พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร ตอนที่ 3 : “ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับการเมืองไทย”

จากการจากไปของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา ผมจึงขอพักเรื่องอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช ไว้ก่อน

และขออุทิศข้อเขียนนี้เพื่อไว้อาลัยต่อการจากไปของท่าน พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร

โดยเรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ที่ผมได้รับความกรุณาจากท่านเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งปีก่อนที่ท่านจะจากไป

คราวนี้ ทีมงานเราได้ถามท่านอาจารย์วสิษฐเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลา

เรามีสมมุติฐานว่า เป็นช่วงที่พระบารมีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชขึ้นสูงสุด ซึ่งท่านอาจารย์วสิษฐก็เห็นด้วย และเราก็ยังมีสมมุติฐานต่อไปว่า สถานการณ์ขณะนั้นไม่มีทางออกอื่น แล้วต้องยอมรับว่าอยู่ที่พระองค์ท่าน เริ่มต้นตั้งแต่นักศึกษาคิดว่าจะมุ่งไปสวนจิตรฯ แล้ว เพราะรู้ว่าทหารจะไม่กล้าทำอะไรด้วย

แต่พอช่วงหลัง 14 ตุลา มาถึง 6 ตุลา 19 เป็นช่วงซึ่งว่าความรู้สึกที่จะเป็นขบวนการเสรีประชาธิปไตยมันถูกบดบังโดยฝ่ายสังคมนิยม ซึ่งออกมาแรงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักศึกษา มีมหกรรมเกี่ยวกับจีนออกมามากมาย คล้ายๆ กับว่าทุกอย่างในจีนดีหมด วิเศษหมด

และก่อนจะไปถึงจุดนั้นในเมืองไทยเองก็มีการเคลื่อนไหวทางสังคม-การเมืองที่รุนแรงมาก มีการเดินขบวนประท้วงทุกวัน จากข้อมูลในหนังสือพิมพ์ช่วงนั้น

ในช่วงนี้ท่านวสิษฐเห็นว่าพระองค์ท่านมีการปรับเปลี่ยนความคิดอย่างไร?

 

อาจารย์วสิษฐตอบว่า “ผมว่าไม่มีนะ เพราะว่าโดยปรกติพระองค์ท่านจะวางพระองค์เป็นกลางอยู่แล้วในทางการเมือง จนกระทั่งเกิดวิกฤตอย่างตอน 14 ตุลา 16 พระองค์ท่านถึงต้องเข้ามา แต่ในระหว่างที่ความคิดขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มยังเป็นไป ถึงจะแรงบ้างอะไรบ้าง พระองค์ท่านก็วางพระองค์เป็นกลางปรกติ เพราะผมเคยกราบทูลถามว่าตอนที่คอมมิวนิสต์ยังเยอะๆ อยู่ว่าถ้าบ้านเมืองเกิดกลายเป็นคอมมิวนิสต์พระองค์ท่านจะทรงทำอย่างไร”

“พระองค์ท่านตรัสกลับมาทันทีเลย ซึ่งหมายความว่าพระองค์ท่านทรงคิดไว้ก่อนแล้ว ว่าถ้าเมืองไทยเป็นคอมมิวนิสต์ เมืองไทยก็จะมีราษฎรใหม่อีกคนหนึ่งชื่อภูมิพล เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าเกี่ยวกับเรื่องความผันแปรทางการเมือง พระองค์ท่านคงทำตามตำราเลยก็คือเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย อยู่เหนือการเมือง ไม่ลงไปยุ่งอะไร คราวไหนที่จำเป็นพระองค์ท่านถึงจะเข้า แต่ว่าที่ว่าจำเป็นนี่บางทีก็ด้วยความยินยอมของฝ่ายที่ขัดแย้งกัน อย่างเมื่อคราวที่จำลองกับสุจินดา จะเอาเป็นเอาตายอยู่ตอนนั้น รับสั่งให้เข้าเฝ้าฯ…”

เมื่อท่านอาจารย์วสิษฐเอ่ยถึงกรณี “จำลอง-สุจินดา” พวกเราก็เลยได้โอกาสที่จะสอบถามต่อว่า ในกรณีที่ “จำลอง-สุจินดา” เข้าเฝ้าฯ นั้น ตกลงแล้ว ที่มาของการเข้าเฝ้าฯ เกิดขึ้นได้อย่างไร? เพราะมีคนบอกว่า เป็น พล.อ.เปรมเป็นผู้ริเริ่มบ้าง

ส่วน พล.อ.สุจินดาก็ให้สัมภาษณ์ว่า ตัว พล.อ.สุจินดาในฐานะนายกรัฐมนตรีเป็นคนริเริ่ม?

ท่านวสิษฐตอบว่า “พระองค์ท่านทรงริเริ่ม”

ต่อมา เราก็ถามว่า คนไทยชอบพูดว่าเราเอาประเพณีการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาจากอังกฤษ ทีนี้ในอังกฤษมันมีประเพณีว่านายกรัฐมนตรีต้องเข้าไปถวายรายงานให้กับสมเด็จพระราชินีนาถทุกสัปดาห์ ในกรณีของประเทศไทยเราได้ปฏิบัติเช่นนี้หรือไม่?

อาจารย์วสิษฐตอบว่า “ของเราถ้าจะมี ก็คงจะเป็นคุณอานันท์คนเดียว นอกนั้นไม่ทราบว่ามีใครที่เข้าเฝ้าฯ ในหลวงเป็นประจำอีกบ้าง”

 

อีกคำถามหนึ่งก็คือ จากการที่ท่านอาจารย์วสิษฐได้กล่าวว่า ในหลวงท่านทรงวางพระองค์เป็นกลางตามระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตอนหลังๆ มีงานวิชาการกล่าวว่าพระองค์กับจอมพลสฤษดิ์มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาก ท่านอาจารย์วสิษฐเห็นอย่างไร?

ในความเข้าใจของท่านอาจารย์วสิษฐเห็นว่า “เป็นเรื่องทางฝ่ายจอมพลสฤษดิ์มากกว่า เพราะอยู่ดีๆ พระเจ้าอยู่หัวท่านก็คงไม่ไปดีอกดีใจอะไรกับจอมพลสฤษดิ์มากนัก แต่จอมพลสฤษดิ์เป็นคนที่พยายามจะแสดงให้เห็นว่าเป็นคนที่เชิดชูพระมหากษัตริย์ จอมพลสฤษดิ์เป็นนักการเมืองที่ฉลาด รู้ว่าชาวบ้านเคารพรักพระเจ้าอยู่หัว เพราะฉะนั้น ถึงได้ทำอะไรเป็นการเชิดชูกว่านายกฯ คนที่แล้วๆ มา โดยเฉพาะจอมพล ป.”

ขณะเดียวกัน ทีมงานของเราก็ได้ไปค้นหนังสือชื่อ The King of Thailand in World Focus ที่มีนักข่าวต่างประเทศสัมภาษณ์จอมพลสฤษดิ์หลังทำรัฐประหารใหม่ๆ ว่า ตอนที่ทำรัฐประหารแล้ว ไม่ทราบจอมพลสฤษดิ์ได้กราบบังคมทูลในหลวงหรือเปล่า แล้วจอมพลสฤษดิ์ท่านก็ตอบกลับไปประมาณว่า ท่านจะว่าอะไรได้ ก็เรื่องมันเสร็จไปหมดแล้ว ต่อคำสัมภาษณ์ดังกล่าวนี้ของจอมพลสฤษดิ์ ท่านอาจารย์วสิษฐมีความเห็นอย่างไร

ท่านอาจารย์วสิษฐมีความเห็นดังนี้ “ผมรู้สึกว่าทุกครั้งที่เกิดรัฐประหาร พระเจ้าอยู่หัวตกอยู่ในสถานะนั้น คือว่ามันจบลงไปแล้ว ต้องให้เค้าเข้ามาเฝ้าฯ แม้กระทั่งเมื่อคราวสนธินี่ก็เหมือนกัน มันจบแล้วจะให้ทำยังไง”

 

ทีมงานถามต่อไปอีกว่า ระยะหลังๆ นักวิชาการจำนวนหนึ่งมักจะมีความคิดว่า รัฐประหารแรกๆ ในหลวงท่านไม่รู้เรื่องอะไร รัฐประหารเสร็จแล้วค่อยมากราบบังคมทูลทีหลัง รัฐประหารต่อๆ มา ก็กราบบังคมทูลให้พระองค์ท่านรับรู้ก่อนจะลงมือทำรัฐประหาร แล้วก็มาถึงขั้นสุดท้ายคือพระองค์ท่านบอกให้เป็นคนทำเลย

ท่านอาจารย์วสิษฐบอกว่ากล่าวต่อประเด็นนี้ว่า “ผมไม่เชื่อเลย พระเจ้าอยู่หัวมีทหารอยู่หยิบมือเดียว คือทหารรักษาพระองค์ แล้วความจริงทหารรักษาพระองค์เป็นของรัฐบาลนะ (หัวเราะ) เพียงแต่เขาให้มารักษาพระองค์ท่าน ดังนั้น ถ้าจะรบกันจริง ๆ พระองค์ท่านก็สู้ใครไม่ได้ เพราะฉะนั้น มันเป็นเรื่องของคนอื่นทั้งนั้น พระองค์ท่านอยู่ในสภาพที่ถูกจำกัดโดยตำแหน่งอยู่แล้ว”

ทีมงานสงสัยต่อเกี่ยวกับกรณีการพยายามทำรัฐประหารในวันที่ 2 เมษายน 2524 หรือที่รู้จักกันในนามของเหตุการณ์ “เมษาฮาวาย” เนื่องด้วยท่านอาจารย์วสิษฐเคยบอกว่า ในหลวงท่านจะให้ทุกฝ่ายมาเข้าเฝ้าฯ ได้ แต่ครั้งนั้น พล.อ.เปรมขอให้ในหลวงเสด็จไปประทับที่โคราช เนื่องจาก พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร จะเคลื่อนกำลังมา แล้วอาจไม่ปลอดภัย

แต่จากการที่พระองค์ท่านเสด็จไปโคราช อาจถูกเข้าใจว่าเป็นการเลือกข้าง ท่านอาจารย์วสิษฐจะตอบประเด็นนี้อย่างไร?

ท่านอาจารย์วสิษฐไม่มีคำตอบที่แน่นอนในกรณีเหตุการณ์นี้ แต่ชวนให้พวกเราคิดว่า คำตอบจะเป็นไปอย่างไรได้บ้าง? แต่ท่านอาจารย์วสิษฐเห็นว่า

“จริงๆ ผมว่าน่าเห็นใจพระองค์ท่านอย่างยิ่ง คือทรงงานหนักและไม่มีทางเลือก สิ่งที่พอทำได้ก็คือแนะให้ชาวบ้านพอเลี้ยงตัวได้ แต่พอมาถึงปัญหาบ้านเมือง พระองค์ท่านทำลำบาก”

 

ทีมงานยิงคำถามต่อไปอีกว่า ตลอดเจ็ดสิบปี จะพบว่า ในรัชสมัยของพระองค์ท่าน มีวิกฤตการเมือง วิกฤตสังคม หรือวิกฤตของประเทศเกิดขึ้นมาก ในทรรศนะของท่านวสิษฐ อันไหนคือวิกฤตที่พระองค์ท่านคิดว่าวิกฤตมากที่สุด เพราะถ้าเอาตามพระราชดำรัสก็คือวิกฤตตอนปี 2549 ที่พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำรัสกับผู้พิพากษา

ท่านอาจารย์วสิษฐ “พระองค์ท่านไม่เคยรับสั่งว่าอันไหนวิกฤตที่สุด พระองค์ท่านรับสั่งแค่ว่า เมื่อมีปัญหาขึ้นมาต้องพยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วผลจะเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น คือพระองค์ท่านใช้วิธีพระพุทธเจ้า ไม่เคยมีครั้งไหนเลยที่แสดงพระอาการให้เรารู้สึกว่าพระองค์ท่านหมดอาลัยตายอยาก มีแต่รับสั่งกับพวกเราด้วยว่าปัญหามีต้องพยายามแก้ไข แต่อย่าพยายามติดยึดว่าต้องแก้ให้ได้ แต่แค่ทำให้สุดความสามารถแล้วผลจะแก้ได้หรือไม่ก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามนั้น นี่เป็นวิธีการของพระองค์ท่าน”

“แล้วที่มีคนบอกว่ามีในหลวงไปนั่งทอดพระเนตรอยู่ริมทะเล แล้วกรรแสงอยู่ที่ไกลกังวล ผมต้องเขียนหนังสือออกมาด่าไป ดูเหมือนจะเป็นนายทหารผู้ใหญ่คนหนึ่งอ้างว่าไปเฝ้าฯ กันแล้วเห็นว่าพระองค์ท่านกรรแสง เพราะพระเจ้าอยู่หัวไม่เคยกรรแสง”