“รัฐธรรมนูญ” กับ “นางสาวสยาม”

เพ็ญสุภา สุขคตะ

จาก ปริศนาโบราณคดีตอนที่ 55 เผยแพร่ครั้งแรกที่มติชนสุดสัปดาห์ ธันวาคม 2554

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 กลุ่มคณะราษฎรได้จ้ัดตั้งรัฐบาลขึ้นโดยเคยตั้งใจว่าจะกำหนดเอาวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันรัฐธรรมนูญ

แต่แล้วปลายปี 2475 เดียวกันนั้นเอง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ลงพระปรมาภิไธย พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ปวงชนชาวไทยอย่างเป็นการ ทำให้วันรัฐธรรมนูญจากเดิมที่เคยกำหนดไว้กลางปีต้องเปลี่ยนมาเป็นการอุปโลกน์เอาใหม่ช่วงปลายปีคือวันที่ 10 ธันวาคมแทน

ประกวดขาอ่อน นโยบายดึงชาวบ้านร่วมงานฉลองรัฐธรรมนูญ

ในเมื่อรัฐบาลประกาศให้วันที่ 10 ธันวาคมเป็นวันรัฐธรรมนูญแล้ว ก็มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหัวเรือใหญ่ สั่งการบ้านต่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกคนจัดกิจกรรมงานฉลองวันรัฐธรรมนูญขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ

โจทย์ใหญ่ที่ท้าทายรัฐบาลขณะนั้นก็คือ ทำไรถึงจะให้ชาวบ้านอย่างตาสีตาสายายมียายมา รู้จักว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร หรือแม้ยังไม่เข้าใจแต่อย่างน้อยที่สุดก็ขอให้หันมาสนใจ อยากเข้าร่วมงานวันรัฐธรรมนูญที่ภาครัฐอุตส่าห์ตั้งใจตีฆ้องร้องป่าวบ้าง

ทางออกที่รัฐคิดได้ก็คือ การจัดประกวดขาอ่อน สมัยนั้นเรียกว่า “นางสาวสยาม” เริ่มครั้งแรกในปี พ.ศ.2477 เจ้าภาพหลักที่รับผิดชอบการจัดประกวดได้แก่กระทรวงมหาดไทย ยังไม่ใช่โรงเรียนวชิราวุธ อีกทั้งสมัยนั้นยังไม่มีค่ายชุบตัวนางงามอย่างป้าชุลี หรือป้ายรรยงเหมือนปัจจุบัน

ส่วนเวทีจัดงานใหญ่ที่กรุงเทพนั้นใช้สวนของวังสราญรมย์ ไม่ใช่เวทีสวนอัมพรเหมือนยุคต่อมา สาวงามแต่ละจังหวัดต้องผ่านการประกวดโฉมในเวทีระดับจังหวัดมาแล้ว โดยผู้ว่าราชการจังหวัดมีหน้าที่ส่งนางงามของตนเข้าประกวดเวทีใหญ่นางสาวสยาม ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น “นางสาวไทย” เมื่อปี 2507

น่าสนใจยิ่งนัก ที่จุดเริ่มต้นของเวทีประกวดนางงามในสยามประเทศนั้น เกิดขึ้นจากกุศโลบายเร้นแฝงอยู่เบื้องหลังการเมือง โดยรัฐบาลยุคคณะราษฎรอ้างว่า

“…ชาวไทยเกือบทั้งประเทศไม่รู้เลยว่าประชาธิปไตยคืออะไร รัฐธรรมนูญแปลว่าอะไร บางคนเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตยนี่ เป็นชื่อลูกชายของพระยาพหลพลพยุหเสนาด้วยซ้ำ การจัดประกวดนางสาวสยามและนางงามทั่วทุกจังหวัดในวันที่ 10 ธันวาคม จึงถือว่าจัดขึ้นเพื่อเป็นนางกวักให้คนเข้ามาชมงานรัฐธรรมนูญ… ”

ไม่ทราบเหมือนกันว่าหลังจากที่ชาวบ้านแห่แหนกันเข้าร่วมงานวันรัฐธรรมนูญที่สนามหน้าศาลากลางของแต่ละจังหวัด โดยเอานางงามมาล่อแล้ว พวกเขามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน

ทว่า เส้นทางของนางงามมิได้หยุดอยู่เพียงแค่ “ไม้ประดับ” ที่ช่วยลดดีกรีความร้อนแรงทางการเมืองเท่านั้น ผลพวงหลังจากที่ได้มงกุฎนอกจากจะพลิกชีวิตของน้องนางบ้านนาหลายอนงค์ให้กลายเป็นนางเอกภาพยนตร์หรือประชาสัมพันธ์ร้านขายผ้าฝ้ายผ้าไหมแล้ว

รางวัลเกียรติยศดังกล่าว ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้าง “ภาพลักษณ์” ใหม่ให้แก่ “เอื้องเหนือ” ไม่ว่านางสาวลำพูน หรือนางสาวถิ่นไทยงามจากเชียงใหม่ เชียงราย ที่มักไปคว้ารางวัลเวทีนางสาวไทยหลายรุ่น ด้วยรัฐบาลสยามเริ่มเห็นช่องทางทำมาหากิน นำไปสู่นโยบายโปรโมทการท่องเที่ยวเมืองเหนือ เช่นการจัดสาวงามคอยต้อนรับแขกต่างชาติตามงานเลี้ยงขันโตกเพื่อดึงดูดเม็ดเงิน หรือการชูจุดขายหลักสองอย่างควบคู่กันคือ

“ธรรมชาติอันตระการ” และ “ความอ่อนหวานของผู้หญิง”

คนรุ่น 40-50 อัพ ย่อมเคยได้ยินเพลงมนต์รักป่าซาง (ทั้งของชรินทร์ นันทนาคร และสุรพล สมบัติเจริญ) หรือมนต์เมืองเหนือ ล้วนแต่มีเนื้อหาระบุถึงความประทับใจที่ได้มาแ่อวชมความงามของน้ำตกสวย ฟ้าใส ดอยสูง และไม่ลืมที่จะต้องตบท้ายด้วยการหลงมนต์เสน่ห์สาวงาม!

ทั้งๆ ที่ผู้หญิงเหนือครั้งอดีตยุครัชกาลที่ 4 – 5 ในสายตาผู้ดีสยาม ขนาดเป็นถึงเจ้านายฝ่ายเหนือ อย่างเช่นพระราชชายา เจ้าดารารัศมี เพิ่งจะถูกดูแคลนเหน็บแนมว่าเป็น “อีลาวกินกิ้งก่า” มาหมาดๆ

ไม่น่าเชื่อว่างานฉลองวันรัฐธรรมนูญ จักกลายเป็นเวทีที่ช่วยชุบชีวิตใหม่ให้สาวเหนือ หายเหม็นกลิ่นสาบปลาร้า กลายเป็นนางในฝัน ผิวขาวอมชมพู (ไม่ต้องใช้ไวท์เทนนิ่ง) หุ่นอวบอิ่ม อันเป็นมายาคติ ให้ชายทั่วทุกภูมิภาคหลงใหลคลั่งไคล้กันไปได้ ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ

นางงามแบ่งบาน อวสานรัฐธรรมนูญ

ปัจจุบันไม่มีจังหวัดไหนอีกแล้วที่เอางานประกวดนางงามมาผูกติดกับงานฉลองวันรัฐธรรมนูญ ต่างคนต่างแยกย้ายกันเดินทางไปยามยถาวิถี

งานรัฐธรรมนูญ ณ วันนี้เหลือแต่การเกณฎ์หัวหน้าส่วนราชการไปทำรัฐพิธี (พอเป็นพิธี) ที่ศาลากลางจังหวัดตอนกลางวัน ไม่มีมหรสพชิงช้าสวรรค์ภาคค่ำ ยกเว้นบางจังหวัดที่ยังคงใช้ช่วงเทศกาลระหว่างวันพ่อ (ซึ่งมาบัญญัติให้เป็นวันหยุดราชการขึ้นภายหลัง) ลากยาวมาจนถึงวันรัฐธรรมนูญจัดงานรื่นเริงประจำปี แต่เปลี่ยนชื่อใหม่กลายเป็นงานกาชาดฤดูหนาว (ในขณะที่ทางกรุงเทพจัดงานกาชาดเดือนเมษายน) และแน่นอนยังคงมีไฮไลท์อยู่ที่การประกวดนางงาม อันเป็นวัฒนธรรมตกค้าง เพื่อใช้เป็นเวทีไต่เต้าไปสู่เวทีระดับชาติ ระดับจักรวาลต่อไป

ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น ไม่มีหน้าที่สรรหาสาวงามเข้าประกวดอีกแล้ว เพราะนางงามสมัยนี้มีสปอนเซอร์เป็นบริษัทห้างร้าน พ่อเลี้ยง แม่เลี้ยงที่มีอิทธิพลในพื้นที่ หรือได้รับงบสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

งานกาชาดฤดูหนาวทั่วประเทศ จึงไม่มีสำนึกหรืออุดมการณ์ทางประชาธิปไตยอีกต่อไป มีแต่ความมุ่งมั่นที่จะขอรับบริจาคปัจจัย ในรูปแบบสอยดาวชิงโชค จนพัฒนากลายมาเป็นงานวัดเต็มรูปแบบ

เดิมนั้นงานฉลองวันรัฐธรรมนูญกะจะหลอกใช้ “ผู้หญิง” มาเป็นเครื่องมือดึงดูดลูกค้า แต่แล้วไปๆ มาๆ ธุรกิจนางงามกลับขยายวงใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดก็ครอบครองความสนใจชาวบ้านไว้ในอุ้งมือ กลายเป็นเครื่องต่อรองอำนาจทางสังคมและเศรษฐกิจแบบเบ็ดเสร็จ

ทั้งในสังคมเมืองที่เขยิบฐานะขึ้นเป็นมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส มิสเอเชียแปซิฟิก และมิสอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย ไม่เว้นแม้แต่สังคมชนบท หลามไหลจากนางสาวสยาม 10 ธันวา กระจายไปสู่ ธิดากาชาด นางนพมาศ เทพีสงกรานต์ ธิดาลำไย อี่นางจาวยอง เทพีโหระพา …

“นางสาวไทย” กลายเป็นมรดกขุนนางเบียดชิงพื้นที่ของคำว่า “ประชาธิปไตย” ให้ถอยหลังไปยืนสงบเสงี่ยมเจียมเนื้อเจียมตัวอยู่นอกกำแพงรั้ว หรือนี่คือปรากฏการณ์อันล้มเหลวในการเรียนรู้เรื่องรัฐธรรมนูญโดยสิ้นเชิงของชาวบ้าน ถ้ามิเช่นนั้นคงไม่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะฉบับใต้เท้าอำมาตย์ปี ๒๕๕๐ ที่เปิดช่องให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยการจับแพะอย่าง “อากง” มาเชือดไก่ให้ลิงดู

ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 16 ฉบับ ถ้านับรวมการแก้ไขเพิ่มเติมยิบย่อยประเด็นเล็กประเด็นน้อยอีกกว่า 20 ครั้งแล้ว รวมกันก็ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางรัฐธรรมนูญเกือบ 40 ครั้ง

ทว่ารัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับมักได้มาจากการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างชนชั้นปกครองด้วยกันเอง ยกเว้นบางฉบับต้องแลกมาด้วยชีวิตและเลือดเนื้อของประชาชนเช่นหลังเหตุการณ์นองเลือด 14 ตุลา 2516 และพฤษภาทมิฬ 2535

ไม่ว่าจะสังเวยวีรชนไปแล้วกี่หมื่นศพ แต่รัฐธรรมนูญที่เรามีอยู่ ก็ยังเสมือนเป็นของขวัญที่อภินันทนาการมาจากชนชั้นผู้ปกครอง แล้วหยิบยื่นมอบให้ปวงชนซึ่งถูกมองว่าเป็นชนชั้นไพร่หรือผู้ตาม ทั้งๆ ที่เนื้อแท้ของรัฐธรรมนูญตามที่ประเทศศิวิไลซ์เขาใช้กันนั้น ล้วนแต่หยุดยั้งการส่งเสริมอภิสิทธิ์อันล้นฟ้าของผู้ปกครอง แล้วหันมารับรองและประกันสิทธิของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจที่แท้จริง