ถ้ำหลวง และตำนาน

"ตำนานนิรันดร์" (The Immortal Story) เขียนโดย Isak Dinesen แปลโดย อรจิรา โกลากุล ฉบับพิมพ์ครั้งแรก, ตุลาคม 2560 โดยสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม

ณวันที่ฉันเขียนอยู่นี้ ปฏิบัติการสำคัญและเป็นที่จับตามองจากทั่วโลกกำลังเริ่มต้นขึ้น

นั่นก็คือการพาคน 13 คนออกจากถ้ำ

คงไม่ต้องเล่าย้อนหลังกันมากมายว่าเรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร เข้าไปทำไม เจอกันเมื่อไหร่ สบายดีไหม

ดนตรีที่บรรเลงบทเริ่มต้นเข้าสู่จุดสูงสุดในวันนี้ นาทีนี้

 

ปฏิบัติการเริ่มต้นขึ้นเมื่อสาย หลังจากไตร่ตรองกันมาหลายวันว่าจะใช้ทางไหนดีในการลำเลียงคนออกมา

ตามข้อมูลที่แจ้ง คืนนี้เราจะได้รู้ผลกัน

และแน่นอน, ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาแบบไหน

ทุกกระบวนการในเรื่องนี้จะกลายเป็นอีกหนึ่งตำนาน

“เรื่องที่ท่านเชื่อว่าเกิดกับกะลาสีบนเรือที่ท่านโดยสาร ไม่เคยเกิดขึ้นกับใครหรอกครับ กะลาสีทุกคนต่างรู้จักเรื่องนี้ ทุกคนเล่าเรื่องนี้ และต่างก็หวังอยากให้เรื่องนี้เกิดขึ้นกับตนเอง ดังนั้น แต่ละคนจึงเล่าเรื่องนี้ราวกับมันเกิดขึ้นกับตนเอง แต่ไม่เป็นเช่นนั้นหรอกครับ”*

หนึ่งในตำนานที่ฉันชอบคือเรื่องของปมกอร์เดียน

 

ปมกอร์เดียนเกิดขึ้นในอาณาจักรฟรีเจีย (Phrygia) ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกรีก เมื่อกษัตริย์ที่ปกครองอยู่สวรรคตโดยไม่มีการแต่งตั้งผู้สืบทอดไว้ ศาสดาพยากรณ์ได้พยากรณ์ว่ากษัตริย์องค์ใหม่ของฟรีเจียจะเป็นผู้ที่ขับเกวียนเข้าเมืองมา

กระทั่งครอบครัวของกอร์เดียส (Gordias) และลูกชาย อาไมดาส (Ahmidas) นั่งเกวียนเข้ามาในเมือง อาไมดาสจึงได้รับแต่งตั้งเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ของฟรีเจีย

อาไมดาสผูกเกวียนที่เขานั่งมาไว้กับเสาวิหารในเมืองกอร์เดียม (Gordium) เมืองซึ่งถูกตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติให้กับบิดาของเขา

ปมเงื่อนที่อาไมดาสผูกนั้นแน่นมาก กระทั่งศาสดาพยากรณ์ได้มีคำทำนายออกมาอีกว่า ผู้ที่แก้ปมนี้ได้จะเป็นผู้ที่ได้ครอบครองเอเชีย

เมื่อ 333 ปีก่อนคริสต์ศักราช อเล็กซานเดอร์มหาราชเสด็จมาที่กอร์เดียม และลองแก้ดูแต่พระองค์ก็แก้เชือกไม่ได้ อเล็กซานเดอร์คว้าดาบมาฟันเชือกขาดออกเป็นสองท่อนทันที ซึ่งในภาษาอังกฤษนำมาใช้สื่อถึงการแก้ปัญหายุ่งยากแบบฉับไวว่า Cutting the Gordian knot (อ้างอิงจากข้อมูลเรื่องปมกอร์เดียนในวิกิพีเดีย)

ในเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า ที่มาของปมนั้นก็เป็นตำนานในตัวของมันเอง ความแน่นหนาและบุญญาภินิหารต่างๆ ถูกผูกเอาไว้กับปม

ฉันไม่รู้ว่าก่อนหน้านี้มีใครคิดจะลองแกะแก้ปมนี้บ้างหรือเปล่า หรือถูกตำนานข่มทับเสียจนไม่กล้าแม้จะลอง

จนการมาถึงของอเล็กซานเดอร์

และวิธีแก้ปมแบบฉับไว

การปล่อยเรื่องเล่าให้ถูกบ่มด้วยเวลา ก็เป็นวิธีหนึ่งในการสร้างตำนาน

แต่การทำลายเรื่องเล่าและเอาความจริงเข้ามาทดแทน

สร้างสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เกิดขึ้น

นั่นก็คือการสร้างตำนานเช่นกัน

 

ก่อนจะถึงวันนี้เป็นเวลาร่วมสองสัปดาห์ที่เต็มไปด้วยความอึมครึมและสารพันเรื่องเล่าจากหุบเขานางนอน

ความเป็นจริงปะทะกับความน่าจะเป็น

หลายคนฉวยโอกาสนี้เพื่อสร้างบางอย่าง

บ้างก็ชื่อเสียงตัวเอง

บ้างก็ต้องการสปอตไลต์

บ้างก็…แค่เพื่อเซลฟี่ตัวเองซักรูปให้คนได้รู้ว่าได้ไปถึงตรงนั้นแล้ว

แต่ฉันก็ยังเชื่อในมนุษยธรรม

เชื่อว่าอุปสรรคและสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน กระตุ้นให้บางคนหาทางก้าวผ่านให้ได้

แม้จะมีชีวิตเป็นเดิมพัน

ทั้งชีวิตของตัวเองและผู้รอคอยความช่วยเหลือ

เชื่อว่าเพราะมนุษย์คือมนุษย์

และเราย่อมไม่ยอมรอเพียงโชคชะตา

“ถ้าหากว่าเรื่องนี้-เขากล่าว-ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ฉันก็จะทำให้มันเกิดขึ้นในเวลานี้ ฉันไม่ชอบการเสแสร้ง ไม่ชอบคำพยากรณ์ การหมกมุ่นอยู่กับสิ่งลวงเป็นเรื่องผิดเพี้ยนและผิดศีลธรรม ฉันชอบข้อเท็จจริง ฉันจะเปลี่ยนเรื่องยกเมฆนี้ให้กลายเป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง”*

เหมือนกับอีกหลายคนในเวลานี้

ฉันรอผลลัพธ์จากถ้ำหลวง

 

เราเขียนตำนานขึ้นมาก่อน

จากนั้นจึงมองหาพื้นที่สำหรับมัน

จัดวางลงไป ถักทอบรรยากาศห่อหุ้ม

รอเวลาให้เรื่องเล่ากลายเป็นตำนานที่จะรับใช้เรา

เพื่อจะทำลายมัน

และทำให้การทำลายนั้น เป็นตำนานในตัวของมันเอง

——————————————————————————————————————-
*ข้อความจากในหนังสือ