เศรษฐกิจ /โยกเงินน้ำมัน กด ‘แอลพีจี’ ถูก ปูทางฐานเสียง หรือจังหวะพอดี?

เศรษฐกิจ

 

โยกเงินน้ำมัน กด ‘แอลพีจี’ ถูก

ปูทางฐานเสียง หรือจังหวะพอดี?

 

โรดแม็ปการเลือกตั้งล่าสุด คาดว่าจะเกิดขึ้นเดือนเมษายนปีหน้า ซึ่งฝ่ายหนุนฝ่ายต้านรัฐบาล ก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่าคนไทยจะได้เลือกตั้งตามปฏิทินที่วางไว้หรือไม่
แต่ระหว่างที่โรดแม็ปดังกล่าวกำลังเดินหน้าอยู่ การวางรากฐานความนิยมจากประชาชน ก็มีความจำเป็นเช่นกัน ถือเป็นเรื่องปกติของทุกรัฐบาล หยิบช่องทางใดช่องทางหนึ่งในการสร้างความนิยม ในนั้นคือ การอุดหนุนราคาพลังงาน เพราะเห็นผลเร็ว ใกล้ตัวประชาชนมากที่สุด
ล่าสุดวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กบง.) ที่มี “ศิริ จิระพงษ์พันธ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน อนุมัติให้นำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของบัญชีน้ำมันไปอุดหนุนราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ภาคครัวเรือน กรอบวงเงิน 3,000 ล้านบาท
เพื่อตรึงราคาขายปลีกตลอดทั้งปีให้อยู่ที่ 363 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม (ก.ก.)
พิจารณาจากมติดังกล่าวไม่ได้มีความแปลกใหม่ใดๆ เพราะการอุดหนุนราคาพลังงานด้วยการโยกเงินไปมามีลักษณะคล้ายกับการบริหารงานของหลายรัฐบาลในอดีต
แต่สิ่งที่ถูกตั้งข้อสังเกตมากกว่าคือ เป็นการประชุมและมีมติตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม แต่ข้อมูลถูกเปิดเผยก็ปาเข้ากลางเดือนแล้ว

คาดว่ากระทรวงพลังงานอาจต้องการลดกระแสการโจมตีว่าบริหารเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง บัญชีแอลพีจี จนเงินหมดลง และเข้าสู่สถานการณ์ติดลบ แต่ข้อเท็จจริงทราบดีว่ากระทรวงพลังงานได้พยายามบริหารบัญชีแอลพีจีอย่างเต็มที่แล้ว แต่เหมือนสถานการณ์จะไม่เป็นใจ เพราะราคาพลังงานโลกยังผันผวนขึ้นลงในระดับสูง
โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง บัญชีน้ำมันได้เปรียบ เพราะมีฐานบุญจากเงินกองทุนน้ำมันที่มีค่อนข้างมากอยู่ ล่าสุด ณ วันที่ 15 กรกฎาคม กองทุนน้ำมัน บัญชีน้ำมัน มีฐานะสุทธิ 29,673 ล้านบาท ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยังมีนโยบายคลอดน้ำมันบี 20 หรือมีส่วนผสมของไบโอดีเซล หรือบี 100 สัดส่วน 20% เป็นเครื่องมืออุดข้อเรียกร้องภาคขนส่ง ที่ชอบโอดครวญยามน้ำมันดีเซลแพง โดยกำหนดราคาบี 20 ถูกกว่าดีเซลที่ใช้อยู่ บี 7 ถึง 3 บาทต่อลิตร
ขณะที่แอลพีจีกลับมีฐานบุญค่อนข้างน้อย เพราะช่วงรัฐบาล โดยกระทรวงพลังงานประกาศเสรีแอลพีจี มีผลวันที่ 1 สิงหาคมนี้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง บัญชีแอลพีจีมีเงินก้นถุงที่เริ่มแรกไม่ได้มากมาย อยู่ที่ 6,448 ล้านบาท ณ ฐานะสุทธิวันที่ 2 กรกฎาคม 2560 ขณะที่บัญชีน้ำมันสำเร็จรูปมีเงินอยู่ที่ 33,221 ล้านบาท รวมเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงทั้ง 2 บัญชีอยู่ที่ 39,669 ล้านบาท
นอกจากนี้ บัญชีแอลพีจี ยังไม่มีรายได้ที่หลากหลายเช่นเดียวกับบัญชีน้ำมัน ที่มีการจัดเก็บน้ำมัน 2 กลุ่มหลักคือ เบนซินและดีเซล ที่ราคาตลาดโลกต่างกัน แต่บัญชีแอลพีจีก็ต้องดูแลผู้ใช้ทั้งกลุ่มครัวเรือนและขนส่ง โดยเฉพาะภาคขนส่ง หากปล่อยให้ราคาแอลพีจีพุ่งปรี๊ดและไม่เบรกเลย กลุ่มรายได้น้อยไปถึงปานกลางที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ จะได้รับผลกระทบหลัก
อาทิ ค่าอาหาร เพราะคนไทยใช้แอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงหลักในการประกอบอาหาร

ผลจากการปล่อย หลายฝ่ายตั้งคำถามต่อฐานะบัญชีแอลพีจี ดังนั้น เมื่อสื่อมวลชนทราบว่าสถานการณ์วันที่ 15 กรกฎาคม ติดลบไปแล้วถึง 117 ล้านบาท สื่อหลายฉบับจึงพร้อมใจกันพาดหัว “แอลพีจีถังแตก” จนรุ่งขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งไม่เป็นสุข ออกมาปฏิเสธฐานะกองทุนน้ำมันบัญชีแอลพีจีว่ายังดีอยู่
“ได้สอบถามไปยังกระทรวงพลังงานแล้วยืนยันว่า คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้อนุมัติเงินสนับสนุนลงไปอีก 1,000 ล้านบาทแล้ว เพื่อรักษาระดับราคาแอลพีจีที่ 363 บาทต่อถัง คาดว่าจะเพียงพอจนถึงสิ้นปี 2561 ระหว่างนี้ก็จะพิจารณาปรับโครงสร้างราคาเพื่อลดภาระกองทุน ซึ่งต้องแก้ปัญหากันไปแบบนี้ ถ้าเราไม่มีมาตรการทยอยดำเนินการไปก็ลำบาก”
วงในตั้งข้อสังเกตว่า นายกรัฐมนตรีคงฟังไม่ละเอียด เพราะสุดท้ายมติ กบง. ระบุชัดว่ามีการโยกเงินบัญชีน้ำมันมาอุดหนุน 3,000 ล้านบาทต่างหาก!!

ล่าสุด “ทวารัฐ สูตะบุตร” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) แถลงถึงการประชุม กบง. เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า กบง. ได้พิจารณาสถานการณ์แอลพีจี พบว่า ลดลงเล็กน้อยตามราคาน้ำมันโลก อยู่ที่ 560 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่เนื่องจากราคาแอลพีจีต้องใช้ค่าเฉลี่ยทั้งโรงแยกก๊าซในประเทศ หน้าโรงกลั่น และราคาน้ำมัน จึงทำให้ราคาขายปลีกในปัจจุบันยังคงเดิมก่อน คือ 363 บาทต่อถัง 15 ก.ก. และเงินกองทุนไหลออกจากบัญชีแอลพีจี 565 ล้านบาทต่อเดือน ทำให้ฐานะกองทุนน้ำมันฯ บัญชีแอลพีจี จะติดลบมากขึ้น แต่เชื่อว่าการเงินกองทุนน้ำมันฯ บัญชีน้ำมัน มาดูแลวงเงิน 3,000 ล้านบาท จะสามารถตรึงราคาขายเดิมได้ประมาณ 6 เดือนจากนี้ คือตรึงราคาได้ถึงสิ้นปี
“หากแอลพีจีโลกลดลง จะทำให้ภาระกองทุนน้ำมันฯ บัญชีแอลพีจี ลดลงจนกลับมาเป็นบวกได้ เมื่อถึงเวลานั้น กบง. จะรีบคืนเงินให้กับบัญชีน้ำมันทันที”
ผู้อำนวยการ สนพ. ระบุว่า เพื่อให้บัญชีแอลพีจีมีรายได้เพิ่มขึ้น กบง. ยังมีมติเก็บเงินจากกรณีที่ผู้ผลิตมีการส่งออกแอลพีจี ปัจจุบันคือ ปตท. โดยรายละเอียดจะมีการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 3 สิงหาคมนี้ และเพื่อให้การบริหารราคาแอลพีจีมีความคล่องตัวจึงปรับการประกาศราคาขายเป็นทุกสองสัปดาห์ จากปกติจะประกาศทุกสัปดาห์ โดยจะมีผลบังคับใช้วันที่ 31 กรกฎาคมนี้
เป็นการส่งสัญญาณว่า กระทรวงพลังงานกำลังหันมาปรับแนวบริหารแอลพีจีใหม่ เพื่อกู้สถานการณ์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง บัญชีแอลพีจี ให้กลับมาเป็นบวกเร็วที่สุด

ราคาน้ำมันโลก ณ วันที่ 23 กรกฎาคม พบว่า มีความผันผวนอีกครั้ง จน ปตท. และบางจากประกาศขึ้นราคาน้ำมันทุกชนิด สะท้อนราคาแอลพีจีจะได้รับผลกระทบเช่นกัน ดังนั้น แนวทางที่ทุกฝ่ายหวังว่าราคาแอลพีจีตลาดโลกจะลดลง เพื่อกอบกู้ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง บัญชีแอลพีจี ยากยิ่งขึ้น
ก่อนหน้านี้ กระทรวงพลังงานระบุเองว่า หากราคาแอลพีจีตลาดโลกลดลง ประชาชนจะไม่ได้ใช้แอลพีจีราคาถูกในทันที เพราะรัฐต้องเก็บเงินส่วนต่างๆ ใช้หนี้คืน
ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ภาครัฐควรตอกย้ำให้ประชาชนรับทราบ ไม่เช่นนั้นจะมีคนบางกลุ่มที่ไม่หวังดีใช้ประเด็นนี้ในการโจมตีรัฐบาลว่า เหตุใดเมื่อตลาดโลกถูก แต่ประชาชนไม่ได้ใช้ของถูกตาม เพราะรัฐบาลเองประกาศแอลพีจีเสรีแล้ว
เพราะอย่างไรเสียแนวทางการโยกเงินน้ำมันมาอุดหนุนแอลพีจีไปพลางๆ ก็เป็นวิธีที่สุด และเรียกคะแนนเสียงช่วงเลือกตั้งที่หวังจะเกิดขึ้นตามโรดแม็ป
ส่วนความคิดบางคนที่ไม่ต้องการให้รัฐอุดหนุนทุกอย่าง ควรปล่อยเสรี ก็เป็นเรื่องที่ดีและเหมาะสม แต่หากอยู่กับความเป็นจริง ก็จะรู้ว่าลึกๆ ทุกคนอยากใช้ของถูก แต่สิ่งที่ทำเพื่อแลกความนิยมต้องไม่เกิน “ความพอดี”