สุจิตต์ วงษ์เทศ / แคน เครื่องดนตรีไม่ไทย ได้รับยกย่องในราชสำนักอยุธยา

เครื่องประโคมและเครื่องบรรเลงสมัยปลายอยุธยา โดยเจ้าพนักงาน (ในกฎมณเฑียรบาลเรียก เสภา) เป็นหญิง (ซ้าย) ปี่พาทย์ฆ้องวง (ขวา) ดนตรี-มโหรี ถ้าสมัยต้นอยุธยาจะมีแคนอยู่ในกลุ่มนี้ (ภาพสลักตู้เท้าสิงห์ สมัยปลายอยุธยา)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

แคน เครื่องดนตรีไม่ไทย

ได้รับยกย่องในราชสำนักอยุธยา

 

แคน ในระบบการศึกษาไทยถูกจัดเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ซึ่งหมายถึงเครื่องดนตรีไม่ไทย แต่ในความเข้าใจของคนทั่วไปแล้วยกย่องแคนเป็นเครื่องเป่าของลาวอย่างรวมๆ และบางพวกพูดถึงแคนอย่างเหยียดๆ
เหตุมาจากความเป็นไทยตามประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย มีพื้นที่จำกัดเป็นบริเวณคับแคบอยู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง ส่วนลุ่มน้ำอื่นในภาคอื่นๆ ล้วนไม่ไทย ดังนั้นในความเป็นไทยทุกวันนี้ ดนตรีไทยมี 3 กลุ่มเท่านั้น คือ มโหรี, ปี่พาทย์, เครื่องสาย ซึ่งมีเครื่องพันธนาการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อวัฒนธรรมป๊อป จึงไม่เคยเป็นที่นิยมข้ามโลก
แต่นักสร้างสรรค์ โดยเฉพาะในอีสานที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับวัฒนธรรมเพลงดนตรีจากแคนที่ไม่มีเครื่องพันธนาการ ต่างสร้างสรรค์ลายแคนโลดแล่นในวัฒนธรรมป๊อปเป็นที่นิยมข้ามโลกขณะนี้

แคนในราชสำนักอยุธยา

แท้จริงแล้วแคนเป็นเครื่องเป่าของทุกชาติพันธุ์ในวัฒนธรรมร่วมของอุษาคเนย์ ทั้งบริเวณกลุ่มเกาะและภาคพื้นทวีป ทุกวันนี้ยังใช้งานทั้งในเพื่อนบ้านโดยรอบ เช่น ลาว, ไทย, เวียดนาม, จีน
ราชสำนักอยุธยายกย่องแคนเป็นเครื่องมือชั้นสูง ใช้ในวงบรรเลงชื่อดนตรี (ชื่อวงอย่างหนึ่งคู่กับวงมโหรี) ทำหน้าที่คลอคำขับลำด้วยทำนองเสนาะยอพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดิน มีบอกในอนิรุทธคำฉันท์ (สมัยต้นอยุธยา) ดังนี้

จำเรียงสานเสียง
ประอรประเอียง    กรกรีดเพยียทอง
เต่งติงเพลงพิณ      ปี่แคนทรลอง
สำหรับลบอง         ลเบงเฉ่งฉันท์
ระงมดนตรี
คือเสียงกระวี         สำเนียงนิรันดร์
บรรสานเสียงถวาย   เยียผลัดเปลี่ยนกัน
แลพวกแลพรรค์      บรรสานเสียงดูริย์

กาพย์ 2 บทจากอนิรุทธคำฉันท์ที่ยกมานี้ บทแรกบอกเครื่องบรรเลงมีแคนอยู่ด้วย ว่า “ปี่แคนทรลอง” ส่วนบทหลังบอกประเภทของวงบรรเลงเป็นกลุ่มที่เรียกดนตรีว่า “ระงมดนตรี”
“ปี่แคนทร” ถ้าสะกดแบบปัจจุบันจะเป็น “ปี่แคนซอ” หมายถึง เครื่องดนตรี 3 ชนิดบรรเลงด้วยกัน ได้แก่ ปี่, แคน, ซอ
ทร ตรงนี้รับจากคำเขมร อ่าน ตรัว หมายถึง เครื่องดนตรีมีสายและมีคันชักใช้สี
“ระงมดนตรี” หมายถึง บรรเลงเครื่องมีสายคลอเสียงขับกล่อมยอพระเกียรติเป็นทำนองเสนาะด้วยถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์
ข้อความ “ระงมดนตรี” เข้ากันได้กับข้อความในกฎมณเฑียรบาลว่า “เสภาดนตรี” หมายถึงเจ้าพนักงานเป็นผู้หญิงล้วน ทำหน้าที่บรรเลงดนตรี
ทั้งหมดเป็นมรดกตกทอดจากราชสำนักสมัยก่อนอยุธยา พบหลักฐานเป็นปูนปั้นประดับสถูปบ้านคูบัว (ราชบุรี) และจารึกศาลเจ้า (ลพบุรี)

ดนตรียอพระเกียรติ

วงดนตรี (เสภาดนตรี) มีตัวอย่างเนื้อหาอยู่ในกาพย์ขับไม้เรื่องพระรถเสน (มาจากตํานานบรรพชนลาวเรื่องพระรถนางเมรี ตอนงานสมโภชพระรถเสวยราชย์) ดังนี้

๏ ขึ้น เกยแก้วเก้าสิ่ง เสวยสวัสดิ์
ตั่ง สุพรรณรายรัตน์ เพริศแพร้ว
นั่ง ในวรเศวตฉัตร เฉลิมโลกย์
เมือง บพิตรพระแก้ว แต่นี้จักเกษม
๏ ขึ้นตั่งนั่งเมือง แท่นทองรองเรือง สุขศรีปรีดิ์เปรม
เมืองกว้างช้างหลาย ลูกขุนมูลนาย อยู่เย็นเป็นเกษม
ยินดีปรีดิ์เปรม วิโรจโอชเอม ทังหลายถวายกร ฯ

เครื่องมีสาย

ดนตรี แปลว่าเครื่องมีสาย ได้แก่ เครื่องดีด, เครื่องสี (เช่น พิณ, ซอ) มีรากศัพท์จากบาลีว่า ตนฺติ (ตันติ) สันสกฤตว่า ตนฺตรินฺ (ตันตริน)
มโหรี (เป็นคํามรดกตกทอดจากประเพณีเขมร ยังไม่พบที่มาของคํานี้) น่าจะหมายถึงเครื่องมีสายอย่างเดียวกับดนตรี เพราะเป็นเครื่องบรรเลงขับกล่อมด้วยเครื่องมืออย่างเดียวกัน แต่เรียกชื่อต่างกันตามแบบแผนบรรเลงขับกล่อมไม่เหมือนกัน
“มโหรีเครื่อง 5” หมายถึงมโหรีมีเครื่อง 5 อย่าง แต่ต้นทางมีมาอย่างไร? จากไหน? ไม่พบหลักฐานตรงๆ มักใช้นิยามเรียกวงบรรเลงตามประเพณีที่พบในภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นรูปคนดีดกระจับปี่, สีซอสามสาย, เป่าขลุ่ย, ตีฉิ่ง ตีกรับ และโทนรําามะนา โดยอ้างอิงคําว่า “เบญจดุริยางค์” ที่เชื่อกันว่าเป็นตําราที่ไทยรับจากอินเดีย
แต่ไม่เคยพบหลักฐานสนับสนุนคํานิยามเครื่องดีดสีเบาๆ อย่างนี้ (ต่อไปข้างหน้าถ้าพบหลักฐานเพิ่มเติมก็ต้องยกเลิกที่เขียนมานี้) พบแต่ว่า “เบญจดุริยางค์” เป็นเครื่องตีเป่าใช้ประโคมดังๆ ฟังอึกทึกครึกโครม
“เบญจดุริยางค์” เป็นคําบาลีไทย ที่มีรากจากบาลีแท้อยู่ในพระคัมภีร์ ว่า “ปญฺจงฺคิกตุริย” แปลว่า “ตุริยะประกอบด้วยองค์ 5” หมายถึง เครื่องตีกับเครื่องเป่า มี 5 สิ่ง
[จากหนังสือ ดนตรีในพระธรรมวินัย ของธนิต อยู่โพธิ์ (อดีตอธิบดีกรมศิลปากร) พิมพ์ครั้งแรก 20 ตุลาคม 2498 หน้า 7-17]
นักดนตรีปี่พาทย์โดยทั่วไปเรียกเครื่องประโคม 5 สิ่งว่า “กลอง 4 ปี่ 1” (ตรงกับวงปี่ชวา กลองแขก มาจาก ดุริยะ แปลว่า เครื่องตี เครื่องเป่า ได้แก่ กลองและปี่)
ต่อมาได้ปรับเป็นท้องถิ่นเรียก “ปี่พาทย์เครื่อง 5” แต่ไม่เคยพบว่าเรียก “มโหรีเครื่อง 5”

มโหรีเล่านิยาย

วงมโหรี (เสภามโหรี) ร้องเล่านิยายเชิงสังวาส แต่ยังอยู่ในประเพณีเทิดพระเกียรติวีรชนในตำนาน มีตัวอย่างบทเพลงร้องมโหรีเรื่องพระรถเสน (พระรถนางเมรี) ดังนี้

๏ ฝ่ายนาฏเมรีศรีสวัสดิ์     บรรทมเหนือแท่นรัตน์ปัจถรณ์
ดาวเดือนเลื่อนลับยุคันธร   จะใกล้แสงทินกรอโณทัย
ฟื้นกายชายเนตรนฤมล      มิได้ยลพระยอดพิศมัย
แสนโศกปริเทวนาใน         อรทัยทุ่มทอดสกลกาย