เสฐียรพงษ์ วรรณปก : คนจะเป็นเช่นใดอยู่ที่ “กรรม” ทำมาอย่างไร

อยากชวนให้แฟนหนังสืออ่านหนังสือสักเล่ม ไม่เชิงหนังสือธรรมะ แต่อ่านแล้วได้ “ธรรมะ” แน่นอน ผมเชื่ออย่างนั้น

หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า “นานาทัศนะเกี่ยวกับพระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)” (ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ) 

สัมภาษณ์รวบรวมเรียบเรียงโดย ดร.สุนทร พลามินทร์ และชุติมา ธนะปุระ มูลนิธิพุทธธรรมจัดพิมพ์จำหน่าย

พระธรรมปิฎกเป็นใคร พระเถระและคฤหัสถ์ผู้คงแก่เรียนหลายท่านแสดงทัศนะหลากหลายเกี่ยวกับตัวท่านทำไม คำถามนี้หลายท่านคงทราบคำตอบแล้ว

แต่คงมีอีกหลายคนยังไม่ทราบ ขอเรียนให้ทราบไว้ ณ ที่นี้เสียเลย

เมื่อปลายปีที่แล้วองค์การยูเนสโกได้ประกาศให้รางวัลแก่พระธรรมปิฎก สาขาการศึกษาเพื่อสันติภาพ นับว่าเป็นคนไทยคนแรก และเป็นคนเอเชียคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้

ผู้ที่แสดงทัศนะ ผ่านการสัมภาษณ์บ้าง เขียนเองบ้างประกอบด้วย พระธรรมโกศาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) พระเมธีธรรมาภรณ์ พระมหาสิงห์ทน นราสโภ พระชยสาโร ศ.นพ.ประเวศ วะสี ศ.ดร.ระวี ภาวิไล อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ อังคาร กัลยาณพงศ์ ศ.สุมน อมรวิวัฒน์ รศ.ดร.สมศีล ฌานวังสะ อ.ชัชวาล ปุญปัน และเสฐียรพงษ์ วรรณปก

ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก  (ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ) หรือที่เรียกกันทั่วไปในหมู่ชาวพุทธไทยว่า “เจ้าคุณประยุทธ์” ท่านทำอะไรหรือ จึงปรากฏต่อสายตาและจิตใจขององค์การยูเนสโก จนถึงกับมอบถวายรางวัลอันทรงเกียรตินี้ คงไม่มีใครทราบ และไม่คาดคิดมาก่อนว่าฝรั่งมังค่าจะสนใจงานของท่าน

เพราะเท่าที่เราทราบ ท่านเจ้าคุณก็เป็นพระภิกษุรูปหนึ่งที่เทศน์สอนเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่ได้แสดงบทบาทเป็นผู้รณรงค์เรื่องสันติภาพอะไรจนถึงกับต้องให้รางวัล

พูดง่ายๆ ก็ว่า ท่านเจ้าคุณท่านสอนพระพุทธศาสนา มิได้มีบทบาทเด่นในเรื่องสันติภาพ

แต่ลองฟังคำประกาศสดุดีของประธานคณะกรรมการตัดสินรางวัลดูสิครับ เขากลับมองเห็นว่าการเทศน์สอนพระพุทธศาสนานี้แหละ เป็นการทำหน้าที่ให้การศึกษาเรื่องสันติภาพแท้จริง

“คณะกรรมการตัดสินรางวัลได้ลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ในการถวายรางวัล และผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การยูเนสโกก็ได้รับรองข้อเสนอของคณะกรรมการ พวกเราทุกคนเปี่ยมด้วยความชื่นชม สรรเสริญอย่างสูงสุดต่อแนวความคิดของท่านเจ้าคุณประยุทธ์ ปยุตฺโต ในเรื่องการศึกษาเพื่อสันติภาพ

แนวความคิดดังกล่าว เน้นความสำคัญยิ่งยวดของสันติภาพภายใน และเน้นความร่วมมือของมนุษย์ทุกคนที่จะรับผิดชอบร่วมกันแสวงหาวิธีการแก้ไขปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และศีลธรรมอย่างสันติ

ท่านเน้นความคิดที่ว่า สันติภาพเป็นค่านิยมที่ลึกซึ้งอยู่ภายใน เป็นค่านิยมของความเป็นมนุษย์ เกิดขึ้นจากพลังภายในของมนุษย์ และทอแสงออกมาให้ประจักษ์เมื่อได้สัมผัสกับผู้อื่น และในที่สุดก็จะสะท้อนออกมา มีผลต่อความสัมพันธ์ระดับนานาชาติ ระหว่างประชาชนและระหว่างรัฐ

เจ้าคุณประยุทธ์เสนอแนวปรัชญาใหม่ในการแก้ปัญหาสันติภาพสากล ซึ่งเป็นนวัตกรรมอันแท้จริง ข้าพเจ้าขอแสดงความปีติยินดีต่อท่านผู้ได้รับรางวัล และข้าพเจ้าขอถวายพรให้พระคุณเจ้ามีสุขภาพพลานามัยดี…”

ฟังแล้วก็ได้ความเข้าใจแจ่มแจ้งว่า แม้ว่าท่านเจ้าคุณจะทำหน้าที่เทศน์สอนพระพุทธศาสนา สอนตามแนวของพระพุทธศาสนาแก่ชาวพุทธเป็นส่วนใหญ่ แต่ “สาระ” แห่งคำสอนของท่านเน้นเรื่อง “สันติภาพ” อย่างยิ่ง

และการเน้นสันติภาพก็เป็นหลักการของพระพุทธศาสนา หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่า พระพุทธศาสนาสอนเรื่องสันติภาพ

และสันติภาพที่พระพุทธศาสนาย้ำเน้นก็คือ สันติภาพภายใน หรือสันติภาพทางจิตนั้นเอง

ท่านเจ้าคุณได้ย้ำสอนให้มนุษย์ทุกคนพยายามสร้างสันติภายในให้มากๆ เมื่อจิตใจมีสันติหรือมีความสงบแล้ว ความสงบนั้นก็จะฉายออกภายนอกผ่านกาย วาจา

คนที่มีการแสดงออกอันสงบทางกาย วาจา ก็จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนมนุษย์ในสังคมที่ตนอยู่ และแผ่ขยายวงกว้างไปถึงระดับนานาชาติ

ถ้าทุกคนในโลกปฏิบัติตามแนวทางนี้ โลกก็จะมีสันติภาพอย่างแท้จริง ท่านผู้กล่าวสดุดีจึงเน้นตอนท้ายว่า “ท่านเจ้าคุณประยุทธ์ ปยุตฺโต เสนอแนวปรัชญาในการแก้ปัญหาสันติภาพสากล ซึ่งเป็นนวัตกรรมอันแท้จริง”

สรุปแล้วเขามองเห็นว่า ท่านเจ้าคุณสอนพระพุทธศาสนาก็จริง แต่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนานั้นเน้นการสร้างสันติภาพภายใน หรือความสงบภายใน สอนแต่ละบุคคลให้สร้างสันติภาพภายในก็จริง แต่เมื่อแต่ละคนมีความสันติแล้ว การอยู่ร่วมกันก็พลอยสันติสุขไปด้วย สันติภาพสากลย่อมเกิดด้วยประการฉะนี้

แนวการคิดอย่างนี้ เป็นแนวที่คนตะวันตกส่วนมากคิดไม่ถึง เพราะส่วนมากมักจะคิดสร้างความสงบจากภายนอก บังคับให้คนอื่นสงบ บังคับให้สังคมสงบ โดยที่ตัวเองไม่ได้มีความสงบแม้แต่นิดเดียว สันติภาพแบบนี้มักจะมิใช่สันติภาพแท้จริง

แนวคิดที่ว่าอยากให้โลกทั้งโลกมีสันติภาพ ภายในใจของแต่ละคนต้องมีสันติภาพเสียก่อนนั้น เป็นแนวทางพระพุทธศาสนาที่ท่านเจ้าคุณนำเสนอ ท่านผู้กล่าวคำสดุดีถึงกับยกย่องว่าเป็น “นวัตกรรมอันแท้จริง” คือเป็นแนวคิด (ที่ฝรั่งเข้าใจว่า) “สร้างขึ้นใหม่” หรือ “แนวคิดใหม่” ซึ่งความจริงมิได้ใหม่อะไร พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนมานานแล้ว เพียงแต่ไม่มีผู้ย้ำเน้นกัน ท่านเจ้าคุณได้นำมาย้ำเน้นเป็นพิเศษกว่าคนอื่น

พระเถระและคฤหัสถ์ที่เอ่ยนามมาข้างต้น ใครแสดงทัศนะชื่นชมในพระธรรมปิฎกว่าอย่างไร คงไม่มีหน้ากระดาษพอจะนำมาถ่ายทอดให้อ่านกัน แฟนๆ ที่ใคร่รู้รายละเอียด ขอให้ไปหาหนังสือเล่มนี้อ่านเอาก็แล้วกัน

ส่วนที่ผมอยากจะเน้นก็คือ กรรมและวิบากแห่งกรรมของท่านเจ้าคุณ ท่านเจ้าคุณได้ทำกรรมอันเป็นกุศลหรือกรรมดีไว้มากมาย จึงได้รับวิบากหรือผลแห่งกรรมดีที่ทำไว้นั้น คือได้รับการยกย่องว่าเป็นพระนักปราชญ์ ผู้มีความเชี่ยวชาญในพระพุทธศาสนา ยากจะหาใครเหมือนในยุคปัจจุบัน

ความสำเร็จที่ว่านี้ มิใช่อยู่ๆ มันมีมาเอง แต่เป็นผลของการสร้างสรรค์ เป็นผลของการศึกษาอบรมมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานและต่อเนื่อง ลองย้อนหลังดูจะเห็นความจริงข้อนี้

สามเณรประยุทธ์ อารยางกูร ก่อนบวชได้เรียนจบมัธยมปีที่ 3 บวชมาแล้วมีวิริยะอุตสาหะอย่างยิ่ง เรียนนักธรรมและบาลีจนจบนักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรม 9 ประโยค

ขณะที่เรียนนักธรรมและบาลีอยู่นั้น สามเณรประยุทธ์ไปสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ด้วย เรียนควบคู่กันไประหว่างปริยัติธรรม (ธรรมะและบาลี) กับมหาวิทยาลัยสงฆ์ ซึ่งจะต้องให้ความพากเพียรอย่างหนัก พระ-เณรบางรูปไม่สามารถทำอย่างนี้ได้ เพราะ “หนักเกินไป”

แต่สามเณรประยุทธ์สามารถทำได้ ทั้งๆ ที่สุขภาพร่างกายไม่ค่อยจะแข็งแรง มีโรคประจำตัวหลายอย่าง หลังจากจบเปรียญ 9 ประโยคไม่กี่ปี ก็จบพุทธศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1)

จบแล้ว ท่านเจ้าคุณไม่ยอม “จบ” อยู่แค่นั้น ศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกมากขึ้น จนกระทั่งมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น ไม่ได้ค้นคว้าเฉพาะในแวดวงพระพุทธศาสนา ศาสตร์ต่างๆ ที่จำเป็น และเห็นว่าจะเป็น “สื่อ” สำหรับถ่ายทอดพระพุทธศาสนาได้ เช่น ปรัชญา จิตวิทยา ประวัติศาสตร์ ฯลฯ ท่านก็อ่านและศึกษาอยู่เสมอ

ตั้งแต่จบพุทธศาสตรบัณฑิตมา ท่านเจ้าคุณไม่เคยไปศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอกต่อเหมือนพระ-เณรอื่นๆ ไม่เคยผ่านการศึกษาจากต่างประเทศ แต่ที่น่าทึ่งก็คือ ภาษาอังกฤษของท่านเจ้าคุณ เป็นภาษาอังกฤษของผู้เชี่ยวชาญ ตัวท่านเรียกได้ว่าเป็น “นาย” ของภาษาอังกฤษอย่างแท้จริง แม้สำเนียงจะไม่เป็นฝรั่งเปี๊ยบ แต่ความรู้ความเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ นักปราชญ์ฝรั่งเองยังยกย่อง

ความสามารถอันน่าอัศจรรย์นี้ ท่านได้มาจากที่ไหน

ท่านฝึกฝนอบรมตัวเองตลอดเวลา ผสมกับมันสมองอันเป็นเลิศอยู่แล้ว ท่านจึงมีความสามารถทางด้านนี้อย่างน่าทึ่ง จนกระทั่งได้รับนิมนต์ไปสอนยังมหาวิทยาลัยดังๆ เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นต้น

ถ้าท่านย้อนดูความหลังแล้ว ท่านจะไม่แปลกใจดอกครับ ทำไมอดีตสามเณรน้อยที่สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงด้วยซ้ำจึงกลายเป็นนักปราชญ์ มีผลงานเป็นที่ยกย่องโดยทั่วไป

ความพากเพียรพยายามฝึกฝนตนเองด้วยปณิธานอันแน่วแน่นี้เอง ที่ได้สร้างสรรค์นักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ขึ้นในวงการพระศาสนา สมดังพระบาลีพุทธวจนะว่า

อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา บัณฑิตย่อมฝึกฝนตนเอง

เห็นหรือยังครับว่าคนเราจะเป็นอย่างไรอยู่ที่กรรมทำมาอย่างไร ท่านเจ้าคุณทำมาทางนี้จึงได้รับผลในทางนี้