มองย้อนกลับ สองทศวรรษสังคมธุรกิจไทย ตอนที่ 2

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เหตุการณ์สำคัญ (ต่อ)

การปรับตัวธุรกิจไทยช่วง 2 ทศวรรษ หลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ สามารถมองผ่านดีลสำคัญ ไปสู่ปรากฏการณ์ใหม่

โดยเฉพาะปรากฏการณ์การปรับตัวธุรกิจใหม่ ธุรกิจซึ่งก่อตั้งขึ้นในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น ยุคโลกาภิวัตน์ เมื่อราวๆ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ธุรกิจซึ่งมีบทบาทสำคัญในภาพรวม

(โปรดพิจารณาเทียบเคียงกับข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ฯ ผลประกอบการตามหมวดธุรกิจสำคัญ ตามลำดับ-โดยเฉพาะหมวดธุรกิจที่เน้นไว้)

 

2549 ธุรกิจสื่อสารสั่นสะเทือน

ธุรกิจสื่อสารจุดพลุการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อ “เทมาเส็ก-ไทยพาณิชย์และกลุ่มนักลงทุนไทยร่วมซื้อหุ้นชินคอร์ปจากชินวัตรและดามาพงศ์” หัวข้อข่าวใหญ่แถลงต่อสื่อมวลชนไทย สร้างความครึกโครมและสั่นเทือนอย่างกว้างขวาง (คัดมาจาก Website ของ Temasek Holdings ซึ่งมีต้นฉบับภาษาไทยด้วย)

“กรุงเทพฯ/23 มกราคม 2549 – บริษัทเทมาเส็กโฮลดิ้งส์ (พีทีอี) จำกัด (“เทมาเส็ก”) ธนาคารไทย พาณิชย์ (เอสซีบี) และกลุ่มนักลงทุนไทยในนามของบริษัทกุหลาบแก้วได้บรรลุข้อตกลงกับตระกูลชินวัตรและตระกูลดามาพงศ์ในการซื้อหุ้นของทั้งสองตระกูลในบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (“ชิน”) จำนวน 1,487.7 ล้านหุ้น หรือ 49.6% ของหุ้นทั้งหมด ในราคาหุ้นละ 49.25 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 73.3 พันล้านบาท” เนื้อหาสำคัญที่อ้างมา

หลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน (มีนาคม 2549) Cedar Holdings และ Aspen Holdings เป็นกิจการถือหุ้นโดย Temasek และผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยอื่นๆ ออกแถลงข่าวผ่าน Website ของ Temasek Holdings อีกว่าได้บรรลุความสำเร็จในการเสนอซื้อหุ้นเอไอเอส ต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยในตลาดหุ้นไทยเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ถือว่าเป็นแผนสำคัญต่อเนื่องจากการซื้อกิจการชินคอร์ป โดยเชื่อกันว่าเป้าหมายสำคัญสู่ธุรกิจสื่อสารไร้สาย ในฐานะเจ้าของกิจการรายใหญ่ที่สุดของไทย

ในเวลาต่อมา Singapore Telecommunications หรือ SingTel ยักษ์ใหญ่ธุรกิจสื่อสารสิงคโปร์ได้เข้ามีบทบาทในฐานะผู้ถือหุ้นและการบริหาร

SingTel ถือหุ้นใหญ่โดย Temasek Holdings ซึ่งเป็นกิจการลงทุนของรัฐบาลโดยมีกระทรวงการคลังสิงคโปร์เป็นเจ้าของ Temasek ถือหุ้นในกิจการใหญ่ในสิงคโปร์ส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Singtel Singapore Technologies Singapore Airlines DBS Bank จนถึง CapitaLand”

SingTel ถือหุ้นใหญ่โดย Temasek Holdings ซึ่งเป็นกิจการลงทุนของรัฐบาลโดยมีกระทรวงการคลังสิงคโปร์เป็นเจ้าของ Temasek ถือหุ้นในกิจการใหญ่ในสิงคโปร์เป็นส่วนใหญ่ รวมทั้ง Singapore Technologies Singapore Airlines DBS Bank และ CapitaLand

ขณะในอีกมิติหนึ่ง “ให้ภาพว่า สังคมไทยเปิดโอกาสให้คน “หน้าใหม่” สามารถสร้างความมั่งคั่งอย่างเห็นเป็นรูปธรรม มีมูลค่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยใช้เวลาเพียง 2 ทศวรรษ” ผมเองเคยเสนอความคิดนี้ไว้

ความจริงแล้วธุรกิจสื่อสารเปิดฉากขึ้นอย่างจริงจังเพียงไม่ถึง 2 ทศวรรษก่อนหน้านั้น จากโอกาสผู้มาใหม่ในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น ตลาดหุ้นเฟื่องฟู กับโอกาสจากสัมปทานรัฐที่ซ่อนอยู่

และความจริงอีกเรื่องหนึ่ง ธุรกิจสื่อสารกับอิทธิพลต่างชาติ กรณีข้างต้นมิใช่กรณีแรก

DTAC แบรนด์ใหม่ของเครือข่ายเก่าของ TAC (โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น) เครือข่ายสื่อสารไร้สายรายที่สองของไทย เกิดการเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นและการบริหารครั้งสำคัญในปี 2543-2544 (ในยุคชวน หลีกภัย) โดยการเข้ามาของ Telenor Group ธุรกิจสื่อสารระดับโลกแห่งนอร์เวย์

การเข้ามาของ Telenor นอกจากเป็นการแก้ปัญหากิจการของตระกูลธุรกิจไทยที่เผชิญวิกฤตการณ์เศรษฐกิจครั้งร้ายแรงแล้ว ยังถือเป็นครั้งแรกของการเข้ามาของต่างชาติในธุรกิจสื่อสาร และอาจถือเป็นโมเดลต้นแบบที่ SingTel เข้ามาใน AIS ในอีก 5 ปีต่อมาด้วย

ธุรกิจสื่อสารไร้สายกับอิทธิพลต่างชาติ ไม่เพียงเป็นธุรกิจอิทธิพลใหม่ หากมีการพัฒนา ขับเคลื่อนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ การเติบโตธุรกิจสื่อสารไร้สาย หนึ่งในปรากฏการณ์และความเป็นไป เป็นกลไกผลักดันสังคมธุรกิจยุคใหม่

 

2549 “ความมั่งคั่งใหม่” พลิกผัน

ในช่วงเวลาเดียวกันกับผู้คนสนใจธุรกิจสื่อสารอย่างกว้างขวาง มีดีลสำคัญมากๆ เกิดขึ้นอย่างเงียบๆ

“การเข้าลงทุนใน TPI ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนเช่นเดียวกัน ไม่ได้มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เนื่องจาก ปตท. ลงทุนใน TPI ร้อยละ 31.5 ของหุ้นทั้งหมดของทีพีไอ โดยมีผู้ร่วมลงทุนรายใหญ่รายอื่น ได้แก่ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ธนาคารออมสิน กองทนรวมวายุภักษ์ 1 และกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้เงินกู้ จะถือหุ้นใน TPI รวมกันร้อยละ 38.5 ซึ่งจะเป็นกลไกหนึ่งในการรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทุกฝ่าย นอกจากนี้การเข้าลงทุนใน TPI ของ ปตท. จะช่วยเสริมความเข้มแข็งให้ TPI และกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นของ ปตท. เนื่องจากมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และครอบคลุมเกือบทุกประเภท ที่เป็นความต้องการของตลาดและสามารถเป็นก้าวกระโดดในการเป็นผู้นําในธุรกิจ” เหตุผลของ ปตท. นำเสนอไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบ 69-1) 28 กันยายน 2549 ทว่าในปัจจุบัน ปตท. ถือหุ้นเพิ่มเป็น 48.05% (ข้อมูลข้อสนเทศตลาดหลักทรัพย์ฯ อ้างข้อมูลเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2561)

ในเอกสารชุดเดียวกันนั้นได้อ้างการประชุมกรรมการในปี 2549 ว่าด้วยยุทธศาสตร์ธุรกิจปิโตรเคมี–Integrated Value Chain เป็นยุทธศาสตร์ที่แตกต่างจากแนวทางเมื่อ 3 ทศวรรษก่อนหน้านั้น ยุครัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ แนวทางผนวกพลังธุรกิจดั้งเดิมเข้ากับโอกาสใหม่ ผมเองเคยเรียกว่า “โมเดลความมั่งคั่งใหม่”

อันที่จริง ปตท. เคลื่อนสู่ทิศทางใหม่อย่างเงียบๆ กว่านั้นมาสักพัก

ตั้งแต่ปี 2546 การเข้าถือหุ้นใหญ่ในขั้นตอนสำคัญของอุตสาหกรรม (เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ถือหุ้น 63% ในไทยโอเลฟินส์และเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น) จากนั้นค่อยๆ เข้าครอบงำกิจการที่เกี่ยวข้อง ทั้งควบรวมกิจการ โดยเฉพาะธุรกิจในขั้นปลายน้ำของบรรดาธุรกิจกลุ่มนักลงทุนดั้งเดิม ก่อตั้งเมื่อ 2-3 ทศวรรษก่อนหน้า และกำลังเผชิญปัญหาอันเนื่องมาจากวิกฤติการณ์ต่อเนื่องจากปี 2540

ในปี 2549 ถือเป็นปียุทธศาสตร์ใหม่ก่อเป็นรูปร่างอย่างชัดเจน นั่นคือกิจการปิโตรเคมีทั้งวงจรเกือบทั้งหมด (ไม่รวมกิจการในเครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี) ตกอยู่ในกำมือ ปตท.

 

2556 โมเดิร์นเทรด ขยายอิทธิพล

โมเดลธุรกิจค้าสมัยใหม่ (Modern trade) โดยเฉพาะการค้าปลีกพัฒนาไปมากช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นเมื่อช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาเช่นกัน ด้วยการมาของเครือข่ายธุรกิจระดับโลก และเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างไม่สะดุด แม้ผ่านช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ

“ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น ประกาศความพร้อมเตรียมรับมือการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) หรือเออีซี ด้วยการลงทุนครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของบริษัท ซื้อกิจการบริษัทสยามแม็คโคร ผู้นำในธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าระบบสมาชิกแบบชำระเงินสดและบริการตนเองในประเทศไทยด้วยมูลค่าประมาณ 188,880 ล้านบาท” บทสรุปความเคลื่อนไหวสำคัญแห่งยุค โดยซีพี ออลล์ (http://www.cpall.co.th 23 เมษายน 2556)

ซีพี ออลล์ หนึ่งในกิจการเครือซีพี เจ้าของระบบแฟรนไชส์ 7-Eleven เครือข่ายร้านสะดวกซื้อ (convenience store) รายใหญ่ระดับโลกที่มีฐานจากสหรัฐ และเติบโตอย่างมากในญี่ปุ่น เช่นเดียวกับประเทศไทย ในช่วงทศวรรษแห่งการก้าวกระโดด (2545-2555) ถือเป็นความสำเร็จอย่างมาก การก้าวข้ามไปสู่โมเดลค้าส่งอย่าง Makro จึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เป็นโมเดลการเติบโตการค้าสมัยใหม่ในสังคมไทยด้วยโมเมนตัมรุนแรง การค้าสมัยใหม่กลายเป็นธุรกิจอิทธิพลใหม่ในสังคมไทยอย่างรวดเร็ว แรงปะทะรุนแรง ต่อการค้ารายย่อยดั้งเดิม

ในอีกมิติหนึ่ง เป็นโอกาสใหม่บรรดาเครือข่ายธุรกิจดั้งเดิม มาพร้อมกับการเข้าซื้อกิจการเครือข่ายธุรกิจระดับโลกในจังหวะเวลาล่าถอยจากเมืองไทย

จากนั้นอีก 3 ปี (2559) เครือข่ายธุรกิจอิทธิพลรายใหญ่อีกรายได้เดินทางตามกระแสและโอกาสดังกล่าว

เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ธุรกิจการค้าในโมเดลเดิมกำลังปรับตัวให้เข้าการค้ายุคสมัย ภายใต้เครือข่ายกลุ่มทีซีซีของเจริญ สิริวัฒนภักดี ก้าวไปอีกขั้นซื้อเครือข่าย BigC ในประเทศไทย จาก Casino Group แห่งฝรั่งเศส กลายเป็นกรณีซื้อขายกิจการในธุรกิจค้าปลีกที่มีมูลค่าสูงสุดที่สุดในระดับภูมิภาค

ธุรกิจในหมวดพาณิชย์ ในตลาดหุ้น กลายเป็นกลุ่มธุรกิจที่เติบโตที่สุด (พิจารณาจากรายได้ จากข้อมูลที่แนบมา) เติบโตถึง 3 เท่าในทศวรรษเดียว