บทวิเคราะห์ : เปิดระเบียบ “ในถ้ำ” ส่งทหารเกณฑ์เลี้ยงไก่ กระแสปฏิรูปกองทัพกระหึ่ม

จากกรณี “ทหารเกณฑ์” หรือ “พลทหาร” ที่กองทัพบกเรียกว่า “น้องคนสุดท้อง”

และพยายามปรับแนวคิดภายในกองทัพบกให้มอง “ทหารเกณฑ์” เหล่านี้เป็นเหมือนคนในครอบครัวที่ต้องได้รับการดูแลและการปฏิบัติตามระเบียบการฝึก

แต่นอกเหนือภารกิจของกองทัพ “ทหารเกณฑ์” เหล่านี้ก็ถูกนำตัวไปใช้งานเช่นกัน

ซึ่งหลายครั้งกลับมีการกระทำต่อ “พลทหาร” เหล่านี้เหมือนไม่ใช่คนในครอบครัว ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว

ล่าสุดเกิดวาทะ “พลทหารเลี้ยงไก่” หลังจากมีพลทหารประจำกองพันทหารราบที่ 2 ศูนย์การทหารราบ ค่ายธนะรัชต์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้โพสต์คลิปลงเฟซบุ๊กว่า ต้องทำหน้าที่เลี้ยงไก่ หากไก่เป็นแผลจะถูกต่อว่า ทำร้ายร่างกาย อีกทั้งมีความเป็นอยู่ที่ไม่ถูกสุขลักษณะมากว่า 6 เดือนแล้ว

ภายหลังที่เป็นข่าวดัง ก็ได้โพสต์ว่า “ไม่ว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด” โดยหน่วยได้ทำการสอบสวนในเรื่องดังกล่าว

พร้อมให้ “พลทหาร” คนดังกล่าวกลับไปประจำที่หน่วยเดิมแล้ว

ซึ่ง พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก ทบ. ได้ออกมาชี้แจงเบื้องต้นว่าเป็นการดำเนินการส่วนบุคคลในบ้านพักราชการของหน่วย ที่ผู้เข้าพักใช้พื้นที่ด้านหลังเลี้ยงไก่เป็นงานอดิเรก

ซึ่งได้มีการมอบหมายให้ทหารที่ดูแลบ้านพักของหน่วยช่วยดูแลไปด้วยในลักษณะไหว้วาน โดยอาจพิจารณาถึงเรื่องของน้ำใจและความสมัครใจเป็นสำคัญ

เชื่อว่าทางหน่วยคงได้ทำความเข้าใจกับกำลังพลทุกระดับแล้ว

ทำให้นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกมาระบุว่า การกระทำดังกล่าวสมาคมไม่เชื่อว่าจะได้มีการลงโทษนายทหารที่สั่งการหรือไหว้วาน ซึ่งเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.2476 ประกอบมาตรา 15 พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ.2521 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยประมวลจริยธรรม พ.ศ.2551

จึงไปร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เป็นองค์กรอิสระเพื่อดำเนินการเอาผิดและลงโทษนายทหารคนดังกล่าวและผู้บังคับบัญชาเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างกับ ป.ป.ช. และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมย้ำว่าจะเอาผิดแค่กรณี “พลทหารเลี้ยงไก่” ไม่ได้

“ไม่ใช่ฟันนายทหารรายนี้รายเดียว ต้องฟันนายทหารทุกคนที่เอาทหารเกณฑ์มาทำงานเสมือนคนรับใช้ที่บ้าน การอ้างว่าเอามาดูแลสถานที่ราชการ แล้วมีการใช้ให้เขาซักผ้าของเมีย ของลูก ทำกับข้าว ขับรถให้ลูกให้เมีย บ้านพักนายทหารเป็นส่วนของสวัสดิการกองทัพ ไม่ใช่สถานที่ราชการที่ต้องใช้กำลังพลมาดูแล หากไม่ดำเนินการเอาผิดกับนายทหารทุกคน ทุกกองทัพที่เอาทหารเกณฑ์มารับใช้ที่บ้าน ผบ.ทุกเหล่าทัพจะถูกดำเนินคดีอาญา”

นายศรีสุวรรณกล่าว

ด้าน พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ระบุว่า หน่วยจะต้องตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้น พร้อมกล่าวถึงหลักเกณฑ์ที่ใช้ “พลทหาร” ไปปฏิบัติงานเหนือภารกิจกองทัพ มีอยู่ 3 ข้อคือ “ความเหมาะสม ความพร้อมของหน่วย ความสมัครใจ” หากเข้าองค์ประกอบทั้ง 3 ข้อ ก็สามารถนำไปปฏิบัติใช้งานได้

“รายละเอียดในการขอใช้พลทหารทุกภารกิจ จะพิจารณาคือ 1.ภารกิจที่ขอมาเหมาะสมหรือไม่ และต้องไม่กระทบภารกิจหลักของกองทัพ โดยการขอมานั้นทางผู้บังคับหน่วยก็จะเป็นผู้อนุมัติ เพราะการจะขอคนไปช่วยในภารกิจต่างๆ จะมีทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน แต่เราก็ต้องดูว่าเป็นภารกิจที่เหมาะสมหรือไม่ 2.ความพร้อมของหน่วย ในจำนวนพลทหารที่มีอยู่ และ 3.ถ้าเป็นภารกิจที่นอกเหนือจากกองทัพก็ต้องทำความเข้าใจกับทางกำลังพลที่จะไปปฏิบัติภารกิจนั้นๆ ด้วย”

พล.อ.เฉลิมชัยกล่าว

ล่าสุดมีรายงานข่าวจากกองทัพบกเปิดเผยถึงประกาศ ทบ. เรื่องการบรรจุทหารกองประจำการ เข้าประจำการอายุ 18-20 ปีบริบูรณ์ ที่ร้องขอเข้ากองประจำการ ปี 2544 โดยอ้างประกาศของกระทรวงกลาโหม ปี 2543 โดยระบุว่า กองทัพบกได้กำหนดหลักเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงกลาโหม ที่อ้างถึงให้ดำเนินการรับสมัครทหารกองเกินอายุ 18-20 ปีบริบูรณ์ เข้าเป็นทหารกองประจำการโดยวิธีร้องขอ โดยตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นไป ซึ่งมีนโยบายให้เปิดรับทหารกองเกินที่สมัครใจให้มากที่สุด

โดยถือว่าบุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลที่เสียสละ เพื่อสมัครเข้ารับราชการทหาร เป็นบุคคลที่มีเกียรติ ควรแก่การยกย่อง และให้บรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งที่มีเกียรติ และตำแหน่งที่มีความสำคัญในหน่วย เว้นการบรรจุในบางตำแหน่ง เช่น พลบริการ พลสูทกรรม เป็นต้น

พร้อมห้ามนำทหารประเภทนี้เป็นทหารบริการเด็ดขาด ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับกองทัพบก

จึงขอให้หน่วยขึ้นตรงปฏิบัติอย่างเคร่งครัด กำกับดูแลตามประกาศนี้

หากย้อนอดีตไป “หน้าที่ทหารรับใช้” ใน “กฎเสนาบดีกระทรวงกระลาโหม พ.ศ.2455” (สะกดตามเอกสารเก่า) การนำทหารรับใช้ไปใช้งานที่บ้าน ไม่ใช่เป็นเพียงจารีตประเพณีเท่านั้น แต่ในอดีตเคยมีการออกกฎหมายเป็นกฎเสนาบดีกระทรวงกลาโหม โดยเรียกว่ากฎลักษณะปกครองและระเบียบการภายในสำหรับกองทัพบก ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ร.ศ.131 เล่มที่ 29 หน้าที่ 41-42 ข้อ 3 มีสาระสำคัญ เช่น

– ทหารที่ได้รับคำสั่งให้ไปอยู่กับนายทหารสัญญาบัตร เรียกว่า ทหารรับใช้ประจำตัวนายทหาร

– เฉพาะนายทหารสัญญาบัตรซึ่งมีหน้าที่ปกครองทหารในกรมกองทหารเท่านั้นที่จะมีทหารรับใช้ได้

– นายทหารผู้ช่วยพลรบถึงแม้ประจำอยู่ในกรมกองทหารก็มิให้มีทหารรับใช้

– สำหรับหลักเกณฑ์ในการเลือกทหารไปเป็นทหารรับใช้นั้น กำหนดว่าจะต้องเลือกกับพวกที่ได้ฝึกสั่งสอนมาแล้วครบหนึ่งปี มีนิสัยดีมั่นคง

– และถ้าเป็นไปได้ควรเอาแต่ผู้ที่สมัครใจ โดยเวลาจัดให้ไป ให้ลงในคำสั่งกรม

– ในข้อที่ 54 ระบุว่า ทหารรับใช้มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งนายทหารที่ตนไปอยู่ด้วย และรับใช้บุตร ภรรยาของนายทหารผู้นั้น ในกิจการบ้านเรือนทุกประการ

– ทหารรับใช้ต้องแต่งเครื่องแบบทหารตามข้อบังคับ จะแต่งกายอย่างอื่น เช่น แต่งเครื่องแต่งกายสำหรับคนใช้ธรรมดาหรือแต่งเครื่องแบบคนขับรถไม่ได้เป็นอันขาด

ท่ามกลางกระแสกดดันให้มีการ “ทบทวน” การนำ “พลทหาร” หรือ “ทหารชั้นผู้น้อย” หรือชั้นประทวน ไปรับใช้ที่ “บ้านนาย”

พร้อมทั้งการให้กองทัพมีการ “ปฏิรูป” ในเรื่องเหล่านี้ ให้มองว่าเป็น “คนในครอบครัว” และ “น้องคนสุดท้อง” โดยแท้จริง

ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ชี้แจงกรณี “พลทหารเลี้ยงไก่” และข้อเสนอยกเลิก “ทหารรับใช้” ว่า ไม่มีอยู่แล้ว “พลทหารรับใช้” แต่กรณีที่เกิดขึ้นเขายืมตัวไป ซึ่งในทางปฏิบัติทำไม่ได้ ยกเว้นต้องยอมรับสมัครใจ

“เรื่องนี้ยกเลิกอยู่แล้ว แต่พลทหารที่ไปจะต้องสมัครใจ ถ้าไปอยู่กับผู้บังคับบัญชา ทุกคนต้องสมัครใจ ถ้าไม่สมัครใจก็ไปไม่ได้ ทั้งนี้ ผมยังไม่ทราบในรายละเอียดเกี่ยวกับการขอตัวพลทหารไปรับใช้ แต่ระเบียบค่อนข้างที่จะชัดเจน เรื่องนี้ก็มีการตั้งคณะกรรมการสอบอยู่” พล.อ.ประวิตรกล่าว

“ในสังคมปัจจุบัน ทุกคนไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ หรือส่วนอื่นที่เป็นข้าราชการ ต้องตระหนักว่าอะไรควรอะไรไม่ควร โลกมันเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว จะกลับไปทำเหมือนเดิมๆ คงไม่ได้แล้ว ทาง ผบ.หน่วยทุกท่านต้องตรวจสอบผู้ใต้บังคับบัญชาของตัวเองว่าทำงานที่ไหน ปฏิบัติอะไร อย่างไร เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว”

พล.อ.เฉลิมชัยกล่าว

แน่นอนว่า “ระเบียบ” หลายอย่างในอดีตตั้งแต่ปี 2455 ถึง 2543 เกือบ 100 ปีที่ผ่านมา ยังคงโครงในเรื่องการ “สมัครใจ” และมีระเบียบคุ้มครอง “ทหารรับใช้” อยู่ แต่รายละเอียดหลายอย่างก็ปรับไปตามยุคสมัย ตามสิ่งที่สังคมนิยมและไม่นิยม

จากรากฐานทางประวัติศาสตร์ “กองทัพ-ทหาร” คือผลิตผลของรัฐชาติสมัยใหม่ ที่หมดยุคการเกณฑ์ไพร่พลเพื่อมารบเช่นในอดีต ทำให้ “ทหาร” เปรียบเป็นประชาชนคนหนึ่งที่อยู่ภายใต้กฎหมายและรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกับประชาชน และทหารจะมีวินัยทหารและศาลทหารของตนเองควบคู่ขึ้นมา เพื่อใช้ปกครองกันเองภายในด้วย การทำให้ “ทหาร” เป็น “พลเมืองในเครื่องแบบ” ถือเป็นพื้นฐานในการ “ปฏิรูปกองทัพ” ในทาง “ความคิด” เพื่อไม่ให้มีการละเมิดสิทธิทำเกินกรอบระเบียบวินัยและกฎหมายต่างๆ

แต่ในมุมมองของกองทัพ ก็จะมองว่าทหารปกครองกันด้วยชั้นยศ ต้องจับอาวุธ มีการฝึกทางทหาร ดังนั้น จึงมีระบบภายในอยู่ ทำให้ไม่สามารถเอาความคิดของสังคมโดยทั่วไปไปใช้กับ “กองทัพ” ได้ทั้งหมด

แต่สิ่งที่สังคมอยากเห็นก็ไม่ได้ไกลเกินกว่าที่กองทัพจะไม่สามารถทำได้ ขอเพียงให้แสงสว่างสาดส่องเข้าไปในกองทัพได้มากขึ้น

และอย่าลืมว่า งบประมาณกองทัพ ล้วนมาจากภาษีประชาชน