แพทย์ พิจิตร : บทสัมภาษณ์ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร “ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับช่วงเวลามวลชนปฏิวัติ”

พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร (2) : “ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับช่วงเวลามวลชนปฏิวัติ”

จากการจากไปของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา ผมจึงขอพักเรื่องอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช ไว้ก่อน และขออุทิศข้อเขียนนี้เพื่อไว้อาลัยต่อการจากไปของท่าน พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร

โดยเรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ที่ผมได้รับความกรุณาจากท่านเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560

ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งปีก่อนที่ท่านจะจากไป

ทางทีมงานของพวกเราได้ค้นข้อมูลและพบว่า ตอนที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ พระองค์ท่านมีพระบรมราโชวาทให้กับนิสิตจุฬาฯ ที่เรียนจบ

แล้วพระองค์ท่านทรงอ้างวอลแตร์ (นักปราชญ์และนักเขียนชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่สิบแปด) เราจึงสันนิษฐานว่า พระองค์ท่านคงอ่านเอง เพราะพระองค์ท่านทรงรู้ภาษาฝรั่งเศส ถ้ามิเช่นนั้นก็คงจะได้ยินมาจากสมเด็จย่า แต่ก็คิดว่าพระองค์ท่านคงไม่ได้อ่านเฉพาะวอลแตร์ คงอ่านอย่างอื่นด้วย

และจากการที่อาจารย์วสิษฐได้มีโอกาสใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท และอาจารย์วสิษฐก็เป็นนักเขียนคนสำคัญของเมืองไทย พวกเราจึงถามอาจารย์วสิษฐว่า ท่านพอจะทราบไหมว่า หนังสือเล่มโปรดของพระองค์ท่านมีอะไรบ้าง?

อาจารย์วสิษฐตอบว่า

“ผมตอบไม่ได้หรอกครับ แต่พระองค์ท่านอ่านเยอะมาก หนังสือของผมนี่พระองค์ท่านอ่านทุกเล่ม และเรื่องที่ดังที่สุดคือเรื่องที่พระเอกชื่อ ธนุส นิราลัย พระองค์ท่านเริ่มต้นอ่านตั้งแต่สารวัตรเถื่อน มาจนกระทั่งเล่มสุดท้ายคือประกาศิตอสูร แล้วครั้งหนึ่งพอนำไปทูลเกล้าฯ ถวายพระองค์ท่านเสร็จแล้ว พอได้ไปให้เข้าเฝ้าฯ พระองค์ท่านแล้ว พระองค์ท่านทรงมีรับสั่งว่า ไม่ได้เรื่องเลย ผมก็ใจหายเลย แล้วพระองค์ท่านตรัสว่า เขียนอย่างนี้ผู้ร้ายเอาอย่างไปใช้หมด เพราะผมเขียน technic เรื่องการต่อสู้ การสืบสวน พระองค์ท่านบอกแบบนี้ทำให้ฝ่ายตรงกันข้ามรู้ว่าเราทำอะไร”

แล้วพวกเราก็สงสัยว่าพระองค์ท่านได้ทรงอ่านหนังสือเรื่อง “ความผิดพลาดของนายหมาก” ที่อาจารย์วสิษฐได้เขียนเกี่ยวกับความผิดพลาดของลัทธิมาร์กซิสม์หรือไม่?

อาจารย์วสิษฐบอกว่า “เล่มนั้นผมไม่ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย และไม่รู้ว่าพระองค์ท่านทรงหรือเปล่า เพราะเป็นสารคดี พิมพ์ก่อนจะมาเขียนเป็นนวนิยาย”

นอกจากเรื่องหนังสือแล้ว พวกเรายังถามอาจารย์วสิษฐเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินไปยังต่างจังหวัดของประเทศไทยว่า “ได้มีการจัดการ วางแผนอย่างไร ท่านบอกว่าจะไปเอง หรือว่าราชการเสนอมาว่าให้เสด็จไป ตรงนี้พระองค์ท่านมีบทบาทอย่างไรครับ?”

อาจารย์วสิษฐ : “ส่วนมากมาจากพระองค์ท่าน แต่ว่าเวลาพระองค์ท่านจะเสด็จไปไหนมาไหนส่วนใหญ่ พระองค์ท่านอาศัยจากฎีกาที่ชาวบ้านถวายท่าน ฎีกาที่ชาวบ้านถวายท่านปีหนึ่งๆ มีเป็นร้อยเป็นพันฉบับ แล้วพระองค์ท่านตัดสินใจพระทัยเองว่า ปัญหาตรงที่ชาวบ้านกราบบังคมทูลนั้นถึงเวลาหรือยังที่พระองค์ท่านควรจะเสด็จไป ฎีกาที่ว่านี้มีทั้งที่เป็นการถวายกับพระหัตถ์และประเมินถวาย เพราะบางทีก็เป็นเรื่องเหลวไหล เรื่องเพ้อฝันอะไรไป สำนักราชเลขาธิการจะทำหน้าที่กลั่นกรองให้ก่อนแล้วจึงถวาย ถ้าถวายขึ้นไปแล้วพระองค์ท่านจะทรงอ่านทุกฉบับ เสร็จแล้วพระองค์ท่านก็จะมีรับสั่งกับราชเลขาธิการว่าพระองค์ท่านอยากจะเสด็จไปที่โน่นที่นี่”

เราสงสัยว่า อาจารย์วสิษฐทราบได้อย่างไรว่าพระองค์ท่านเสด็จไปยังที่ต่างๆ ตามฎีกา?

อาจารย์วสิษฐ : “สำนักราชเลขาฯ เขาเล่าให้ฟัง และบางฉบับพระองค์ท่านรับสั่งโดยตรงกับผมเลย ว่าผมต้องไปที่นี่ แต่กรณีของผมนี่พระองค์ท่านรับสั่งว่าพระองค์ท่านจะเสด็จไป แล้วพระองค์ท่านรับสั่งให้ผมไปดูสภาพปัญหาแทนพระองค์ก่อน”

“อย่างเช่นที่สิงห์บุรี มีชาวบ้านถวายฎีกาบอกว่าเอาที่นาของตัวเองไปจำนอง เสร็จแล้วมันจะขาดจำนอง ที่นาผืนเล็กๆ ไม่มาก แล้วขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ”

“พระองค์ท่านให้ผมไปกับคุณขวัญแก้ว วัชโรทัย เราก็ไปจนกระทั่งถึงตัวเขา ชาวนารายนี้ก็พาไปดูที่ทาง เราก็มาไล่เรียงว่าเป็นความจริง กราบบังคมทูล พระองค์ท่านก็พระราชทานเงินไปให้ เงินไม่น้อยเหมือนกัน เกือบแสนละมั้งตอนนั้น แล้วก็ให้ไปทำสัญญากับชาวบ้านคนนั้น คือให้กู้ ดอกเบี้ยก็ให้ส่งเป็นข้าวเพราะเป็นชาวนา”

“ชาวนาคนนี้แกก็เอาเงินไปใช้หนี้แล้วก็เริ่มส่งดอกถวาย ส่งเข้ามาที่วังสวนจิตรฯ ส่งเป็นข้าวเปลือก แล้วก็เอามาสีที่โรงสีหลวงที่วังสวนจิตรฯ แล้วไม่กี่เดือน พระองค์ท่านก็รับสั่งกับคุณขวัญแก้วว่า ตาคนนี้แกซื่อตรงดี ไม่เคยขาดส่ง ที่เหลือมีเท่าไหร่พระองค์ท่านทรงยกให้เลย คนที่ได้รับการช่วยเหลือร้องไห้เลยครับ”

พวกเราก็ตั้งคำถามเชิงวิพากษ์ต่อไปอีกว่า “มันมีเสียงท้วงติงบ้างไหมครับ ว่าการช่วยเหลือของในหลวงรัชกาลที่ 9 มันเป็นการช่วยที่ปลายเหตุ มันไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ซึ่งมันคือความไม่รู้เรื่องความจน ปัญหาใหญ่จริงๆ มันน่าจะอยู่ตรงนั้น”

อาจารย์วสิษฐ : “เสียงท้วงติงผมไม่ได้ยิน และผมก็ไม่คิดว่าจะมีใครกล้าท้วงติง และพระองค์ท่านก็ไม่ได้แก้ปัญหาแบบนี้อย่างเดียว แต่พระองค์ท่านเสด็จไปแก้ไขแบบเป็นองค์รวมเลย จะเห็นได้ว่าโครงการต่างๆ ของพระองค์ท่านเป็นเรื่องของการฟื้นฟูการประกอบอาชีพของชาวบ้าน และพระองค์ท่านรับสั่งเองอย่างเสมอๆ ว่าพระองค์ท่านแจกเงินให้คนไม่เป็น แต่พระองค์ท่านสอนให้คนใช้เงินเป็น”

“เพราะฉะนั้น เราจะเห็นว่าโครงการต่างๆ ที่เราเห็น ที่มีเหลือมาจนถึงทุกวันนี้ มันเป็นโครงการเพื่อที่จะให้ชาวบ้านรู้จักช่วยตัวเองเป็น ทำนองเดียวกันกับโครงการของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ทีแรกจะเห็นว่าพระองค์ท่านจ่ายเงินซื้อผ้าไหม”

“แต่ในขณะเดียวกันพระองค์ท่านก็สอนให้ทอผ้าไหมแบบที่ตลาดต้องการ แล้วก็เอาผ้าไหมที่ทอแล้วมาขาย ก็เป็นการส่งเสริมอาชีพโดยตรงเลยไม่ใช่โดยอ้อม พระองค์ท่านทำแบบเดียวกันทั้งสองพระองค์ เพราะว่าราษฎรโดยเฉพาะอย่างในภาคอีสานบ้านผม ปรกติก็ได้แต่ทอผ้าไปใช้เอง ถ้าสมเด็จไม่เสด็จไปปีนั้น ที่ผมตามเสด็จไปด้วย กิ่งอำเภอนาหว้า เดี๋ยวนี้เป็นอำเภอแล้ว จังหวัดนครพนม ถ้าไม่เสด็จเที่ยวนั้นชาวบ้านก็อาจจะต้องทอผ้าเก็บไว้ใช้นุ่งเองอย่างเดียว”

“แต่เพราะเหตุที่พระองค์ท่านเสด็จ พอพระองค์ท่านเสด็จกลับ ชาวบ้านก็ตื่นตัว และก็เริ่มทอผ้าจำหน่าย จนกระทั่งทุกวันนี้ยังขายดีอยู่”

คราวนี้พวกเราถามคำถามที่ค่อนข้างหมิ่นเหม่ออกไปว่า “ทราบใช่ไหมครับว่าพักหลังๆ มีคนบอกว่าพระองค์ท่านทรงทำเกินบทบาทของกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ”

อาจารย์วสิษฐตอบคำถามอย่างชวนให้เราคิดว่า : “เรื่องนี้เคยรับสั่งกับผมเลย ว่าทรงทำสิ่งที่กฎหมายไม่ได้ห้าม อันไหนที่รัฐธรรมนูญห้ามไว้พระองค์ท่านไม่ทรงทำเลย ไปดูรัฐธรรมนูญทุกวันนี้ก็ได้ มาตราไหนที่ห้ามไม่ให้พระองค์ท่านทรงทำ”

และท่านอาจารย์วสิษฐยังเล่าให้ฟังอีกว่า “ตอนผมเข้าไปรับราชการ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่อยู่แล้ว แต่ทันจอมพลสฤษดิ์ แล้วต่อมาก็เป็นจอมพลถนอม พระองค์ท่านไม่เคยรับสั่งโดยตรง พระองค์ท่านเคยรับสั่งเป็นเชิงทางอ้อมให้ผมเข้าใจว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ในบ้านเมืองบ่อยๆ”

แฟ้มภาพ เหตุการณ์ 14 ตุลา 16
จากมติชนออนไลน์

“อย่างคราว 14 ตุลา และตอนหลังที่ทหารกับทหารทะเลาะกันเอง คราวที่พันเอก (ยศขณะนั้น) ประจักษ์ สว่างจิตต์ เอากำลังทหารเข้ามาเพื่อที่จะต่อสู้กันเอง ผมกราบทูลให้เสด็จจากสวนจิตรฯ ไปประทับอีกที่ แต่พระองค์ท่านตรัสว่าไม่ได้ ต้องอยู่ที่นี่ แล้วก็ให้ทุกฝ่ายสามารถที่จะมาเข้าเฝ้าฯ พระองค์ได้”

“แต่ตอนนั้นรู้สึกว่าลงท้าย คุณเปรมไม่ยอมให้พระองค์ท่านอยู่สวนจิตรฯ เนื่องจากว่าพอประจักษ์เอากำลังเข้ามาแล้วเค้ากลัวว่าจะเกิดความรุนแรงขึ้น กลัวจะเป็นอันตรายกับพระเจ้าอยู่หัว และอาจจะมีความพยายามจับพระองค์ไว้เป็นประกัน”

“แต่หลักทั่วๆ ไปที่ทรงใช้คือเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองขึ้นก็คือ พระองค์ท่านจะไม่เสด็จไปอยู่ที่อื่น แต่จะเปิดประตูสวนจิตรฯ ให้ทุกฝ่ายเข้าไปหาได้ เหมือนคราว 14 ตุลา ครับ”

“แต่ส่วนที่เกี่ยวกับนักการเมืองทั่วไป ผมนึกไม่ออกว่าเคยมีรับสั่งอะไรกับผมหรือเปล่า แต่กับคนอื่นผมไม่รู้”