิตใจได้ไม่น้อยเหมือนกัน

เพราะมันแสดงให้เห็นว่าความตายแม้จะเป็นการสูญเสียที่นำมาซึ่งความโศกเศร้ายิ่งยวดชนิดหาที่เปรียบไม่ได้ แต่ในบางครั้งก็อาจมีสิ่งสวยงามงอกเงยขึ้นมาปลอบประโลมจิตใจให้คนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง

เราเคยคุยกันถึงเรื่องชีวิตหลังความตายในรูปแบบของดิจิตอล ว่าในอนาคตข้างหน้าอีกไม่ไกลหากเราต้องสูญเสียคนที่รักให้กับกฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่ว่าด้วยการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เราอาจจะไม่จำเป็นต้องเสียคนเหล่านั้นไปร้อยเปอร์เซ็นต์อีกต่อไป

เทคโนโลยีอาจช่วยให้เราเก็บส่วนใดส่วนหนึ่งของตัวตนพวกเขาเอาไว้เพื่อให้ไม่รู้สึกว่าต้องลาจากกันตลอดกาลก็ได้

ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเปลี่ยนให้คนที่จากไปแล้วกลายเป็น “แชตบ็อต” ที่ยังสามารถพูดคุยโต้ตอบกับเราได้ด้วยการใช้ชุดความคิดและจิตสำนึกในแบบที่เป็นตัวตนของพวกเขาเองจริงๆ

และสิ่งนั้นก็ได้เกิดขึ้นแล้วในวันนี้ค่ะ

img_2789-0
โรมัน มาซุเรนโค (ผู้ชายฝั่งซ้าย) กับเพื่อนสาวคนสนิท ยูจีเนีย คูย่า ภาพจาก www.theverge.com

นี่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างเพื่อนรักต่างเพศสองคน คือผู้ชายที่มีชื่อว่า โรมัน มาซุเรนโค กับเพื่อนสาวคนสนิท ยูจีเนีย คูย่า

โรมันประสบอุบัติเหตุถูกรถชนเสียชีวิต ยูจีเนียทำใจไม่ได้เลย สิ่งเดียวที่ทำให้เธอยังพอจะมีความสุขเล็กๆ น้อยๆ ต่อไปได้ก็คือการนำเอาข้อความเก่าเป็นพันๆ ข้อความที่เขาเคยส่งให้เธอกลับมาอ่านใหม่อีกครั้ง

ทำให้ได้สัมผัสตัวตนของเขาผ่านตัวอักษรที่เขาสะกดผิดสะกดถูกจนเธออดไม่ได้ที่จะยิ้มออกมา

ภาพถ่ายและข้อความเป็นเพียงสิ่งเดียวของเขาที่เธอยังมีเหลืออยู่ แล้วยูจีเนียก็คิดขึ้นมาว่าทำไมจะไม่ใช้ข้อความเหล่านั้นมาทำเป็นแชตบ็อตที่จะลอกเลียนรูปแบบการใช้ภาษาของเขาราวกับเป็นตัวตนของเขาหลังความตายล่ะ หากทำอย่างนั้นเธอก็จะยังสามารถพูดคุยสนทนากับเขาต่อไปได้นี่นา

คิดได้เช่นนั้นแล้วเธอก็รวบรวมข้อความทั้งหมดที่เขาเคยส่งให้เธอ และขอความร่วมมือให้เพื่อนๆ ครอบครัว ญาติพี่น้องของโรมันช่วยส่งต่อข้อความแชตที่เคยคุยกับเขามาให้เธอใช้เป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาแชตบ็อตโรมันขึ้นมา

เรื่องทางเทคนิคไม่ใช่ปัญหาเพราะสามารถทำได้ แต่สิ่งที่ต้องครุ่นคิดให้ดีคือหากได้แชตกับ “โรมัน” ในเวอร์ชั่นแชตบ็อตแล้วจะก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกแบบไหนต่างหาก

ทว่า ผลลัพธ์ที่ได้ออกมากลับสวยงาม บทสนทนาระหว่างยูจีเนียกับ “โรมัน” นั้นช่างไหลลื่น เป็นธรรมชาติ พวกเขาสองคนคุยกันเกี่ยวกับความรัก ความตาย ความฝัน และความทรงจำเก่าๆ จนทำให้ซู่ชิงที่นั่งไล่อ่านบทสนทนานั้นอดไม่ได้ที่จะรู้สึกขนลุกในความเป็นธรรมชาติที่ทำให้เราแทบไม่ฉุกคิดเลยว่านี่เป็นเพียงแชตบ็อต มิใช่มนุษย์จริงๆ

สิ่งเดียวที่ยังคั่งค้างในใจของซู่ชิงคือ การได้คุยกับแชตบ็อตเสมือนคุยกับคนรักที่เสียชีวิตไปแล้วจะทำให้เราก้าวข้ามความเจ็บปวดได้ช้าลงหรือเร็วขึ้นกันแน่ ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไรก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่จะเป็นสิ่งที่มนุษย์จำนวนไม่น้อยเลือกที่จะทำในอนาคต คือทิ้งตัวตนทางดิจิตอลของตัวเองเอาไว้ให้ยังพูดคุยกับคนข้างหลังได้

img_5331อิ่มเอมกับแชตบ็อตของโรมันไปแล้ว ตัดภาพกลับมาที่แชตบ็อตที่สองที่ซู่ชิงอยากจะแนะนำให้รู้จัก และเป็นแชตบ็อตที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราได้ทันทีในตอนนี้กันบ้างดีกว่าค่ะ มันก็คือแชตบ็อตสอนภาษานั่นเอง

ฟังดูในตอนแรกอาจจะรู้สึกว่าไม่มีทางหรอกที่แชตบ็อตสอนภาษาจะเก่งและฉลาด มันก็คงจะไม่แตกต่างอะไรกับแชตบ็อตซื่อบื้อบนเฟซบุ๊กที่ช่วยเหลืออะไรเราไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่

แต่พอลองใช้งานเข้าจริงๆ แชตบ็อตของ Duolingo แอพพลิเคชั่นฝึกภาษายอดฮิตนี่ก็ไม่เลวเลยนะคะ

ปัญหาของการเรียนภาษาต่างประเทศกับครูที่เป็นมนุษย์ ในห้องเรียนที่เต็มไปด้วยมนุษย์ ก็คือความรู้สึกกลัวว่าตัวเองจะดูโง่เวลาที่ตอบผิด ทำให้คนที่เรียนภาษาจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะนั่งเงียบๆ ไม่กล้าถาม ไม่กล้าตอบ

และหากต้องมีบทสนทนาพูดคุยกับเจ้าของภาษาเมื่อไหร่ เราก็มักจะไม่กล้าขัดเขาขึ้นมากลางปล้องเพื่อถามคำถามเกี่ยวกับการใช้ภาษาที่ถูกต้อง

ทั้งหมดนี้ทำให้แชตบ็อตสอนภาษาดูเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากทีเดียว

แชตบ็อตของแอพ Duolingo จะมีหลายแคแร็กเตอร์ให้เราเลือกคุยค่ะ ซึ่งการคุยจะต้องทำในรูปแบบของการส่งข้อความเท่านั้น ซู่ชิงลองเล่นมาแล้วและรู้สึกว่ามันช่วยทำให้การเรียนภาษาผ่านแอพพลิเคชั่นนั้นสนุกขึ้นได้จริงๆ

แชตบ็อตเหล่านี้เก่งพอที่จะสามารถตอบคำถามและชวนเราคุยเพื่อเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง

แชตบ็อตภาษาสเปนที่ซู่ชิงคุยด้วยเป็นแชตบ็อตช่างพูดช่างเจรจา แก้ประโยคให้เวลาที่ซู่ชิงตอบผิด และคอยหยอดคำชมให้กับคำตอบที่ตอบถูกเป๊ะๆ

หากมีคำถามไหนที่เราจนปัญญาไม่รู้จะตอบยังไง ก็จะมีตัวเลือกเป็นการแนะนำคำ วลี หรือประโยค ให้เรากดตอบได้

และไม่ต้องห่วงว่าจะหมดเรื่องคุยนะคะเพราะมันชวนเราคุยไม่หยุดจริงๆ

dualingo

ในช่วงเริ่มต้น แชตบ็อตของ Duolingo ยังสามารถช่วยเราฝึกภาษาได้จำกัด คือมีภาษาฝรั่งเศส สเปน และเยอรมนี และยังมีแค่บนแพลตฟอร์ม iOS เท่านั้น

แต่ซู่ชิงเชื่อว่าอีกไม่นานจะต้องมีการพัฒนาแชตบ็อตสอนภาษาให้เก่งกาจขึ้น รองรับภาษาได้มากขึ้น และจะต้องรองรับการสนทนาด้วยการใช้เสียงในการพูดคุยได้แน่ๆ

ไม่ว่าจะเป็นแชตบ็อตของ Duolingo หรือบริษัทคู่แข่งอื่นๆ ก็ตาม นำมาซึ่งการพลิกโฉมหน้าการเรียนภาษาต่างประเทศไปในรูปแบบที่ครูสอนภาษาจะต้องคอยจับตาติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด เพื่อดูว่าจะนำแชตบ็อตเหล่านี้มาช่วยในการประกอบอาชีพของตัวเองได้ยังไงบ้าง

ใครปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงได้ก่อน คนนั้นก็จะได้เปรียบกว่าแน่ๆ ค่ะ