คนมองหนัง : “Three Lions” บทเพลงแห่งความ “หวานอมขมกลืน” และเส้นทางกลับบ้านอัน “สลับซับซ้อน” ของทีมชาติ “อังกฤษ”

คนมองหนัง

การทะลุเข้าถึงรอบสี่ทีมสุดท้ายในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2018 ของทีมชาติอังกฤษ ส่งผลให้เพลงเชียร์อมตะนิรันดร์กาลอย่าง “Three Lions” ถูกนำมาขับขานโดยกว้างขวางอีกคำรบ

แฟนบอลอังกฤษยุคร่วมสมัยหลายรายอาจทึกทักว่านี่คือเพลงที่มีชื่อว่า “Football”s coming home” ตามท่อนฮุกอันลือลั่น

บางคนอาจนึกว่านี่เป็นเพลงเชียร์สามัญประจำบ้านของทีมชาติอังกฤษยามลงแข่งขันทัวร์นาเมนต์ใหญ่มานานแสนนาน

ทว่าในข้อเท็จจริง เพลงที่สะท้อนถึงอารมณ์ปลื้มปีติและความหวังครั้งใหม่ (ซึ่งเพิ่งแหลกสลายลง) ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 22 ปีก่อน

ปี1996 อังกฤษรับบทบาทเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป โดยทีมสิงโตคำรามสามารถผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศ ก่อนจะแพ้เยอรมนีในการดวลจุดโทษ (นักเตะรายเดียวของอังกฤษที่ยิงลูกโทษพลาดคือ “แกเร็ธ เซาธ์เกต” ผู้จัดการทีมทรีไลออนส์ชุดปัจจุบัน)

ก่อนหน้ายูโร 96 “เดวิด บัดเดียล” และ “แฟรงก์ สกินเนอร์” สองนักแสดงตลกและพิธีกรรายการทีวียอดฮิต “แฟนตาซี ฟุตบอล” ได้ร่วมมือกับ “เอียน เบราดี้” แห่งวงดนตรี “เดอะ ไลต์นิ่ง ซีดส์” เขียนเพลงชื่อ “Three Lions” ขึ้นมา

เพลงที่ใช้ชื่อซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากตราสัญลักษณ์บนเสื้อแข่งของทีมชาติอังกฤษ มีเนื้อหาแปลกประหลาดกว่าเพลงเชียร์ฟุตบอลทั่วไป

กล่าวคือ มันได้นำเสนอภาวะ “หวานอมขมกลืน” ของแฟนบอลอังกฤษ ที่ทั้งรัก-ส่งใจเชียร์ทีมชาติของตนเอง และต้องเจ็บปวดรวดร้าวเศร้าสร้อยซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อขุนพลสิงโตคำรามบุกบั่นไปไม่ถึงฝั่งฝันเสียที แม้เวลาจะล่วงเลยไปแล้ว 30 ปี 40 ปี หรือ 52 ปี

บัดเดียลและสกินเนอร์บอกว่า พวกเขาต้องการแต่งเพลงที่สะท้อนถึงความรู้สึกนึกคิดจริงๆ ของแฟนบอลทีมชาติอังกฤษ

“นี่คือบทเพลงที่พูดถึงความพ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่าของอังกฤษ แต่ขณะเดียวกัน นี่ก็เป็นบทเพลงที่พวกเราอยากจะกู่ร้องมันออกมา” บัดเดียลพูดถึงลักษณะลักลั่นที่แสนโดดเด่นของเพลง “Three Lions”

ในแง่มุมโศกเศร้า เนื้อหาของเพลงกล่าวถึงระลอกความผิดหวังที่ทีมฟุตบอลและกองเชียร์อังกฤษต้องประสบ นับแต่การคว้าแชมป์โลก ณ บ้านเกิดเมื่อปี 1966

ในทางกลับกัน เพลงเพลงนี้ก็บรรจุความหวังเรืองรองไว้ในท่อนฮุกติดหู ซึ่งมีเนื้อร้องขึ้นต้นว่า “It”s coming home”

ตามความตั้งใจแรกเริ่ม บัดเดียลและสกินเนอร์เพียงแค่ต้องการจะร่วมเฉลิมฉลองวาระที่อังกฤษได้รับหน้าเสื่อจัดทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลระดับเมเจอร์อีกหน

หลังจากประเทศแห่งนี้เคยจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งแรกและครั้งเดียวเมื่อ 3 ทศวรรษก่อนหน้านั้น

แต่ต่อมา นัยยะของเนื้อร้องท่อนฮุกสั้นๆ ง่ายๆ ก็ถูกขยายความไปไกลกว่าเดิม

“การกลับบ้าน” เริ่มยึดโยงกับความฝันใฝ่ว่าทีมชาติอังกฤษจะคว้าแชมป์รายการใหญ่ได้อีกครั้ง ซ้ำรอยความสำเร็จหนึ่งเดียวในปี 1966

สิ่งที่จะ “กลับบ้าน” จึงไม่ใช่การเป็นเจ้าภาพทัวร์นาเมนต์ระดับใหญ่ แต่ควรเป็น “ถ้วยรางวัลชนะเลิศ” ระดับทวีปหรือระดับโลก

เมื่อกองเชียร์อังกฤษพร้อมใจร่ำร้องบทเพลงว่า “ฟุตบอลกำลังจะกลับบ้าน” ปัญหาชวนฉุกคิด ได้แก่ “บ้าน” ดังกล่าวคือ “บ้าน” หลังไหน?

“จอห์น วิลเลียมส์” นักวิชาการสาขาสังคมวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ ตั้งประเด็นว่า บางที “การกลับบ้าน” อาจมิได้หมายถึงการเจาะเวลาหาอดีตหวนไปยังปี 1966 อันเป็น “ยุคทอง” ของวงการฟุตบอลอังกฤษ

หาก “บ้าน” ในเพลง อาจหมายถึงสถานภาพการเป็นบิดาแห่ง “การแข่งขันฟุตบอลสมัยใหม่” ของประเทศอังกฤษ

แทบทุกคนต่างรับทราบว่ากฎกติกาของเกมฟุตบอลยุคใหม่ รูปแบบสมาคม/สหพันธ์ฟุตบอลแห่งชาติ การแข่งขันฟุตบอลถ้วยและลีก ล้วนเริ่มต้นที่อังกฤษ ก่อนจะมีการเผยแพร่บรรทัดฐานลักษณะนี้ไปทั่วยุโรปและบางส่วนของอเมริกาใต้

ทว่า “บ้าน” หลังนี้ก็พยายามโดดเดี่ยวตนเองจากโลกภายนอก

นอกจากจะเผยแพร่รูปแบบการแข่งขันฟุตบอลสมัยใหม่ไปตามประเทศต่างๆ ที่มีชุมชนคนอังกฤษอาศัยอยู่แล้ว

วิลเลียมส์ชี้ว่าระหว่างปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ทีมชาติอังกฤษกลับไม่เคยลงปะทะฝีเท้ากับทีมชาติอื่นๆ นอกสหราชอาณาจักร

ถ้าพิจารณาผ่านปรากฏการณ์อันแปลกแยกเช่นนั้น ฟุตบอลจึงไม่ได้ “กลับบ้าน” แต่ฟุตบอลอังกฤษไม่เคยยอมออกไปเผชิญหน้าโลกภายนอก (บ้าน) เลยต่างหาก

เมื่อแรกก่อตั้งสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่าที่ประเทศฝรั่งเศสในปี 1904 อังกฤษตัดสินใจไม่เข้าร่วมกิจกรรมด้วย เพราะฐานความคิดเรื่อง “กีฬา” ที่ผิดแผกกันระหว่าง “เกาะอังกฤษ” กับ “ยุโรปภาคพื้นทวีป”

สังคม/ชนชั้นนำอังกฤษยุคต้นศตวรรษที่ 20 ยังยึดถือผูกพันกับการเล่นกีฬาแบบ “สมัครเล่น” ซึ่งวางวัตถุประสงค์ให้บรรดาสุภาพบุรุษผู้ดีได้พัฒนาสุขภาพร่างกายและจิตใจของตนจนแข็งแรงแจ่มใส (กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ แก้กองกิเลส ทำตนให้เป็นคน)

ขณะเดียวกัน อังกฤษก็แอนตี้ “กีฬาอาชีพ” ที่ถูกประเมินว่าเป็นการกระตุ้นให้ผู้เล่นหวังผลชัยชนะและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ (เช่น เงินรางวัล) นอกเหนือจากเกมกีฬา อันอาจส่งผลเสียหายต่อหลักการ “น้ำใจนักกีฬา” หรือ “แฟร์เพลย์”

ยิ่งกว่านั้น อังกฤษมองว่ากีฬากับการเมืองควรแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด สวนทางกับฟีฟ่า ซึ่งเห็นว่าควรใช้ฟุตบอลมาเป็นเครื่องมือเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ต้องรอจนถึงปี 1950 ทีมชาติอังกฤษจึงตัดสินใจเข้าร่วมทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลก ทั้งๆ ที่เวิลด์คัพหนแรกสุดเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 1930 หรือ 2 ทศวรรษก่อนหน้า

นักสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ สะกิดส่งท้ายด้วยว่า หากปี 1966 คือ “ยุคทอง-บ้านหลังเก่า” ที่แฟนบอลอังกฤษพึงปรารถนาจริงๆ

ทุกคนก็พึงตระหนักว่า “บ้าน” หลังนั้นเป็นภาพสะท้อนสังคมก่อนยุค “พหุชาติพันธุ์” เพราะทีมชาติอังกฤษชุดแชมป์โลกไม่มีนักเตะผิวดำร่วมอยู่เลย เช่นเดียวกับกองเชียร์ส่วนใหญ่ซึ่งล้วนเป็นคนผิวขาว

ข้อสังเกตบางประการของวิลเลียมส์สอดคล้องกับ “โจนาธาน แอร์วีน” นักวิชาการด้านภาษาฝรั่งเศส จากมหาวิทยาลัยบังเกอร์ ผู้ยั่วแย้งว่าแฟนบอลฝรั่งเศสที่ออกมาเฉลิมฉลองการคว้าแชมป์โลกสมัยสอง ก็กำลังต้อนรับ “ฟุตบอลกลับบ้าน” อยู่เช่นกัน

แอร์วีนชี้ว่า ขณะที่บิดาแห่งเกมฟุตบอลสมัยใหม่อย่างอังกฤษมัวหมกมุ่นกับกีฬาลูกหนังอยู่ในบ้าน (หรือในชุมชนชาวอังกฤษนอกบ้าน) และไม่ยอมมีปฏิสัมพันธ์กับประชาคมลูกหนังนานาชาติ หรือไม่ยอมเข้ามาร่วมผลักดันให้ฟุตบอลกลายเป็น “กีฬาระดับโลก” โดยแท้จริง

คนฝรั่งเศสและประเทศฝรั่งเศสกลับกลายเป็นกำลังสำคัญในการสถาปนาฟุตบอลขึ้นเป็น “กีฬานานาชาติ”

“จูลส์ ริเมต์” ผู้ริเริ่มการแข่งขันฟุตบอลโลกคือคนฝรั่งเศส ผู้ก่อตั้งฟุตบอลยูโรเปียนคัพ (ก่อนจะแปรสภาพเป็นแชมเปี้ยนส์ลีกในปัจจุบัน) ก็คือคนฝรั่งเศส ฟีฟ่าเองก็ถือกำเนิดที่กรุงปารีส โดยมีประธานคนแรกเป็นชาวฝรั่งเศส

แม้ฟุตบอลยังมิได้ “กลับบ้าน” ที่อังกฤษในปี 2018 แต่ฟุตบอลได้กลับถึง “บ้าน” อีกหลังที่ฝรั่งเศสเรียบร้อยแล้ว

ขออนุญาตละวางข้อเท็จจริงและปริศนาทางประวัติศาสตร์ แล้วหวนกลับมาสู่มนตราแห่งบทเพลงกันอีกครั้ง

กลางปี 1996 แม้ “Three Lions” จะไม่ใช่เพลงเชียร์อย่างเป็นทางการของทีมชาติอังกฤษ แถมสมาคมฟุตบอลอังกฤษออกจะไม่ชอบเนื้อร้อง ในส่วนที่ตัดพ้อผลงานน่าผิดหวังของขุนพลสิงโตคำรามด้วยซ้ำ

แต่ระหว่างการแข่งขันฟุตบอลยูโร 96 ผลงานของบัดเดียล, สกินเนอร์ และเบราดี้ กลับขึ้นอันดับ 1 ในชาร์ตเพลงยอดนิยม

จากเพลงฮิตในบริบทเฉพาะ “Three Lions” ค่อยๆ กลายเป็นเพลงยอดนิยมข้ามกาลเวลา ซึ่งถูกผลิตซ้ำหนแล้วหนเล่า โดยใช้ทำนองป๊อปติดหูแบบเดิม แต่ปรับเปลี่ยนเนื้อร้องบางท่อน (หรือทุกท่อน) เสียใหม่

ตามความเห็นของหนึ่งในผู้แต่งอย่างบัดเดียล ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ “Three Lions” ผงาดขึ้นเป็นเพลงชาติแห่งวงการฟุตบอลอังกฤษ โดยเข่นฆ่าเพลงฟุตบอลอื่นๆ ทั้งที่เกิดขึ้นก่อนหน้าและถูกผลิตตามมาภายหลังจนตายเรียบ

ก็คือ เนื้อหาแนว “หวานอมขมกลืน” ซึ่งจับใจแฟนบอลต่างเจเนอเรชั่นจนอยู่หมัด

แฟนบอลที่มีความหวัง, เข้าใกล้ความหวัง, ผิดหวัง แต่ก็ยังหวังกันต่อไป

“โอเว่น แบล๊กเฮิร์สต์” บรรณาธิการบทความของนิตยสารมุนเดียล วิเคราะห์เพิ่มเติมว่าถ้า “Three Lions” เมื่อปี 1996 ทำให้คนอังกฤษโหยหายุคทองในปี 1966

การกลับมาติดชาร์ตเพลงดาวน์โหลดยอดนิยม ณ ค.ศ.2018 ของผลงานเก่าอายุ 22 ปีเพลงนี้ ก็อาจบ่งชี้ถึงภาวะโหยหาอดีตอันงดงามเมื่อปี 1996 ของผู้คนยุคปัจจุบัน

ตามทัศนะของแบล๊กเฮิร์สต์ ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 (หรือ “ยุค 90” ในภาษาบ้านเรา) คือห้วงเวลาสุด “คูล” ของเพลงดีๆ เทศกาลวัฒนธรรมเจ๋งๆ

มิหนำซ้ำ ทีมชาติอังกฤษชุด “ยูโร 96” ภายใต้การคุมทีมของ “เทอร์รี่ เวนาเบิลส์” ก็ไม่เพียงมีผลการแข่งขันอันน่าภาคภูมิใจ แต่พวกเขายังเล่นฟุตบอลได้ดีจนน่าประทับใจ

แบล๊กเฮิร์สต์บอกว่า หลังจากพลพรรค “ทรีไลออนส์” ร่วงโรยลงเรื่อยๆ นับแต่ปี 2002 พวกเขาก็กลับมาจุดประกายความหวังของคนในชาติให้ลุกโชนขึ้นอีกคำรบในปี 2018

ด้วยพลังกระตือรือร้นของทีมพลังหนุ่ม ซึ่งมีนักฟุตบอลพื้นเพหลากหลายจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ แถมยังเล่นระบบวิงแบ๊กเหมือนยุคเวนาเบิลส์เป๊ะๆ

อังกฤษจบศึกฟุตบอลโลกที่รัสเซียด้วยตำแหน่งอันดับสี่ ถือเป็น “ความสำเร็จขั้นต่ำ” ดุจเดียวกับผลงานเมื่อปี 1990

มนตราของเพลง “Three Lions” ดูเหมือนจะยังเข้มขลังอยู่เสมอ ตราบใดที่ทีมอังกฤษยังคงเป็น “ผู้แพ้”

มายาดังกล่าวอาจยุติสิ้นสูญลง หากทีมสิงโตคำรามพลิกสถานการณ์ขึ้นเป็น “ผู้ชนะสูงสุด” แล้วนำพาฟุตบอล (ถ้วยรางวัลชนะเลิศ) กลับคืนสู่ “บ้านในอุดมคติ” ของพวกเขาและเหล่าแฟนบอลร่วมชาติ

ข้อมูลจาก

https://www.bbc.com/news/newsbeat-44711564

https://www.theguardian.com/football/2018/jun/27/three-lions-england-paul-macinnes-baddiel-skinner-world-cup

https://theconversation.com/england-fans-sing-footballs-coming-home-but-where-is-home-really-99479

https://theconversation.com/why-football-may-still-be-coming-home-to-france-99808