กรองกระแส/คสช. นักการเมือง นอนเตียงเดียวกัน ฝันคนละเรื่อง ในสนามการเลือกตั้ง

กรองกระแส

 

คสช. นักการเมือง

นอนเตียงเดียวกัน ฝันคนละเรื่อง

ในสนามการเลือกตั้ง

 

ไม่ว่าจะมองจากบทบาทและการเคลื่อนไหวของ “คสช.” เด่นชัดว่าต้องการไปสู่การเลือกตั้ง ไม่ว่าจะมองจากบทบาทและการเคลื่อนไหวของ “นักการเมือง” เด่นชัดว่าต้องการไปสู่การเลือกตั้ง
หากไม่ต้องการการเลือกตั้งคงไม่ประกาศ “โรดแม็ป”
ไม่ว่าจะเรียกว่า “ปฏิญญาโตเกียว” ไม่ว่าจะเรียกว่า “ปฏิญญานิวยอร์ก” ไม่ว่าจะเรียกว่า “ปฏิญญาทำเนียบขาว” เป้าหมายคือการเลือกตั้ง
หากไม่ต้องการการเลือกตั้งคงไม่ร่างและประกาศใช้ “รัฐธรรมนูญ”
หากไม่ต้องการการเลือกตั้งคงไม่เร่งในเรื่อง “ครม.สัญจร” ไปในแต่ละจุดซึ่งล่อแหลมและอ่อนไหวในทางการเมือง
ประสานกันไปกับการเท “งบประมาณ” จำนวนมหาศาล ประชารัฐ ไทยนิยม
ขณะเดียวกัน หากไม่ต้องการการเลือกตั้งคงไม่เร่ง “พลังดูด” ไม่ว่าจะผ่านกระบวนการของ “กลุ่มสามมิตร” เพื่อไปรวมศูนย์เสริมความแข็งแกร่งให้กับ “พรรคพลังประชารัฐ”
ความต้องการของ “คสช.” เช่นนี้ย่อมเป็นความต้องการอย่างเดียวกันกับ “นักการเมือง”
เพียงแต่ความต้องการร่วมบนพื้นฐานของ “การเลือกตั้ง” ระหว่าง คสช. กับนักการเมืองกลับมีเป้าหมายที่แตกต่างกันไป
กระทั่งเข้าลักษณะ “นอนเตียงเดียวกัน แต่ฝันคนละเรื่อง”

เป้าหมาย คสช.
คือสืบทอดอำนาจ

กระบวนการของ คสช. เผยตัวตนและความต้องการอย่างเด่นชัดยิ่งนับแต่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ สรุปอย่างคมชัดยิ่งเมื่อเดือนกันยายน 2558 ที่ว่า “เขาอยากอยู่ยาว”
คำว่า “อยู่ยาว” ในที่นี้คือ การดำรงอยู่แห่ง “อำนาจ” ทางการเมือง
เด่นชัดอย่างยิ่งคือ 4 ปีภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คือการวางรากฐานไม่ว่าจะเป็นการบริหารราชการแผ่นดิน สร้างผลงาน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกฎกติกาตั้งแต่รัฐธรรมนูญเรื่อยไปจนกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ
ล้วนรวมศูนย์เพื่อเป็นหลักประกันแห่งการสืบทอดและครอบครอง “อำนาจ” ทั้งสิ้น
แม้กระทั่งการเลื่อน “โรดแม็ป” ครั้งแล้วครั้งเล่าจากปี 2558 เป็นปี 2559 เป็นปี 2560 เป็นปี 2561 และที่สุดเป็นปี 2562 ก็เพื่อการตระเตรียม ก็เพื่อเป้าหมายนี้
เฉพาะหน้าคือการสร้างความมั่นใจว่าหากเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งต้องได้ชัยชนะอย่างแน่นอน
ทั้งการเลือกตั้งและชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จจากการเลือกตั้งคือ หลักประกันเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจที่ได้มาของ คสช.

เป้าหมายนักการเมือง
เลือกตั้ง คือช่องทาง

นักการเมืองไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ หรือแม้กระทั่งพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ล้วนมองเจตนาของ คสช. ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง
นั่นก็คือ มองว่า คสช. ต้องการสืบทอดอำนาจ
นั่นก็คือ มองว่า คสช. ต้องการใช้กระบวนการของการเลือกตั้งเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการสืบทอดอำนาจของตน
กระนั้น นักการเมืองก็ต้องการการเลือกตั้งมาเป็น “ช่องทาง”
บางพรรคการเมืองมีความต้องการเข้าไปแทนที่ คสช. บางพรรคการเมืองมีความต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในอำนาจกับ คสช.
บางพรรคการเมืองมีความต้องการอาศัยช่องทางเลือกตั้งเป็นประตูไปสู่ “ประชาธิปไตย”
แม้ว่าเฉพาะหน้าไม่แน่ใจนักว่าจะสามารถเอาชนะ คสช. ได้บนฐานแห่งกติกาที่ คสช. เป็นฝ่ายกำหนดและวางกรอบ แต่ก็มั่นใจว่าพลันที่มีการเลือกตั้ง นั่นก็หมายความว่าแสงแห่งประชาธิปไตยก็ย่อมจะสาดฉายเข้ามา
และตรงนี้แหละจะได้รับการแปรเป็นอาวุธ เป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับ คสช.

คำตอบสุดท้าย
อยู่ที่ประชาชน

ไม่ว่าจะมองจาก คสช. ไม่ว่าจะมองจากนักการเมือง เมื่อใดที่กระบวนการของการเลือกตั้งเดินทางมาถึง นั่นก็หมายถึงการมอบโอนอำนาจในการตัดสินใจไปอยู่ในมือของประชาชน
หน้าที่ของแต่ละฝ่ายย่อมต้องสร้างความคิดและความมั่นใจให้บังเกิด
คสช. มีหน้าที่ทำให้เห็นว่า จากการตัดสินใจทำรัฐประหาร จากการแสดงฝีมือและความสามารถนับแต่เดือนพฤษภาคม 2557 จนถึงการเลือกตั้ง คสช. และพันธมิตรของ คสช. คือความหวัง คือฝ่ายที่ประชาชนจะมอบความไว้วางใจให้
ขณะเดียวกัน นักการเมืองและพรรคการเมืองที่พวกเขาสังกัดก็ต้องทำให้เห็นว่า กระบวนการของ คสช. เป็นอย่างไร เป็นความหวัง หรือเป็นตัวปัญหา ทำให้ความสว่างไสวที่เคยมีของประเทศกลายเป็นความมืดมน อับจนและสิ้นหวัง
สภาพการณ์ทางการเมืองเช่นนี้ย่อมนำไปสู่ทางเลือกสายใหญ่สำหรับประชาชน ไม่ว่าจะต้องการหรือไม่ต้องการก็ตาม
นั่นก็คือ จะเอา คสช. นั่นก็คือ จะไม่เอา คสช.