ดะโต๊ะ ศรี มหฎิร โมฮัมมัด นายกรัฐมนตรีคนที่ 4 และคนที่ 7 ของมาเลเซีย ตอนที่ 4 “ความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซีย”

จรัญ มะลูลีม

3 ทศวรรษความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซีย
ในสมัยแรกของมหฎิร (1981-2003)

ในสมัยแรกของมหฎิร มาเลเซียได้นำเสนอนโยบายต่างประเทศที่กล้าหาญ และมีความสมดุล ซึ่งนโยบายดังกล่าวได้แก่นโยบายมองตะวันออก (Look East) ซึ่งนำเสนอในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1982

ก่อนหน้านี้มหฎิรก็ประกาศนโยบายให้ซื้อของจากสหราชอาณาจักรเป็นประเทศสุดท้าย (Buy British Last) มาแล้วในเดือนตุลาคม ปี 1981

ในมุมมองของนักวิชาการชาวมาเลเซียอย่างคอดีญะฮ์ มุฮัมมัด คอลิด และชากิละฮ์ ยะอ์กู๊บ พบว่าความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซียไม่ค่อยได้มีการสานต่อและต่างฝ่ายต่างก็ไม่ค่อยสนใจกัน

ในสายตาของมาเลเซีย ประเทศไทยถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีปัญหาน้อยที่สุด ความสัมพันธ์ไทยมาเลเซียส่วนใหญ่แก้ไขได้และไม่ได้ท้าทายอะไร ไม่เหมือนความสัมพันธ์ของมาเลเซียที่มีต่ออินโดนีเซียและสิงคโปร์

มาเลเซียและไทยยอมรับสถานะความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างจะเป็นที่พอใจของกันและกัน ในขณะที่มีความร่วมมือในด้านที่มีความสำคัญหลายด้าน

ปัญหาคือทำไมจึงเรียกความสัมพันธ์ที่มาเลเซียมีต่อไทยว่าเป็นความสัมพันธ์ด้านเดียว ในเรื่องนี้นักวิจัยจากมาเลเซียมีข้อสังเกตดังนี้

 

ประเทศไทยมีความสนใจและมีการวางนโยบายต่างประเทศที่ต่างไปจากมาเลเซีย

กล่าวคือ ประเทศไทยยึดโยงอยู่กับตะวันตก และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประเทศไทยส่วนใหญ่จะหมดเวลาไปกับเมียนมาและจีน

ประเทศไทยเป็นไม้เบื่อไม้เมากับกัมพูชา ให้ความสนใจปัญหาความมั่นคง และอยู่แถวหน้าของนโยบายโดมิโน นั่นคือการที่ไทยต้องคอยปกป้องการคุกคามจากเวียดนาม

การขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของสหรัฐในเรื่องการป้องกันประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความช่วยเหลือทางการเงินและยุทโธปกรณ์

ในสมัยการเป็นนายกรัฐมนตรีของมหฎิร (1981-2003) มีเหตุการณ์สำคัญคือ ASEAN กลายมาเป็นหนึ่งในเสาหลักสี่เสาของนโยบายต่างประเทศมาเลเซีย ดังนั้น ความสัมพันธ์ภายในสมาชิก ASEAN ด้วยกันจึงกลายมาเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก

สิ่งนี้ช่วยให้มีการยกระดับความสัมพันธ์กับประเทศ ASEAN เป็นรายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ของมาเลเซียกับเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสิงคโปร์นั้นได้รับการพิจารณาว่าเป็นเรื่องที่ “หุนหันพลันแล่น” ทั้งนี้ ทั้งสองประเทศต่างก็มีผู้นำที่มีบุคลิกเข้มแข็ง คือมหฎิรและลี กวน ยิว ในขณะที่โดยเปรียบเทียบแล้วความสัมพันธ์มาเลเซีย-อินโดนีเซียค่อนข้างจะมั่นคงและมีการแข่งขันกันน้อยกว่า

แม้ว่าช่วงทศวรรษ 1980-1990 ถือเป็นช่วงระยะเวลาแห่งความสงบในจังหวัดภาคใต้ของไทยเป็นส่วนใหญ่ แต่ในสมัยแรกของการเป็นนายกรัฐมนตรีของมหฎิรอันยาวนานก็มีทั้งความสัมพันธ์ที่ดีและความขัดแย้งสลับกันไป

 

มหฎิรเป็นผู้นำมาเลเซียที่อยู่ร่วมสมัยกับผู้นำไทยหลายคน อย่างเช่น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (1980-1988) พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน (1988-1988) นายอานันท์ ปันยารชุน (1991-1992) นายชวน หลีกภัย (1992-1995 และ 1997-2001) และ ดร.ทักษิณ ชินวัตร (2001-2006)

ความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซียในสมัยของมหฎิรมีความใกล้ชิดด้านความมั่นคง

แต่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญในสถานการณ์ชายแดนใต้มากนัก

อย่างไรก็ตาม มีการต่อสู้กับกองโจรคอมมิวนิสต์ร่วมกัน มีการยืนยันถึงสถานะของผู้ลี้ภัยเมื่อต้นปี 1981 เมื่อชาวปัตตานีเชื้อสายมาเลย์หลบหนีเข้ามาทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐเคดะฮ์และเปรัก

การส่งตัวผู้ต่อต้านรัฐบาลไทยที่ลี้ภัยอยู่ในมาเลเซียกลับสู่ประเทศไทย ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ดร.มหฎิร เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างไทยและมาเลเซีย

เป็นที่ชัดเจนว่ามาเลเซียจะไม่ยอมรับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลและผู้ลี้ภัยที่หลบหนีไปมาเลเซียในปี 1982

 

มหฎิร โมฮัมมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้กล่าวย้ำระหว่างการเยือนประเทศไทยว่า “รัฐบาลมาเลเซียไม่ได้สนับสนุนกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ของไทย รัฐบาลของข้าพเจ้าจะไม่ยอมทนต่อสิ่งใดๆ ก็ตามที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและมาเลเซียเลวร้าย” (ดู Asiaweek, December 24, 1982)

จากการปล่อยปัญหาการก่อความไม่สงบไว้เป็นปัญหาภายในของไทย มาเลเซียได้เริ่มกล่าวถึงประเด็นอันละเอียดอ่อนนี้อย่างเปิดเผยและแสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนไทยแก้ปัญหาด้วยแนวทางที่ตรงไปตรงมาของนายกรัฐมนตรีมหฎิรทำให้ความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซียดีขึ้นและลดความแคลงใจกัน

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีมหฎิรชูนโยบายไม่แทรกแซงกิจการของประเทศเพื่อนบ้านอยู่เสมอ และได้พูดต่อต้านกลุ่มแบ่งแยกดินแดนต่างๆ ในภูมิภาค ในการเยือนประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งใน ปี 1993 นายกรัฐมนตรีมหฎิรได้ย้ำจุดยืนของมาเลเซียที่ต่อต้านการก่อความไม่สงบและให้คำมั่นว่าจะ “ร่วมมือกับกองกำลังของไทยในการปราบปรามอาชญากรรมตลอดแนวชายแดน” (New Straits Times, April 25, 1993)

เพื่อยืนยันจุดยืนข้างต้นรัฐบาลมาเลเซียได้ส่งมอบสมาชิกกลุ่มปลดปล่อยรัฐปัตตานี (PULO) ที่ถูกจับกุมที่เมืองกัวลากังซาร์ (Kuala Kangsar) และถูกคุมตัวไว้ 9 วันตามกฎหมายมาเลเซียให้ทางการไทยเมื่อปี 1997 สื่อมวลชนท้องถิ่นได้รายงานการส่งมอบสมาชิกที่ถูกจับกุมกลุ่มนี้ให้ทางการไทยที่สะพานมิตรภาพรันตูปันญัง-สุไหงโกลก (Runtau Panjang-Sungai Golok) อย่างแพร่หลาย

ในขณะที่นโยบายการไม่แทรกแซงกิจการภายในของนายกรัฐมนตรีมหฎิรมีพื้นฐานมาจากแนวความคิดเรื่องการละเมิดไม่ได้ของเขตอำนาจรัฐและในระบบรัฐ ซึ่งนำมาสู่การมอบตัวชาวไทยเชื้อสายมาเลย์ที่ต่อต้านอำนาจรัฐหลายคนให้ประเทศไทย

นโยบายในช่วงหลังของนายกรัฐมนตรีมหฎิรได้เน้นความสำคัญของความมั่งคั่งจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยยังมีความร่วมมือที่คล้ายกันด้านความมั่นคงและการลาดตระเวนร่วมด้วย (New Straits Times, April 25, 1993. หน้า 138-139)

 

มหฎิรได้เปลี่ยนจุดยืนของตนไปบ้างเมื่อเขาได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับความไม่สงบในภาคใต้ตอนล่างของไทยด้วยการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ อุตุซัน ในวันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม ปี 2004 ว่าไทยควรพิจารณาเรื่องเขตปกครองพิเศษขึ้นใน 3 จังหวัดภาคใต้ พร้อมกับเปรียบความไม่สงบในภาคใต้ว่าเป็นเหมือนชาวปาเลสไตน์ที่ต้องการดินแดนของตน

กระนั้นก็ตามมหฎิรได้พูดต่อไปว่าการตั้งเขตปกครองดังกล่าวคงไม่ใช่เรื่องง่าย

ในขณะที่อันวาร์ อิบรอฮิม (Anwar Ibrahim) ว่าที่นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียคนต่อไปซึ่งก่อนหน้านี้เป็นผู้นำฝ่ายค้านคนสำคัญของรัฐบาลมาเลเซียมีความคิดต่อความไม่สงบในภาคใต้ตอนล่างของไทยว่า

“ในความคิดของผมมันเป็นปัญหาของคนที่ถูกมองว่าเป็นคนชายขอบ ชาวมุสลิมในภาคใต้ของไทยแตกต่างจากชาวจีนและชาวอินเดียในมาเลเซีย คนจีนและคนอินเดียอยู่กระจัดกระจายไปในที่ต่างๆ แต่คนมุสลิมในภาคใต้รวมอยู่ในที่เดียวกัน

การแก้ไขปัญหาก็คือ ต้องพูดคุยกับพวกเขา ต้องแสดงให้เห็นว่าพวกเขาได้รับความเคารพทางศาสนา ให้เกียรติพวกเขา พวกเขาก็จะให้การยอมรับเหมือนอย่างเรื่องของชาวปาเลสไตน์ก็ต้องคุยกับชาวปาเลสไตน์

การสานเสวนาเป็นเรื่องสำคัญ ทหารควรถอนตัวออกมา เหมือนโอบามาบอกว่าการใช้กำลังทหารไม่มีทางประสบความสำเร็จได้ ควรใช้ความอดกลั้นและเพิ่มความแข็งแรงให้กับผู้คน” (สัมภาษณ์อันวาร์ อิบรอฮิม ผู้นำพรรคเคอาดิลัน (Keadilan) และอดีตรองนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ณ ที่ทำการพรรคเคอาดิลัน 21 มกราคม 2009)

 

ในเวลาต่อมามหฎิรให้สัมภาษณ์ Jeremy Hurewitz บรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายเดือน Asian Century Series for Projects Syndicate และเป็นสมาคมหนังสือพิมพ์ระหว่างประเทศที่มิได้แสวงผลกำไร

ผมยังคงเข้าไปเกี่ยวข้องในความพยายามที่จะหาทางออก แต่เราก็ยังหาทางออกไม่ได้อย่างแท้จริง และผมก็ไม่ใช่บุคคลที่จะพูดอะไร ซึ่งโดยหลักการอาจจะต่างไปจากทัศนะของผู้อื่น ด้วยเหตุนี้ผมจึงมีความโน้มเอียงที่จะลดบทบาทลงไป

มีปัญหาในเรื่องของคำว่า “เขตปกครองตัวเอง” ในประเทศไทยคำว่าเขตปกครองตนเองหมายถึงการได้รับเอกราช ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงตอบโต้มาอย่างรุนแรงในสิ่งที่ผมพูด แต่นั่นเป็นสิทธิของพวกเขา (Jeremy Hurewitz, Interview : Dr. Mahathir on Asia, Islam and Cartoons Far Eastern Economic Review, March 2006 vol. 169 No.2 p.55)