พิษเรือล่ม! ฉุดท่องเที่ยวภูเก็ตวูบ ทัวร์จีนถอย-แห่ยกเลิกห้องพัก ททท. เร่งเดินสายแก้เกม

ประเมินในเบื้องต้นแล้วว่า เหตุการณ์เรือท่องเที่ยวล่มที่เกาะเฮและเกาะไม้ท่อน จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนยกเลิกการเดินทาง และกระทบรายได้ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตไม่น้อยกว่า 4.2 หมื่นล้านบาท

จากรายงานของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่าในปี 2560 ที่ผ่านมามีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย 9.8 ล้านคน คิดเป็นรายได้รวมราว 5.6 แสนล้านบาท

ในจำนวนนี้เดินทางไปท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตประมาณ 3 ล้านคน จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าภูเก็ตราว 12-13 ล้านคนต่อปี

 

เหตุการณ์เรือล่มครั้งใหญ่ที่จังหวัดภูเก็ตนับเป็นอุบัติเหตุทางเรือที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง เพราะมีผู้ประสบเหตุถึง 147 คน และเสียชีวิต 47 ราย ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวชาวจีนค่อนข้างหนักมาก

หลายภาคส่วนได้คาดการณ์ว่าผลกระทบดังกล่าวน่าจะส่งผลยาวถึงราว 3 เดือน (กรกฎาคม-กันยายน) ซึ่งตามปกติในช่วง 3 เดือนดังกล่าวนี้จะเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของภูเก็ต นักท่องเที่ยวในโซนยุโรปชะลอการเดินทาง แต่จะเป็นช่วงเวลาที่กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนนิยมเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในภูเก็ตเป็นจำนวนมาก และเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้อัตราการเข้าพักโรงแรมของภูเก็ตมีอัตราเฉลี่ยกว่า 90% ต่อเนื่องตลอดทั้งปีด้วย

“ก้องศักดิ์ พู่พงศกร” นายกสมาคมโรงแรมภาคใต้ ให้ข้อมูลว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ได้มีการสำรวจอัตราการจองห้องพักล่วงหน้าของนักท่องเที่ยวจีนในจังหวัดภูเก็ต พบว่า ณ วันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมามีโรงแรมที่ได้รับผลกระทบแล้ว 19 แห่ง จากจำนวนโรงแรมทั้งหมดกว่า 2,000 แห่ง โดยมีการบอกยกเลิกการจองห้องพักล่วงหน้าสำหรับเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมแล้วมากกว่า 7,300 ห้องพัก จากจำนวนห้องพักทั้งหมดประมาณ 100,000 ห้อง

และคาดการณ์ด้วยว่าผลกระทบจากเหตุการณ์นี้น่าจะลากยาวไปถึงเดือนกันยายน ซึ่งจะส่งผลกระทบกับรายได้ท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตอย่างมากในปีนี้

พร้อมทั้งระบุว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้ถือว่ามากกว่าที่ทางผู้ประกอบการโรงแรมคาดการณ์ไว้ในระยะแรกที่ราว 10-15%

โดยสาเหตุหลักนั้นมาจากความไม่เชื่อมั่นในมาตรการความปลอดภัยของการท่องเที่ยวทางทะเลของไทย รวมถึงบางส่วนไม่พอใจในมาตรการความช่วยเหลือ และคำพูดของผู้นำของประเทศ

เช่นเดียวกับ “ไชยา ระพือพล” นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวอันดามัน กล่าวว่า ขณะนี้พบว่ายอดจองโรงแรม ที่พักในจังหวัดภูเก็ตในช่วง 2 เดือนข้างหน้าหายไปแล้วกว่า 70%

ขณะที่ “กฤษฎา รัตนพฤกษ์” ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้ข้อมูลว่า นอกจากผลกระทบด้านการยกเลิกห้องพักกว่า 7,000 ห้องพักแล้ว สายการบินจำนวน 6 แห่งยังแจ้งยกเลิกเที่ยวบินจากจีนเข้าภูเก็ตด้วย คือ Spring Airlines, China Eastern Airlines, Xiamen Airlines, Juneyao Airlines, Sichuan Airlines และ China Southern Airlines

รวมเป็น 19 เที่ยวบิน คิดเป็น 6.03% ของจำนวนเที่ยวบินทั้งหมดที่เข้าท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตต่อสัปดาห์

 

ด้าน “พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์” ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กล่าวว่า ขณะนี้มียอดยกเลิกการจองห้องพักโรงแรมในจังหวัดภูเก็ตของนักท่องเที่ยวชาวจีนแล้ว 10-15% ถือว่ายังไม่กระทบต่อภาพรวมด้านการท่องเที่ยว

เนื่องจากปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาเที่ยวในภูเก็ตปีละ 3 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 1.5 แสนล้านบาท

สอดรับกับ “วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ที่ประเมินว่า ตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ปรับตัวลดลงในขณะนี้ยังไม่ถือว่าวิกฤต และยังมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่วางแผนการเดินทางและจองที่พักไว้แต่ยังไม่ยกเลิก ซึ่งที่ผ่านมายังพบว่าตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้า-ออกจังหวัดภูเก็ตยังอยู่ในแดนบวกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วน “นรภัทร ปลอดทอง” ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต แจ้งว่า ขณะนี้ทางจังหวัดอยู่ระหว่างจัดทำมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยการท่องเที่ยวทางเรือเสนอให้รัฐบาลรับทราบ โดยมาตรการแรกคือ จัดระเบียบการลงเรือ ทั้งเรื่องการตรวจสอบจำนวนผู้โดยสาร หน้าตาผู้โดยสาร การให้นักท่องเที่ยวสวมสายรัดข้อมือ (Wristband) เพื่อติดตามตำแหน่งนักท่องเที่ยว และการสาธิตความปลอดภัย เพื่อยกระดับความปลอดภัยให้เหมือนกับขั้นตอนขึ้นเครื่องบิน

และมาตรการที่ 2 คือ จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลที่อ่าวฉลอง มีเจ้าหน้าที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง มีเรือประจำการรอ 3 ลำ พร้อมเชื่อมโครงข่ายสื่อสารเข้ากับเรือประมงและเรือท่องเที่ยวตามเกาะต่างๆ เพื่อเข้าถึงตำแหน่งเรือที่อาจประสบปัญหา

รวมทั้งตั้งศูนย์เฝ้าระวังและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล บริเวณเกาะยาว จังหวัดพังงา ดูแลครอบคลุม 3 จังหวัดอันดามัน ได้แก่ พังงา ภูเก็ต และกระบี่ โดยเบื้องต้นประเมินว่าจะของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลประมาณ 427 ล้านบาท

 

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการตลาดภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยได้เร่งแก้เกมอย่างเร่งด่วน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนให้กลับคืนมาโดยเร็ว

“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวยอมรับว่า เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยวของไทยค่อนข้างมาก โดยเฉพาะความเชื่อมั่นทางด้านความปลอดภัย แต่ยังเชื่อมั่นว่าจะกระทบในช่วงเวลาระยะสั้นๆ เท่านั้น

โดยที่ผ่านมาได้สั่งให้สำนักงาน ททท. ในประเทศจีนทั้ง 5 แห่งคือ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว เฉิงตู และคุนหมิง ประเมินสถานการณ์และผลกระทบอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

ซึ่งล่าสุดพบว่า สำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (เอฟ.ไอ.ที.) ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 60% ยังไม่กระทบมากนัก

แต่นักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางเป็นกลุ่มคณะ หรือกรุ๊ปทัวร์ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 40% นั้นมีปริมาณที่ลดลง

ทั้งนี้ มองว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่นักท่องเที่ยวชาวจีนบางส่วนยังไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วน โดยเฉพาะการดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ดำเนินการอย่างรวดเร็ว รวมถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาตาม “ระเบียบคณะกรรมการบริหารกองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวต่างชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการจ่ายเงินกองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวต่างชาติ พ.ศ.2558”

ดังนั้น ททท. จำเป็นต้องเร่งดำเนินการในหลายๆ ส่วนเพื่อเรียกความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวและกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนให้กลับคืนมาโดยเร็ว

โดยวางแผนเดินทางไปเมืองปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ในช่วงระหว่างวันที่ 18-21 กรกฎาคมนี้ เพื่อพบผู้ประกอบการบริษัทนำเที่ยวขนาดใหญ่ พร้อมทั้งนำเสนอสินค้าท่องเที่ยวและรายงานให้ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวชาวจีนได้รับรู้ถึงมาตรการด้านความปลอดภัยและระบบเตือนภัยแก่นักท่องเที่ยว

รวมถึงดูปฏิกิริยาตอบรับของตลาดเพื่อนำข้อมูลมาวางแผนกระตุ้นตลาดต่อไป

 

นอกจากนี้ยังมีแผนนำแพ็กเกจทัวร์คุณภาพ (ราคาเฉลี่ยประมาณ 3,000 หยวน หรือราว 15,000 บาท) เข้าไปขายในแพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์ของจีนมากขึ้น เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวของไทยให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพตามเป้าหมาย

พร้อมทั้งร่วมมือกับแพลตฟอร์ม Wechat ซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมอันดับ 1 ในจีน สำหรับเป็นช่องทางสื่อสารข้อมูลจำเป็นแก่นักท่องเที่ยวจีนด้วย

หลังจากนี้ยังมีแผนจัดแฟมทริปดึงสื่อมวลชน บล๊อกเกอร์ชื่อดัง รวม 40-50 คน และพิจารณานำเซเลบริตี้จากจีนให้เดินทางมาภูเก็ตในช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งอยู่ใกล้ช่วงโกลเด้นวีกหยุดยาววันชาติจีนในเดือนตุลาคมนี้ และใช้เวทีนี้สำหรับคิกออฟฟื้นความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวอีกครั้ง เหมือนเมื่อครั้งที่ ททท.เคยนำเซเลบริตี้ชื่อดังเดินทางมาไทยหลังเกิดเหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์เมื่อหลายปีก่อน

ขณะเดียวกันยังมีแผนจัดกิจกรรมต่างในพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายนนี้อีกด้วย

 

แม้หลายฝ่ายยังคงเป็นกังวลว่าเหตุการณ์นี้จะเป็นประเด็นที่กระทบต่อผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวชาวจีนอย่างมากในห้วงเวลานี้

แต่ ททท.ยังเชื่อมั่นว่าตลอดทั้งปี 2561 นี้ นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาเที่ยวเมืองไทยจะมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 11 ล้านคน

และสร้างรายได้ให้ประเทศไทยกว่า 5.5 แสนล้านบาทตามเป้าหมายที่วางไว้