ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 กรกฎาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
ในตอนที่ผ่านมา เรากล่าวถึงศิลปินที่ทำงานศิลปะด้วยการใช้ร่างกายตัวเองท้าทายขีดจำกัดอย่างสุดขีดคลั่งไปแล้ว
ในตอนนี้เราจะขอกล่าวถึงศิลปินอีกคนที่ใช้ร่างกายตัวเองท้าทายความเจ็บปวดอย่างสุดขั้วไม่น้อยหน้าไปกว่ากันเลย
ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า
คริส เบอร์เดน (Chris Burden)
ศิลปินอเมริกันผู้ทำงานศิลปะการแสดงสด, ประติมากรรม และศิลปะจัดวาง ที่สร้างผลงานศิลปะที่ชวนช็อกที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะอเมริกันในศตวรรษที่ 20 ด้วยการท้าทายผู้ชมให้ตรวจสอบขอบเขตของศีลธรรมของตนเอง
และผลักดันขอบเขตของคำถามที่ว่า อะไรสามารถเป็นศิลปะได้บ้าง?
ในช่วงต้นยุค 1970 เบอร์เดนเริ่มต้นใช้ร่างกายของเขาเป็นเครื่องมือในการทำงานศิลปะแสดงสดอันเปี่ยมอันตราย เบอร์เดนมุ่งมั่นทำผลงานศิลปะการแสดงสดอันรุนแรง เพื่อสำรวจธรรมชาติของความเจ็บปวด ด้วยการสร้างสถานการณ์สุดขีดคลั่งที่เขาต้องเผชิญด้วยตัวเอง
ดังเช่นในผลงานสุดอื้อฉาวของเขาอย่าง Shoot (1971) ที่เบอร์เดนขอให้เพื่อนของเขายิงเขาด้วยปืนไรเฟิล .22 ที่ต้นแขน ในพื้นที่แสดงงาน โดยมีผู้ชมร่วมเป็นประจักษ์พยานอยู่ด้วย
เบอร์เดนทำศิลปะการแสดงสดเปี่ยมอันตรายครั้งนี้ขึ้น เพื่อแสดงให้ผู้ชมได้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นกับคนที่ถูกยิงแบบจะจะ เพื่อให้ผู้ชมเหล่านั้นสัมผัสกับประสบการณ์อันรุนแรงนี้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่แค่นั่งดูมันจากจอโทรทัศน์อย่างสบายอกสบายใจบนเก้าอี้นวมที่บ้านอย่างที่แล้วๆ มา
“จู่ๆ ผมก็มีความรู้สึกขึ้นมาว่า การถูกยิง มีความเป็นอเมริกันไม่ต่างอะไรกับพายแอปเปิล ทุกๆ วันเราเห็นคนถูกยิงทางทีวี, เราอ่านเรื่องคนถูกยิงในหนังสือพิมพ์ ทุกๆ คนต่างสงสัยว่าการถูกยิงมันเป็นยังไงกันแน่? ผมเลยทำให้พวกเขาดูซะเลย”
ผลงานชิ้นนี้ยังตั้งคำถามถึงธรรมชาติของอำนาจและความรับผิดชอบต่ออำนาจของกองทัพ และการปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาอย่างไม่มีข้อแม้ของผู้ใต้บังคับบัญชา อีกทั้งเขายังต้องการแสดงภาพความเป็นจริงของความเจ็บปวดให้ผู้ชมได้สัมผัส
ในยุคสมัยที่ชาวอเมริกันชินชาไม่ยี่หระต่อภาพของทหารอเมริกันจำนวนมหาศาลที่บาดเจ็บล้มตายในสงคราม และความรุนแรงที่ครอบงำสื่อกระแสหลัก
ที่สำคัญ ผลงานชิ้นนี้เป็นเสมือนหนึ่งการแสดงปฏิกิริยาต่อต้านสงครามเวียดนามของเบอร์เดนนั่นเอง
หรือในผลงาน Through the Night Softly (1973) ที่เบอร์เดนทำการเปลื้องเสื้อผ้าจนเหลือแต่กางเกงใน มัดมือตัวเองไพล่หลังทั้งสองข้าง แล้วกลิ้งเกลือกร่างกายไปบนเศษแก้วจนเลือดโชกต่อหน้าต่อตาผู้ชมทั้งหลาย
ยิ่งไปกว่านั้น เขายังซื้อโฆษณารอบดึกเพื่อเผยแพร่คลิปบันทึกภาพศิลปะการแสดงสดโชกเลือดนี้ให้ผู้ชมทางบ้านได้ชม เพื่อสร้างความกระอักกระอ่วนให้พวกเขาถึงบ้านกันอีกด้วย
หรือในผลงานอย่าง Trans-Fixed (1974) ที่เบอร์เดนทำการตรึงตัวเองเข้ากับรถโฟล์กเต่าด้วยการตอกตะปูทะลุฝ่ามือสองข้างของตัวเองติดกับหลังคารถ จากนั้นก็เลื่อนรถออกจากโรงเก็บรถ เพื่อแสดงภาพสุดหวาดเสียวต่อหน้าเหล่าบรรดาผู้ชม
โดยรถยนต์ถูกเร่งเครื่องจนดังสนั่นราวกับเป็นเสียงกรีดร้องด้วยความเจ็บปวดของเขา
ภาพที่ออกมาดูคล้ายกับการตรึงกางเขนของพระเยซู หรือไม่ก็เป็นเหมือนกับแมลงที่ถูกสตัฟฟ์อยู่ก็มิปาน
ด้วยผลงานชิ้นนี้ เบอร์เดนนำพาผู้ชมออกจากพื้นที่ปลอดภัย และย้ำเตือนพวกเขาเกี่ยวกับความเป็นจริงของความเจ็บปวด ที่มักจะถูกเพิกเฉยหรือไม่สังเกตเห็นด้วยซ้ำไป ไม่ต่างอะไรกับภาพของพระเยซูคริสต์ถูกตรึงกางเขน ซึ่งเป็นภาพที่คนเห็นกันจนชินชา
แต่หลายคนอาจลืมไปว่า ความเป็นจริงในยุคสมัยโบราณ มีผู้คนมากมายที่ถูกประหารชีวิตด้วยการตรึงกางเขน ซึ่งเป็นการรอคอยความตายที่ยาวนานและทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง
นอกจากจะเผชิญหน้าความรุนแรงและความเจ็บปวดอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูด้วยตัวเองแล้ว เขายังผลักขอบเขตศิลปะแสดงสดชวนช็อกของเขาไปไกลและหนักข้อยิ่งกว่า
ดังเช่นในผลงาน TV Hijack (1972) ที่เขาทำขึ้นขณะกำลังให้สัมภาษณ์สดในรายการของสถานีโทรทัศน์แคลิฟอร์เนีย
โดยจู่ๆ เขาก็ลุกขึ้นมาจับตัวฟิลลิส ลุตจีนส์ (Phyllis Lutjeans) พิธีกรสาวของรายการเป็นตัวประกัน ด้วยการควักมีดออกมาจี้คอ และขู่เอาชีวิตเธอ ถ้าหากรายการหยุดออกอากาศ
เบอร์เดนกล่าวในภายหลังว่า เขาขู่ว่าจะทำให้เธอแสดงท่าทางลามกอนาจาร แต่ลุตจีนส์ให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่า เขาไม่เคยพูดแบบนั้น และยังกล่าวว่า เธอจำได้ว่าเขาแอบกระซิบบอกเธอว่า “ฟิล, ไม่ต้องกังวลนะ” เธอเลยรู้ว่าเขากำลังทำงานศิลปะแสดงสดอยู่
เบอร์เดนตั้งคำถามกับบทบาทของศิลปะ ว่ามันสามารถเป็นอะไรมากกว่าสิ่งสวยงามสูงค่าที่สงวนไว้สำหรับอภิสิทธิ์ชน และห่างไกลจากคนทั่วไป หรือศิลปินควรจะมีขอบเขต หรือไปไกลได้แค่ไหนในการกระตุ้นให้ผู้คนฉุกคิดและตระหนักรู้ ซึ่งอันที่จริง ถ้าว่ากันตามหลักการแล้ว ผู้ชมเหล่านั้นก็สามารถยับยั้งหรือหยุดการกระทำอันรุนแรงต่อตัวเองของเบอร์เดนได้ทุกเมื่อ แต่พวกเขาก็ไม่ลงมือทำ
ผลงานของเบอร์เดนจึงเป็นเสมือนการกระตุ้นและท้าทายผู้ชมให้ลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง ทั้งในขอบเขตของงานศิลปะของเขา รวมถึงในบริบทที่ใหญ่กว่าอย่างเรื่องของมนุษยชาติโดยทั่วๆ ไปนั่นเอง
ลักษณะเฉพาะอีกประการในผลงานของเขาก็คือ เบอร์เดนมักจะบันทึกวิดีโอผลงานของเขาเอาไว้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของชิ้นงานที่สามารถเก็บรักษาได้ ต่างกับศิลปินศิลปะแสดงสดคนอื่นๆ ที่มักปล่อยให้งานเกิดขึ้นชั่วคราวและสูญสลายหายไป เพื่อแสดงถึงความไม่จีรังยั่งยืน
นอกจากผลงานศิลปะแสดงสดแล้ว เขายังทำงานศิลปะจัดวางที่วิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองอย่างแยบคาย
ดังเช่นในผลงาน L.A.P.D. Uniforms (1993) ที่เบอร์เดนทำขึ้นหนึ่งปีหลังจากเหตุการณ์จลาจลที่เมืองลอสแองเจลิส ในปี 1992 (1992 Los Angeles riots) ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติและสีผิวของกรมตำรวจแอลเอ (LAPD)
โดยเบอร์เดนทำงานศิลปะจัดวางด้วยการแขวนเครื่องแบบของตำรวจแอลเอไว้บนผนัง ให้ดูคล้ายกับตุ๊กตากระดาษ โดยให้แขนเสื้อกางออกจนดูคล้ายปีกเครื่องบิน
ผลงานชิ้นนี้แสดงถึงพลังอำนาจของภาพจากสื่อมวลชน ที่กลายเป็นหลักฐานและเครื่องมืออันสำคัญของประชาชนในการต่อสู้กับอำนาจรัฐอันไม่เป็นธรรม
นอกจากผลงานศิลปะที่วิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองอันเข้มข้นแล้ว เบอร์เดนเองก็ทำงานศิลปะแบบสวยๆ งามๆ กับเขาด้วยเหมือนกัน
ดังเช่นในผลงานศิลปะจัดวางสาธารณะ Urban Light (2008) ของเขา ที่ติดตั้งอยู่บนถนน Wilshire Boulevard ทางเข้าของพิพิธภัณฑ์ Los Angeles County Museum of Art (LACMA) ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา
ผลงานจัดวางชิ้นนี้ประกอบด้วยโคมไฟถนน 202 ดวง
เดิมทีโคมไฟเหล่านี้เป็นโคมไฟถนนจริงๆ ที่เคยถูกติดตั้งอยู่บนถนนในลอสแองเจลิสและเมืองใกล้เคียงในช่วงปี 1920 โดยมีรูปแบบแตกต่างกัน 17 แบบ ตามแหล่งที่มา
มันมีความสูงราว 20 ถึง 30 ฟุต โดยถูกเอามาทาสีใหม่ และจัดวางเรียงรายเป็นแถวๆ คล้ายกับป่าโคมไฟ
ตัวโคมไฟใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เปิดด้วยระบบอัตโนมัติในเวลากลางคืน
ผลงานศิลปะสาธารณะชิ้นนี้ช่วยเปลี่ยนภูมิทัศน์อันเงียบเหงาซบเซาแห่งนั้นให้มีชีวิตชีวาขึ้นอย่างมาก จนกลายเป็นสถานท่องเที่ยวยอดฮิตของคนในเมืองและนักท่องเที่ยว
และกลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของเมืองลอสแองเจลิสไปในที่สุด
ในฐานะศิลปิน คริส เบอร์เดน ขยายขอบเขตและพรมแดนของความเป็นไปได้ทางศิลปะได้ยิ่งกว่าศิลปินอเมริกันคนไหนๆ ด้วยการบังคับให้ผู้ชมและนักวิจารณ์ศิลปะ นิยามความคิดและทัศนคติของตัวเองเกี่ยวกับศิลปะเสียใหม่ ว่ามันคืออะไร?
และสามารถทำอะไรได้บ้าง?
เขาพิสูจน์ให้เราเห็นว่าศิลปะไม่จำเป็นต้องมีบทสรุปเป็นตัววัตถุที่จับต้องได้ หากแต่สามารถเป็นประสบการณ์ และก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองได้
ถึงแม้ผลงานหลายชิ้นของเขาจะสร้างความอึดอัดและกระอักกระอ่วนให้กับผู้ชมจนทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ชมผลงานของเขาแบบสดๆ เท่าไหร่นัก
แต่ผลงานของเขาก็ถูกเก็บบันทึกไว้ในรูปแบบของภาพถ่าย, ข้อเขียน และวิดีโอให้คนรุ่นหลังได้ชมและศึกษา
ผลงานซึ่งส่งอิทธิพลต่อศิลปินคอนเช็ปช่วล, เพอร์ฟอร์มานซ์ และศิลปะจัดวางรุ่นหลังอย่างมากมายมหาศาล
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปินเพอร์ฟอร์มานซ์คนสำคัญอย่างแคโรลี คนีมานน์ (Carolee Schneemann) และมารีนา อบราโมวิช (Marina Abramovic) เป็นอาทิ
คริส เบอร์เดน เสียชีวิตในวันที่ 10 พฤษภาคม 2015 ด้วยวัย 69 ปี
เหลือทิ้งไว้แต่แรงบันดาลใจจากผลงานศิลปะอันสุดแสนจะท้าทายของเขา
ข้อมูลจาก https://bit.ly/2L4uZL7, https://bit.ly/2u5NPaY