ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 ตุลาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
ในยุคสมัยโลกาภิวัตน์ การขยับตัวของชาติมหาอำนาจ ไม่ว่าจะในแง่มุมใด ย่อมเป็นจุดสนใจ และกลายเป็นตัวกำหนดบรรทัดฐานความเป็นไปของประเทศต่างๆ ในโลกใบนี้ ให้เดินตามทางใดก็ทางหนึ่ง
1 ในมหาอำนาจที่ทั่วทั้งโลกจับตามองในทุกการเคลื่อนไหว คือ พญามังกรอย่างจีน ที่ไม่ว่าจะขยับตัวด้านไหนพญามังกรตัวนี้ก็มักจะทำให้ทั้งโลกสั่นสะเทือน
ดังเช่น กรณีการเติบโตของเศรษฐกิจที่พุ่งพรวดจนหยุดไม่อยู่ ทำให้เราเห็นเศรษฐีใหม่ของจีน เข้ากว้านซื้อกิจการบริษัทต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่บริษัทในยุโรปหรืออเมริกา
หรือในอีกทางหนึ่งที่เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างร้อนแรง จนทำให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดภาวะฟองสบู่แตก ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็มีการประเมินกันว่า จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงสภาพเศรษฐกิจทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่อีกหนึ่งมหาอำนาจอย่างอเมริกา
อีกประการสำคัญ ที่ทำให้ทั่วโลกต้องจับตามองการขยับของพญามังกรตัวนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศ หรือประธานาธิบดี ที่จะเป็นผู้กำหนดทิศทางความเป็นไปของจีน
โดยการเปลี่ยนแปลงผู้นำของจีนครั้งล่าสุดคือการก้าวขึ้นมาของประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ต่อจากนายหูจิ่นเทา เมื่อปี 2013
ซึ่งการขึ้นสู่อำนาจของสีจิ้นผิงในตอนนั้น จีนกำลังอยู่ในช่วงที่เผชิญปัญหาด้านเศรษฐกิจ ที่มีความสุ่มเสี่ยงจะเกิดภาวะฟองสบู่แตก รวมถึงปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น นอกจากนี้ ในโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมือง จีนยังเอนเอียงไปสู่การเป็นทุนนิยมอย่างเต็มรูปแบบ
แต่การขึ้นมาของสีจิ้นผิง ตลอดจนบริหารประเทศมาได้ 3 ปี จีนเกิดความเปลี่ยนแปลงมากมาย ไล่เรียงตั้งแต่ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ที่สีจิ้นผิงให้ความสำคัญและแก้ปัญหาด้วยความเด็ดขาด
รวมถึงปัญหาด้านเศรษฐกิจที่สีจิ้นผิงใช้ความเชี่ยวชาญในทฤษฎีมาร์กซิสม์ แก้ไขปัญหาจนออกมาเป็น New Normal นำพาจีนรอดพ้นภาวะฟองสบู่แตก และยังสร้างความสมดุลให้แก่โครงสร้างทางเศรษฐกิจของจีนไม่ให้เอนเอียงเข้าสู่โลกของทุนนิยมอย่างเต็มรูปแบบมากเกินไป
ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และอดีตผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนภาพบทบาทของสีจิ้นผิงในช่วงที่ผ่านมาว่า สีจิ้นผิงเป็นผู้นำที่มีการผสมผสานหลายส่วนอยู่ในตัวเอง
ด้านหนึ่งคือ นักปฏิรูป ที่เปิดกว้างในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง เห็นได้จากผลงานตอนเป็นเลขาธิการพรรคฯ ที่มณฑลฝูเจี้ยน ที่เปิดความสัมพันธ์กับไต้หวันอีกครั้ง จนเกิดการลงทุนของนักธุรกิจไต้หวันในภาคตะวันออกของจีน
แต่อีกด้านหนึ่ง สีจิ้นผิง เป็นนักทฤษฎีมาร์กซิสม์ตัวยง ที่ซึมซับจากความยากลำบากจากการออกชนบทเมื่อครั้งปฏิวัติวัฒนธรรมจีน และเมื่อกลับมาเรียนระดับมหาวิทยาลัย ก็เรียนรู้และใช้ทฤษฎีมาร์กซิสม์ในการเขียนวิทยานิพนธ์
ทำให้สีจิ้นผิงมีความแตกฉานในทฤษฎีของสังคมนิยมด้วย
จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลงานต่างๆ ของสีจิ้นผิงจะมี 2 ด้านที่ว่าประกอบเข้าด้วยกัน คือเรื่องของความทันสมัยและเปิดกว้างด้านการปฏิรูป ภายใต้ความเป็นสังคมนิยมในอัตลักษณ์แบบจีนแฝงอยู่
ดร.สมภพ ยังฉายภาพให้เห็นถึงแนวคิดและความเป็นตัวตนของสีจิ้นผิงผ่านผลงานการบริหารที่เกิดขึ้น เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ด้วยการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์การพัฒนาประเทศ ด้วยการชูนโยบาย New Normal เพราะก่อนหน้านั้น จีนกลายเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบอย่างรวดเร็วปีละ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ ผ่านภาคอุตสาหกรรมและอสังหาริมทรัพย์ มีการลงทุนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทุกมณฑลมีอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นมากมาย จนมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะฟองสบู่อย่างเด่นชัด
เมื่อขึ้นดำรงตำแหน่ง สีจิ้นผิง จึงชู New Normal พร้อมปฏิรูประบบเศรษฐกิจใหม่ 3 ด้านคือ ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ปฏิรูปการเงิน และปฏิรูประบบราชการรวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ซึ่งในการปฏิรูประบบราชการนี้ ถือเป็นผลงานสำคัญ
เพราะภายใต้การเติบโตทางเศรษฐกิจที่พุ่งพรวด มีการคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นอย่างมากมายในวงราชการ สีจิ้นผิงจึงใช้การปฏิรูปนี้กวาดล้างการคอร์รัปชั่นอย่างเด็ดขาด
นอกจากนี้ อีกหนึ่งผลงานที่สำคัญของสีจิ้นผิง คือ การปฏิรูปกองทัพ ที่ไม่มีผู้นำของจีนคนไหนกล้าทำง่ายๆ เหมือนสีจิ้นผิง แต่ด้วยพื้นหลังที่เป็นพลเรือนที่เติบโตมาในกองทัพ ทำให้มีความใกล้ชิดกับนายทหารรุ่นใหม่ จึงสามารถควบคุมกองทัพไว้ได้
ขณะเดียวกัน ด้านนโยบายต่างประเทศ สีจิ้นผิงก็ชูนโยบาย One belt, One road เส้นทางสายไหมที่เชื่อม 60 ประเทศ ใน 3 ทวีป เป็นเส้นทางการค้าใหม่ของจีน
ดร.สมภพ กล่าวว่านโยบายนี้ ถือเป็นนโยบายต่างประเทศที่สำคัญที่สุดในยุคของสีจิ้นผิง เนื่องจากใน One belt, One road มีประชากรถึง 4 พันกว่าล้านคน หรือคิดเป็น 2 ใน 3 ของประชากรทั้งโลก
จึงไม่น่าแปลกใจที่จีนให้ความสำคัญกับนโยบายนี้ เพราะแฝงไปด้วยนัยยะในทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง โดยนัยยะทางเศรษฐกิจ คือ การช่วยยกระดับประเทศในเส้นทางนี้อย่างทวีปแอฟริกา 50 ประเทศ ซึ่งจะช่วยให้การเชื่อมโยงในเรื่องของสังคมและการเมืองมีสูงขึ้น
นอกจากนี้ แนวคิดหนึ่งที่เกิดขึ้นและถูกเน้นย้ำเสมอในยุคของสีจิ้นผิง คือแนวคิด “สังคมนิยมภายใต้อัตลักษณ์แบบจีน” ดร.สมภพ อธิบายว่า “สังคมนิยมภายใต้อัตลักษณ์แบบจีน” คือ การสร้างความสมดุลด้วยการเชื่อมโยงความคิดแบบทุนนิยมเข้ากับสังคมนิยม เพื่อสร้างแบบฉบับของจีนให้เป็นทางเลือกใหม่ๆ ทางด้านเศรษฐกิจ ระบบการเงินโลก แทนที่จะมีศูนย์กลางเพียงจุดเดียว และสร้างทางเลือกใหม่ให้เกิดการถ่วงดุลของทุนนิยมดั้งเดิมให้สมดุลมากขึ้น
ซึ่งจากแนวคิดดังกล่าวประกอบกับตัวตนของสีจิ้นผิง ในเรื่องของความทันสมัย ก็กลายเป็นที่มาของอีกหนึ่งนโยบายคือ Made in China 2025
ดร.สมภพ อธิบายว่า Made in China 2025 ก็คือ industry 4.0 หรือคล้ายกับประเทศไทย 4.0 ประกอบไปด้วย ความสมดุลทางเศรษฐกิจ ความสมดุลทางการเมือง ความสมดุลทางสังคม ความสมดุลทางวัฒนธรรม และความสมดุลทางสิ่งแวดล้อม
ซึ่งจะเป็นธงนำในการมุ่งไปของจีนในอนาคต
ทั้งนี้ หากพิจารณาดูที่กล่าวมาจะเห็นว่า บทบาทของสีจิ้นผิงในฐานะผู้นำของจีน มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสังคมจีนและสังคมโลกอย่างมาก
นอกจากผลงานที่ได้กล่าวมาแล้ว สิ่งหนึ่งที่สามารถเรียนรู้และวิเคราะห์ตัวตนของสีจิ้นผิงได้คือ สุนทรพจน์ ปาฐกถา ถ้อยแถลง บทสัมภาษณ์ โอวาท จดหมายอวยพร ต่างๆ ซึ่งขณะนี้ทางสำนักงานสารนิเทศแห่งคณะรัฐมนตรีประเทศจีน ร่วมกับสำนักวิจัยเอกสารเชิงประวัติศาสตร์แห่งส่วนกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และกรมการจัดพิมพ์จำหน่ายหนังสือภาษาต่างประเทศแห่งประเทศจีน รวบรวมออกมาเป็นหนังสือ Xi Jinping : The Gorvernance of China ที่มียอดจำหนายไปกว่า 4.5 ล้านเล่ม ใน 100 ประเทศทั่วโลก ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ ถึง 12 ภาษา
ซึ่งในฉบับภาษาไทยนั้น สำนักพิมพ์มติชนได้รับลิขสิทธิ์ในการพิมพ์และจัดจำหน่าย ในชื่อ “สีจิ้นผิง ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ”
ดร.สมภพ บอกว่า ในหนังสือ “สีจิ้นผิง ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ” จะเป็นการรวบรวมผลงานของสีจิ้นผิงในครึ่งแรกของการเป็นผู้นำสมัยที่ 1 ที่ว่าด้วยปรัชญาของสังคมนิยมที่เป็นที่มาของคำว่า จีนใหม่ นอกจากนี้ ยังพูดถึงเรื่องของการปฏิรูประบบราชการแผ่นดิน เรื่องการปฏิรูปกองทัพ เรื่องการรักษาความสมดุล เรื่องนโยบายต่างประเทศของจีน เรื่องสิ่งแวดล้อม รวมถึงสิ่งที่ถูกเน้นย้ำมากในหนังสือ คือ เรื่องนวัตกรรม ที่มีหัวข้อแยกออกมา ว่าจีนเป็นผู้นำนวัตกรรมด้านต่างๆ อย่างไร มีการปฏิรูปด้านการศึกษาอย่างไร
ฉะนั้น หนังสือเล่มนี้ จะทำให้เห็นว่าประเทศมหาอำนาจที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกจะมีส่วนอย่างไรในการนำพาประเทศของตัวเอง
และมีส่วนอย่างไรในการโลดแล่นในสากล ภายใต้คำว่า China go out แบบที่เป็นอยู่ในขณะนี้