ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : ทหารรับใช้คือระบบไพร่ที่ต้องยุติ

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ใครๆ ก็รู้ว่าเงินเดือนทหารมาจากภาษีประชาชน และใครๆ ก็มองเช่นกันว่านายทหารที่เอาพลทหารเป็นทหารรับใช้ตัวเองและลูกเมียนั้นมีมหาศาล ความไม่พอใจที่ภาษีประชาชนถูกจ่ายเป็นค่าคนรับใช้นายพลเงินเดือนหลายหมื่นจึงพุ่งแรงในคนหลายฝ่าย ต่อให้กองทัพจะอ้างว่าทหารที่ทำเป็นคนส่วนน้อยก็ตาม

ล่าสุด ทันทีที่พลทหารซึ่งใช้ชื่อว่า “เกาลุน ลายน้อย” โพสท์คลิปว่าถูกนายทหารบังคับให้เป็นคนเลี้ยงไก่ในสภาพราวทาสนานถึงครึ่งปี คุณวินธัยผู้เป็นโฆษกกองทัพบกก็รีบให้สัมภาษณ์ว่าเรื่องนี้เป็นแค่นายไหว้วานลูกน้องให้แสดงน้ำใจเท่านั้น และปิดท้ายว่าขอให้ต้นสังกัดไปทำความเข้าใจกับกำลังพลให้ดีๆ

ไม่มีใครทราบว่านายพันผู้เป็นกระบอกเสียงให้นายพลที่ตั้งตัวเองเป็นรัฐบาลตั้งแต่ปี 57 สั่งให้ค่ายธนะรัชต์ “ทำความเข้าใจ” กับพลทหารผู้ทนถูกเหยียบย่ำไม่ไหวอย่างไร แต่จากนั้นพลทหารก็โพสท์ข้อความว่า “อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด” , ขอโทษต้นสังกัดที่พูดเรื่งนี้, เฟซหาย, ลบคลิป และให้ทุกคนกำจัดคลิปนี้ทันที

เป็นอันว่าหลังจากการ “ทำความเข้าใจ”  อย่างที่โฆษกกองทัพบกที่เป็นโฆษก คสช.สั่งการให้เกิดขึ้น  พลทหรต้องยุติการสื่อสารที่เป็นช่องทางให้สังคมรับรู้ถึงความป่าเถื่อนในค่ายทหาร , ตำหนิตัวเองที่ออกมาเปิดโปงเรื่องนี้   และท้ายที่สุดคือทำลายหลักฐานของความโหดร้ายจากนายทหารไม่ให้ปรากฎต่อสังคม

ตรงข้ามกับความเข้าใจว่าการกดดันพลทหารจะทำให้ข่าวนี้เงียบไป ความไม่พอใจของสังคมต่อพฤติกรรมนายทหารกว้างขวางจนการปิดข่าวไม่สามารถปิดเรื่องได้อีก จากนั้นคุณวินธัยจึงแถลงว่าศูนย์การทหารราบที่ประจวบฯ จะตั้งกรรมการสอบเรื่องนี้แน่ๆ และหากมีมูลก็จะดำเนินการทางวินัยกับนายทหารทันที

มองผิวเผินแล้วคำแถลงนี้คล้ายให้ความเป็นธรรม แต่กองทัพกลับไม่พูดว่าพลทหารมีสิทธิดำเนินคดีอาญานายข้อหาทำร้ายผู้อื่นโดยกองทัพจะปกป้องไม่ให้ใครใช้อิทธิพลข่มขู่ทั้งหมด  มิหนำซ้ำโทษทางวินัยที่คุณวินธัยพูดนั้นอาจเป็นแค่การไม่ขึ้นเงินเดือนซึ่งเบากว่าโทษอาญาจนเหมือนไม่ได้ลงโทษเลย

สรุปคือหลังจากพลทหารถูกนายใช้งานครึ่งปีเยี่ยงสัตว์, ถูกตบ, ด่าพ่อแม่ ฯลฯ จนต้องปกป้องตัวเองโดยทำคลิปแฉในวันที่ 13 กองทัพต้องใช้เวลาสามวันเพื่อบอกว่าเรื่องนี้เต็มที่คือโทษทางวินัยที่ไม่รู้ว่าคืออะไร

ในเมื่อกองทัพแสดงท่าทีปกป้องนายทหารและพูดแต่โทษทางวินัยยิ่งกว่ากฎหมายที่เป็นจริง ปฏิกริยาของสังคมจึงลุกลามจากเรื่องนายทหารกดขี่ทหารเกณฑ์เป็นให้ยกเลิกระบบทหารรับใช้ทั้งหมด ทั้งที่ผู้บัญชาการทหารบกยืนยันว่ากองทัพไม่มีวันยุติเรื่องนี้ แม้เรื่องนี้จะไม่ใช่ “สิทธิ” ของนายทหารทุกคน

ในเกณฑ์ของคุณเฉลิมชัยซึ่งหลายคนเชื่อว่ามีโอกาสเป็นนายกในระบบเผด็จการทหารที่ดีกว่าคุณประยุทธ์ นายทหารเอาพลทหารไปใช้งานที่ไม่ใช่ภารกิจกองทัพได้ในเงื่อนไขสามข้อ ข้อแรกคือพลทหารสมัครใจ, ข้อสองคืองานมีความเหมาะสม และข้อสามคือหน่วยไม่ได้รับผลกระทบจากการเอากำลังพลไปใช้ส่วนตัว

ขณะที่สังคมปกป้องผลประโยชน์ประเทศโดยไม่ให้นายทหารเอากำลังพลไปใช้ในเรื่องส่วนบุคคล ผู้นำกองทัพกลับบิดประเด็นเป็นเรื่องการให้นายทหารใช้งานพลทหารอย่าง “เหมาะสม” โดยกลบความจริงว่าไม่มีงานไหนที่เหมาะสมแน่ๆ  หากเป็นการเอาภาษีประชาชนไปจ่ายค่าคนรับใช้นายทหารอย่างที่ผ่านมา

ถ้ารู้สึกว่ากองทัพในประเด็นนี้ให้ความเป็นธรรมกับประชาชนน้อยไป ข้อเท็จจริงคือคุณเฉลิมชัยพูดเรื่องนี้ดีกว่าทหารการเมืองรุ่นพี่เยอะ เพราะคุณประวิตรตอบคำถามนี้แบบเล่นลิ้นว่ากองทัพไม่มี “ทหารรับใช้” มีแต่ “ทหารยืมตัว” ส่วนคุณอุดมเดชบอกว่าทางแก้คือเปลี่ยน “ทหารรับใช้” เป็น “ทหารบริการ”

อย่างไรก็ดี ถ้าการเอาเวลาหลวงไปตามก้นนักการเมืองเป็นเหตุให้รัฐบาลทหารลงโทษตำรวจที่ทำแบบนี้ สิ่งที่กองทัพที่ดีต้องตอบคือทำไมนายทหารที่เอาทหารเกณฑ์ไปเลี้ยงไก่, เฝ้าบ้าน, ทำสวน, เก็บขี้หมา, เป็นพนักงานเสิร์ฟ, ซักชุดชั้นในให้เมีย ฯลฯ จึงไม่มีความผิดแบบตำรวจที่ใช้เวลาหลวงในเรื่องส่วนตัว?

ด้วยวาทกรรมที่บิดเบือนให้การเบียดบังกำลังพลกลายเป็นปัญหา “ลักษณะงาน” ผลก็คือกองทัพเมินเสียงประชาชนให้นายทหารแยกแยะ “ส่วนรวม” กับ “ส่วนตัว” แล้วเลือกปกป้องระบบที่สร้างปัญหาทั้งหมด นั่นคือการปล่อยให้นายทหารเอากำลังพลของรัฐสมัยใหม่ไปใช้เหมือนขุนนางทำกับไพร่ในรัฐโบราณ

มีนักประวัติศาสตร์เยอะแล้วที่ชี้ว่าหนึ่งในทุกขลักษณะของรัฐสมัยเก่าคือการบังคับให้คนยอมรับว่ารัฐคือสมบัติของผู้ปกครอง ผู้มีอำนาจจึงแบ่งรัฐเหมือนแบ่งสมบัติให้ขุนนางนำไพร่ตามศักดินาไปหากินตามใจชอบ ผลก็คืออะไรที่ตามกฎหมายเป็นของ “ส่วนรวม” จึงเหมือนทรัพย์ “ส่วนตัว” ของบางคนตลอดเวลา

ในระบบที่ไม่แบ่งแยก “ส่วนรวม” กับ “ส่วนตัว” เรือนซึ่งคือสถานที่ส่วนตัวจึงทำหน้าที่เหมือนกระทรวงในการหารือราชการของ “เจ้าคุณพ่อ” กับ  “ออกพระเพทราชา” ในละครออเจ้าเสมอ เช่นเดียวกับขุนนางก็มีอำนาจใช้ “ส่วนรวม” อย่างไพร่ในกิจ “ส่วนตัว” ทุกอย่างตั้งแต่เฝ้ายาม,ทำนา หรือไปรบโดยไม่ให้เสบียง

ก่อนที่ ร.๕ จะเลิกทาสเพราะเศรษฐกิจตลาดทำให้ประชาชนมีเงินจ่ายแทนเกณฑ์แรงงานจนระบบไพร่แทบล่มสลาย ความกังวลว่าจะไม่มีไพร่หรือต้องจ่ายค่าจ้างคือเหตุให้เจ้านายต่อต้านนโยบายข้อนี้มากที่สุด  กองทัพที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐสมัยใหม่ซึ่งสร้างโดย ร.๕ จึงมาพร้อมกับการเลิกระบบไพร่โดยตรง

แม้กองทัพไทยจะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสมัยใหม่ซึ่งเกิดในยุค ร.๕ จนมีอายุไม่เกิน ๑๕๐ ปี วิวัฒนาการที่ถดถอยก็ทำให้กองทัพเป็นรัฐซ้อนรัฐที่มีด้านที่ควบรวม “ส่วนรวม” กับ  “ส่วนตัว” ยิ่งกว่าสถาบันสมัยใหม่อื่นๆ โดยเฉพาะการมีทหารรับใช้เลียนแบบรัฐในระบบมูลนายซึ่งให้ขุนนางมีไพร่เป็นของตอบแทน

นักนิยมทหารบางคนอ้างว่ากองทัพต้องมีทหารรับใช้ตามที่กฎหมายโบราณเคยมี แต่นายพลนายพันยุคนี้ได้เงินเดือนและบำนาญจากภาษีเดือนละหลายหมื่น ส่วนทหารการเมืองก็ได้เงินจากตำแหน่งในรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจเดือนละหลายแสน การเอากำลังพลจากภาษีประชาชนไปรับใช้จึงไร้เหตุผลอย่างสิ้นเชิง

ยิ่งเทียบกองทัพกับหน่วยงานอื่นซึ่งมีสถานะทางกฎหมายเสมอกัน ไม่มีข้าราชการระดับรองอธิบดีขึ้นไปจากหน่วยงานไหนที่สามารถเอากำลังพลจากภาษีประชาชนไปปรนเปรอตัวเองและครอบครัวแบบนี้  แม้แต่ผู้พิพากษาที่เป็นข้าราชการกลุ่มเงินเดือนสูงที่มีบ้านหลวงและรถประจำตำแหน่งมูลค่ามหาศาลก็ตาม

เฉพาะในกรณีทหารรับใช้ คำถามก็คือทำไมกองทัพเป็นสถาบันที่หมุนกลับไปหาระบบโบราณสวนทางกับหน่วยราชการอื่นๆ จนมองไม่เห็นความสำคัญของการที่ประชาชนเรียกร้องให้ยุติระบบทหารรับใช้ และเแบ่งแยกระหว่าง “ส่วนรวม” กับ “ส่วนตัว” ตามบรรทัดฐานของข้าราชการในหน่วยงานอื่นทั่วไป

มองในแง่ภาพกว้างขึ้นไป วิธีที่กองทัพจัดการกับปัญหาที่เกิดแก่กำลังพลในกรณีนี้สะท้อนวิธีที่กองทัพจัดการในกรณีอื่นๆ  จนต้องพิจารณาเหตุการณ์นี้ในบริบทของความสูญเสียที่เกิดแก่กำลังพลในกรณีต่างๆ ซึ่งทั้งหมดชี้ให้เห็นถึงโครงสร้างที่อันตรายเรื่องเดียวกัน ถึงแม้ปัญหาแต่ละกรณีจะไม่เกี่ยวกันโดยตรง

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา  ข่าวการเสียชีวิตของพลทหารหรือนายสิบโดยมีผู้บังคับบัญชาเกี่ยวข้องนั้นทำให้สังคมระแวงวิธีที่กองทัพปฏิบัติต่อกำลังพลมากที่สุด เพราะไม่เพียงการสูญเสียกำลังพลเพราะนายทหารจะผิดกฎหมายและยอมรับไม่ได้ แต่วิธีที่กองทัพจัดการหลังเกิดความสูญเสียก็มีปัญหาด้วยเหมือนกัน

เท่าที่เว็บไซด์ไทยพีบีเอสและหลายสำนักข่าวระบุ  ไม่กี่ปีมานี้มีเหตุการณ์ที่กำลังพลตายโดยมีนายทหารพัวพันทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างต่ำ ๖ ราย คือพลทหารวิเชียร เผือกสม, ร.ต.สนาน ทองดีนอก,ส.ท.กิตติกร สุธีพันธุ์, พลทหารทรงธรรม หมุดหมัด, ส.ท.ปัญญา เงินเหรียญ และพลทหารยุทธกินันท์ บุญเนียม

แน่นอนว่ากำลังพลทุกรายตายด้วยสาเหตุต่างกันตั้งแต่ถูกซ้อมจนไตวาย, ถูกครูฝึกสั่งให้ว่ายน้ำจนจมน้ำตาย, นายกระทืบจนกระเพาะแตก, ถูกรุมซ้อมซ้ำซาก และถูกทรมานหลายวัน แต่สิ่งที่ทุกกรณีเผชิญเหมือนกันคือต้นสังกัดไม่รับผิดชอบจนญาติผู้สูญเสียต้องเคลื่อนไหวผ่านสื่อต่างๆ เพื่อสร้างกระแสสังคม

เมื่อใดที่เหตุผู้บังคับบัญชาประทุษร้ายพลทหารเป็นข่าวขึ้นมา เมื่อนั้นกองทัพมักชี้แจงตามคำแถลงของนายทหารผู้ก่อเหตุเสมอ ความตายของทหารระดับล่างทุกครั้งจึงถูกอธิบายว่าเป็นเพราะกวนครูฝึก, ตื่นสาย, ผิดระเบียบ ฯลฯ ทั้งที่ต่อให้ผู้เสียชีวิตเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็ไม่ใช่เหตุให้ทำลายชีวิตพวกเขาอยู่ดี

ในกรณีนายทหารให้ทหารเกณฑ์เลี้ยงไก่ครึ่งปีในสภาพที่เหยียดหยามความเป็นมนุษย์อย่างถึงที่สุด ข่าวแรกที่คุณวินธัยให้คือพลทหารเลี้ยงไก่เพราะมี “น้ำใจ” ต่อผู้ใหญ่ และทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการช่วยเหลือไหว้วานทั้งสิ้น ต่อให้ว่าพลทหารจะไม่พอใจ “ผู้ใหญ่” จนอัดคลิปเผยแพร่สภาพอันโหดร้ายมาแล้วก็ตาม

บันไดข้อแรกที่จะทำให้ประชาชนไว้ใจกองทัพคือนายพลนายพันต้องหยุดแถลงข่าวเหมือนเป็นทนายแก้ต่างให้ชนชั้นนายทหารด้วยกัน  ถัดจากนั้นคือกองทัพต้องแสดงให้เห็นความเป็นสถาบันที่กำลังพลและประชาชนสำคัญกว่าการเข้าข้างเครือข่ายอุปถัมภ์ของนาย-รุ่นพี่-รุ่นน้อง และศิษย์เก่าร่วมโรงเรียน

แม้พลทหารจะมียศน้อยกว่านายทหารในแง่บริหารบุคคล  แต่ทั้งสองฝ่ายเสมอภาคกันในสถานะทางกฎหมายและความเป็นมนุษย์  กองทัพจึงต้องอำนวยให้เกิดการดำเนินคดีกับนายทหารที่ประทุษร้ายพลทหาร, หยุดฟังความข้างเดียวจากนายทหาร และเลิกพิจารณาโทษทางวินัยแบบเข้าข้างนายทหารด้วยกัน

ท่ามกลางอาชญากรรมที่เกิดต่อกำลังพลหลายกรณี ถึงเวลาแล้วที่กองทัพต้องสร้างกลไกตรวจสอบภายในเพื่อปกป้องทหารระดับล่างทั้งหมด สื่อและโซเชียลไม่ควรเป็นช่องทางเรียกร้องความเป็นธรรมยิ่งกว่ากองทัพแบบนี้ เพราะนั่นคือหลักฐานว่ากองทัพล้มเหลวที่จะให้ความยุติธรรมต่อลูกหลานประชาชน

ไม่มีเหตุผลอะไรให้กองทัพคงทหารรับใช้ตามรอยระบบไพร่จากสังคมเก่าอีกต่อไป