ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | วิช่วลคัลเจอร์ |
เผยแพร่ |
วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์
ยุคคณะราษฎร
: โมเดิร์นที่หายไป (จบ)
ในยุครัฐนิยม การสร้างชาติแบบโมเดิร์นทำให้สิ่งพิมพ์มีความสำคัญมากขึ้นเพราะเป็นสื่อหลักในการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล
ผลงานด้านนี้มีหลายอย่าง แต่ที่จดจำกันได้มากคือประกาศใช้คำสั่ง “การปรับปรุงตัวอักสรไทย” ซึ่งกำหนดให้ตัดสระ 5 ตัวคือ ใ, ฤ, ฤๅ, ฦ, ฦๅ ตัดพยัญชนะ 13 ตัวคือ ฃ, ฅ, ฆ, ฌ, ฎ, ฏ, ฐ, ฑ, ฒ, ณ, ศ, ษ, ฬ (ส่วน ญ ให้คงไว้ แต่ให้ตัดเชิงออกเสีย) และยกเลิกเลขไทย ฯลฯ
แม้จะเป็นการยึดเอาเสียงมากกว่าตัวสะกด หรือเปลี่ยนเพียงอักขรวิธี ไม่ได้เปลี่ยนรูปอักษร แต่มีผลต่อภาษาไทยมาก
โครงการนี้สร้างความสับสนปั่นป่วนให้แก่วงการสิ่งพิมพ์ทั่วประเทศ และในภายหลัง
นอกจากเป็นที่จดจำแล้ว ยังได้กลายเป็นสิ่งที่ทำให้รัฐนิยมถูกนำมาล้อเลียนอยู่เสมอ
ตัวพิมพ์มีบริบทหรือวาทกรรมอีกหลายอย่าง เช่น บทบาทของเทคโนโลยี ในแง่สิ่งก่อสร้าง นั่นเป็นยุคบูมของตึกแบบอาร์ตเดโคที่อยู่ในยุโรป อเมริกา และเอเชีย เช่น จีนและญี่ปุ่น ซึ่งเน้นประโยชน์ใช้สอยและการลดทอน
สำหรับในสยาม ก็มีตึกแบบนี้ เช่น อาคารศาลาเฉลิมกรุง ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อาคารชุดถนนราชดำเนินใน และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
คอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งเป็นเทคนิคและวัสดุแบบใหม่ที่เพิ่งนิยมกัน ได้ทำให้ลวดลายแบบศิลปะประเพณี เช่น หน้าจั่ว ช่อฟ้า ใบระกา ลายไทย ลดน้อยลง และนอกจากจะง่ายต่อการออกแบบและก่อสร้าง ยังเป็นสไตล์ใหม่ที่มีชื่อว่า “สถาปัตยกรรมเครื่องคอนกรีต” ของพระพรหมพิจิตร ซึ่งได้รับการส่งเสริมโดยรัฐบาลคณะราษฎร
ที่สำคัญคือบทบาทของสุนทรียศาสตร์ของคณะราษฎร ซึ่งรวมตั้งแต่ผู้วางนโยบายไปจนถึงผู้ออกแบบ ซึ่งในวงการก่อสร้าง หมายถึงสถาปนิกและช่างเทคนิคประเภทต่างๆ และในวงการหนังสือ หมายถึงนักเขียน บรรณาธิการ ช่างวาดภาพประกอบ และช่างพิมพ์
ในแง่การพิมพ์
ผลงานของรัฐบาลยุคนี้คือตั้งโรงงานกระดาษที่กาญจนบุรีและโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช ซึ่งสอดคล้องกับการที่แท่นพิมพ์และวัสดุอุปกรณ์อื่นๆ ที่มาจากเซี่ยงไฮ้และโตเกียวมีราคาถูกลง และทำให้มีการออกหนังสือพิมพ์ทั้งภาษาไทยและจีนหลายฉบับ
รวมทั้งตั้งโรงพิมพ์และโรงหล่อตัวพิมพ์หลายแห่ง
ส่วนสิ่งพิมพ์และการออกแบบที่มาจากต่างประเทศก็มีอิทธิพลต่อศิลปินไทยมากขึ้นด้วย
แต่ในที่สุดทุกอย่างก็พังครืน เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร รัฐบาลไทยกลายเป็นฝ่ายแพ้ และแม้จะพลิกฐานะมาอยู่ข้างฝ่ายชนะ และยังคงชื่อไทยเอาไว้ถึงปัจจุบัน
แต่โครงการรัฐนิยมส่วนมากก็ประสบความล้มเหลวและจบลงอย่างรวดเร็ว
ตัวเหลี่ยม ไม่ได้รับข้อหารุนแรง แต่ก็ถูกกำจัดออกจากระบบราชการ ด้วยเหตุผลว่าไม่มีลักษณะของอักษรไทยที่ดี เช่น “ไม่มีหัวกลมโปร่ง” ในยุคต่อมา
ตัวเหลี่ยมยังเป็นที่นิยมในสื่อต่างๆ แต่ถูกส่งผ่านหรือกำหนดให้ใช้เฉพาะในวงการสิ่งพิมพ์ของเอกชน ทั้งที่เน้นข่าวสาร ความรู้ และบันเทิง
ที่สำคัญ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการพูดถึงสไตล์นี้ในแง่ที่ต่อต้านประเพณีแบบเดิมๆ ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันการทุบทำลาย ขโมย และปกปิด รวมถึงการบิดเบือนเนื้อหาได้ผล เพราะเรื่องแบบนี้ดำเนินติดต่อกันมากว่าแปดสิบปี ทั้งด้วยการใช้สิ่งพิมพ์ สิ่งก่อสร้าง รูปถ่าย ตลอดจนวิธีการต่างๆ ในการเล่า
ในแง่ศิลปะและดีไซน์ การที่โมเดิร์นของไทยถูกทำให้ลืมหรือหายไปจากความทรงจํานั้น หมายความว่าของคณะราษฎรมีข้อหาสามข้อคือ ปลอม, น่าเกลียด และเลวร้าย :
ข้อหาแรก “ปลอม” กว่าไทยแบบประเพณีดั้งเดิม กล่าวคือการทำให้ง่ายลงหรือหลักการลดทอนรายละเอียด ตั้งแต่แบบของสิ่งก่อสร้างในวัดและวังไปจนถึงลายไทย ถูกหาว่าไม่ “แท้” เท่าของเดิม
ข้อหาที่สอง “น่าเกลียด” ในแง่สไตล์ เพราะมาจากรัฐนิยมและฟาสซิสต์ พูดอีกอย่าง ไม่ใช่โมเดิร์น โดยอ้างตะวันตกอันเป็นต้นตอของคำ แล้วบอกว่าไม่คู่ควรกับทั้งคำว่าโมเดิร์นและอาร์ตเดโค ตัวอย่างเด่นคือ การเรียกภาษาไทยที่ถูกลดทอนในสมัยนั้นถูกเรียกว่า “ภาษาวิบัติ”
นอกจากนั้น เมื่อสิ่งเหล่านี้ถูกชุบชีวิตขึ้นมาในยุคฟองสบู่ (2530-2540) ก็มีฐานะเป็นสไตล์แบบไทยๆ หรือ kitsch สำหรับการออกแบบสมัยใหม่
และข้อหาที่สาม “เลวร้าย” ในแง่อุดมการณ์ เพราะสัญลักษณ์และพิธีกรรมต่างๆ เช่น รูปพานรัฐธรรมนูญ ประเพณีเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ รวมทั้งวันสำคัญต่างๆ เช่น วันชาติและวันรัฐธรรมนูญ รวมทั้งคำว่า สามัญชนและความเสมอภาค เป็นสิ่งที่ต่อต้านราชานิยม หรือตรงข้ามกับประวัติศาสตร์ไทย
นิทรรศการ “ของ (คณะ)ราษฎร” ซึ่งมีความกล้าหาญในการนำ “โมเดิร์นที่หายไป” มาจัดแสดง เน้นสำนึกใหม่ที่เกี่ยวกับประชาชน โดยผ่านรูปพานรัฐธรรมนูญจำนวนมาก ซึ่งเป็นการพยายามบอกว่า ไม่ได้มีแต่ในกรุงเทพฯ แต่ถูกแพร่กระจายในจังหวัดและภูมิภาคต่างๆ
และพูดถึงบทบาทของกลุ่มคนอื่นๆ เช่น กรรมกร ชนชั้นกลาง และพ่อค้าจีน/ไทย รวมทั้งการขยายตัวของเมือง ถนนหนทาง และการสื่อสาร
ที่สำคัญคือ ค้นหาว่าสัญลักษณ์ต่างๆ มี “เนื้อหา” หรือไม่?
และเนื้อหานั้นสะท้อนความเป็นศิลปินและยุคสมัยของเขาหรือไม่?
แต่อย่าลืมว่า คําว่าสไตล์ ซึ่งมีอิทธิพลต่อวงการประวัติศาสตร์ศิลปะและสถาปัตยกรรมนั้น เสนอว่าสัญลักษณ์ (iconography) มีค่าเท่ากับเนื้อหา และเป็นเพียงส่วนประกอบอันหนึ่งของสไตล์ และถ้าจะเป็นสไตล์ คงต้องมีข้อมูลของระบบราชการ ซึ่งหมายถึงอำนาจและประสิทธิภาพ และลงไปในรายละเอียดของบุคคลและสถานะของช่าง ศิลปิน และสถาปนิก รวมทั้งเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในแต่ละยุค
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นิทรรศการพยายามบอกคือ ยุคคณะราษฎรคือโมเดิร์นไทยในยุคแรก ซึ่งมีความเป็นสาธารณะมากกว่าปัจจุบัน แต่ถูกทำให้หายไป
แต่สำนึกใหม่เกี่ยวกับ “สามัญชนและความเสมอภาค” หรือโมเดิร์นไทยจะกลับมาได้ ต้องทำให้คำว่าเนื้อหาและสไตล์มีความหมายที่เปิดกว้าง หรือตีความได้หลากหลายมากขึ้นด้วย
ความหมายแบบนี้จึงจะมีพื้นที่ในประวัติศาสตร์ได้