ปิดฉากภารกิจถ้ำหลวง ส่ง13หมูป่ากลับถึงบ้าน เผยครั้งแรก-นาทีระทึก บวชอุทิศจ่าแซมสู่สุคติ

สิ้นสุดภารกิจแล้ว สำหรับการช่วยเหลือ 13 ชีวิต หมูป่า อะคาเดมี

เมื่อส่งทั้งหมดกลับคืนสู่อ้อมกอดของครอบครัวด้วยความสำเร็จ

ตั้งแต่ความพยายามระดมความช่วยเหลือจากนานาชาติเข้าไปค้นหา จนกระทั่งนักประดาน้ำชาวอังกฤษเข้าไปเจอทั้งหมดติดอยู่ที่เนินนมสาว

ตามด้วยการวางแผน หาวิธีการนำตัวทั้งหมดออกมาให้ได้อย่างปลอดภัย

โดยใช้วิธีให้ยาสงบ เพื่อให้ทุกคนไม่แตกตื่น ก่อนพาดำน้ำออกจากจุดดังกล่าว ชนิดประกบ 1 ต่อ 1

ฝ่าฝันอันตราย และความเสี่ยงเหลือคณานับ

จนกระทั่งพาทั้งหมดออกมาได้อย่างปลอดภัย เรียกเสียงชื่นชมจากคนทั้งโลก

ทั้งหมดเป็นปฏิบัติการของมวลมนุษยชาติ ที่ควรจดจารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ ที่จะต้องจดจำไว้นานแสนนาน

13 ชีวิตหมูป่ากลับบ้านแล้ว

เย็นวันที่ 18 ก.ค. ได้เวลาที่ทีมหมูป่า อะคาเดมี ทั้ง 13 ชีวิตจะได้กลับบ้าน โดยก่อนหน้านั้นทั้งหมดนำโดย โค้ชเอก-เอกพล จันทะวงษ์ พร้อมใส่ชุดแข่งขันฟุตบอล ออกเดินทางจากร.พ.เชียงรายประชานุเคราะห์ มายัง อบจ.เชียงราย เพื่อแถลงเปิดใจผ่านรายการที่นี่ประเทศไทย

โดยโค้ชเอกเปิดใจเล่าถึงนาทีที่เข้าไปเที่ยวกันภายในถ้ำว่า เราปรึกษากันมานานแล้วว่าจะเข้าถ้ำหลวง จึงวางแผนไปเตะบอลอุ่นเครื่องบนดอย หลังจากเตะบอลเสร็จจึงพากันไปถ้ำหลวง เพื่อไปศึกษาธรรมชาติ ไปเที่ยว ไม่ได้ไปฉลองวันเกิดใคร เพราะน้องไนน์ นายพีรพัฒน์ หรือไนท์ สมเพียงใจ อายุ 16 ปี ที่มีวันเกิดวันนั้นจะต้องกลับไปบ้านก่อน 17.00 น. เพราะพ่อแม่เตรียมงานวันเกิดไว้ให้

ยอมรับว่าก่อนหน้านี้เคยเข้าไปเที่ยวในถ้ำหลวง เคยไปถึงเนินนมสาว ครั้งนั้นที่ไปก็พบว่ามีน้ำนองอยู่บริเวณสามแยก แต่สามารถเข้าไปได้ วันที่เข้าไปก็เจอเหตุการณ์เหมือนเดิม คือมีน้ำที่สามแยก ก็ถามกันว่ายังจะไปต่อกันไหม ทุกคนก็บอกว่าพร้อมไป จึงกำหนดเวลาว่ามีเวลาเที่ยวกันแค่ 1 ชั่วโมงนะ ไม่เช่นนั้นจะออกมากลับบ้านกันไม่ทันเวลา

เมื่อเลยไปสักพัก น้ำก็เริ่มขึ้นสูง แต่ถ้าจะไปก็ไปได้ โดยว่ายน้ำข้ามไป โดยมีน้องว่ายไปทดสอบก่อนว่าลึกหรือไม่ เมื่อไปถึงขึ้นฝั่งได้ทุกคนก็ว่ายน้ำตามกันไป ซึ่งตอนนั้นก็ไม่ทราบว่าน้ำเริ่มขึ้นแล้ว พอถึงเวลาก็ตัดสินใจเดินทางกลับ

เมื่อเดินกลับมาทางปกติ ก็พบว่าที่สามแยกมีน้ำขึ้นสูง ตนจึงลงไปเช็กเส้นทางก่อน โดยให้เด็กถือเชือก แล้วตนว่ายน้ำไปดู เมื่อไปสักพักพบว่าไปกันไม่ไหวแล้ว เนื่องจากระดับน้ำขึ้นสูง จึงกระตุกเชือก 2 ครั้งให้ดึงกลับเข้าไป

จากนั้นก็ช่วยกันหาเส้นทางใหม่ ด้วยการขุดร่องระบายน้ำ แต่ระดับน้ำไม่มีท่าทีจะลดลง น้องตี๋ นายพรชัย คำหลวง จึงเสนอให้ขึ้นไปที่ดอนก่อน เพราะเริ่มมืดแล้ว และคิดกันว่าเป็นปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง วันรุ่งขึ้นหรือสักพักก็น่าจะออกมาได้ ซึ่งตอนนั้นไม่มีใครมีอาหาร เพราะกินกันหมดตั้งแต่ซ้อมบอลแล้ว

ด้านน้องตี๋กล่าวว่า พอเข้าไปถึงบริเวณเนินทราย ให้น้องๆ พักจุดนี้ เพราะมีน้ำหยดลงมาจากหินด้วย โดยคิดว่าอยู่ใกล้แหล่งน้ำดีกว่า ตอนนั้นไม่กลัวอะไร กินน้ำอย่างเดียวเลย พอผ่านไป 2 วันรู้สึกว่าเริ่มไม่มีแรง โค้ชเอกแนะนำให้อยู่เฉยๆ จะได้ไม่หมดแรง และสลับกันใช้ไฟฉาย

หลังจากอยู่เกือบ 10 วันทุกคนเริ่มมีอาการอ่อนแรงและหน้ามืด โดยพยายามไม่นึกถึงกับข้าว เพราะจะทำให้หิว

เป็นความอดทนในความมืดมิดที่ทรหด

เปิดใจครั้งแรกนาทีติดถ้ำหลวง

โค้ชเอกเล่าต่อถึงความพยายามหาทางออกว่า หลังจากที่ติดอยู่ 4-5 วันเริ่มคุยกันเรื่องหาทางออก โดยมีน้อง 2 คนที่เคยมาเข้าค่าย รู้ว่ามีทางออกที่ปลายถ้ำ แต่เสี่ยงมาก จึงตัดสินใจอยู่กันที่เนินนมสาว มีทางเลือก 2 ทาง คือ รอให้เจ้าหน้าที่มาเจอ แต่ระหว่างนั้นมีน้ำใหม่ไหลเข้ามา จึงพาน้องๆให้ขึ้นไปสูงอีก จากนั้นพบว่าน้ำขึ้นเกือบ 3 เมตรในเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง จึงวางแผนช่วยกันขุดผนังดินข้างถ้ำเพื่อหลบภัย

ใช้วิธีสลับกัน ก่อนขุดจะกินน้ำให้อิ่ม บางช่วงน้ำเริ่มมีตะกอน ก็เริ่มกินน้ำในถ้ำได้

ด้าน น้องอดุลย์ สามออน ที่เป็นคนสนทนาภาษาอังกฤษกับนักประดาน้ำต่างชาติที่มาพบ เล่าว่า ขณะที่กำลังขูดหินได้ยินเสียงคนพูดกัน โค้ชเอกจึงให้ทุกคนเงียบและฟัง ปรากฏว่ามันเป็นจริง โค้ชเอกให้เพื่อนอีกคนหยิบไฟฉายไปดักเพราะกลัวคนผ่านไป

แต่เพื่อนกลัว ตนเลยวิ่งไปเอาไฟฉายและวิ่งลงไปดัก ตอนแรกนึกว่าเป็นคนไทยก็ตะโกนเจ้าหน้าที่ๆ ตอนลงไปพบว่านักดำน้ำได้โผล่ขึ้นมาคุยกันพอดี ก่อนพบว่าคนที่โผล่จากน้ำเป็นชาวอังกฤษ ตอนนั้นตกใจว่าเป็นคนอังกฤษ เลยตะโกนทักว่า Can I help you? มันเป็นสิ่งมหัศจรรย์มากๆ และตกใจมาก พร้อมตอบและสนทนาตามคลิปที่เผยแพร่ก่อนหน้านี้

ส่วนโค้ชเอกยังเล่าถึงการตัดสินใจเลือกลำดับในการออกจากถ้ำว่า ไม่เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพใดๆ ใช้ความสมัครใจ โดยชุดแรกที่ออกก่อนเป็นกลุ่มที่บ้านไกลสุด ตอนนั้นคิดว่าเมื่อออกจากถ้ำก็ต้องขี่จักรยานกลับบ้าน จึงให้คนอยู่ไกลออกก่อน และจะได้ไปบอกคนอื่นๆ บอกครอบครัวให้ทำกับข้าวไว้รอ เพื่อวันรุ่งขึ้นจะได้ออกไปรับประทาน

ทั้งหมดยังเชิดชู “จ่าแซม” หรือ น.ต.สมาน กุนัน อดีตหน่วยซีล ที่เสียสละชีวิตในการ ช่วยเหลือ ขอให้ไปสู่สุคติ ซึ่งจากนี้จะบวชอุทิศส่วนกุศลให้

นอกจากนี้ยังซาบซึ้งถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใย และมอบกำลังใจให้กับทีมหมูป่าและทีมค้นหา

ขณะที่พสกนิกรต่างปลื้มปีติ ที่ทรงมีพระราชานุญาตให้ใช้พระลานพระราชวังดุสิตในการจัดงานเลี้ยงขอบคุณทีมงานที่ช่วยเหลือในภารกิจนำพาหมูป่าออกจากถ้ำ

เป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

1.สดุดีจ่าแซม 2.แถลงปิดภารกิจ 3.ปิดถ้ำฟื้นฟู 4.ลำเลียงหมูป่า

เปิดแผนฟื้นฟู-ยกเป็นอุทยานฯ

อีกเรื่องหลังจากที่สิ้นสุดภารกิจ ก็คือการฟื้นฟูวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม หลังจากที่ทุกหน่วยงานระดมกำลังเข้าพื้นที่ทั้งค้นหาถ้ำโพรง ขุดเจาะ ดัดแปลงสภาพต่างๆ ภายในถ้ำ จนเกิดความเสียหาย

หลังจากช่วยเหลือทั้ง 13 คนออกมาได้ ในวันที่ 10 ก.ค. รุ่งขึ้นในวันที่ 11 ก.ค. กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็มีประกาศสั่งปิดถ้ำตั้งแต่เวลา 10.00 น. ห้ามผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปโดยเด็ดขาด

พร้อมจัดเวรยามเฝ้าหน้าถ้ำตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากหลังเสร็จสิ้นภารกิจทีมสูบน้ำยุติทำหน้าที่เพื่อไม่ให้กระทบต่อไร่นาของประชาชน รวมทั้งฝนที่ตกลงมาก็เพิ่มปริมาณน้ำภายในถ้ำให้เพิ่มสูงขึ้น

ทำให้อุปกรณ์หลายอย่างยังไม่สามารถขนออกจากถ้ำได้ พร้อมทั้งวางแผนว่าจำเป็นต้องรอให้ถึงช่วงฤดูแล้งในอีก 4 เดือน ข้างหน้า หน่วยงานต่างๆ ถึงจะเข้ามารื้อถอนอุปกรณ์ออกไปได้

ซึ่งช่วงนี้ก็เป็นการวางแผนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จะทำแผนเสนอต่อ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อพิจารณาในระยะยาว โดยจะเพิ่มเติมในเรื่องศูนย์บริการนักท่องเที่ยว พัฒนาถนนลาดยาง มีไหล่ทางให้มีรางน้ำไหล ระยะทาง 10 ก.ม.

ปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็น ใช้งบประมาณ 42 ล้านบาท

และปรับแผนการห้ามบุคคลเข้าไปในถ้ำหลวง ซึ่งทุกปีกำหนดในช่วงก.ค.-ก.ย. โดยให้อิงกับประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา

ส่วนที่ดำเนินการได้ทันที คือการรื้อระบบฝายที่ปิดกั้นตาน้ำออกทั้งหมด ให้น้ำไหลเข้าไปในถ้ำหลวงเหมือนเดิม ขณะที่โพรงที่ขุดเจาะกว่า 100 โพรง มี 3 จุดที่มีขนาดใหญ่ จะประสานกรมทรัพยากรธรณีให้ช่วยดำเนินการ

นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะยกระดับจากวนอุทยานให้ขึ้นเป็นอุทยานแห่งชาติ เพื่อให้ได้รับงบดูแลรักษา และเก็บเงินธรรมเนียมค่าเข้าได้ ซึ่งชุมชนจะได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว ร้านค้า

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ต้องสำรวจพื้นที่เพิ่มเติม เนื่องจากวนอุทยานถ้ำหลวงฯ มีเนื้อที่ 5 พันไร่ ซึ่งการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติต้องมีเนื้อที่อย่างน้อย 6,250 ไร่ จึงต้องผนวกกับพื้นที่ป่าสมบูรณ์รอบข้างด้วย

แต่ต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์จากชุมชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก่อน

อย่างไรก็ตามแม้จะมีข้อดีในการยกระดับ แต่ก็ยังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะหากประกาศเป็นเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เท่ากับว่าชุมชนที่อยู่รอบข้าง หรือกระทั่งชาวบ้านที่ใช้พื้นที่ดังกล่าวทำกินต้องยุติการดำเนินการทันที และต้องย้ายออกจากพื้นที่

ต้องคำนึงว่ารายได้จากการท่องเที่ยว หรืองบประมาณที่ได้รับ กับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่อะไรมีประโยชน์กว่ากัน

ต้องพิจารณาให้รอบคอบ