ยานยนต์ สุดสัปดาห์ / สันติ จิรพรพนิต /ส่อง ‘ฟอร์ด เอเวอเรสต์’ ใหม่ อัดเพิ่มเทคโนโลยีความปลอดภัย

สันติ จิรพรพนิต

ยานยนต์ สุดสัปดาห์ / สันติ จิรพรพนิต [email protected]

 

ส่อง ‘ฟอร์ด เอเวอเรสต์’ ใหม่

อัดเพิ่มเทคโนโลยีความปลอดภัย

 

หลังวาดลวดลายสร้างกระแสรถเอสยูวีขนาดกลางที่ได้รับการยกย่องว่าครบเครื่องที่สุดรุ่นหนึ่งของเมืองไทยมาหลายปี ถึงวันนี้ “ฟอร์ด เอเวอเรสต์” ถึงเวลาปรับโฉม หรือ “ไมเนอร์เชนจ์”
แม้โดยภาพรวมมองผาดๆ แล้วเหมือนไม่เปลี่ยนอะไรมากนัก แต่หากเจาะลึกไส้ในจะพบการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ด้วยการใส่เทคโนโลยีล้ำๆ ด้านความปลอดภัยเข้ามามากขึ้น
“เอเวอเรสต์” ทำตลาดมากว่า 10 ปี รุ่นแรกออกมาช่วงปี ค.ศ.2003 เป็นทรงเหลี่ยมๆ ขนาดใหญ่ ในบ้านเราพอไปวัดไปวาได้แต่ไม่เปรี้ยงมากนัก
จนมาในเจเนอเรชั่นล่าสุดเปิดตัวช่วงปี ค.ศ.2015 แรงจัดกันเลยทีเดียว
เรียกว่าแรงก่อนเปิดตัวในเมืองไทยด้วยซ้ำ เนื่องจากช่วงวางตลาดที่ต่างประเทศได้รับคำชมมากมาย เพราะเต็มไปด้วยเทคโนโลยีเด่นๆ ที่เหนือกว่ารถรุ่นอื่นในเซ็กเมนต์เดียวกัน
จึงเมื่อมาอวดโฉมในเมืองไทยมียอดขายที่แซงหน้าเจนฯ อื่นๆ อย่างไม่เห็นฝุ่น
ด้วยความครบครันทั้งรูปโฉมและเทคโนโลยี จึงคว้ารางวัล “รถยนต์ยอดเยี่ยมประจำปี 2558” (Thailand Car of the year 2015) จากสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย (TAJA)
โดยสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์ฯ ที่เป็นการรวมตัวของสื่อมวลชนด้านยานยนต์ของไทย มีคณะกรรมการเป็นนักทดสอบรถยนต์หลายสิบคนลงคะแนน มอบรางวัลดังกล่าวให้กับรถเพียงรุ่นเดียวเท่านั้นในแต่ละปี
เรียกว่าหากไม่ครบเครื่องจริงๆ ไม่มีทางที่จะได้คะแนนเป็นอันดับ 1 จากรถทุกรุ่น ทุกประเภทที่จำหน่ายในปีนั้นๆ
รางวัลนี้จึงทรงเกียรติอย่างยิ่ง และให้เฉพาะ “Best of the Best” เท่านั้น

ฟอร์ด เอเวอเรสต์ รุ่นไมเนอร์เชนจ์ หากมองภายนอกเปลี่ยนไปไม่มากนัก กระจังหน้าใหม่ดีไซน์ใหม่แม้ยังเป็นทรง 6 เหลี่ยม แต่เส้นโครเมียมพาดกลางจากเดิม 2 เส้น เพิ่มเป็น 3 เส้น ไฟหน้าโคมโปรเจ็กเตอร์แบบ HID ที่ส่องสว่างกว่าไฟหน้าทั่วไป พร้อมไฟเดย์ไทม์รันนิ่ง ล้อแมกซ์อัลลอยแบบก้านคู่ (Split-Spoke) ขนาด 20 นิ้ว
ด้านทายเพิ่มลูกเล่นเข้ามากับการเปิดประตูที่ 5 แบบ “แฮนด์ฟรี” เพียงยื่นเท้าไปที่ใต้กันชนท้าย ประตูท้ายจะเปิดโดยอัตโนมัติ เหมือนกับที่รถยุโรปนิยมกัน
ส่วนอื่นๆ ใกล้เคียงรุ่นเดิม เน้นความโค้งมนทั้งคัน
ภายในเปลี่ยนไปชัดเจนกับโทนสีดำ จากเดิมเป็นสีเบจ
พวงมาลัยทรงบึกบึนพร้อมระบบมัลติฟังก์ชั่น และระบบควบคุมความเร็ว
ซันรูฟยังมีมาให้ เช่นเดียวกับระบบแอร์ทั้ง 3 แถว เบาะนั่งพับได้ราบเรียบเพิ่มพื้นที่บรรทุก
ต้องบอกว่าเบาะที่พับได้ราบมีประโยชน์มาก เพราะช่วงที่ผมขอยืมรถรุ่นนี้มาทดสอบมีโอกาสได้ใช้อยู่หลายครั้งเวลาขนของยาวๆ
เบาะนั่งแถว 3 ถือว่านั่งได้สบายพอประมาณ เรียกว่าเดินทางไปเที่ยวจังหวัดรอบๆ กรุงเทพฯ ไม่ลำบากมากนัก
จุดเด่นภายในไม่พ้นระบบซิงก์ 3 (SYNC 3) ซึ่งรองรับ Apple CarPlay และ Android Auto พร้อมระบบบลูทูธ จอทัชสกรีน ฟูลคัลเลอร์ ขนาด 8.0 นิ้ว และกล้องมองหลัง
สามารถใช้งาน Apple Maps และระบบแผนที่นำทางด้วยดาวเทียมซึ่งติดตั้งมากับรถ เมื่อออกนอกพื้นที่ที่มีสัญญาณโทรศัพท์อีกด้วย
ระบบซิงก์ 3 ยังมาพร้อมระบบจดจำเสียง และระบบสั่งงานเสียงด้วยภาษาไทย
มีระบบช่วยโทรฉุกเฉิน (Emergency Assistance) ให้ผู้ขับขี่สามารถเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือผ่านบลูทูธด้วยระบบ SYNC และต่อสายไปที่เบอร์ 1669 เมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือต้องการความช่วยเหลือฉุกเฉิน

ส่วนเครื่องยนต์ปรับใหม่ จากเดิมมี 2 บล๊อกคือ ความจุ 3.2 ลิตร 5 สูบ พร้อมเทอร์โบแปรผันและอินเตอร์คูลเลอร์ ให้กำลังสูงสุด 200 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 470 นิวตัน-เมตร ระบบขับเคลื่อน 4 ล้ออัตโนมัติพร้อมระบบ Terrain Management มีให้เลือก 2 รุ่นย่อย
อีกบล๊อกเป็นเครื่องยนต์ดีเซล 2.2 ลิตร 4 สูบ เทอร์โบแปรผันและอินเตอร์คูลเลอร์ ให้กำลังสูงสุด 160 แรงม้า แรงบิดสูงสุดที่ 385 นิวตัน-เมตร ใส่ไว้ในรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ มีให้เลือก 2 รุ่นย่อยเช่นกัน
ทั้ง 2 รุ่นทำงานควบคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด
แต่ในรุ่นไมเนอร์เชนจ์ปรับเหลือเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร แบบเทอร์โบ มีให้เลือก 3 รุ่นย่อย ขับเคลื่อน 2 ล้อ
และเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร ไบเทอร์โบ ซึ่งเป็นรุ่นท็อปขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่เหลือเพียงรุ่นเดียว
เข้าใจว่าที่ปรับรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ เหลือเพียงรุ่นเดียวเพราะตัวท็อปขายดีกว่าในบ้านเรา
ที่เด็ดสุดต้องยกให้ระบบเกียร์แบบ 10 สปีด ยกระดับมาตรฐานการพัฒนาสมรรถนะ และศักยภาพการขับขี่ทั้งบนทางเรียบและแบบออฟโรด ทำให้ขับขี่ที่คล่องตัวและนุ่มนวลยิ่งขึ้น พร้อมลดเสียงรบกวนจากการทำงานของเครื่องยนต์ไปในเวลาเดียวกัน
เครื่องยนต์ไบเทอร์โบให้กำลังสูงสุด 213 แรงม้า แรงบิด 500 นิวตันเมตร ที่มาในรอบต่ำเพียง 1,750 รอบต่อนาที สามารถกระจายแรงบิดได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ระบบเกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งกำลัง และเร่งความเร็ว ช่วยให้การขับรถบนทางลาด เช่น การขับรถขึ้นภูเขาที่ลื่น และลาดชันง่ายขึ้นกว่าเดิม

เทคโนโลยีความปลอดภัยเต็มสูบ ที่เพิ่มเข้ามาประกอบด้วยระบบช่วยเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติพร้อมระบบตรวจจับคนเดินถนน และระบบตรวจจับยานพาหนะ (Vehicle Detection) บริเวณรอบตัวรถ เพื่อหยุดรถและช่วยลดอัตราการชนท้ายและการชนคนเดินถนนลง
ระบบนี้จะทำงานเมื่อใช้ความเร็วสูงกว่า 3.6 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป
ระบบตรวจจับลมยาง (Tire Pressure Monitoring System) กุญแจรีโมตอัจฉริยะ
ปุ่มสตาร์ตรถอัตโนมัติ ที่เพิ่มเข้ามาเพื่อให้เป็นรถที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
ระบบตรวจจับลมยาง (Tire Pressure Monitoring System) ติดตั้งในรถระดับนี้เป็นครั้งแรก ตรวจวัดความดันลมในยางล้อทั้ง 4 ล้อ และเตือนผู้ใช้งานเมื่อความดันลมเปลี่ยนแปลง
ระบบนี้นอกจากจะช่วยเสริมประสิทธิภาพการใช้น้ำมันแล้ว ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัย และยืดอายุการใช้งานของยางอีกด้วย
ส่วนระบบอื่นๆ ยังมีอยู่ครบ อาทิ ระบบควบคุมความเร็วแบบรักษาระยะห่างอัตโนมัติ, ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทาง, ระบบเปิด-ปิดไฟสูงอัจฉริยะ, ระบบช่วยจอดอัจฉริยะ ฯลฯ

ที่พลาดไม่ได้กับระบบตัดเสียงรบกวนจากภายนอก (Active Noise Cancellation) ซึ่งเป็นครั้งแรกของเซ็กเมนต์
การทำงานของระบบนี้มีไมโครโฟนในรถ 3 จุดในรถดักจับเสียงที่เล็ดลอดเข้ามาทั้งเสียงเครื่อง หรือเสียงรถและเสียงรบกวนต่างๆ จากนั้นระบบจะปล่อยคลื่นเสียงความถี่ต่ำออกมาเพื่อหักล้างเสียงที่รบกวน ทำให้ภายในห้องโดยสารเงียบมากขึ้น
ทั้งยังพัฒนาซีลกันเสียงและวัสดุดูดซับเสียงภายในห้องโดยสารให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นอีกด้วย
ทำให้การนั่งโดยสารหรือการขับขี่ใน “ฟอร์ด เอเวอเรสต์” สุนทรีย์มากขึ้น
สนนราคาปรับเพิ่มและลดในบางรุ่น (4 รุ่นย่อย) โดยของเดิมราคาเริ่มต้น 1,359,000-1,749,000 บาท
ส่วนรุ่นไมเนอร์เชนจ์ราคา 1,299,000-1,799,000 บาท