ถอดการเปิดใจ “ทีมดำน้ำ” นานาชาติ เบื้องหลังช่วย 13 หมูป่า ไม่ใช่ “สลบ” แต่เป็น “สงบ”

หลังปฏิบัติการช่วยเหลือทีมหมูป่าอะคาเดมี ประสบความสำเร็จ

สามารถนำ 13 ชีวิตออกจากถ้ำหลวง จ.เชียงราย พักฟื้นฟูร่างกายที่โรงพยาบาล ก่อนส่งตัวกลับบ้านเป็นที่เรียบร้อย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา

“ริก สแตนตัน” กับ “จอห์น โวลันเธน” นักดำน้ำกู้ภัยชาวอังกฤษ สองคนแรกที่ดำน้ำเข้าไปพบกลุ่มเด็กและโค้ช 13 ชีวิต ให้สัมภาษณ์เว็บไซต์เทเลกราฟ

โวลันเธนกล่าวว่า รู้สึกโล่งใจมากที่เห็นเด็กๆ ได้รับความช่วยเหลือปลอดภัย อันเป็นผลจากความร่วมแรงร่วมใจของทีมนักประดาน้ำนานาชาติและหน่วยซีลของไทย

สำนักข่าวบีบีซียังเปิดเผยคำบอกเล่าของโวลันเธน ถึงนาทีพบทีมหมูป่าว่า ตอนได้เห็นรอยยิ้มของเด็กๆ เป็นรอยยิ้มที่กว้างมาก ความรู้สึกตอนนั้นคือยินดีที่สุด

ขณะที่สแตนตันกล่าวว่า ตอนแรกรู้สึกตื่นเต้น และโล่งอกที่พบทุกคนยังมีชีวิตรอดและมีสุขภาพที่ดี แต่เมื่อตนเองและโวลันเธนกลับออกมา ก็เฝ้าแต่ครุ่นคิดว่าจะพาเด็กๆ ออกจากถ้ำได้อย่างไร

“แต่สิ่งที่เรารู้คือ เรามีทีมทำงานที่ดีและได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากเจ้าหน้าที่ไทยที่เชี่ยวชาญ และองค์กรการกู้ภัยอีกหลายส่วน ดังนั้น เราคิดว่ามีสิ่งที่ดีที่สุด เราสามารถทำทุกอย่างตามแผนที่วางไว้ได้” สแตนตันระบุ

ในทีมนักดำน้ำอังกฤษ ยังมี “เจสัน มัลลินสัน” และ “คริส จีเวลล์” ที่กล่าวกับ “เดลี่เมล์” ถึงวิธีปฏิบัติด้านความปลอดภัยของหน่วยซีลไทยว่า เป็นการทำงานบนความเสี่ยง ผิดหลักความปลอดภัยการดำน้ำในถ้ำ

มัลลินสันบอกว่า แปลกใจที่หน่วยซีลไทยมีวิธีปฏิบัติด้านความปลอดภัยต่างจากทีมดำน้ำอังกฤษ

เพราะนักดำน้ำในถ้ำจะทำงานบนพื้นฐานของอุปกรณ์สำรอง แต่ละรอบจะมีถังอากาศอย่างน้อย 2 ถัง เรกูเรเตอร์ 2 ตัว และไฟฉาย 3 ชุด ขณะที่หน่วยซีลใช้ถังอากาศถังเดียวดำน้ำในบางช่วง ทำให้ในกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝัน จะเป็นปัญหาใหญ่

ทั้งสองคนยังตกใจที่พบว่าเจ้าหน้าที่ซีลบางคนที่อยู่กับเด็กภายในถ้ำ ไม่มีอากาศเพียงพอที่จะดำน้ำกลับออกมาด้วยตัวเอง

“พวกเขาทำตามคำสั่ง ถูกบอกให้ไปให้ถึงโถงและอยู่กับเด็ก ถูกสั่งให้อยู่จุดนั้นจนถึงช่วงเวลาสุดท้ายไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่พวกเขาก็ใช้อากาศมากเกินไปในการทำเช่นนั้น” มัลลินสันระบุ

ขณะที่ “เวิร์น อันส์เวิร์ธ” ชาวอังกฤษที่ร่วมภารกิจกู้ภัยทีมหมูป่า ให้สัมภาษณ์ “ซีเอ็นเอ็น” ว่า เป็นความสำเร็จที่ “น่าอัศจรรย์ใจ”

ถึงอย่างนั้น อันส์เวิร์ธยอมรับว่าฝนที่ตกลงมา สภาพอากาศที่ไม่สามารถคาดคะเน เป็นอุปสรรคในการทำงาน

แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจเข้าช่วยเหลือในวันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม ช่วยเด็กออกมาได้ 4 คน วันจันทร์ 4 คน และวันสุดท้าย 5 คน

ส่วนสถานการณ์ที่ทำให้ทีมกู้ภัยปฏิเสธรอเวลาให้หมดหน้าฝนแล้วค่อยเข้าช่วยเด็กออกมาก็คือ สภาพอากาศ

หากระดับน้ำสูงขึ้นก็ไม่สามารถดำน้ำเข้าไปได้ บวกกับปริมาณออกซิเจนในถ้ำเหลือน้อย ไม่มีอาหาร พวกเขาไม่สามารถรอดชีวิตอยู่ในถ้ำนาน 2-3 เดือน

ภายใต้ภารกิจช่วย 13 ชีวิตหมูป่า

ถึงวันนี้ไม่มีใครไม่รู้จักชื่อ “นายแพทย์ริชาร์ด แฮร์ริส” นักดำน้ำชาวออสเตรเลีย ผู้มีส่วนสำคัญในปฏิบัติการ

ดร.แฮร์ริส คือผู้ประเมินร่างกาย 13 ชีวิต สำหรับการตัดสินใจลำเลียงออกจากถ้ำ เป็นวิสัญญีแพทย์ หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางยาสลบ

สำนักข่าวหลายแห่งรายงานว่า ดร.แฮร์ริสเป็นผู้ให้ยาคลายประสาทแบบอ่อนเพื่อลดความเครียดของเด็กๆ ขณะถูกพาออกจากถ้ำ และเป็นหนึ่งในทีมช่วยเหลือที่ออกจากถ้ำเป็นชุดสุดท้ายในภารกิจซึ่งกินเวลาถึง 3 วัน

ดร.แฮร์ริสโพสต์เฟซบุ๊กเล่าความรู้สึกต่อเหตุการณ์ “เหลือเชื่อ” ที่เกิดขึ้น

ระบุถึงทีมนักดำน้ำชาวอังกฤษ 4 คน ซึ่งดำน้ำในถ้ำและทำเส้นทางเข้าไปถึงจุดที่เด็กๆ และโค้ชทั้ง 13 คนอยู่ว่า ไม่ใช่แค่ทำให้สำเร็จ แต่ยังทำได้ปลอดภัย

บริเวณหน้าถ้ำมีอาสาสมัครชาวไทยและต่างชาติจำนวนมาก มาช่วยทั้งเรื่องอาหาร การสื่อสาร รวมถึงทีมเจ้าหน้าที่ช่วยลำเลียงอุปกรณ์เข้าไปในถ้ำเพื่อต่อสู้กับน้ำช่วงฤดูมรสุม

เป็นสิ่งที่เขาไม่เคยเห็นเช่นนี้มาก่อน

ยังมีทีมปีนเขาสำรวจโพรงเพื่อหาทางออกใหม่ รวมไปถึงนักดำน้ำ 4 นายจากหน่วยซีลที่กล้าหาญ อยู่เป็นเพื่อนกับเด็กๆ ทั้งที่รู้ว่าอยู่ในภาวะเสี่ยงด้วยเช่นกัน

เกี่ยวกับประเด็น “ยา” ที่นำมาใช้กับเด็กๆ ทีมหมูป่า

ดร.เครก ชาลเลน ชาวออสเตรเลีย คู่บัดดี้ดำน้ำของ นพ.แฮร์ริส ให้สัมภาษณ์ “ซันเดย์ไทม์ส” สื่อท้องถิ่นออสเตรเลีย ว่า

ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นเรื่องของชีวิตและความตาย เด็กๆ ถูกวางยาให้สงบ ถึงจุดที่พวกเขาไม่รู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น เพื่อป้องกันการตื่นตระหนก

“พวกเขาได้รับยา ถูกทำให้สงบ เพราะพวกเขาไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นข้างหน้า เราไม่สามารถให้เด็กๆ ตื่นตระหนกได้ขณะนักดำน้ำนำตัวออกมาผ่านช่องแคบๆ เพราะหากเกิดอาการตื่นตระหนก เด็กๆ อาจเสียชีวิต และยังอาจทำให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยเสียชีวิตด้วย” ดร.ชาลเลนระบุ

สรุปแบบไทยๆ ไม่ใช่ยาสลบ แต่เป็นยาสงบ

นักดำน้ำชาวออสเตรเลียเปิดเผยวิธีลำเลียงเด็กๆ ออกจากถ้ำว่า

ใช้วิธีแบบ 1 ต่อ 1 คือ นักดำน้ำ 1 คน กับเด็ก 1 คน ส่งเด็กต่อกันเป็นจุดๆ แต่ละคนขึ้นปากถ้ำห่างกันรอบละ 45 นาที ส่วนแผนการลำเลียง ให้เด็กๆ ตัดสินใจจัดลำดับกันเอง โดยมีหน่วยซีลและทีมแพทย์ให้คำแนะนำ

สำหรับแผนการจะให้อยู่ในถ้ำและนำออกมาหลังน้ำลดไม่สามารถทำได้ เพราะสถานการณ์บีบบังคับ เด็กหลายคนติดเชื้อ มีปัญหาสุขภาพ ไม่สามารถอยู่ได้นานถึง 4 เดือน

สอดคล้องกับที่เจสัน เมลลินสัน และคริส จีเวลล์ นักดำน้ำชาวอังกฤษระบุ จากสภาพในถ้ำทำให้เด็กๆ อาจไม่รอดหากถูกปล่อยไว้ในช่วงหน้าฝนหลายเดือน

การเสียชีวิตของ น.ต.สมาน กุนัน หรือจ่าแซม ยังเป็นจุดเปลี่ยนทำให้ทางการไทยตัดสินใจเปลี่ยนแผนเพื่อนำเด็กดำน้ำออกมา

โดยเด็กๆ ได้รับยาทำให้สงบก่อน พวกเขากล้าหาญอย่างไม่น่าเชื่อ ไม่มีอาการตกใจกลัว

ขณะที่บิล ไวต์เฮาส์ รองประธานสภากู้ภัยถ้ำแห่งอังกฤษ (บีซีอาร์ซี) ออกแถลงการณ์ชื่นชมการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญของหน่วยซีลไทย

จากความสำเร็จในการจัดการโดยไม่ได้ใช้อุปกรณ์พิเศษ ความรู้เชิงลึก และประสบการณ์ที่จำเป็นยิ่งต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างปลอดภัย ในสถานการณ์ที่สภาพการดำน้ำภายในถ้ำเลวร้าย

หน่วยซีลเผชิญหน้ากับความกดดัน ที่ต้องทำทุกอย่างเท่าที่พวกเขาจะทำได้ เพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ด้วยอุปกรณ์และความรู้ความสามารถที่พวกเขามี

การกล่าวว่าพวกเขาปฏิบัติภารกิจอย่างอันตราย เป็นการตีความที่ผิด

พูดให้ถูกต้องคือ พวกเขายินดีพาตัวเองเข้าไปอยู่ในอันตราย แม้จะมีอุปกรณ์และทักษะจำกัด ซึ่งไม่มีมาตรการช่วยเหลือใดดีไปกว่านี้

พวกเราทุกคนเสียใจและเศร้าใจ เมื่อหนึ่งในเจ้าหน้าที่ผู้ร่วมปฏิบัติการต้องสูญเสียชีวิต

“หวังว่าไทยจะมีเหรียญเกียรติยศที่ใหญ่พอสำหรับหน่วยซีล” แถลงการณ์ระบุ

คริส จีเวลล์ นักดำน้ำของบีซีอาร์ซี หนึ่งในผู้ร่วมปฏิบัติการ กล่าวว่า หน่วยซีลไทยกล้าหาญและมีความสามารถอย่างยิ่ง พวกเขาแค่ไม่คุ้นเคยกับภารกิจช่วยเหลือในถ้ำ

กระนั้นก็ตาม ภารกิจที่ผ่านมาพิสูจน์ถึงทักษะและขีดความสามารถของพวกเขา ในการปฏิบัติงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคยจนประสบความสำเร็จ

ทั้งยังเป็นความยอดเยี่ยมที่พวกเขาเรียนรู้ และปรับตัวในระหว่างการช่วยเหลือ

เป็นคุณสมบัติของนักดำน้ำที่น่าชื่นชม