วงค์ ตาวัน : คลิปทหารเลี้ยงไก่-โลกเปลี่ยนไปจริงๆ

วงค์ ตาวัน

พูดกันมานานแล้วว่า รัฐบาลทหาร คสช. นั้นวางแผนมากเกินไป ก็เลยอยู่ในอำนาจยาวนาน จนบัดนี้ 4 ปีเข้าไปแล้ว จึงเริ่มเข้าสู่วัฏจักรแห่งอำนาจ ที่มีขึ้นย่อมมีลง ยิ่งความเป็นรัฐบาลที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย จึงต้องประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจการค้าขายทั่วโลก สภาพเศรษฐกิจจึงฝืดเคือง

ยิ่งนานวัน ประชาชนคนไทยก็เริ่มรู้สึกมีปัญหาด้านปากท้อง คะแนนนิยมของกลุ่มอำนาจก็เริ่มตกต่ำ

“คำกล่าวที่ว่า เป็นช่วงขาลงของรัฐบาลทหาร จึงเริ่มพูดกันอย่างมากในช่วงปีสองปีมานี้ และนับวันยิ่งพูดกันหนาหูมากขึ้น”

อย่างล่าสุด กรณีคลิปพลทหารเลี้ยงไก่แค่คลิปเดียว กลับส่งผลสะเทือนให้แก่กองทัพไม่น้อยเลย

เสียงวิพากษ์วิจารณ์อื้ออึงไปทั้งสังคม และพูดลงลึกไปถึงระบบพลทหารรับใช้ในบ้านผู้ใหญ่

ทหารรับใช้ในบ้านเจ้านายที่ทำกันมานานนม มาวันนี้เริ่มถูกตรวจสอบและเริ่มถูกสังคมจับตามอง ว่าการนำเอาพลทหารที่เข้าสู่กองทัพเพื่อฝึกฝนการเป็นนักรบไว้รับใช้ชาติ กลับเอาไปทำงานบ้านให้กับผู้ใหญ่

“เป็นเรื่องถูกต้องแล้วหรือ!?”

คลิปคลิปเดียว จากพลทหารซึ่งต้องการพึ่งพิงโลกออนไลน์เพื่อขอความเป็นธรรมและป่าวประจานระบบอันไม่ถูกต้องของกองทัพในเรื่องนี้

ส่งผลให้กองทัพอยู่เฉยไม่ได้ แม้ว่าจะมีความพยายามที่จะปกป้องระบบทหารรับใช้เอาไว้ต่อไป แต่ก็ต้องยอมรับผลของเสียงร้องเรียนผ่านคลิปพลทหารเลี้ยงไก่ ด้วยการสั่งตั้งกรรมการสอบสวน

รวมทั้ง พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ที่ให้สัมภาษณ์ยอมรับพลังทางสังคมที่กดดันใส่กองทัพว่า

“”ปัจจุบันกำลังของกองทัพบกเอง ต้องตระหนักเสมอว่า การดำเนินการใดๆ ต้องสอดคล้องกับหลักการและข้อเท็จจริงของสังคม อะไรที่ไม่ได้รับการยอมรับ เราต้องไม่ปฏิบัติ””

รวมทั้งกล่าวด้วยว่า ในสังคมปัจจุบัน ข้าราชการต้องตระหนักว่าอะไรควร อะไรไม่ควร โลกมันเปลี่ยนแปลงไปเยอะแล้ว จะกลับไปทำเหมือนเดิมๆ คงไม่ได้แล้ว

แค่คลิปของพลทหารรายเดียว ก็ทำให้ ผบ.ทบ. ต้องยอมรับว่า โลกมันเปลี่ยนแปลงไปเยอะแล้ว!

ความจริง เหตุการณ์ 13 หมูป่าที่ได้รับการช่วยเหลือพ้นจากถ้ำหลวง จ.เชียงราย มีส่วนทำให้ภาพรวมของกองทัพได้รับการยกย่องชื่นชมอย่างมาก เนื่องจากหน่วยซีลของกองทัพเรือมีบทบาทสำคัญในการร่วมกับนักดำน้ำกู้ภัยในถ้ำของฝรั่งต่างชาติ ในการเข้าถึงเด็กๆ และโค้ช จนช่วยออกมาได้สำเร็จ

ชื่อเสียงของหน่วยซีลและกองทัพเรือเป็นที่กล่าวขวัญอย่างกว้างขวาง

เมื่อรวมกับการเข้าร่วมสนับสนุนในภารกิจนี้ของกองทัพบกและกองทัพอากาศ มากันครบทั้ง 3 เหล่าทัพ นำเอายุทโธปกรณ์ของทหารเข้ามาเป็นเครื่องมือในปฏิบัติการนี้อย่างเต็มที่

“ทหารจึงกลายเป็นขวัญใจของชาวบ้านอย่างเต็มภาคภูมิ!”

แต่ไม่ทันไร แค่คลิปพลทหารเลี้ยงไก่ กลับทำให้สังคมหันมาวิพากษ์วิจารณ์กองทัพอย่างหนักหน่วง และจี้ลงไปถึงระบบอันไม่ถูกต้องในเรื่องทหารรับใช้

จึงต้องยอมรับว่า ภาพรวมกองทัพจึงมีทั้งบวกและลบผสมผสานกันอยู่

“แต่ในกรณีที่กองทัพตกเป็นคู่กรณีกับประชาชนในประเด็นทางการเมือง ก็เป็นเรื่องที่สั่งสมมาตลอดหลายปีมานี้เช่นกัน”

จริงอยู่ การเข้ามามีบทบาททางการเมืองของทหารในช่วงหลายปีมานี้ มีทั้งประชาชนที่สนับสนุนและประชาชนที่ต่อต้าน

คนที่เชื่อในแนวทางการเมืองแบบอนุรักษนิยมคือ ไม่ชอบประชาธิปไตย รังเกียจนักการเมือง เบื่อความขัดแย้งทางความคิด ชอบบ้านเมืองที่สงบเสงี่ยมเป็นระเบียบเรียบร้อย

คนแนวนี้ย่อมปรารถนาให้กองทัพมีอำนาจในทางการเมือง

“คนเหล่านี้นำโดยชนชั้นสูง ที่ผลประโยชน์ทางชนชั้นไปกันไม่ได้กับนักการเมือง และกลุ่มทุนเสรี”

รวมไปถึงกลุ่มอำนาจเก่าขุนทหารขุนนางที่เคยครองสังคมไทยมายาวนาน จนเริ่มสูญเสียอำนาจหลังประชาธิปไตยเริ่มเข้ามาในบ้านเมืองเรา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุครัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองเข้มแข็งอย่างมาก ทำให้กลุ่มอำนาจเก่าเริ่มสั่นคลอน

แล้วก็กลายเป็นม็อบที่ต่อต้านรัฐบาลเลือกตั้งนำมาสู่รัฐประหาร 2549 ตามด้วยกระบวนการชัตดาวน์เพื่อล้มรัฐบาลประชาธิปไตยในปี 2557 เปิดทางให้กองทัพเข้ามายึดอำนาจ

โดยมีมวลชนที่เข้าร่วมกับม็อบนกหวีดเป็นพลังสนับสนุน ภายใต้การนำของนักการเมืองอีกฟากที่ตรงข้ามกับพรรคเพื่อไทย โดยมวลชนมุ่งเน้นประเด็นขับไล่นักการเมืองโกงกิน มากกว่าจะมองถึงโครงสร้างรวมของการเมืองไทย ว่าหากประชาธิปไตยถูกล้มลงไป ประชาชนอย่างเราๆ นี่แหละที่สูญเสียอำนาจทางการเมืองในมือไป และจะถูกปกครองโดยรัฐบาลที่เป็นกลุ่มคนเพียงหยิบมือเดียว

“ผู้คนในบ้านเมืองฟากอนุรักษนิยมการเมืองนี้แหละที่สนับสนุนให้กองทัพเข้ามาแทรกแซงการเมือง”

แต่มีประชาชนที่เชื่อในหลักประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพอย่างเต็มเปี่ยม รวมทั้งประชาชนที่เห็นว่าการเลือกตั้งเป็นระบบที่ทำให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมทางการเมืองได้มากที่สุด ในฟากนี้แหละ ที่ไม่ยอมรับกองทัพ ในทันทีที่เข้ามาก่อรัฐประหาร

“กองทัพได้เป็นคู่กรณีกับประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยอย่างแน่นอน เมื่อเข้ามาแทรกแซงการเมือง!”

แล้วหากเชื่อมโยงไปถึงเหตุการณ์สลายม็อบปี 2553 ที่สร้างบาดแผลใหญ่ในสังคมไทย ด้วยการตายของประชาชน 99 ศพ แต่ถูกปิดกั้นทางกระบวนการยุติธรรมจนไม่สามารถนำคดีขึ้นมาพิสูจน์ความถูกผิดตามพยานหลักฐานอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาได้

เป็นประเด็นที่คุกรุ่นอย่างมาก และผู้นำกองทัพในยุคที่เกิดเหตุ 2553 ก็คือคณะเดียวกันที่เข้ามาก่อรัฐประหาร 2557

2 เหตุการณ์นี้ทำให้กองทัพเป็นคู่กรณีกับประชาชนอีกฟากหนึ่งอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

ภายใต้คำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.เฉลิมชัยที่เตือนถึงผู้บังคับบัญชาในหน่วยต่างๆ ของกองทัพ ให้ตระหนักว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก จะกลับไปทำเหมือนเดิมๆ คงไม่ได้อีกแล้ว อันเนื่องมาจากเสียงท้วงติงของสังคมในกรณีนำพลทหารมาเป็นทหารรับใช้ส่วนตัว

“อันที่จริงมีอีกมากมายหลายเรื่องที่จะต้องตระหนักว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว จะกลับไปทำเหมือนเดิมๆ ไม่ได้อีกแล้ว!?!”

ความจริงหากยึดในภารกิจหลักของกองทัพที่มีเกียรติศักดิ์ศรีและเต็มไปด้วยความปลายปลื้มชื่นชมจากสังคม นั่นคือการเป็นผู้รักษาอธิปไตยความมั่นคงของประเทศชาติ และการช่วยเหลือประชาชนในกรณีเกิดภัยธรรมชาติรุนแรง

เท่านี้กองทัพก็จะไม่ตกเป็นคู่กรณีกับประชาชนในเหตุรัฐประหาร หรือเหตุสลายม็อบ

ไม่เพียงเท่านั้น การรัฐประหาร 2557 ที่กองทัพไม่ยอมถอยออกจากอำนาจ เพื่อเปิดทางให้ประชาธิปไตยกลับมาภายในปีสองปีเหมือนกับคณะรัฐประหารชุดอื่นๆ ซึ่งเป็นเหตุให้เข้าสู่วงจรอำนาจ คือมีช่วงขาลง

“แถมล่าสุดยังคงเดินหน้าเพื่อจะอยู่ในอำนาจต่อไปหลังการเลือกตั้ง ดังที่ปรากฏพรรคการเมืองจากคนในวงรัฐบาลเอง กลายเป็นพรรคพลังดูดที่ดูดอย่างดุเดือดที่สุดในวันนี้ ตามด้วยการก่อตั้งพรรคของแกนนำ กปปส. เพื่อสนับสนุนให้ผู้นำ คสช. ต่อท่ออำนาจต่อไป”

คำถามก็คือ ถ้าผู้นำกองทัพยุคหลังยังคงวางตัวสนับสนุนผู้นำ คสช.อย่างใกล้ชิดอยู่ กองทัพก็จะถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับกระบวนการของรัฐบาลทหาร คสช. อย่างแยกไม่ออก

ภายใต้สภาพเช่นนี้เอง ที่เข้าสู่ช่วงขาลง

ที่คลิปพลทหารเลี้ยงไก่คลิปเดียว ก็เขย่ากองทัพให้ปั่นป่วนได้!