รู้จักสารพิษ “โนวิชก” ฆาตกรแห่งโซเวียต

ตกเป็นข่าวคราวขึ้นมาอีกครั้ง สำหรับสารพิษทำลายระบบประสาท “โนวิชก”

เมื่อมีเหยื่อถูกสารพิษโนวิชกในประเทศอังกฤษ 2 รายอีกครั้ง เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ที่เมืองเอมส์เบอรีของอังกฤษ

และครั้งนี้ถึงกับทำให้มีผู้เสียชีวิตด้วย 1 ราย คือนางดอว์น สเตอร์เกสส์ วัย 44 ปี ที่เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม

ส่วนนายชาร์ลี โรว์ลีย์ เพื่อนชาย มีอาการสาหัส

โดยเมืองเอมส์เบอรีอยู่ไม่ไกลจากเมืองซอลส์เบอรี ที่เคยมีรายงานว่า นายเซร์เก สกรีปาล อดีตสายลับสองหน้าชาวรัสเซีย และยูเลีย ลูกสาว เคยโดนสารพิษโนวิชกมาแล้วเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ทั้งคู่ไม่เสียชีวิตและมีอาการดีขึ้นตามลำดับ

 

วิลเลียม แอตชิสัน ศาสตราจารย์ด้านเภสัชวิทยาและพิษวิทยาของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกิดพิษต่อระบบประสาท ได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับ “โนวิชก” นี้ ไว้บนเว็บไวต์เดอะคอนเวอร์เซชั่น

ระบุว่า โนวิชกเป็นกลุ่มของโมเลกุลที่ถูกออกแบบมาเพื่อเป้าหมายเพียงอย่างเดียวคือ “การสังหาร” ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์ของอดีตสหภาพโซเวียต ในช่วงทศวรรษ 1970-1990

โดยจากการที่แอตชิสันได้ศึกษาว่าสารเคมีและสารพิษในสภาพแวดล้อม สามารถสร้างความปั่นป่วนหรือสกัดกั้นการส่งสัญญาณของสารเคมีในระบบประสาทได้อย่างไร จนนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพชั่วคราวหรือบางครั้งอาจจะอย่างถาวร โดยได้ทำการวินิจฉัยหน้าที่ของสารเคมีในสภาพแวดล้อมของโรคต่างๆ เช่น เอแอลเอส หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเล็มส์ โดยพุ่งเป้าไปในการส่งสัญญาณของกล้ามเนื้อร่วมประสาท ซึ่งเป็นเป้าหมายของสารพิษโนวิชก

แอตชิสันบอกว่า โนวิชกสังหารคนได้ โดยการเข้าไปสกัดกั้นการสื่อสารระหว่างเส้นประสาทกับกล้ามเนื้อ หรือเส้นประสาทในสมอง ซึ่งสามารถทำงานได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที ทำให้กล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ เป็นอัมพาต และทำให้หัวใจหยุดเต้น และเกิดอาการชักด้วย

แต่ถ้าหากปริมาณของยาไม่มากเพียงพอ อาจจะยืดระยะเวลาของการตายออกไป แต่เหยื่อจะยังคงเกิดอาการชัก กล้ามเนื้อร่วมประสาทอ่อนแรง ตับวาย และอวัยวะอื่นๆ ถูกทำลาย

 

อย่างไรก็ตาม แอตชิสันบอกว่า ข้อมูลเกี่ยวกับโนวิชกส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงการคาดเดา โดยข้อมูลตอนนี้ที่มีส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่จำกัดซึ่งได้จากนักเคมีชาวรัสเซีย 2 คน คนหนึ่งเป็นรัสเซียผู้แปรพักตร์ และอีกคนโดนสารโนวิชกเข้าไปโดยอุบัติเหตุ ก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา และจากช่วงเวลาของการรักษาตัวอยู่นั้น ทำให้เข้าใจได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับผู้ถูกสารพิษและยังไม่เสียชีวิตในทันที

แอตชิสันบอกว่า สารพิษโนวิชกที่นำมาใช้กับเหยื่อในอังกฤษจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 รายนั้น ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นสารพิษที่มีโครงสร้างอย่างไร แต่ดูจะมีพันธะที่แน่นหนาและมีความรวดเร็วในการเข้าถึงเอ็นไซม์เป้าหมาย ที่เรียกว่าอะเซติลโคลีนเอสเทอเรส ซึ่งพบได้ในเส้นประสาทและเซลล์กล้ามเนื้อ เร็วมากกว่าสารพิษทำลายระบบประสาทอื่นๆ เช่นซาริน หรือทาบุน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เสียชีวิตภายในเวลาไม่กี่นาที โดยทำให้กล้ามเนื้อประสาท ต่อมประสาท และหัวใจ ไม่ทำงาน

และรัสเซียก็ตกเป็นเป้าหมายว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการตายจากสารพิษทำลายประสาทครั้งนี้ ซึ่งรัสเซียปฏิเสธมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีใครรู้ได้ว่าฤทธิ์ของสารเคมีจะอยู่ได้นานแค่ไหน เพราะว่าสารพิษนี้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างผิดกฎหมายและเป็นความลับโดยอดีตสหภาพโซเวียต และมีนักวิทยาศาสตร์ของรัสเซียเป็นผู้มีส่วนร่วมในโครงการที่ใช้ชื่อว่า “โฟเลียนต์” ที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางของอนุสัญญาอาวุธเคมีที่ลงนามไว้กับสหรัฐอเมริกา และเพื่อหลบหลีกการตรวจพบของเจ้าหน้าที่ตรวจอาวุธ

บีบีซีเคยรายงานไว้ว่า นายนีล บาซู ผู้ช่วยผู้บัญชาการปฏิบัติการพิเศษของสำนักงานตำรวจนครบาล อังกฤษ เคยบอกไว้ว่า สารพิษโนวิชกนี้สามารถอยู่ได้นานถึง 50 ปีทีเดียว