สุจิตต์ วงษ์เทศ / น้ำเต้าทำแคน แหล่งกำเนิดมนุษย์

ภาชนะดินเผามีฝา บรรจุกระดูกมนุษย์ ราว 2,500 ปีมาแล้ว รูปร่างเหมือนน้ำเต้า มีคอคอด พบในแหล่งโบราณคดีเขตทุ่งกุลาร้องไห้ อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด [ภาพจากหนังสือ ศิลปวัฒนธรรมไทย กระทรวงวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2557 หน้า 44]

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

น้ำเต้าทำแคน

แหล่งกำเนิดมนุษย์

 

กว่าจะเป็นแคน ต้องใช้เวลานับร้อยนับพันปีมีพัฒนาการลองผิดลองถูกยาวนานมาก ดังนั้น แคนไม่ได้ประดิษฐ์คิดค้นด้วยใครคนใดคนหนึ่งเพียงลำพังคนเดียวตามนิทานซึ่งมีหลายสำนวน
แคน มาจากปี่เสียงเดียวหลายลูก (หลายเล่ม) มีระดับเสียงต่างกัน เสียบรวมกันในน้ำเต้าแห้ง ใช้เป่าได้หลายเสียง
ปี่ เป็นเครื่องเป่ามีเสียงเดียว ทำจากไผ่รวก (ไม่เจาะรูเสียง) มีลิ้นสอดในท่อปี่ตรงปลายข้างหนึ่งให้เป่ามีเสียง
ปี่ลูกเดียว (เล่มเดียว) เสียบลูกน้ำเต้าแห้ง เป่าได้เสียงเดียว คนกลุ่มหนึ่งเรียกปี่น้ำเต้า แต่คนบางกลุ่มเรียก เรไร

แคนแบบต่างๆ ใช้ลูกน้ำเต้าแห้งเป็นที่เป่า ตั้งแต่ดั้งเดิมสืบเนื่องถึงปัจจุบัน มีทั่วไปในอุษาคเนย์ ทั้งภาคพื้นทวีปและหมู่เกาะ แล้วกระจายถึงจีนและเกาหลีเกือบทั่วเอเชีย (ภาพลายเส้นจากรายงานการขุดค้นทางโบราณคดีที่เวียดนามของนักโบราณคดีฝรั่งเศส)

ลิ้นแคนเป็นสิ่งมหัศจรรย์

ลิ้นแคนทำให้แคนมีเสียงสั่นเครืออย่างมหัศจรรย์ นับเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของคนในภาคพื้นทวีปอุษาคเนย์มากกว่า 2,500 ปีมาแล้ว
โดยได้ต้นแบบจากจ้องหน่อง บางกลุ่มเรียกหุนหรือหืน (เครื่องดีดทำด้วยไม้ไผ่ใช้ปากเป็นเครื่องขยายเสียง โดยเป่าลมออก-ดูดลมเข้า)
[จาก แคน : ระบบเสียงและทฤษฎีการบรรเลง ของ สนอง คลังพระศรี วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.2554 หน้า 128-129]
ลิ้นแคนเริ่มแรกทำจากวัสดุที่มีในธรรมชาติ เช่น ไม้ไผ่เหลาบางๆ, ใบตาล ฯลฯ ต่อมานานนับร้อยนับพันปีหลังจากนั้นมีผู้ประดิษฐ์คิดค้นทำลิ้นแคนจากโลหะผสม เรียกสำริด ที่ถูกตีแบนรีดบางด้วยเทคโนโลยีก้าวหน้ามากในยุค 2,500 ปีมาแล้ว
ลิ้นไม้ไผ่เหลาบางยังทำสืบทอดถึงปัจจุบัน พบในลิ้นสะไน [เครื่องเป่าของหมอช้าง ทำจากเขาควาย กลายคำจากภาษาเขมรว่า เสนง (สะ-เหนง)]
ลิ้นในท่อของเครื่องเป่าตระกูลปี่ มีต้นแบบจาก ปี่ซังข้าว (ซังข้าว คือ ตอต้นข้าว) หมายถึง ปี่ทำจากลำต้นข้าว มีปลายปิดข้างหนึ่ง ใช้มีดปาดหลอดต้นข้าวเป็นลิ้นเปิดให้ปากอมเป่า มีเสียงเดียว โดยใช้ความยาวของท่อเป็นตัวกำหนดระดับเสียง
[คำอธิบายบางส่วนได้จาก ยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ หมอขวัญหมอแคน กาฬสินธุ์]

เต้าแคนจากผลน้ำเต้า

แคนเป็นเครื่องเป่ามีกำเนิดและพัฒนาการเกี่ยวข้องกับความเชื่อในศาสนาผี ใช้สร้างเสียงศักดิ์สิทธิ์สื่อสารกับอำนาจเหนือธรรมชาติ (คือผี) เพื่อวิงวอนร้องขอความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ธัญญาหารเลี้ยงคนในชุมชน
มีหลักฐานสำคัญได้แก่ แคน เป่าผ่านกระเปาะลมทำจากลูกน้ำเต้าที่แห้งแล้ว (หรือวัสดุอื่นสมัยหลัง) ตรงที่ใช้ปากเป่าได้จากขั้วลูกน้ำเต้าแห้ง (สมัยหลังกลึงไม้เป็นที่เป่า แล้วเรียกเต้าแคน เพราะเดิมทำจากผลน้ำเต้า)
น้ำเต้าที่ใช้ทำแคน เป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อในศาสนาผีของคนเกือบทั้งโลกหลายพันปีมาแล้ว
น้ำเต้าเหมือนมดลูกของแม่ เป็นความเชื่อของคนในตระกูลภาษาไต-ไทลุ่มน้ำโขงและพื้นที่ต่อเนื่อง แล้วเชื่ออีกว่าคนมีกำเนิดออกมาจากน้ำเต้า ครั้นตายไปมีพิธีกรรมสู่โลกหลังความตายโดยส่งผีขวัญก็คืนสู่ครรภ์มารดาผ่านมดลูกของแม่ (คือน้ำเต้า) ด้วย 2 วิธี ได้แก่
(1.) เป่าแคนผ่านน้ำเต้า ส่งผีขวัญคืนสู่ครรภ์มารดา และ (2.) เก็บกระดูกคนตายไว้ในภาชนะดินเผารูปน้ำเต้า

น้ำเต้า กำเนิดมนุษย์

นํ้าเต้า เป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ของคนเกือบทั้งโลกโดยเฉพาะคนสุวรรณภูมิลุ่มน้ำโขง เชื่อว่ามนุษย์ 5 พี่น้อง เกิดจากน้ำเต้าปุง (คือ น้ำเต้าใหญ่หลวง) เช่น กลุ่มพูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร, ไต-ไท, เวียดนาม ฯลฯ
คำบอกเล่านี้น่าจะจดเป็นลายลักษณ์อักษรราวยุคอยุธยา จึงมีอยู่ในพงศาวดารล้านช้าง (ในลาว) และเล่าความเมืองของไทดำ (ในเวียดนาม)
พบภาชนะดินเผารูปน้ำเต้าใส่กระดูกคนตายฝังดินมีอายุราว 2,500 ปีมาแล้ว ย่อมเป็นหลักฐานสำคัญว่า คำบอกเล่าเรื่องมนุษย์มีกำเนิดจากน้ำเต้าปุง เป็นไปตามความเชื่อของคนก่อนหน้านั้นนับพันๆ ปีมาแล้ว
เก่าแก่พอๆ กับเรื่องอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นวรรณกรรมปากเปล่าที่มีพลังสูงมากตั้งแต่ยุคแรกเริ่มยังไม่มีตัวอักษร เช่น หมาเก้าหาง, คันคาก (คางคก) ฯลฯ