หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ / ‘ชีวิตดีดี’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
หมีควาย - หมีควายตัวนี้ เป็นหนึ่งในหมีที่เคยอยู่ในอุตสาหกรรมการค้าน้ำดีหมี

หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ

 

‘ชีวิตดีดี’

 

กรุงฮานอย

ปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2561

14:50 นาฬิกา

หมีควายโตเต็มวัยตัวนั้น ยกตัวขึ้นยืนด้วยสองขาหลัง แหงนหน้าอวดเขี้ยวสีขาวอมเหลือง ที่ขวางกั้นระหว่างหมีกับผมคือซี่กรงเหล็ก ซึ่งเป็นสีแดงเพราะคราบสนิม

หมีส่งเสียงเบาๆ ขยับหัวไปมา ขนสีดำกระด้าง ฝ่าตีนที่เกาะลูกกรงหยาบกระด้างและมีรอยแตก ผลจากการต้องเหยียบย่ำอยู่บนพื้นปูนแข็งๆ ตลอดเวลา

ด้านซ้ายและขวา รวมทั้งด้านหลัง มีหมีอีกหลายตัว บางตัวเดินไป-มาในกรงที่ขยับตัวลำบาก บางตัวหมอบจ้องมองผู้มาเยือนนิ่งๆ กลิ่นปฏิกูลโชย

“หมีเหล่านี้มีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนมากแล้วนะครับ” นายสัตวแพทย์กรัณ กุกเรยา ผู้จัดการฝ่ายโครงการสัตว์ป่า (หมี) องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) ประเทศไทย พูดเบาๆ

แม้ว่าจะติดอยู่ในกรง แต่พวกมันคือส่วนหนึ่งของหมีที่หลุดพ้นจากการเป็นหมีซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมค้าดีหมีแล้ว

เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.1990 ในประเทศเวียดนาม เกิดฟาร์มเลี้ยงหมีเพื่อดูดเอาน้ำดี

หมีถูกขังในกรงแคบๆ ขาดสุขอนามัย เครียด และหวาดกลัว

เมื่อคนต้องการน้ำดี เขาจะใช้เหล็กแหลมเป็นท่อยาวราวหนึ่งฟุต เจาะเสียบเข้าไปในท้องหมีเพื่อดูดเอาน้ำดีออกมา

นี่คืออุตสาหกรรมที่ทำรายได้งาม กลุ่มลูกค้าหลักๆ เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ผู้ซึ่งยังหลงเชื่อว่าน้ำดีหมีมีสรรพคุณครอบจักรวาล ทั้งช่วยรักษาโรคร้าย และบำรุงพละกำลัง

น้ำดีหมี 1 มิลลิกรัม ราคาประมาณ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

หมีราว 4,000 ตัว ถูกพรากออกมาจากป่า ทนทุกข์ทรมานอยู่ในวงจรนี้ตลอดจนชั่วชีวิต

 

“ในปี 2005 เราพยายามเข้ามายุติวงจรอุบาทว์นี้ครับ” กรัณให้ข้อมูล

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเข้าเจรจากับรัฐบาลเวียดนาม เพื่อยุติอุตสาหกรรมค้าดีหมีและหยุดทรมานหมีที่เลี้ยงเพื่อลักลอบค้าน้ำดี

“รัฐบาลเวียดนามเห็นด้วยครับ เราจึงร่วมมือกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในเวียดนาม ชื่อ Education for Nature Vietnam (ENV) เพื่อหยุดอุตสาหกรรมนี้ให้ได้”

ความเอาจริงของรัฐบาลเวียดนาม โดยประกาศใช้กฎหมายห้ามเลี้ยงหมีเพื่อขายน้ำดี รวมทั้งบังคับให้เจ้าของฟาร์มต้องเลี้ยงดูหมีต่อไปจนกว่าหมีจะตาย แม้ว่าจะไม่มีรายได้จากการขายน้ำดีแล้ว

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก และ ENV ทำงานร่วมกัน

พวกเขาสามารถควบคุมจำนวนหมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการฝังไมโครชิปไว้ในตัวหมีกว่า 5,000 ตัว จาก 100 กว่าฟาร์ม ใน 4 จังหวัดของเวียดนาม เพื่อไม่ให้มีการลักลอบนำหมีมาเลี้ยงอีก

“เจ้าหน้าที่ของ ENV จะไปตรวจสอบในฟาร์มอย่างสม่ำเสมอครับ ถ้าพบว่ามีหมีตัวไหนไม่มีไมโครชิป แสดงว่าเป็นหมีที่เขานำมาเพิ่มอย่างผิดกฎหมาย” หมอกรัณอธิบาย

“ถ้าพบว่าหมีตาย เขาก็จะตรวจสอบอย่างละเอียดครับ เพราะการเลี้ยงอย่างไม่มีผลประโยชน์แล้ว พวกเจ้าของฟาร์มก็ถือเป็นภาระอย่างหนึ่ง”

มีเจ้าของฟาร์มหมีหลายรายพยายามเรียกร้องขอเงินค่าเลี้ยงดูหมี

“เป็นไปไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาพวกคุณมีรายได้จากหมีมามากแล้ว ถึงตอนนี้ต้องเลี้ยงดูพวกมันต่อไปอย่างดี จนหมีสิ้นอายุขัย” รัฐบาลเวียดนามตอบอย่างเฉียบขาด

“แต่ถ้าเจ้าของฟาร์มรายใดเลี้ยงไม่ไหว อยากส่งหมีให้เรา ทางเราก็ยินดีครับ เรามีศูนย์พักฟื้นหมีรองรับอยู่” หมอกรัณอธิบายเพิ่มเติม

ผลจากการทำงานอย่างเอาจริง

ล่าสุด หมีจำนวน 4,349 ตัวที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ ในปี 2005 เหลืออยู่เพียง 936 ตัว

“หมีส่วนหนึ่งยังต้องอยู่ในกรงแคบๆ ถ้าเจ้าของยังอยากเลี้ยง เราก็ปล่อยให้เลี้ยงครับ เพราะถ้าหาเงินมาซื้อเพื่อนำหมีไปไว้ในที่พักฟื้น ก็จะเป็นการสนับสนุนการซื้อขายสัตว์ป่าอย่างไม่สิ้นสุด”

กรัณตอบคำถามว่า ทำไมหมียังต้องติดอยู่ในกรง

การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่าย

“เราคุยกับทางรัฐบาลเพื่อกระตุ้นให้ใส่ใจและจริงจังกับการขยายพื้นที่เขตอนุรักษ์ ขยายแนวกันชนระหว่างพื้นที่ป่าและชุมชนด้วยครับ” หมอกรัณเล่าถึงการทำงานขององค์กร

 

ชายหนุ่มผิวขาวทรุดตัวลงนั่งหน้ากรงเหล็ก เขานั่งอยู่นาน หมีในกรงมีแผลบริเวณปาก มันเดินหันกลับไป- มาด้วยท่าทีหงุดหงิด

ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ ชายหนุ่มผิวขาว ในฐานะทูตองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ลุกขึ้นพูดเบาๆ กับผม

“บางทีการตายอาจเป็นหนทางที่ดีกว่ามีชีวิตอยู่แบบนี้นะครับ”

เปลี่ยนแปลงวิถีและความเชื่อที่มีมาอย่างยาวนาน ไม่ใช่เรื่องง่ายดาย

“แต่นี่พวกมันก็มีชีวิตที่ดีขึ้นแล้วนะ” ชายหนุ่มพูดต่ออย่างเข้าใจ

“ผมว่าหมีพวกนี้เป็นฮีโร่ของหมีอีกมากมายในป่าบนโลกนี้เลย เพราะถ้าเรายุติต้นทางโศกนาฏกรรมนี้ได้ หมีอีกหลายพันตัวรวมทั้งหมีในป่าบ้านเราก็จะไม่โชคร้าย ถูกจับมาเข้าขบวนการนี้นะครับ”

 

“ก็อย่างที่เรารู้กันแหละนะครับว่า เส้นแบ่งเขตแดนประเทศ ไม่ใช่เส้นแบ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่า” ในร้านกาแฟด้านนอกเป็นกระจกใส ฝาผนังเป็นปูนเปลือย หนุ่มสาวเวียดนามนั่งเต็มร้าน

นายสัตวแพทย์กรัณพูดกับผม

“องค์กรเราตั้งเป้าจะฝังไมโครชิปหมีในฟาร์มให้เสร็จในปี 2019 และกิจกรรมที่เราร่วมกับ ENV ที่ร่วมรณรงค์ เสริมสร้าง ความตระหนักรู้ให้คนเวียดนามหันมาใส่ใจ เพื่อยุติการบริโภคน้ำดีหมี ซึ่งมีคนนับแสนร่วมเข้าชื่อ เพื่อให้ยุติการเลี้ยงหมีเพื่อค้าน้ำดีแล้ว จึงมีแนวโน้มที่ดีขึ้นมากเลย” หมอกรัณพูดต่อ

“เงินบริจาคที่คนไทยและทั่วโลกให้การสนับสนุนองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เพื่อช่วยเหลือหมีที่ถูกทรมาน ถือเป็นการช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลกเราเลยนะครับ”

 

บนถนนในกรุงฮานอย รถสปอร์ตหรูราคาแพง ถูกห้อมล้อมด้วยมอเตอร์ไซค์ที่แล่นอย่างสับสนวุ่นวาย

ถนนกำลังก่อสร้าง ตึกสูงเรียงราย ดูเหมือนเมืองกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

ชายหนุ่มในรถสปอร์ตคุยโทรศัพท์ รถติดไฟแดง ข้างๆ หญิงวัยกลางคน สวมหมวกเวียดนาม จักรยานของเธอบรรทุกผักผลไม้

ผมนึกถึงสายตาของหมีควายที่เพิ่งจากมา

ในกรงแคบๆ พวกมันไม่สบายหรอก

แต่ด้วยความร่วมมือของคน วันหนึ่ง

“ชีวิตดีดี” อย่างแท้จริงของเหล่าสัตว์ป่าจะมาถึง