เทศมองไทย : ตำรวจกับเอฟบีไอ ไทยกับสหรัฐอเมริกา

AFP PHOTO / Brendan Smialowski

ระหว่างนี้เว็บไซต์ fbi.gov กำลังนำเสนอรายงานเป็นซีรี่ส์ที่ให้ชื่อว่า “รีพอร์ต ฟรอม ไทยแลนด์” ทยอยออกมาเป็นตอนๆ ตอนแรกเผยแพร่ออกมาเมื่อ 16 กันยายนที่ผ่านมา ตอนล่าสุดเป็นตอนที่ 3 เผยแพร่เมื่อ 6 ตุลาคมที่ผ่านมานี่เอง ยังคงหลงเหลือตอนสุดท้ายอีกตอน

เรื่องราวที่บอกเล่าผ่านรายงานชุดนี้มีคุณลักษณะน่าสนใจหลายอย่างด้วยกัน

แรกสุด เรื่องนี้เป็นความพยายามที่ “ชัดเจนที่สุด” และ “เป็นรูปธรรมมากที่สุด” ครั้งหนึ่งในอันที่จะแก้ไขปัญหาที่คาราคาซังมานานของไทย ที่แฝงตัวอยู่ราวกับเป็นเป็นองคาพยพส่วนหนึ่งของ “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว” ที่กำลังขึ้นหน้าขึ้นตา ในฐานะเป็นอุตสาหกรรมทำรายได้เข้าประเทศเป็นกอบเป็นกำอยู่ในเวลานี้มานานนักหนาแล้ว

นั่นคือปัญหาการค้ามนุษย์ เปลี่ยนมนุษย์ให้เป็นสินค้า เพื่อนำมา “ขาย” บริการทางเพศแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ยิ่งนับวันยิ่งหนักหนาสาหัสมากขึ้นเพราะ “ความต้องการ” ของ “ผู้ซื้อ” มากตัณหาเหล่านั้นยิ่งอายุน้อยลงน้อยลงเรื่อยๆ ทำให้ปัญหา “ขายเด็กเพื่อให้บริการทางเพศ” เป็นปัญหาใหญ่มากขึ้นทุกทีในองค์รวมของปัญหาค้ามนุษย์

ตั้งแต่ย่าน “เรดไลต์” ทั้งหลายในกรุงเทพฯ ละแวกหน้าบันเทิงสถานในเชียงใหม่ ไปจนถึงบางซอกบางหลืบของ “วอล์กกิ้ง สตรีต” ที่แหล่งท่องเที่ยวระดับโลกอย่าง “พัทยา”

 

ประเด็นน่าสนใจถัดมาก็คือกรณีนี้เป็นความร่วมมือกันโดยตรงระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจของไทยกับสำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) และกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (เอชเอสไอ) กับสำนักงานที่ดูแลเรื่องปัญหาค้ามนุษย์และมีส่วนในการจัดทำรายงาน สถานการณ์ค้ามนุษย์ หรือ ทิปรีพอร์ต เป็นประจำทุกปีซึ่งมีชื่อว่า สำนักงานเพื่อการบังคับใช้กฎหมายและยาเสพติดระหว่างประเทศ (ไอเอ็นเอล) ในสังกัดกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา

ทางหนึ่งนั้น สะท้อนถึงการตระหนักว่าปัญหาค้ามนุษย์ โดยเฉพาะในกรณีของ “เซ็กซ์เทรด” ที่ว่านี้เป็น “ปัญหาร่วม” ของทั้งประเทศต้นทางของนักท่องเที่ยวผู้ซื้อบริการ และผู้ให้บริการปลายทาง ในอีกทางหนึ่งนั้นสะท้อนให้เห็นว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติของไทยและรัฐบาลไทย จริงจังกับเรื่องนี้ และถือเอากรณีนี้เป็นปัญหา “เร่งด่วน” ถึงขนาดออกปากขอความช่วยเหลือและ “ความชำนัญพิเศษ” จากทางสหรัฐอเมริกา

ซึ่งได้รับคำตอบจาก กลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยว่า “ความเร่งด่วนที่เกิดขึ้นมาใหม่นี้ควรตอบรับด้วยความยินดีอย่างยิ่ง”

ท่านทูตบอกว่าสิ่งที่ยอดเยี่ยมก็คือ สหรัฐอเมริกาเองก็มีทั้งความเชี่ยวชาญของหน่วยงานอย่าง เอฟบีไอ และเอชเอสไอ และไอเอ็นแอล รวมทั้ง “ทรัพยากร” ในอันที่จะช่วยเหลือให้โครงการเพื่อการแก้ไขปัญหานี้เป็นไปได้ขึ้นมาอยู่พอดี

 

ความน่าสนใจถัดมาก็คือผลลัพธ์ที่เกิดจากความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหานี้ร่วมกันดังกล่าว กลายเป็นโครงการแก้ปัญหาค้าประเวณีเด็กโครงการแรกในไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยึดถือ “เหยื่อ” เป็นศูนย์กลางในการแก้ปัญหา

การเป็นศูนย์กลางของเหยื่อ ก็คือ ในทุกคดีที่เกิดขึ้นจำต้องคำนึงถึงตัวเหยื่อผู้ถูกล่วงละเมิดเป็นลำดับแรก ไม่ใช่พุ่งเป้าไปที่ตัวผู้กระทำผิดแล้วละเลยเหยื่อไปโดยสิ้นเชิง เนื่องจากหลายต่อหลายครั้งที่เหยื่อเหล่านี้มีเพียงเสื้อผ้าชุดเดียวติดตัว หลายคนไม่มีที่จะไป ไม่มีแม้ที่พักพิงชั่วข้ามคืน ในเวลาเดียวกันยังจำเป็นต้องคำนึงถึงอนาคตและความปลอดภัยของเหยื่ออีกด้วย

แนวทางแก้ปัญหาแบบใหม่นี้ถอดแบบมาจากโครงการ “วิกติม แอสซิสแทนซ์” ของเอฟบีไอ ที่ไม่เพียงให้ที่พักพิงกับเหยื่อในระยะยาวยังให้ความช่วยเหลือในทุกๆ ด้านเพื่อให้สามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมั่นคงในอนาคต ให้เหยื่อมีความรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย มีความมั่นคงทั้งร่างกายและจิตใจ จัดให้เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาในการพูดคุยกับเหยื่อเพื่อซักถามข้อมูลเกี่ยวกับรูปคดี ที่ถ่ายทอดสดให้ตำรวจผู้ทำหน้าที่สอบสวนและพนักงานอัยการรับฟังในคราวเดียวกัน ป้องกันไม่ให้เหยื่อรู้สึกเหมือน “ถูกชำเราซ้ำซาก” ระหว่างการสอบปากคำอีกด้วย

โครงการทำนองนี้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายๆ ด้าน ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา และองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งเริ่มต้นเป็นรูปธรรมขึ้นในไทยเป็นครั้งแรกแล้วตั้งแต่ต้นปี

โครงการนี้เอฟบีไอนำมาใช้ได้ผลดีเยี่ยมทั้งในการลดปัญหาค้าประเวณีเด็ก และทั้งในทางด้านการดำเนินคดีเอาผิดกับผู้กระทำผิด และเชื่อมั่นว่าน่าจะได้ผลในทำนองเดียวกันหากจริงจังกันในประเทศไทย และถ้าประสบความสำเร็จในไทย โครงการนี้จะถูกขยายออกไปในอีกหลายประเทศ

เพราะทูตเดวีส์เองยืนยันว่า ปัญหานี้ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในไทยเท่านั้น เป็นปัญหาใหญ่ในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ด้วยเช่นเดียวกัน