เรือล่มภูเก็ต ไม่ได้สูญแค่ชีวิต แต่เศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวไทยดับไปด้วย! นักวิชาการชี้ ทำไมไทยขาดจีนไม่ได้!

เหตุเรือล่มที่เกิดขึ้น ณ จังหวัดภูเก็ตไม่ได้ดับสูญแค่ชีวิตของชาวจีนเกือบครึ่งร้อย แต่ในแง่เศรษฐกิจท่องเที่ยวถือว่าดับไปด้วย

ข่าวร้อนข่าวแรงข่าวหนึ่งซึ่งไม่ควรมองข้าม คือกรณีที่นายไชยา ระพือพล นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวอันดามัน กล่าวว่า ยอดการจองห้องพักใน จ.ภูเก็ต ในช่วง 2 เดือนข้างหน้า หายไปแล้วกว่าร้อยละ 70

กระทบรายได้ไม่น้อยกว่า 42,000 ล้านบาท

จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเรียกความเชื่อมั่นกลับมาให้ได้ภายในระยะ 3 เดือน เพื่อไม่ให้กระทบรายได้ท่องเที่ยวใน จ.ภูเก็ต ที่เติบโตกว่าปีละ 350,000 ล้านบาท

ข่าวนี้เกิดเป็นเอฟเฟ็กต์มาเป็นระยะๆ แม้จะมีคำให้สัมภาษณ์ขอโทษจากปากรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง หลังจากคำให้สัมภาษณ์รอบแรกกระทบกระเทือนใจของชาวจีนเอาไปแปลขึ้นซับไตเติลพร้อมเสียงที่ (ไม่) สรรเสริญออกมาอย่างกระหน่ำ

สัปดาห์นี้ผู้เขียนจึงอยากพาไปสนทนาประเด็นร้อนทั้งหมดนี้กับอาจารย์ยุคลวัชร์ ภักดีจักริวุฒิ์ นักวิชาการจากสาขาการสื่อสารและการท่องเที่ยว วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มศว ที่สอนนิสิตเรื่องการจัดการในสถานการณ์วิกฤตเกี่ยวกับการท่องเที่ยวซึ่งเรื่องเหล่านี้มีบรรจุอยู่ในหลักสูตรแล้ว

อ.ยุคลวัชร์มองว่าช่วงนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหันมามองในเรื่องของการจัดการในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะวิกฤตที่เกิดขึ้นกับแหล่งท่องเที่ยวอย่างกรณีที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย หรือว่าเหตุการณ์ที่จังหวัดภูเก็ต การจัดการในภาวะวิกฤตถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก

การ Take Action ให้ไวรวดเร็วมีประสิทธิภาพโดยมีการประสานการทำงานจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ ถือว่าจะเป็นกลไกสำคัญที่จะจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝันได้อย่างมีคุณภาพ

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะมีแบบแผนในการกำหนดว่าเมื่อมีเหตุหนึ่งเกิดขึ้นควรมีหน่วยงานไหนเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง จะดำเนินการอย่างไร ใครจะเป็นผู้แถลง ใครเป็นคนจัดการกระบวนการ แผนขั้นตอน 1, 2, 3, 4 จะเป็นอย่างไร เพราะว่าเราได้รับบทเรียนมาในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ถึง 2 เหตุการณ์ใกล้เคียงกัน

อย่างที่จังหวัดภูเก็ต ผมก็เชื่อว่ามีการบริหารจัดการที่ดี เพียงแต่ว่าเมื่อเทียบกับการสูญเสียที่เกิดขึ้นหรือภาพต่างๆ ที่ออกมาจากเหตุการณ์นี้ถือว่าไม่ได้มีการบริหารจัดการที่ดีหรือว่าไม่เป็นระบบเหมือนที่เชียงราย

อย่างเหตุการณ์สึนามิครั้งนั้นใหญ่มาก จากนั้นเรามีแบบแผนการกระตุ้นกันมา ทุกคนตื่นตัวมาก

มาวันนี้ ถ้าเรากลับมาทบทวนดีๆ ก็จะเห็นได้ว่า ถ้าเราจัดการอย่างรวดเร็วในทุกครั้ง ปัญหาที่จะบานปลายใหญ่โต ก็จะถูกจำกัดวงความเสียหายทั้งการสูญเสียและความรู้สึกได้ดีกว่าที่เป็นอยู่

ต้องไม่ลืมว่าปัจจัยในการตัดสินใจไปเที่ยวที่ไหนสักแห่ง คนเราจะมองอยู่ 2 อย่าง

1. เรื่องราคาความคุ้มค่า

2. มองเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งตรงส่วนนี้ในวันนี้มันกลายเป็นปัญหาทั้งคู่

ภาพลักษณ์ไทยเราในสายตาของบางทัวร์ถูกมองว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวราคาประหยัดราคาถูก (ทัวร์ศูนย์เหรียญยังคงมี) ขณะที่เรื่องของมาตรฐานความปลอดภัยก็ดูจะอ่อนไหว

ความรู้สึกของนักท่องเที่ยวเมื่อเกิดเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งขึ้นไปแล้ว การที่จะแก้ไขกู้คืนความรู้สึกกลับมาต้องใช้เวลาอย่างมาก รวมถึงต้องพึ่งพาอีกหลายองค์ประกอบกว่าที่นักท่องเที่ยวจะกลับมาเชื่อมั่นเราได้

ดราม่าเงินเยียวยาช่วยเหลือหลายสิบล้าน

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบน Social Media ที่มีคนไทยจำนวนหนึ่งแสดงความคิดเห็นไม่พอใจการเยียวยากรณีที่ภูเก็ตโดยใช้เงินหลายสิบล้านบาท

ถ้าเรามองตามระเบียบ-ตามกฎหมาย จะพบว่ามีมาตรฐานกำหนดไว้อยู่แล้วทุกๆ ประเทศทั่วโลกก็มีส่วนนี้

ไม่อยากให้มองด้วยความรู้สึก เพราะนี่คือกระบวนการพื้นฐานของทุกๆ ประเทศที่มีเหมือนกัน

งบประมาณนั้นๆ หน่วยงานที่รับผิดชอบเขามีการจัดเตรียมรองรับกันไว้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะมาจากรายได้ที่เกิดจากการท่องเที่ยวหรือแม้แต่บริษัททัวร์ที่ทำถูกต้องเขาต้องมีงบเงินประกันไว้

ต้องไม่ลืมว่ายังมีสายตาจากกลุ่มคนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้โดยตรง แต่เขาก็ติดตามข่าว มันส่งผลถึงความเชื่อมั่นและตัดสินใจว่าเขาจะเดินทางมาท่องเที่ยวที่บ้านเราหรือไม่ เพราะภาพลักษณ์บวกความไว้วางใจเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เงินที่จ่ายชดเชยไปอาจจะสามารถที่จะช่วยสร้างความมั่นใจในอนาคตว่าประเทศไทยยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความปลอดภัยและมีกระบวนการในการดูแลเยียวยาเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น

มันเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องมีและทุกประเทศก็มีเหมือนกัน

คนไทยลืมง่าย ใส่ใจไม่นานแล้วค่อยตื่นตัวใหม่เมื่อมีเหตุเกิดซ้ำ

เป็นเรื่องธรรมดาของสังคมเราเมื่อเกิดเรื่องขึ้นครั้งหนึ่ง มักจะตื่นตัวกันทีหนึ่ง เราก็จะมองหาต้นเหตุมองหาผู้รับผิด พอผ่านไปสักพัก คนจะหลงลืมหรือละเลย การมีส่วนร่วมของผู้คนในสังคมค่อยๆ ถอยหายไป เพราะฉะนั้น ถ้าไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก ผมมองว่าไม่ต้องไปมองที่ชาติอื่นชาติใดเลย คนไทยนี่แหละที่ต้องมีจิตสำนึก ในการที่จะรักษาสิทธิ์

ประการแรก ถ้าหากคนไทยมีจิตสำนึก ก็ไม่ควรไปเป็นนอมินีหรือไปมีส่วนร่วมในกระบวนการที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ถ้าเราไม่เข้าไปร่วมตั้งแต่แรกก็ช่วยได้

ประการต่อมา เรื่องนี้สำคัญมาก คือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้กฎหมายหรือผู้ที่กำกับดูแลมาตรฐาน หากมีการหมั่นตรวจสอบทำซ้ำๆ ต่อเนื่องอย่างเป็นระบบระเบียบได้มาตรฐานจริงจัง ก็น่าจะทำให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาวได้

แต่ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่มักจะแข็งขันในช่วงแรกๆ พอผ่านไปสักระยะหนึ่งอาจจะรู้สึกวางใจว่าไม่เป็นอะไร ที่มาของเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เลยเกิดขึ้น

อีกหนึ่งช่องว่างช่องโหว่ของปัญหานี้คือ “ปริมาณ” อย่างที่จังหวัดภูเก็ตถือว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก มีผู้ประกอบการเยอะ จึงไม่แน่ใจว่าจำนวนของผู้ประกอบการ / นักท่องเที่ยวนั้นสอดคล้องหรือเพียงพอกับจำนวนเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายหรือไม่

ถ้ากำลังในส่วนนี้ไม่พอต้องเพิ่มภาคีเครือข่าย

พูดง่ายๆ คือ ในหมู่ผู้ประกอบการก็ต้องช่วยกันตรวจสอบกันเองเป็นหูเป็นตากันเอง ที่ต้องคิดแบบนี้เพราะว่าเมื่อเกิดเหตุขึ้นมาแล้ว มันไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแค่บริษัทเดียว แต่มันส่งผลกระทบต่อภาพรวมของทั้งจังหวัด

นิยามการท่องเที่ยว คือช่วงเวลาแห่งการหาความสุขให้แก่ตนเองและครอบครัว คนที่เขาจะตัดสินใจไปเที่ยวที่ไหนหรือไม่ไปที่ไหน ต้องไม่ลืมว่าไม่มีใครอยากเอาชีวิตมาทิ้งไว้ ถ้ายังไม่ทำจริงจัง คนจะมองประเทศเราไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ทำไมถึงขาดนักท่องเที่ยวจีนไม่ได้

ตลาดการท่องเที่ยวของเราต้องยอมรับว่านักท่องเที่ยวจีนขยายตัวอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี หลายบริษัท หลายองค์กร แม้แต่ธุรกิจของครอบครัวหลายๆ ครอบครัวต่างก็กระโดดเข้ามาเปิดบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเพื่อรองรับคนจีน

ถ้าหากเรายังจัดการปัญหานี้กู้ความเชื่อมั่นไม่ได้ มันจะกระทบในวงกว้าง อาทิ เรามีร้านอาหาร เมื่อนักท่องเที่ยวลดน้อยลงก็จะกระทบไปทุกๆ ภาคส่วน พ่อครัว พนักงานเสิร์ฟ บริกร แม้กระทั่งตลาด-การซื้อวัตถุดิบ มันจะกระทบหมดเป็นวงจรแล้วจะแก้ไขกลับคืนได้ยาก

ส่วนที่ว่าทำไมจีนถึงโดดเด่นและสำคัญแม้ว่าที่ผ่านมานั้นภาพลักษณ์ของคนจีนที่คนไทยจดจำคือภาพไม่น่าจำ

ความเป็นจริงนั้นเราจะขาดเขาไปไม่ได้ ผมอยากให้มองว่านักท่องเที่ยวทุกๆ ชาติมีทั้งได้คุณภาพและไม่มีคุณภาพ เพียงแต่ว่านักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่อันดับ 1 ของไทย เพราะฉะนั้นมีคนจำนวนมากเวลาเกิดปัญหาหรือเราเห็นพฤติกรรมบางอย่างจะเห็นได้ชัดกว่าชาติอื่นเพราะเข้ามามากสุด

สาเหตุที่นักท่องเที่ยวจีนยังคงมีความสำคัญกับแวดวงการท่องเที่ยวของไทย

ประการแรก คือเรื่องของ “ปริมาณ” ทุกวันนี้เราได้พึ่งพาส่วนของรายได้ธุรกิจในรอบหลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจมากมายถูกเปิดขึ้นมาเพื่อรองรับกับตลาดจีนโดยเฉพาะ

หรือในบางเมืองอย่างเช่นจังหวัดเชียงใหม่ เราก็จะทราบดีว่ามีนักท่องเที่ยวจีนเยอะมาก มีการขยายตัวของโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร เพราะฉะนั้นถ้าเราขาดนักท่องเที่ยวจีนไปเลยหรือถูกลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว

แน่นอนว่าผู้ประกอบการจะปรับตัวไม่ทันแล้วจะมีผู้ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ในวงกว้าง แต่ในระยะยาวต้องวางแผนรองรับ เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามามีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ให้เม็ดเงินที่ใช้จ่ายในแต่ละทริปของเขามีจำนวนที่สูงขึ้น ไม่ควรโฟกัสที่จำนวนคนอย่างเดียว

จากการติดตามสถานการณ์ระยะที่ผ่านมา โอกาสที่ผมมองเห็นตอนนี้ก็คือ Trend ของนักท่องเที่ยวชาวจีนโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่เริ่มมีพฤติกรรมออกเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเองแล้ว เขาไม่พึ่งพาบริษัททัวร์

กลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มที่น่าสนใจมาก และควรโฟกัสให้ดีนะ เพราะคนเหล่านี้ได้ใช้จ่ายเม็ดเงินอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เงินถูกหมุนเวียนอยู่ในเศรษฐกิจไทยเต็มๆ