ปริศนาโบราณคดี : สาวเหนือไม่ใช่สาวเครือฟ้า

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดีตอนที่ 50 เผยแพร่ครั้งแรก มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1631 (วันที่ 18-24 พฤศจิกายน 2554)

ภาพลักษณ์ของสาวเหนือ ที่ถูกเสกสรรปั้นแต่งมอมเมาให้คนไทยทั้งประเทศรู้จักนั้น คือภาพของ “สาวเครือฟ้า” หรือภาพสะท้อนของสาวสวย โง่ ซื่อ อ่อนแอ ไม่ทันโลก ถูกหลอก ง่ายต่อการล่อลวงทางเพศ

แม้นฉากจบจะดู โรแมนติก ในลักษณะของหญิงสาวที่ “บูชาความรักเป็นสรณะ” ก็ตาม

ก่อนจะตัดสิน และใส่สมการว่า “สาวเหนือคือสาวเครือฟ้า” นั้น สังคมไทยควรมีความรู้เป็นภูมิคุ้มกันสักเล็กน้อยว่า

แท้จริงแล้ว “สาวเครือฟ้า” ไม่มีอยู่จริง ไม่ใช่เรื่องจริงในเมืองเหนือ หากเป็นเพียง “นิยายสิบตังค์ประโลมโลกย์” ที่ “ผู้ชายภาคกลาง” ได้จินตนาการขึ้น ตามแรงปรารถนาทางเพศของพวกเขา แล้วยัดเยียดมายาภาพนั้นให้แก่สาวเหนือ

เรื่องราวของสาวเครือฟ้า ถูกปั้นให้มีตัวมีตน โลดแล่นบนแผ่นฟิล์ม ยุคหนังไทย 16 ม.ม. แล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 โดยนําบทประพันธ์ละครร้องของ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (พระองค์เจ้าวรวรรณากร) พระบิดาแห่งการละครร้อง ผู้ใช้นามแฝงว่า “ประเสริฐอักษร” มาทําเป็นภาพยนตร์

กรมพระนราธิปฯ นั้นเล่า ก็ทรงดัดแปลงเค้าโครงหรือ Theme เรื่องมาจากอุปรากรชื่อก้องโลก “มาดามบัตเตอร์ฟลาย” ของจาโกโม ปุชชีนี (Giacomo Puccini) ซึ่งได้ต้นเค้ามาจากนวนิยายของ จอห์น ลูเธอร์ ลอง (John Luther Long) อีกต่อหนึ่ง

เรื่องมาดามบัตเตอร์ฟลายนั้น ใช้ฉากท้องเรื่องอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ก็ปรับเปลี่ยนให้เป็นเชียงใหม่

บทนางเอกสาว “โจโจ้ซัง” ก็กลายเป็น “สาวเครือฟ้า” ช่างฟ้อนผู้หวานหยาดเยิ้ม และไม่ประสีประสาต่อความรัก ในขณะที่พระเอก เดิมเป็นนายเรือเอกพิงเคอร์ตัน ชาวอเมริกัน กลายเป็นร้อยตรีพร้อม หนุ่มปากหวาน ผู้ถูกจับคลุมถุงชนให้มีภรรยาชาวกรุงชื่อ จําปา

เห็นหรือยังว่า “สาวเครือฟ้า” นั้น ได้รับการอิมพอร์ตกันมา มิรู้กี่ทอดต่อกี่ทอด กว่าจะถูกจับมานั่งกางจ้องบ่อสร้าง นุ่งซิ่นสันกําแพง ชะตาชีวิตของสาวเครือฟ้าไม่เพียงแต่ส่งตรงมาจากขุนนางสยามเท่านั้น ทว่าจุดเริ่มต้นแห่งการปฏิสนธิ ยังรับเอาแนวคิดของตะวันตกผสมญี่ปุ่นมาเต็มๆ อีกด้วย

หากมองในแง่วิชาการถือว่า “สาวเครือฟ้า” เป็นวรรณกรรมที่น่าจับตามองในยุคเปลี่ยนผ่าน ที่นักประพันธ์แถวหน้าของสยาม กล้าดัดแปลงเค้าโครงเรื่องจากตะวันตกมาสู่บทละครไทย

นักเขียนชั้นครูกลุ่ม “สุภาพบุรุษ” ในยุคต่อมาหลายคน เช่น “ศรีบูรพา” เขียนเรื่อง “ข้างหลังภาพ” หรือ “เรียมเอง” แต่งเรื่อง “ชั่วฟ้าดินสลาย” ต่างก็รับอิทธิพล มาจากกรมพระนราธิปฯ ทั้งสิ้น นั่นคือเน้นความรักของหนุ่มสาวในต่างแดนที่ใช้ฉากในรูปแบบ “ไพรัชนิยาย” (Exotic Novel)

เปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดๆ ก็คือ นักเขียนไฟแรงยุคนั้น พยายามหันหลังให้กับพล็อตเรื่องแนวอีเรียม-ไอ้ขวัญตามอย่างไม้เมืองเดิม ด้วยการเปลี่ยนคาแรคเตอร์ให้นางเอกมีความขัดแย้งทางความรัก ในลักษณะหญิงสองใจ ที่จําทนแต่งงานกับชายแก่สูงศักดิ์ แต่แล้วก็ลงเอยด้วยการพบรักใหม่กับ Bad Boy ชายพเนจร เถื่อน ทราม แต่เร้าใจ ทั้งข้างหลังภาพและชั่วฟ้าดินสลาย ต่างก็มีกลิ่นอายละม้ายพล็อตเรื่อง Out of Africa ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

สาวเครือฟ้าได้กลายเป็น “บรรทัดฐานอันบิดเบือน” ของหนังไทยที่มีต่อภาพลักษณ์สาวเหนือในยุคต่อมา เหมือนการตั้งนะโมฯ ผิด นับแต่ตอนเริ่มสวด ก็พลอยรวนตามกันไปจนถึงบทจบ

โศกนาฏกรรมของสาวเหนือถูกผลิตซ้ํา ในเชิงทารุณกรรมทางเพศ ถูกเหยียบย่ําศักดิ์ศรี พ่ายแพ้ ถูกทิ้งขว้าง

ลงท้ายด้วยการสังเวยชีวิตให้ชายคนรัก หากไม่เอามีดจ้วงที่ท้อง คือพยายามเลียนแบบโจโจ้ซัง ซึ่งวัฒนธรรมของญี่ปุ่นเขามีการใช้มีดคว้านท้องแบบฮาราคีรี ก็ต้องกระโดดหน้าผาแบบวังบัวบาน

ตํานาน “วังบัวบาน” ที่ผูกเป็นเพลงและหนัง วางพล็อตให้หญิงสาวไปกระโดดหน้าผาตายด้วยผิดหวังรัก จากหนุ่มบางกอกนั้น

ได้มีงานวิจัยเก็บข้อมูลสัมภาษณ์ญาติของครูบัวบาน กลับพบว่า แท้จริงแล้วคนรักของครูบัวบานไม่เคยนอกใจเธอ แถมยังเป็นคนเชียงใหม่ ไม่ใช่หนุ่มกรุงเทพ

การตายของครูบัวบาน มีพยานรู้เห็นว่าเป็นเพราะไปยืนใกล้หน้าผา ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงพลัดตกตาย เป็นอุบัติเหตุอันสะเทือนขวัญ หาใช่การจงใจฆ่าตัวตายเพื่อสังเวยความรักแบบโรแมนติกไม่!

ความจริงมักไม่ได้รับการเปิดเผย ด้วยผู้สร้างภาพอยากให้จินตนาการที่มีต่อสาวเหนือนั้นออกมา “ดราม่า” มากกว่าความเป็นจริง

สาวสันกําแพง สาวบ่อสร้าง …สาวเหนือในชีวิตจริงไม่อิงนิยาย

สรุปแล้ว สาวเครือฟ้า ไม่มีมูลความจริง ไม่ใช่ภาพลักษณ์ที่แท้จริงของสาวเหนือ

หากแต่เป็นประดิษฐกรรม ตามจินตนาการของผู้ชายสยาม ปั่นกระแสจนเกิดการผลิตซ้ําแล้วซ้ําเล่าหลายเวอร์ชั่น ภาพโรแมนติก อ่อนหวาน เย้ายวน ยิ้มแย้ม แม่ญิงกางจ้องพูดจาเจ้าเจ้า นิ่มนวลเนิบนาบ ได้กลายเป็นภาพชวนฝันให้ชายหนุ่มต้องเดินทางขึ้นมาเมืองเหนือ เพื่อตามหาสาวเครือฟ้า อันเป็นแม่แบบให้แก่หนังและเพลงอีกนับร้อย ไม่ว่าสาวป่าซาง แว่วเสียงซึง สาวสันกําแพง สาวบ่อสร้าง มะเมียะ มิดะ ศิลามณี เจ้านาง ไปจนถึง เมื่อดอกรักบาน รอยไหม ฯลฯ

หากภาพของสาวเครือฟ้าคือภาพลวงตาที่โมฆะ ถ้าเช่นนั้นจิตวิญญาณของสาวเหนือแท้ๆ ควรเป็นเช่นไร?

ภาพที่ผู้เขียนมองแม่ญิงล้านนาในมิติทางสังคม มึความชัดเจนโดดเด่นอยู่สองด้าน ด้านแรกในฐานะของ ผู้นําทางจิตวิญญาณ และอีกด้านคือผู้แบกรับภาระปัญหาหลักในครอบครัว

มิติแรก ผู้หญิงล้านนาเป็นผู้นําทางจิตวิญญาณได้จริงหรือ คําตอบนี้ขอให้ดูจากบทบาทว่า “ใคร” รับสืบทอดบทบาท ทําหน้าที่บวงสรวงเซ่นสังเวยเครื่องบูชาให้แก่วิญญาณบรรพบุรุษ ไฉนภาระผู้เป็นแม่ต้องฝากผีฝากไข้แก่ ลูกสาว ผู้หญิงต้องเป็นร่างทรงติดต่อสื่อสารกับผีของแต่ละตระกูลที่คอยปกปักดูแลลูกหลาน

ข้อสําคัญสังคมบรุพกาลล้านนา ยังกําหนดให้ชายต้องนับถือ “ผี” ของฝ่ายหญิง เมื่อชายหนุ่มไปสู่ขอหญิงสาวเป็นภรรยา ต้องย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านฝ่ายหญิง มิใช่พาผู้หญิงเข้าบ้าน นอกจากจะต้องมาช่วยเป็นแรงงานให้ญาติฝ่ายหญิงแล้ว ยังต้องละทิ้ง “ผี” ที่ตนเคยนับถือ แล้วเปลี่ยนมานับถือ”ผี” ในสายตระกูลของฝ่ายหญิงอีกด้วย

นี่คือความสําคัญ อํานาจ ความศักดิ์สิทธิ์ ของสตรีเพศ ที่ยังคงยึดครองพื้นที่นี้สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

ส่วนประเด็นที่กล่าวว่า ผู้หญิงทําหน้าที่แบกรับภาระอันหนักอึ้งของครอบครัวแทบทุกด้านนั้น ผู้ชายเมืองเหนือย่อมรู้อยู่แก่ใจ

ภาพชีวิตของสาวเหนือที่เห็นและเป็นอยู่ คือภาพของคนทํางานหนัก ตื่นแต่เช้าขยันขันแข็ง ทําครัวหุงข้าว เก็บผักตักน้ำ ทําไร่ ไถนา ยามว่างจากฤดูเก็บเกี่ยว ก็นั่งสานตะกร้า กระจาด กระบุง ทอผ้าฝ้าย เย็บปักถักร้อย ซ้ำยัง เอาพืชผลทางการเกษตร หรือหอบหิ้วเสื้อผ้าไปขายที่ตลาดตั้งแต่เช้ามืดอีกด้วย

เรียกได้ว่าวันทั้งวัน แม่ญิงล้านนาง่วนงุดๆ เหนื่อยเหน็ดจนสายตัวแทบขาด กว่าจะปิดเปลือกตาพักผ่อนเต็มที่ ก็ต่อเมื่อหัวถึงหมอนนั่นแล

สิ่งหนึ่งที่สร้าง “ปมด้อย” ให้แก่ผู้หญิงล้านนา รวมทั้งผู้หญิงชาวอุษาคเนย์หลายชาติพันธุ์ ก็คือ ภายหลังจากการที่เปลี่ยนจากศาสนาผีไปเป็นพราหมณ์-พุทธ ผู้หญิงมักถูกกีดกันออกไปนอกพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

ไม่ว่าจะเป็นคําอ้างที่ว่า “ผู้หญิงบวชเรียนไม่ได้”้ เมื่อไม่ได้เรียนก็ไม่รู้หนังสือ เมื่อไม่รู้หนังสือก็กลายเป็นเพศที่ขลาดเขลา เมื่อขลาดเขลาก็ต้องอุทิศแรงกายทํางานหนักตัวเป็นเกลียวยิ่งกว่าบุรุษเพศ

เมื่อเทียบแล้ว ภารกิจของผู้ชายมีหลักๆ เพียงแค่ออกไปจับสัตว์มาให้ผู้หญิงทําเป็นอาหาร ผู้ชายจึงมีเวลาว่างมากพอที่จะไปชนไก่ เล่นไพ่ กัดปลา

โดยเฉพาะสิ่งที่สร้างคุณค่าให้แก่เพศชายเหนือเพศหญิง ก็คือการบวชเรียน อยู่ในวัดยามว่าง ยังมีโอกาสได้ ฝึกงานศิลปะกลายเป็นช่าง (สล่า) แกะไม้ ปั้นปูน ตัดตุงแปงโคม ทํางานศิลปหัตถกรรมอย่างสนุกสนานและฝันเฟื่อง ซ้ํายังได้ผลงานในเชิงช่างฝากไว้แก่แผ่นดิน

ในขณะที่แม่ญิงต้องแบกรับภาระหน้าที่ “แม่บ้าน” ตั้งแต่เช้าจรดค่ํา เยี่ยงงัวงาน ทั้งภาระก้นครัว และภาระหาเงินเลี้ยงลูกเต้า ไม่เคยมีผลงานประทับตราไว้ในวัด

นอกจากงานปั้น-สร้างชีวิตคน นี่คือภาพชีวิตจริงของสาวเหนือ จากอดีตจวบปัจจุบัน ไม่ว่าชนเผ่าชาติพันธุ์ใด

อาวุธของสาวเหนือ มีเพียงความนิ่งสุขุม สงบเงียบ อดทน ก้มหน้าก้มตาทํางาน บนกระแสความขัดแย้ง ปัดแข้งปัดขา วันนี้แม่ญิงล้านนาพร้อมแล้วยังที่จะลุกขึ้นประกาศให้คนไทยทุกภาคให้เห็นว่า

สาวเหนือมิใช่สาวเครือฟ้า ที่ใครต่อใครพยายามสร้างและครอบงําด้วยอคติลวงตาเอาไว้ !