เกษียร เตชะพีระ : “ปรากฏการณ์อาชีพเฮงซวย (Bullshit Jobs)

เกษียร เตชะพีระ

“ปรากฏการณ์อาชีพเฮงซวย (Bullshit Jobs): แนะนำ”

เดวิด เกรเบอร์ ศาสตราจารย์มานุษยวิทยาแห่ง London School of Economics เป็นนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวหัวอนาธิปไตยชาวอเมริกันชื่อดัง

เขาเกิดปี ค.ศ.1961 และเติบโตในครอบครัวปัญญาชนคนงานหัวเอียงซ้ายในนครนิวยอร์ก

หลังจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยชิคาโกในสหรัฐ เขาเริ่มงานสอนในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์ที่คณะมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเยล

อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้ต่อสัญญาจ้างจากมหาวิทยาลัยเยลแม้จะมีผลงานวิชาการดีเด่นโดยไม่มีคำชี้แจงท่ามกลางการประท้วงที่มีผู้ลงนามร่วมถึง 4,500 คน รวมทั้งนักมานุษยวิทยาอาวุโสที่มีชื่อเสียงหลายคน

เกรเบอร์จึงตัดสินใจย้ายไปสอนในอังกฤษต่อมา

หนังสือแหวกแนวลือชื่อของเขามีเช่น :-

Debt : The First 5000 Years (ค.ศ.2011) ว่าด้วยปรากฏการณ์หนี้สินในฐานะเครื่องมือของนายทุนเงินกู้/นายธนาคารกับรัฐบาลเพื่อรีดเค้นเอาทรัพย์สินจากกลุ่มชนอ่อนเปราะที่สุดในสังคมต่างๆ ในประวัติศาสตร์

The Democracy Project : A History, a Crisis, a Movement (ค.ศ.2013) ว่าด้วยการเคลื่อนไหว Occupy Wall Street ต่อต้านกลุ่มทุนการเงินอเมริกันที่เขาเข้าร่วมในฐานะที่มันเป็นโครงการสร้างประชาธิปไตย ว่ากันว่า เกรเบอร์นี่เองเป็นผู้ตั้งคำขวัญ “We are the 99%” (เราเป็นคน 99 เปอร์เซ็นต์ของสังคม) ให้การเคลื่อนไหวนี้

The Utopia of Rules : On Technology, Stupidity, and the Secret Joys of Bureaucracy (ค.ศ.2015) ว่าด้วยปรากฏการณ์กฎระเบียบและระบบราชการ (bureaucracy) อันทำงานอืดอาดยืดยาดไร้ประสิทธิภาพในการสนองตอบต่อผู้คน แต่กลับมีอำนาจกำกับควบคุมงี่เง่าจุกจิกจิปาถะทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน

On Kings (ค.ศ.2017) ซึ่งเขาร่วมเขียนกับ Marshall Sahlins ผู้เป็นอาจารย์ของเขาเอง เป็นบทวิเคราะห์เชิงชาติพันธุ์วรรณา (ethnography) ว่าด้วยปรากฏการณ์ราชาธิปไตย ความเหลื่อมล้ำทางอำนาจและวัฒนธรรมความเชื่อที่รองรับมันในสังคมต่างๆ ของโลกจากโบราณถึงปัจจุบัน

Bullshit Jobs : A Theory (ค.ศ.2018) ผลงานเล่มล่าสุดของเขาว่าด้วย “อาชีพเฮงซวย” (bullshit jobs) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์อันแพร่หลายของระบอบทุนนิยมการเงินปัจจุบัน

หนังสือเล่มนี้มีที่มาจากบทความของเขาชิ้นหนึ่งเมื่อห้าปีก่อน…

ในฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ.2013 นิตยสารออกใหม่ที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงอย่างขุดรากถอนโคนฉบับหนึ่งชื่อ Strike! ขอบทความจากเขามาลงชิ้นหนึ่งโดยกำชับว่าเอาประเภทยั่วให้แย้งแรงๆ ที่ไม่มีฉบับไหนอื่นจะตีพิมพ์

เกรเบอร์ชอบใจคำขอดังกล่าวจึงเขียนบทความขนาดสั้นชิ้นหนึ่งจากความคิดที่เคี่ยวตุ๋นอยู่ในหัวให้เรื่อง “On the Phenomenon of Bullshit Jobs” หรือ “ว่าด้วยปรากฏการณ์อาชีพเฮงซวย”

เกรเบอร์เริ่มจากข้อคาดเดาบางอย่าง กล่าวคือ เราพอคุ้นกันอยู่ว่ามีอาชีพบางอย่างในสังคมที่ดูเหมือนไม่เห็นจะได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เช่น ที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์, ผู้ประสานงานการสื่อสาร, นักวิจัยด้านประชาสัมพันธ์, นักยุทธศาสตร์การเงิน, นักกฎหมายบริษัท, นักประเมินคุณภาพหน่วยงานระบบราชการและมหาวิทยาลัย ฯลฯ ซึ่งวันๆ ก็ใช้เวลานั่งประชุมเป็นกรรมการคณะต่างๆ สารพัดเพื่ออภิปรายปัญหาว่าด้วยคณะกรรมการต่างๆ ที่ไม่เห็นมันจะจำเป็นเพราะวันๆ ก็ไม่เห็นทำอะไร (?!?)

คำถามกวนประสาทที่เกรเบอร์ตั้งคือ ก็ถ้าเผื่ออาชีพต่างๆ เหล่านี้มันไร้ประโยชน์จริงๆ ล่ะ แล้วคนที่ประกอบอาชีพเหล่านี้ก็ดันรู้ตัวด้วยว่ามันไร้ประโยชน์ แบบนี้มันจะเป็นยังไง?

ในชีวิตเราก็คงเคยเจอผู้คนที่ลึกๆ แล้วรู้สึกว่าอาชีพการงานของตนไร้สาระและเอาเข้าจริงไม่เห็นจำเป็นอะไร จะมีอะไรที่ทำให้คนเรารู้สึกหดฝ่อห่อเหี่ยวท้อถอยหงอยจ๋องเท่าการที่ต้องตื่นแต่เช้ามืด 5 วันต่อสัปดาห์ตลอดชีวิตวัยผู้ใหญ่ของตนเพื่อไปทำงาน ซึ่งลึกๆ แล้วเราเองก็แอบเชื่อว่ามันไม่ต้องให้ใครไปทำหรอก เสียเวลาและทรัพยากรเปล่าๆ หรือแม้แต่ทำให้โลกแย่ลงด้วยซ้ำไป

แต่ก็ไม่มีใครกล้าพูดความในใจอย่างนั้นออกมาโต้งๆ ต่อหน้าธารกำนัล ความรู้สำนึกเก็บกดแบบนี้จะมิกลายเป็นแผลใจบาดลึกท่ามกลางผู้คนในสังคมของเราหรือ?

ด้วยข้อสันนิษฐานว่าสังคมทุนนิยมการเงินเต็มไปด้วยอาชีพไร้ประโยชน์ที่คนทำเองก็อาจสำนึกรู้แต่ไม่กล้าพูดออกมานี่แหละที่เกรเบอร์เขียนบทความ “ว่าด้วยปรากฏการณ์อาชีพเฮงซวย” ลงนิตยสาร Strike! ฉบับเดือนสิงหาคม ค.ศ.2013 (ดูได้ที่ https://strikemag.org/bullshit-jobs/) ด้วยความสนเท่ห์ใจใคร่รู้ว่ามันจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาอย่างไร?

ปรากฏว่าบทความดังกล่าวก่อปฏิกิริยาระเบิดเถิดเทิง!

หน้าเว็บไซต์ของนิตยสาร Strike! ที่ลงบทความชิ้นนี้มีผู้เคาะเข้าชมกว่าล้านครั้งและล่มซ้ำแล้วซ้ำอีกเพราะคนเคาะเข้ามามากเกินขนาด

บล๊อกอื่นๆ ที่นำบทความนี้ไปลงเผยแพร่ต่อมีมากมายเป็นดอกเห็ด

มันถูกแชร์ต่อทางอินเตอร์เน็ตอย่างกว้างขวางรวดเร็วลุกลามราวเชื้อไวรัสแพร่ระบาด ในชั่วไม่กี่สัปดาห์

มันถูกแปลออกมากว่าสิบภาษารวมทั้งภาษาเยอรมัน นอร์เวย์ สวีเดน ฝรั่งเศส เช็ค โรมาเนีย รัสเซีย ตุรกี ลัตเวีย โปแลนด์ กรีก เอสโตเนีย คาตาลาน เกาหลี ฯลฯ

และนำไปลงพิมพ์ซ้ำในหนังสือพิมพ์จากสวิตเซอร์แลนด์ถึงออสเตรเลีย พร้อมคอมเมนต์ขานรับหลายร้อยจากผู้ประกอบวิชาชีพปกคอขาวรวมทั้งแวดวงการเงิน

ตั้งแต่คำสารภาพว่าลึกๆ รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ

ได้รับแรงดลใจจากบทความจนลาออกจากงานเพื่อมาหาอย่างอื่นที่มีความหมายมากกว่าทำ, หรือขอคำแนะนำว่าจะให้ทำอย่างไรต่อไปดี

ฯลฯลฯลฯ

และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ… ปีกว่าหลังบทความ “ว่าด้วยปรากฏการณ์อาชีพเฮงซวย” ตีพิมพ์ออกมา ในวันที่ 5 มกราคม ค.ศ.2015 อันเป็นวันจันทร์แรกเริ่มงานของศักราชใหม่ ก็มีผู้แอบฉีกโปสเตอร์โฆษณาหลายร้อยแผ่นในรถไฟฟ้าใต้ดินกรุงลอนดอนทิ้ง แล้วเอาโปสเตอร์จรยุทธ์ที่ลงข้อความซึ่งอ้างอิงมาเป็นวรรคตอนจากบทความไปแปะไว้แทนที่ ข้อความอ้างอิง (คติพจน์สหายเกรเบอร์?) มีเช่น :

“ผู้คนเป็นทิวแถวมหึมาโดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกาเหนือพากันใช้ชั่วชีวิตการทำงานของตนกระทำภาระหน้าที่ซึ่งพวกเขาแอบเชื่อว่าเอาเข้าจริงไม่จำเป็นต้องทำหรอก”

“มันยังกับว่ามีใครสักคนอยู่ข้างนอกนั่นคอยปั้นแต่งอาชีพไร้สาระพวกนี้ขึ้นมาเพียงเพื่อที่จะให้เราทั้งหมดหมั่นทำงานต่อไป”

“ความเสียหายทางศีลธรรมและจิตวิญญาณที่เกิดจากสถานการณ์นี้หยั่งลึก มันเป็นแผลเป็นอยู่กลางดวงวิญญาณรวมหมู่ของพวกเรา แต่กระนั้นก็แทบไม่มีใครพูดถึงมันเลย”

“จะให้ใครสักคนแม้แต่แค่ขยับปากพูดถึงเรื่องศักดิ์ศรีของแรงงานออกมาได้อย่างไรเมื่อเขาแอบรู้สึกว่าอาชีพการงานของเขาเอาเข้าจริงไม่ควรดำรงอยู่ด้วยซ้ำ?”

ผลจากการรณรงค์จรยุทธของใครบางคนดังกล่าวปลุกกระแส “อาชีพเฮงซวย” ขึ้นมาติดปากผู้คนในสังคมอีกครั้ง

ถึงแก่หน่วยงานสำรวจทัศนคติ YouGov ทำการสำรวจความเห็นชาวอังกฤษด้วยคำถามที่ดึงถ้อยคำมาจากบทความ “อาชีพเฮงซวย” ของเกรเบอร์ เช่น อาชีพของคุณ “อุทิศคุณูปการที่เปี่ยมความหมายให้แก่โลก” หรือไม่?

ผลก็คือผู้ตอบคำถาม 37% ตอบว่าไม่ได้อุทิศ, 50% ตอบว่าใช่ ได้อุทิศ และ 13% ตอบว่าไม่แน่ใจ การสำรวจความเห็นทำนองเดียวกันในเนเธอร์แลนด์ได้ผลใกล้เคียงกัน กล่าวคือ 40% ของคนงานชาวดัตช์บอกว่าอาชีพของตนไม่มีเหตุผลโดยชอบที่จะดำรงอยู่ด้วยซ้ำไป!

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)