ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : เมืองร้อยเอ็ด – ตาน้ำบึงพลาญชัย เจ้าพ่อมเหสักข์ กับความศักดิ์สิทธิ์ของน้ำในศาสนาผี

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เมืองร้อยเอ็ดมี “บึงพลาญชัย” เป็นศูนย์กลาง แถมบริเวณบึงพลาญชัยยังมี “ตาน้ำ” สำคัญอยู่อีกต่างหาก

และก็เป็นเจ้าตาน้ำนี่เองแหละครับ ที่ทำให้บึงพลาญชัยมีน้ำเอาไว้สำหรับทั้งกินและใช้ตลอดทั้งปี จนกลายเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่

ซึ่งก็ใหญ่เสียจนทำให้มีคนเข้ามาอยู่อาศัยตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์

โดยคงถือว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ จนมีการสร้างคูน้ำคันดินล้อมรอบไว้ในสมัยใดสมัยหนึ่ง

จากนั้นค่อยมีคนเอาแนวคิดแบบฝรั่งมาอธิบายว่า อะไรก็ตามที่มีกำแพง (ไม่ว่าจะกำแพงที่เกิดจากคูน้ำ, คันดิน หรือจะมีมันทั้งคู่ก็ไม่ใช่ปัญหา) พื้นที่ขนาดใหญ่นั้นก็คือ “เมือง”

ทั้งๆ ที่ชุมชนที่ร้อยเอ็ดนั้น คงใหญ่พอที่จะเป็นเมืองมาตั้งแต่ก่อนมีการสร้างคูน้ำและคันดินล้อมรอบแล้ว

ปราชญ์อย่างจิตร ภูมิศักดิ์ เคยอธิบายว่า คำว่า “สยาม” มาจากคำว่า “เสียม” (หรือ “เสียน”) และคงกลายมาจากคำว่า “ซำ” (อย่างชื่อจังหวัด ซัมเหนือ ในลาว เป็นต้น) อีกทอดหนึ่ง

จิตรยังอธิบายต่อไปด้วยว่า คำว่า “ซำ” นั้นเป็นคำเก่า โดยแปลว่า “ตาน้ำ” ดังนั้น คำว่า “เสียม” หมายถึงกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่เป็นตาน้ำ ซึ่งก็ชวนให้นึกถึงชุมชนเมืองที่ร้อยเอ็ดนี้อยู่มากทีเดียว

ในบันทึกของโจวต๋ากวน (หรือที่นิยมสะกดว่า จิวตากวน, จิวตากวาน หรือโจวต้ากวาน ในโลกของภาษาไทย) ที่เข้าไปในนครธม (คือส่วนหนึ่งของเมืองเสียมเรียบ ในประเทศกัมพูชาปัจจุบันนี้) เมื่อ พ.ศ.1838 ได้พาดพิงว่ามีชาวสยามปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าได้ ซึ่งโจวต๋ากวนยังบอกไว้ด้วยว่า ชาวสยามพวกนี้เพิ่งเข้ามาอยู่ในนครธมเมื่อไม่นานนี้เอง

ถึงแม้ว่าโจวต๋ากวนจะอ้างว่า ชาวสยามจะเพิ่งเข้ามาอยู่ในนครธมได้ไม่นานนัก แต่พวกขอมโบราณนั้นก็รู้จักกับชาวสยามมาก่อนหน้านั้นแล้วนะครับ

เพราะที่ปราสาทนครวัด ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ.1650 มีจารึกระบุว่า “นี่เสียมกุก” ซึ่งหมายความว่า “นี่คือก๊กของชาวสยาม” กำกับอยู่ที่รูปกองทหารกองหนึ่ง ที่ระเบียงคดของปราสาทหลังที่ว่านี่อยู่ด้วย

แต่ผมไม่ได้ต้องการจะบอกว่า ร้อยเอ็ด คือรากเหง้า, ศูนย์กลาง หรืออะไรของสยามทั้งนั้นนะครับ เพราะทั้งผู้คน, วัฒนธรรม และหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีอื่นๆ นั้น ไม่ได้ส่อความไปในทิศทางที่ว่าเลยสักนิด

สิ่งที่น่าพิจารณายิ่งกว่าก็คือ การที่ผู้คน ไม่ว่าจะเป็นที่อยุธยา หรือกรุงเทพฯ ไม่เคยเรียกตนเองว่า “สยาม” (ที่มีรากมาจากคำว่า “ซำ”) มาก่อนเลย จนกระทั่งรัชกาลที่ 4 ทรงตั้งชื่อประเทศว่า “สยาม” ตามคำที่ชาวต่างชาติใช้เรียกดินแดนที่มีกรุงศรีอยุธยา หรือกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง

และควรจะสังเกตด้วยว่า กรุงศรีอยุธยาเองก็เคยมีบึงน้ำขนาดใหญ่อย่างบึงพระราม หรือที่ในตำนานมักจะเรียกว่าหนองโสน เป็นศูนย์กลางของเมืองมาก่อนในสมัยใดสมัยหนึ่ง จนอาจจะเป็นที่มาของการที่มีใครมาเรียกผู้คนและดินแดนที่มีอยุธยาศูนย์กลางทางวัฒนธรรมและการเมืองว่า “สยาม” ซึ่งก็ถูกใช้เรียกผู้สืบทอดความเป็นอยุธยาต่อมาอย่างกรุงเทพฯ ด้วย

คำว่า “เสียม” หรือ “สยาม” ที่ปรากฏอยู่ในแต่ละยุคสมัยและสถานที่ จึงอาจจะไม่ใช่เสียมหรือสยามเดียวกันเสมอไป อย่างน้อยที่สุด กองทัพสยามที่ปราสาทนครวัดนั้น ก็ไม่ใช่คนสยาม หรือไทยจากกรุงศรีอยุธยา ที่ยังไม่ได้ถูกสถาปนาขึ้นเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม หรืออำนาจทางการเมืองใดๆ แน่

ไม่ต้องสังเกตให้มากความก็คงจะเห็นได้อย่างชัดเจนอยู่แล้วว่า ตาน้ำพวกนี้ถูกให้ความสำคัญมาแต่เดิม และในเมื่อเป็นสิ่งสำคัญแล้ว ก็มักจะถูกผูกโยงเข้ากับความศักดิ์สิทธิ์ในรูปแบบต่างๆ

แน่นอนว่าตาน้ำที่บึงพลาญชัย เมืองร้อยเอ็ด ก็เช่นกัน ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยที่บริเวณที่เป็นตาน้ำของบึงพลาญชัยนี้จะอยู่ในเขตของวัด ซึ่งก็คือวัดพลาญชัย ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นวัดสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองร้อยเอ็ดเลยทีเดียว

ทางวัดได้สร้างอาคารสูงหลายชั้น ตั้งอยู่บนเกาะกลางน้ำ แล้วครอบทับตาน้ำเอาไว้ ส่วนที่เป็นตาน้ำมีการก่ออิฐถือปูนขึ้นเป็นบ่อ และประดับไว้ด้วยลวดลายรูปพญานาค เพราะเชื่อกันว่าเป็น “บ่อพญานาค” คือเป็นรูที่พญานาคใช้เชื่อมโยงระหว่างโลกมนุษย์กับโลกบาดาล ตั้งอยู่ภายในชั้นใต้ดินของอาคารดังกล่าว และถือกันว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่จะเอาน้ำมาใช้ในพิธีต่างๆ เช่น งานบุญเผวด เป็นต้น

แต่ในเมื่อตาน้ำแห่งนี้มีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และก็คงศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่ยุคโน้น ที่พระพุทธศาสนาจะยังเผยแผ่มาไม่ถึงทั้งร้อยเอ็ดและอุษาคเนย์ทั้งภูมิภาคแล้ว ความศักดิ์สิทธิ์ของตาน้ำนี้ก็คงจะสัมพันธ์อยู่กับศาสนาผีพื้นเมืองมาก่อนที่ศาสนาพุทธจะมาเทกโอเวอร์ไปทีหลัง จนมีการสร้างวัดพลาญชัยขึ้นไว้ในบริเวณศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพื้นเมืองดั้งเดิมนี่เอง แถมลักษณะอย่างนี้ก็ไม่ได้มีเพียงที่เดียวในเมืองร้อยเอ็ดเสียด้วยสิครับ

ศาลเจ้าพ่อมเหสักข์ (เฉพาะชาวร้อยเอ็ดจะสะกดชื่อเจ้าพ่อองค์นี้ว่ามเหศักดิ์ ซึ่งต่างไปจากที่อื่น) ตั้งอยู่ที่วัดบูรพาภิราม ในเมืองร้อยเอ็ด และขึ้นชื่อเจ้าพ่อก็บอกอยู่ทนโท่ว่าเป็น “ผี” แต่ที่มาโผล่อยู่ในวัดพุทธได้ ก็เป็นเพราะพุทธศาสนาได้มายึดที่ทางของท่านไป ไม่ต่างไปจากกรณีของตาน้ำที่บึงพลาญชัยนี่เอง

เรื่องของเรื่องมันมีอยู่ว่า “มเหสักข์” นั้นเป็นชื่อผีสำคัญในภูมิภาคอีสานใต้ โดยเฉพาะแถบๆ ทุ่งกุลาร้องไห้ ที่มีชื่อเจ้าพ่ออยู่ให้เพียบ

นักมานุษยวิทยา ควบตำแหน่งนักสำรวจภาคอีสานระดับเจ้าพ่อ (แต่ท่านเป็นคน ไม่ใช่ผี) อย่าง อ.ศรีศักร วัลลิโภดม เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ลัทธิการบูชาผีเจ้าพ่อมเหสักข์นั้น นอกจากจะมีถ้วนทั่วพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้แล้ว ยังมีเชื่อมโยงไปจนถึงเมืองจำปาสัก ที่อีกฟากของน้ำโขง คือประเทศลาวปัจจุบัน

โดยกลุ่มคนพวกที่ลาวเรียกว่าลาวเทิง นี่นับถือเจ้าพ่อมเหสักข์กันทั้งนั้น ซึ่ง อ.ศรีศักรได้เคยอธิบายไว้ว่า เป็นร่องรอยที่แสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงกันของกลุ่มคน โดยเฉพาะพวกที่ถลุงเหล็ก

ปัจจุบันประเทศลาวเขาแบ่งลาวเป็น 3 กลุ่ม คือ ลาวสูง ลาวลุ่ม และลาวเทิง ซึ่งก็เป็นการแบ่งตามว่าอยู่ที่สูง อยู่ที่สูงปานกลาง หรืออยู่ลุ่ม โดยส่วนใหญ่ของ “ลาวเทิง” คือพวกที่พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร

ซึ่งก็คือคนพวกเดียวกับที่ทุ่งกุลาฯ ที่เป็นแหล่งผลิตเหล็กและเกลือแหล่งใหญ่ของอุษาคเนย์

ลักษณะทำนองนี้ชวนให้นึกไปถึง “เจ้าชายจิตรเสน” ผู้ที่ต่อไปจะครองราชย์เป็นพระเจ้ามเหนทรวรมัน เมื่อ พ.ศ.1150 ซึ่งทรงมีถิ่นที่อยู่เดิมอยู่แถบๆ เมืองจำปาสักนั่นแหละ

ต่อมาเจ้าชายพระองค์นี้ทรงรวบรวมพื้นที่แถบอีสานใต้ โดยเฉพาะทุ่งกุลาฯ ได้ จากนั้นจึงทรงรุกลงไปทางแถบตนเลสาบเขมร ในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน

ที่น่าสนใจคือ พระราชโอรสของเจ้าชายจิตรเสน หรือพระเจ้ามเหนทรวรมันพระองค์นี้คือพระเจ้าอีศานวรมัน ผู้ทรงสถาปนาเมืองที่ปัจจุบันเราเรียกว่าสมโบร์ไพรกุก ที่ถือเป็นเมืองใหญ่แห่งแรกในวัฒนธรรมขอมโบราณที่สร้างศาสนสถานหลังใหญ่ๆ เป็นจำนวนมากเอาไว้ในเมืองได้นะครับ

และยังน่าสังเกตอีกด้วยว่า นับจากนั้นในประวัติศาสตร์ขอมโบราณ กษัตริย์พระองค์ใดที่ครองราชย์และมีอำนาจจนสร้างปราสาทหลังใหญ่ๆ ได้ มักจะต้องมีพระราชอำนาจคลุมอีสานใต้ได้ด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างเช่น พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 สร้างปราสาทพระวิหาร ก็แสดงว่าทรงคุมอำนาจเหนือ และใต้เทือกเขาพนมดงเร็ก ทางเหนือก็คือทุ่งกุลาฯ หรือพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 กับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่สร้างนครวัดและนครธม ตามลำดับ นี่ทรงมีต้นตระกูลอยู่ในอีสานใต้เลย

ดังนั้น ในความมั่งคั่งของขอมยุคโน้น ก็มีฐานกำลังส่วนสำคัญมาจากการผลิตเหล็กและเกลือในทุ่งกุลาฯ จนเอาไปสร้างปราสาทหลังโตได้นั่นเอง

กลับมาที่เจ้าพ่อมเหสักข์ ท่านก็เป็นผีระดับ “เจ้าพ่อ” ของผู้คนที่ถลุงเหล็กและทำเกลือ พวกนี้มาก่อนที่จะหันไปนับถือพุทธ และพราหมณ์-ฮินดู แทนศาสนาผี แต่ด้วยบารมีระดับเจ้าพ่อนี่เอง ที่ทำให้เมื่อรับศาสนาจากอินเดียแล้วท่านก็ยังไม่ถูกลบหายไปไหน

กรณีที่ร้อยเอ็ดนั้น เชื่อกันว่าเจ้าพ่อองค์นี้สถิตอยู่ที่คูเมืองด้านทิศตะวันออก ซึ่งก็คือตรงที่ตั้งของวัดบูรพาภิรามนี่เอง การคงอยู่ของเจ้าพ่อมเหสักข์ที่ร้อยเอ็ด นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงร่องรอยของศาสนาผีพื้นเมืองดั้งเดิม ที่ถูกพุทธศาสนามาเทกโอเวอร์เอาความศักดิ์สิทธิ์นั้นรวบเข้าไปเป็นของตนเอง

ไม่ต่างไปจากตาน้ำที่วัดพลาญชัยแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของ “น้ำ” ในหมู่คนที่อาศัยอยู่ตามตาน้ำ จนถูกเรียกว่า “เสียม” หรือ “สยาม”

ไม่อย่างนั้นแล้ว เจ้าพ่อมเหสักข์จะไปสถิตอยู่ในคูเมืองด้านทิศที่พระอาทิตย์ขึ้นทำไมกัน?