ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 กรกฎาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | เขย่าสนาม |
เผยแพร่ |
ปิดฉากลงไปเรียบร้อยแล้วสำหรับฟุตบอลโลก 2018 ฉบับรัสเซีย
แชมป์คงทราบกันดีอยู่แล้วว่าตกเป็นของทีม “ตราไก่” “ฝรั่งเศส” ที่เอาชนะม้ามืดอย่าง “ตาหมากรุก” “โครเอเชีย” ในรอบชิงชนะเลิศ 4-2 ประตู ทำให้ฝรั่งเศสผงาดครองแชมป์ฟุตบอลโลกเป็นสมัยที่ 2 ของทีมตราไก่ต่อจากปี” “ฟรองซ์ 98″” ค.ศ.1998 ในบ้านเกิดของตัวเอง
ฝรั่งเศสรับเงินรางวัล 38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,254 ล้านบาท ส่วนโครเอเชียที่ได้รองแชมป์ได้รับ 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 924 ล้านบาท
ทีมตราไก่เข้ารอบชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกเป็นครั้งที่ 3 โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 1998 ที่เป็นเจ้าภาพเอง ก่อนที่ในนัดชิงชนะเลิศจะสามารถเอาชนะ “แซมบ้า” “บราซิล” ไปได้ 3-0 คว้าแชมป์สมัยแรกไปครอง
จากนั้นถัดมา 8 ปี เข้าชิงชนะเลิศอีกครั้งในฟุตบอลโลก 2006 ที่ประเทศเยอรมนี แต่พ่ายดวลจุดโทษให้กับ “อัซซูรี่” “อิตาลี” 3-5 หลังเสมอในเวลา 120 นาที 1-1
ชัยชนะ 4-2 เหนือตาหมากรุกเป็นการตอกย้ำอย่างเด็ดขาดว่าจากการเจอกัน 6 ครั้ง โครเอเชียยังไม่เคยเอาชนะฝรั่งเศสได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว แพ้ไป 4 ครั้ง และเสมอกันอีก 2 ครั้ง
ซึ่งครั้งเดียวที่เจอกันในฟุตบอลโลกคือ รอบรองชนะเลิศ เมื่อปี 1998 ที่ฝรั่งเศสเอาชนะไปได้ 2-1 จาก 2 ประตูของลิลิยอง ตูราม
ส่วนโครเอเชียยิงได้จากดาวอร์ ซูเคอร์ ดาวซัลโวประจำฟุตบอลโลกหนนั้น
การคว้าแชมป์โลกของฝรั่งเศส ทำให้ “ดิดิเย่ร์ เดส์ชองส์” กุนซือวัย 49 ปี เป็นคนที่ 3 ของโลก ที่สามารถคว้าแชมป์โลกทั้งตอนสมัยเป็นนักเตะและผู้จัดการทีม ต่อจาก “มาริโอ ซัลลาโล่” ของทีมชาติบราซิล ที่เป็นแชมป์ในฐานะนักเตะปี 1958, 1962 แล้วคุมทีมเป็นแชมป์ ปี 1970 กับ “ฟรานซ์ เบ็กเคนเบาเออร์” ที่เป็นกัปตันทีมชาติเยอรมนีปี 1974 และคุมทีมคว้าแชมป์ปี 1990
ต้องชื่นชม “ดิดิเย่ร์ เดส์ชองส์” ที่แสดงถึงความเป็นเชฟระดับโลก นำส่วนผสมต่างๆ มาปรุงรสชาติอาหารได้อย่างกลมกล่อม พอดิบพอดี มีทั้งรสเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ครบทุกองค์ประกอบ
ฝรั่งเศสชุดนี้ครบเครื่องไม่ธรรมดา แข็งแกร่งในทุกตำแหน่ง เล่นบอลกันเป็นทีม ทุกคนล้วนแต่ฝีเท้าจัดจ้าน โดยเฉพาะแนวรุกที่มี “อองตวน กรีซมันน์” กับ “คีเลียน เอ็มบัปเป้” คอยป่วนแนวรับคู่แข่ง
ฝรั่งเศสชุดแชมป์โลก 2018 อาจไม่แข็งแกร่งเท่ากับตอนแชมป์โลก 1998 ที่มีเดส์ชองส์เป็นกัปตันทีม มีเพลย์เมกเกอร์โคตรบอลอย่าง “ซีเนอดีน ซีดาน” บัญชาเกมแดนกลาง
แต่ตราไก่เวอร์ชั่น 2018 ก็ดีพอที่จะไปถึงบัลลังก์แชมป์แบบไม่ยากเย็น
ส่วนผู้อกหักอย่าง “ตาหมากรุก” “โครเอเชีย” ถือว่าทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมแล้ว
ก่อนเตะไม่มีใครคิดว่าโครแอตจะมาไกลถึงรอบชิงชนะเลิศ
แต่อย่างว่า การมีนักเตะในทีมอย่าง “ลูก้า โมดริช” กับ “อีวาน ราคิติช” บัญชาเกมแดนกลาง แถมยังได้ “มาริโอ มานด์ซูคิช” ยืนค้ำหน้าเป้า และมี “อีวาน เปริซิช” ป่วนริมเส้น เป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จเข้าชิงชนะเลิศหนแรกในประวัติศาสตร์หลังจากเคยได้ที่ 3 เมื่อ 20 ปีก่อน ที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพ 1998 โดยชุดนี้ถ้าจำกันได้จะมี “ดาวอร์ ซูเคอร์” เป็นกองหน้า แดนกลางจะมี โคตรบอลอย่าง “ซโวนิเมียร์ โบบัน” เป็นตัวชูโรง
ส่วนอันดับ 3 แม้จะไม่ค่อยมีความหมายสักเท่าไหร่ แต่ต้องยกนิ้วให้กับขุนพล “ปีศาจแดงยุโรป” “เบลเยียม” ที่แสดงให้เห็นถึงคลาสบอลที่หวือหวา มีซูเปอร์สตาร์อย่าง “เอเด็น อาซาร์” กับ “เควิน เดอ บรอยน์” คุมแดนกลาง ตลอดทัวร์นาเมนต์เบลเยียมเป็นทีมที่แกร่ง
และดีพอด้วยซ้ำที่จะครองแชมป์โลกหนนี้ แต่ไปพลาดในรอบตัดเชือกให้กับทีมตราไก่
อีก 4 ปีข้างหน้า บอลโลก 2022 ฉบับกาตาร์เป็นเจ้าภาพ หลายๆ ทีมที่ล้มเหลวในหนนี้อย่าง บราซิล, เยอรมนี, สเปน, โปรตุเกส, อาร์เจนตินา คงหมายมั่นปั้นมือว่าจะกลับมาผงาดให้ได้ รวมไปถึง 2 ยักษ์ใหญ่ที่ไม่ได้มาลุยรัสเซียอย่าง “อัซซูรี่” อิตาลี และ “กังหันลม” เนเธอร์แลนด์ ด้วยเช่นกัน
มาถึงบรรทัดนี้เพื่อเป็นการส่งท้ายฟุตบอลโลก 2018 เวอร์ชั่นรัสเซีย จึงขอรวบรวมบันทึกทุกสถิติที่น่าสนใจในเวิลด์คัพ 2018 มานำเสนอ
ลองไปติดตามกันได้เลย
– นักเตะยอดเยี่ยม (โกลเด้นบอล) เป็นของ ลูก้า โมดริช (โครเอเชีย)
– ดาวซัลโว (โกลเด้นบู๊ต) แฮร์รี่ เคน (อังกฤษ) 6 ประตู อันดับ 2 เป็นของ อองตวน กรีซมันน์ (ฝรั่งเศส) 4 ประตู
– ผู้รักษาประตูยอดเยี่ยม ธิโบต์ กูร์ตัวส์ (เบลเยียม) เซฟเยอะที่สุด 27 ครั้ง
– นักเตะดาวรุ่งยอดเยี่ยม คีเลียน เอ็มบัปเป้ (ฝรั่งเศส)
– แฟร์เพลย์ อวอร์ด เป็นของทีม “กระทิงดุ” สเปน หลังมีใบเหลืองแค่ 2 ใบตลอดการลงสนาม 4 นัด และยุติแค่รอบ 16 ทีมสุดท้าย
– ประตูรวมตลอดทัวร์นาเมนต์ 169 ประตูน้อยกว่าเมื่อ 4 ปีก่อน 2 ประตู
– ยิงมากที่สุดคือ ทีมชาติเบลเยียม 16 ประตู
– เกมรุกดีที่สุด โครเอเชีย 352 ครั้ง
– ผ่านบอลดีที่สุดคือ ทีมอังกฤษ สำเร็จ 3,336 ครั้ง
– นักเตะวิ่งมากที่สุดคือ ลูก้า โมดริช (โครเอเชีย) 63 ก.ม.
– ใบเหลือง 219 ใบ ใบแดง 4 ใบ
– นักเตะที่มีโอกาสยิงมากที่สุด เนย์มาร์ (บราซิล)
– เกมรับดีที่สุดคือ ทีมโครเอเชีย ป้องกันประตูได้ 301 ครั้ง
– นักเตะจากสเปอร์ส เป็นทีมที่ลงเล่นในฟุตบอลโลกมากสุด 5,202 นาที ขณะที่นักเตะจากเปแอสเช ทำประตูรวมกันในฟุตบอลโลกได้มากที่สุด 13 ประตู ตามมาด้วยนักเตะจากสเปอร์ส ที่ทำประตูได้ 12 ประตู นับเฉพาะแฮร์รี่ เคน ดาวซัลโวฟุตบอลโลกคนเดียว 6 ประตู
– เป็นฟุตบอลโลกที่มีการทำประตูจากจุดโทษมากที่สุด 22 ประตู
– คริสเตียโน โรนัลโด้ กัปตันทีมชาติโปรตุเกส เป็นนักเตะคนที่ 4 ที่ยิงประตูในฟุตบอลโลกได้ 4 สมัยติด (2006, 2010, 2014 และ 2018) ต่อจากเปเล่ ตำนานนักเตะบราซิล, อูเว ซีเลอร์ และมิโรสลาฟ โคลเซ่ และยังเป็นนักเตะยุโรปคนแรก ในประวัติศาสตร์ ที่ยิงในรายการเมเจอร์ (ฟุตบอลโลก, ยูโร) 8 รายการติด
– 2 ประตูที่คีเลียน เอ็มบัปเป้ ทำได้ในเกมที่ฝรั่งเศสชนะอาร์เจนตินา 4-2 ทำให้เขากลายเป็นนักเตะอายุ 19 ปี ที่ยิงได้ 2 ประตูในเกมเดียว ต่อจากเปเล่ ที่ทำได้เมื่อปี 1958 ทั้งยังเป็นนักเตะดาวรุ่งที่ยิงในรอบชิง ต่อจากเปเล่เช่นกัน
– มาริโอ มานซูคิซ เป็นนักเตะคนแรกที่ทำประตูได้ทั้งฝ่ายตัวเอง และฝ่ายตรงข้าม ในรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก
– มีกุนซือทั้งหมด 23 คน ที่ได้คุมทัพในฟุตบอลโลกครั้งแรก โดยซลัตโก้ ดาลิช กุนซือโครเอเชีย เป็นคนที่ทำผลงานได้ดีที่สุด คือคว้ารองแชมป์
– เกมที่เบลเยียมชนะญี่ปุ่น 3-2 ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย ทำให้เบลเยียมเป็นทีมแรกนับตั้งแต่ปี 1966 ที่โดนนำ 2 ประตูในรอบน็อกเอาต์ และพลิกกลับมาชนะได้
– สวิตเซอร์แลนด์ยังไม่เคยเก็บชัยได้เลยในรอบน็อกเอาต์ฟุตบอลโลก
– โครเอเชียชนะในการยิงจุดโทษ 2 นัดติดต่อกัน ในรอบน็อกเอาต์ฟุตบอลโลก ต่อจากอาร์เจนตินา เมื่อปี 1990
– บราซิลโดนทีมจากยุโรปเขี่ยตกรอบเป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน โดยครั้งนี้บราซิลแพ้เบลเยียม 1-2 ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย
– อังกฤษทำประตูได้จากลูกตั้งเตะ 9 ลูก มากที่สุดในฟุตบอลโลกครั้งนี้
– ฝรั่งเศสเป็นทีมที่ทำได้ 4 ประตูในรอบชิงฟุตบอลโลก ต่อจากบราซิล ปี 1970
และนี่คือการบันทึกสถิติที่น่าสนใจในเวิลด์คัพ 2018 แล้วพบกันใหม่อีก 4 ปีข้างหน้าที่กาตาร์ 2022