รู้หรือไม่ ? สำนักงานใหญ่ศูนย์ทุ่นระเบิดอาเซียนอยู่ที่กัมพูชา : คุยกับทูต ‘ลง วิซาโล’ ไขปริศนาการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

คุยกับทูต ลง วิซาโล ไทย-กัมพูชา สัมพันธ์อันราบรื่นไร้พรมแดน (3)

“เมื่อประเทศกัมพูชาเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มอาเซียน อาเซียนมีสมาชิกอยู่สองประเภท คือชาติสมาชิกที่มีฐานะทางเศรษฐกิจยากจนและชาติสมาชิกที่มีฐานะทางเศรษฐกิจร่ำรวย ซึ่งเราถือว่าไทยเป็นประเทศที่ร่ำรวยในอาเซียน ส่วนกัมพูชา ลาว และเวียดนาม เป็นประเทศที่ยากจน”

นายลง วิซาโล (H.E. Mr. Long Visalo) เอกอัครราชทูตแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ประจำประเทศไทย กล่าวถึงกัมพูชากับประชาคมอาเซียน

กัมพูชาได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนและยื่นใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี ค.ศ.1996

แต่เหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงในกัมพูชา ทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องทบทวนปัญหาดังกล่าว และเลื่อนการรับกัมพูชาเข้าเป็นสมาชิกออกไป

จนเมื่อเหตุการณ์สงบแล้ว กลุ่มอาเซียนจึงรับกัมพูชาเข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการลำดับสุดท้ายคือลำดับที่ 10 เมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ.1999

“กัมพูชาได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีน เพราะอยู่ในระหว่างการพัฒนาประเทศ นับเป็นงานแรกที่เราต้องการจะลดช่องว่างระหว่างชาติสมาชิกใหม่ของอาเซียน เราให้ความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในด้านเศรษฐกิจและสังคม และมีบทบาทอย่างมากในภูมิภาครวมทั้งได้ขอให้ชาติสมาชิกอาเซียนช่วยกันหาทางยุติปัญหาทะเลจีนใต้ที่ยืดเยื้อมานานหลายปีแล้ว”

อาเซียน (ASEAN) หรือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งขึ้นตามปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ.1967 สมาชิกเริ่มต้นมี 5 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ต่อมา เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา ขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกตามลำดับ ทำให้อาเซียนมีสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศดังเช่นปัจจุบัน

อาเซียนมีการประชุมสุดยอดประจำปี ภายใต้หัวข้อ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้แนวทางในการดำเนินกิจกรรมความร่วมมือต่างๆ ของเหล่าสมาชิก และประเทศสมาชิกของอาเซียนได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุม

ประเทศกัมพูชาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 4-5 พฤศจิกายน ค.ศ.2002 และจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 20 วันที่ 3-4 เมษายน ค.ศ.2012 ณ กรุงพนมเปญ

“เรานำนโยบายต่างประเทศของเรามาบูรณาการเข้าด้วยกันกับประชาคม เพื่อสร้างความสงบสุขและเสถียรภาพในระดับภูมิภาค เพื่อรักษาความปลอดภัย ความมั่นคงและความมั่งคั่งในภูมิภาค มุ่งเน้นการติดต่อระหว่างประชาชนต่อประชาชน รวมทั้งให้ความสำคัญกับเยาวชนและโครงการขนาดเล็ก เป็นการริเริ่ม การกระชับ การรวมกลุ่มของอาเซียน เพื่อลดช่องว่างของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และลดความยากจนในประเทศสมาชิกอาเซียน (Initiative for ASEAN Integration-IAI)”

“เราทำงานเพื่อลดช่องว่างระหว่างชาติสมาชิกอาเซียน เพิ่มขีดความสามารถในการสร้างและส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรในความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (ASEAN Connectivity)

“กัมพูชาสนับสนุนแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ.2025 และเรื่องอื่นๆ โดยเรามีบทบาทอย่างแข็งขันกับหุ้นส่วนและเพื่อนนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนประกอบด้วยความเชื่อมโยงทางกายภาพ (อาทิ การคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และพลังงาน)

ความเชื่อมโยงทางกฎระเบียบ (ได้แก่ การเปิดเสรีทางการค้า การลงทุน และการบริการ)

และความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนสู่ประชาชน (เช่น การศึกษา วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว)

ความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนนี้เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สนับสนุนให้การดำเนินงานภายใต้เสาการเมืองและความมั่นคง เสาเศรษฐกิจ เสาสังคมและวัฒนธรรมของประชาคมอาเซียนสามารถรวมตัวกันได้สำเร็จ

“นอกจากนี้ กัมพูชาอยู่ในฐานะที่เป็นประเทศเจ้าภาพอันเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของศูนย์ทุ่นระเบิดภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Regional Mine Action Centre – ARMAC) ณ กรุงพนมเปญ”

คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ รายงานว่า เมื่อต้นศตวรรษที่ 1990 กัมพูชามีทุ่นระเบิดสังหารประมาณ 8-10 ล้านลูก จำนวนที่ว่า มากกว่าจำนวนประชากรรวมกันทั้งประเทศ และแม้จะให้ทุกคน ทั้งผู้ชาย เด็ก และผู้หญิงมาช่วยกันเหยียบระเบิดคนละลูก ก็ยังไม่แน่ว่าจะสามารถกำจัดระเบิดเหล่านี้ออกจากพื้นที่ประเทศได้หมด

ทุ่นระเบิดที่มีมากมายเป็นมรดกจากการสู้รบอันยาวนานของกลุ่มเขมรแดง กลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์ กลุ่มทหารเวียดนาม รวมไปถึงกองทัพสหรัฐ ได้กลายเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงต่อการเดินทางกลับถิ่นฐานเดิมของผู้ลี้ภัยและพลัดถิ่นในระหว่างสงคราม ทั้งยังกีดขวางโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจและการบูรณะประเทศ

บทบาทหน้าที่ของศูนย์ทุ่นระเบิดภูมิภาคอาเซียน คือ ดำเนินงานเพื่อปรับปรุงโครงการการตระหนักรู้เกี่ยวกับอันตรายของวัตถุระเบิดที่ตกค้างจากสงคราม (Explosive Remnants of War – ERW) ในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ

การอำนวยความสะดวกอย่างเหมาะสมในการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์และการฟื้นฟูสภาพแก่ผู้ประสบภัยจากวัตถุระเบิดที่ตกค้างจากสงคราม ตามที่ได้รับการร้องขอจากประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้รับผลกระทบ

ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีความสนใจในการวิจัยและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากวัตถุระเบิดที่ตกค้างจากสงคราม รวมทั้งการยกร่างข้อเสนอโครงการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคและการระดมทุน

มาถึงเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

กองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รายงานว่า ปัจจุบัน ความเปลี่ยนแปลงของวิทยาการและเทคโนโลยีต่างๆ ได้มีการพัฒนาไปเป็นอย่างมาก ทำให้ลักษณะของอาชญากรรมมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นและยากที่จะพิสูจน์ความผิดได้ เช่น อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

นอกจากนี้การสื่อสารและการคมนาคมที่สะดวกสบายมากขึ้นตามกระแสโลกาภิวัตน์ยังส่งผลให้การกระทำความผิดต่างๆ สามารถที่จะกระทำในลักษณะข้ามพรมแดนระหว่างรัฐสองรัฐ หรือมากกว่านั้นได้

ซึ่งหากเกิดกรณีมีผู้กระทำความผิดร้ายแรงในรัฐหนึ่ง แล้วบุคคลดังกล่าวได้หลบหนีไปอยู่อีกรัฐหนึ่ง รัฐที่ได้รับความเสียหายย่อมไม่สามารถที่จะดำเนินคดีเอาผิดกับบุคคลดังกล่าวได้ เนื่องจากรัฐที่ได้รับความเสียหายจะไม่สามารถเข้าไปดำเนินการติดตามจับกุมผู้กระทำผิดในรัฐอื่นได้เพราะถือเป็นการละเมิดอธิปไตยของรัฐนั้น

ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาหรืออุดช่องว่างทางกฎหมายในการที่จะนำตัวผู้กระทำความผิดที่หลบหนีอาศัยอยู่ในรัฐหนึ่งกลับมาดำเนินคดีในรัฐที่ได้รับความเสียหายได้คือ ความร่วมมือของทั้งสองรัฐดังกล่าว

โดยรัฐผู้เสียหายจะต้องทำการร้องขอไปยังรัฐที่ผู้กระทำความผิดนั้นอาศัยหรือหลบซ่อนอยู่ ให้ดำเนินการส่งตัวบุคคลดังกล่าวมาดำเนินคดีอาญาและลงโทษตามกฎหมายของรัฐผู้เสียหาย ซึ่งความร่วมมือในลักษณะดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญาที่เรียกกันว่า “การส่งผู้ร้ายข้ามแดน” (Extradition)

ส่วนข้อยกเว้นของการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ได้แก่ ความผิดทางการเมือง (Political Offences) เพราะถือว่าไม่เป็นอาชญากรรมที่แท้จริง เป็นเพียงการกระทำผิดเพราะมีแนวคิดไม่ตรงกับผู้มีอำนาจบริหารประเทศในขณะนั้น (แต่ในทางปฏิบัติ ยังไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจนของความผิดนี้)

“เรามีสนธิสัญญาระหว่างกัน คือ สนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (Extradition Treaty) ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ.1998”

ท่านทูตลง วิซาโล กล่าวว่า

“ทุกวันนี้ มีชาวกัมพูชาจำนวนมากประกอบอาชญากรรมในประเทศของเรา ซึ่งไม่เพียงแต่ชาวกัมพูชาเท่านั้น แม้กระทั่งคนไทยหรือคนชาติอื่นๆ ด้วย และหากพวกเขาอยู่ในประเทศไทย เราก็จะขอให้ทางการไทยส่งพวกเขากลับไปที่กัมพูชาโดยอาศัยสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนี้”