สุรชาติ บำรุงสุข : ในหลวง รัชกาลที่9 กับความมั่นคงไทย

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23-29 มิ.ย. 2549

 “พระราชาคุ้มครองประชาราษฎร์
ประชาราษฎร์เชิดชูพระองค์”

-หิโตปเทศ-

นับตั้งแต่ พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว สิ่งที่พระองค์ทรงเริ่มอย่างเห็นได้ชัดก็คือ การเสด็จประพาสส่วนต่างๆ ของประเทศในปี 2501 ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ “มองเห็น” ประเทศไทยอย่างเป็นระบบของพระองค์ท่าน และยิ่งหลังการกลับจากการเสด็จประพาสต่างประเทศเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศทั้งในอเมริกา ยุโรป และเอเชีย แล้ว พระองค์ก็ได้เน้นการเสด็จออกสู่ชนบทอย่างจริงจัง

ดังนั้น ภาพที่คุ้นตาดังที่ปรากฏในข่าวเสมอๆ สำหรับประชาชนโดยทั่วไปก็คือ ภาพของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จดำเนินไปในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ห่างไกลในชนบท และไม่ว่าจะทุรกันดารและอันตรายเพียงใด ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงพื้นที่ของสองพระองค์ท่าน

จนมีคำกล่าวกันว่า คนต่างจังหวัดโชคดีกว่าคนกรุงเทพฯ ที่ได้เข้าเฝ้าฯ พระองค์อย่างใกล้ชิด ภาพของพี่น้องประชาชนในชนบทที่ได้เข้าเฝ้าฯ ในรูปแบบต่างๆ กัน เป็นประจักษ์พยานที่ดี ดังที่เราได้เห็นกันอย่างเจนตา ไม่ว่าจะเป็นในสื่อต่างๆ หรือในภาพยนตร์ส่วนพระองค์ก็ตาม

การเสด็จพระราชดำเนินไปในชนบทที่ห่างไกลเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ชัดเจนถึงความพยายามของพระองค์ท่านในการสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศ ซึ่งในช่วงระยะเวลาขณะนั้นสถานการณ์รอบๆ ประเทศ กำลังประสบกับความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เช่นเดียวกับสถานการณ์ภายในประเทศ

อันที่จริงบทบาทของพระมหากษัตริย์ในการสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศ ก็ปรากฏให้เห็นจากบุรพกษัตราธิราชเจ้าในอดีตมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในยุคที่รัฐต้องเผชิญกับภัยคุกคามทางทหาร เช่น บทบาทขององค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ องค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในยุคแห่งการสร้างชาติของสยาม ที่ต้องเผชิญกับการขยายตัวของมหาอำนาจยุโรปในการแสวงหาเมืองขึ้น เป็นต้น

บทบาทเช่นนี้เห็นได้ชัดว่า แกนกลางในการสร้างความมั่นคงของรัฐรวมศูนย์อยู่กับองค์พระมหากษัตริย์ ยิ่งในยุคที่ต้องเผชิญกับการคุกคามมากเท่าใด บทบาทขององค์พระมหากษัตริย์ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเท่านั้น และในสภาวะที่ภัยคุกคามทางทหารทวีความรุนแรงขึ้น พระมหากษัตริย์จึงเป็นดั่งศูนย์กลางของความขับเคลื่อนพลังอำนาจแห่งชาติของรัฐโดยตรง ซึ่งหากเป็นในการสงครามก็จะเห็นได้ชัดถึงสถานะความเป็น “จอมทัพ” แห่งองค์พระมหากษัตริย์

แม้ว่าบทบาทเช่นนั้น จะเห็นได้ชัดเจนในช่วงสมัยที่เป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราช ซึ่งองค์พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุด แต่ในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็ใช่ว่าบทบาทของพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันจะไม่ปรากฏให้เห็น ในฐานะของการเป็นศูนย์รวมของประชาชน

และแม้สถานการณ์ความมั่นคงร่วมสมัยไม่รุนแรงเช่นอดีต แต่พระองค์ได้ทรงตระเตรียมสังคมไทยให้รับมือกับปัญหาความมั่นคงในอีกแบบหนึ่ง

เพราะรัฐไทยหรือในความหมายเดิมคือ รัฐสยามนั้น คุ้นเคยกับภัยคุกคามทางทหาร เพราะเป็นประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ก่อนที่สยามจะกำเนิดขึ้นเป็นรัฐประชาชาติ

ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามจากมหาอำนาจในภูมิภาคคือ ความเข้มแข็งทางทหารของหงสาวดี ปัญหาความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านจนนำไปสู่การใช้กำลัง แม้กระทั่งการต้องเผชิญกับภัยคุกคามทางทหารของลัทธิอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก

ซึ่งในสถานการณ์ดังกล่าว พระมหากษัตริย์ของสยามได้เป็นศูนย์รวมทั้งของรัฐและของจิตใจประชาชน ในอันที่จะช่วยกันต่อสู้กับภัยคุกคามที่เกิดขึ้น

ภัยคุกคามทางทหารของข้าศึก จึงเป็นสิ่งที่รัฐสยามคุ้นเคย และสามารถบริหารจัดการให้ลดระดับความรุนแรงลง อย่างน้อยสถานะของการดำรงความเป็นรัฐเอกราชในยุคอาณานิคมก็พอจะเป็นประจักษ์พยานถึงข้อสังเกตดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

ภัยคุกคามที่ไม่ใช่ประเด็นด้านการทหารโดยตรง จึงมักจะไม่อยู่ในข่ายที่รัฐไทยจะเตรียมรับมือ และยิ่งเป็นในช่วงที่ภัยคุกคามทางทหารไม่มีความรุนแรงแล้ว ก็ยิ่งไม่มีการเตรียมการในเรื่องนี้เท่าใดนัก

ในสภาพเช่นนี้ พระองค์ท่านตระหนักดีว่า ปัญหาความมั่นคงไม่ใช่มีอยู่แต่ในมิติด้านการทหารเท่านั้น ซึ่งหากเปรียบกับแนวคิด ของวิชาความมั่นคงศึกษาในยุคหลังสงครามเย็น ที่แบ่งปัญหาออกเป็น 2 ลักษณะคือ ส่วนที่เป็นปัญหาความมั่นคงแบบดั้งเดิม (traditional sceurity) แล้ว และปัญหาความมั่นคงใหม่ (non-traditional)

ก็อาจกล่าวได้ว่า ในหลวงรัชกาลปัจจุบันได้ทรงสร้างความมั่นคงในแบบที่เป็น “non-traditional” มาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น

nzc57udu7jpd0thmh6e-o

การที่ได้เสด็จไปในพื้นที่ส่วนต่างๆ ของประเทศ ด้านหนึ่งทำให้พระองค์ได้มีโอกาสสำรวจภูมิประเทศในทางภูมิศาสตร์ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นความเป็นไปที่แท้จริงของชนบทไทย หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการสำรวจภูมิประเทศทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระองค์ทรงได้เห็นถึงปัญหาความยากจน ซึ่งไม่ใช่เพียงปัญหายากจนในตัวเอง

หากแต่ปัญหาเช่นนี้คือ ภาพสะท้อนของปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในรัฐไทย

ดังนั้น คงจะกล่าวได้ว่า สิ่งที่พระองค์เริ่มต้นในชนบทของไทยก็คือ การสร้างความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security) ให้เกิดขึ้น โดยผ่านโครงการพระราชดำริในลักษณะต่างๆ เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล โครงการเหล่านี้มุ่งที่จะสร้างความอยู่ดีกินดีให้เกิดขึ้นแก่พสกนิกรของพระองค์โดยไม่เลือกชั้นวรรณะและความเชื่อทางศาสนา

โครงการพระราชดำรัสจึงอาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า เป็นการมุ่งสร้างให้เกิดความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมักจะเป็นกรอบแนวคิดที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าใดนักจากรัฐ เพราะในภาวะที่กระแสของภัยคุกคามทางทหารมีอยู่สูงเช่นในยุคสงครามเย็น รัฐก็มักจะให้ความสำคัญกับปัญหาด้านการทหารเป็นสำคัญ

ฉะนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า พระองค์ท่านมีส่วนอย่างสำคัญในการเปิดวิสัยทัศน์ในเรื่องความมั่นคงของมนุษย์สำหรับสังคมไทย

นอกจากนี้ แนวคิดที่คู่ขนานกับโครงการพระราชดำริที่พระองค์ได้ทรงให้กำเนิดขึ้นก็คือบทบาทของทหารกับการพัฒนา อันเป็นผลมาจากแนวพระราชดำรัสของพระองค์ท่านเช่นกัน ดังจะเห็นได้ว่า ทหารไทยวันนี้เป็นทั้งนักรบและนักพัฒนาควบคู่กันไป

บทบาทเช่นนี้เห็นได้จากการต่อสู้กับสงครามภายในที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเอง แล้วยังเห็นได้อีกเมื่อครั้งกองทัพไทยได้เข้าไปมีบทบาทในการรักษาสันติภาพร่วมกับกองกำลังของสหประชาชาติในติมอร์ตะวันออก ทหารไทยได้มีส่วนอย่างมากต่อการเป็นผู้ช่วยเหลือในการพัฒนาสังคมที่อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความรู้ในเรื่องของงานเกษตร และการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ เป็นต้น

หากพิจารณาจากกรอบแนวคิดด้านการทหารยุคปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า พระองค์ท่านมีส่วนผลักดันอย่างมากต่อการที่ทหารไทยจะต้องมีบทบาทในลักษณะของปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากการสงคราม (Military Operations Other Than War หรือ MOOTW) ดังจะเห็นได้ว่าทหารในปัจจุบันยังมีบทบาทอย่างสำคัญในการพัฒนา โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเปราะบางด้านความมั่นคง

ในกรอบของปัญหาความมั่นคงใหม่นั้น ประเด็นที่พระองค์ท่านได้ทรงมีบทบาทมากในอีกส่วนหนึ่งก็คือ พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับปัญหาความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Security) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการอนุรักษ์ดิน ป่า หรือน้ำก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเดินทางเยี่ยมเยือนพสกนิกรในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทยนั้น พระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นแหล่งน้ำในสามมิติ คือ

ภาพทางอากาศจากการเสด็จทางเฮลิคอปเตอร์ และสอง ภาพทางบกหรือที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ จากการที่พระองค์ท่านเข้าไปถึงพื้นที่จริง และสาม ภาพทางสังคมซึ่งเกิดจากการที่พระองค์ท่านได้เข้าไปสอบถามและพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่นั้นๆ

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ พระองค์ท่านได้ทรงทำ “แผนที่ทางสังคม” (หรือที่เรียกกันว่า social mapping) ของประเทศด้วยพระองค์เอง จนกล่าวกันว่า ในหลวงทรงมีข้อมูลแหล่งน้ำมากที่สุดและดีที่สุดในประเทศไทย

nzc5de6orlks2m8pw1q-o

การสร้างและพัฒนาองค์ความรู้เรื่องน้ำ เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดของความสำเร็จทั้งในกรอบของความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้ประชาชนในชนบทได้มีน้ำกินน้ำใช้อย่างเพียงพอ และในกรอบของความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม ก็คือ การสร้างให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนของระบบน้ำ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า พระองค์เป็นผู้ทรงเริ่มต้นในเรื่องความมั่นคงของน้ำ (Water Security) ซึ่งเดิมเรามักจะมีจินตนาการอยู่กับปัญหาเช่นนี้ในกรณีของตะวันออกกลาง

ซึ่งปัญหาความมั่นคงของน้ำนั้น ยังมีส่วนโดยตรงต่อการนำไปสู่ปัญหา “สงครามน้ำ” (Water War)

แม้ตัวแบบของสงครามน้ำอาจจะดูเป็นเรื่องห่างไกลในสังคมไทย หรือสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่หากพิจารณาให้ดีจากการเสื่อมถอยของระบบนิเวศน์ ปัญหาความมั่นคงของน้ำเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในกรณีของไทย หรือกรณีในระดับภูมิภาคก็ตาม

ความพยายามอย่างอุตสาหะของพระองค์ท่านที่เอาชนะปัญหานี้ ปรากฏให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมจากความสำเร็จในการทำฝนหลวง ซึ่งวันนี้ได้รับการจดสิทธิบัตรและเป็นที่ยอมรับในหลายๆ ประเทศในยุโรป

เรื่องราวเหล่านี้ ทำให้เรามักจะกล่าวถึงบทบาทพระองค์ท่านในฐานะของ “กษัตริย์นักพัฒนา” แต่หากมองจากมุมของนักความมั่นคงแล้ว พระองค์ท่านได้ทรงริเริ่มอย่างสำคัญในประเด็นของความมั่นคงใหม่ ให้รัฐและสังคมไทยได้ตระหนักมากขึ้น เพราะในยุคหลังสงครามเย็นแล้ว ประเด็นความมั่นคงมีลักษณะใหม่เช่นที่พระองค์ได้ทรงวางรากฐานไว้ตั้งแต่ในอดีต

ความมั่นคงในมิติที่เกิดจากอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านเช่นนี้แหละที่ได้กลายเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาและความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดกับสังคมไทยในอนาคต