รู้ชีวิต…ด้วยดวงดาว / “ศ. ดุสิต”/กาลีย่ำภพ

รู้ชีวิต…ด้วยดวงดาว / “ศ. ดุสิต”

อ่านอนาคตของคุณไม่ยากหรอก…แค่รู้จักดาว 10 ดวงเท่านั้น!

เรื่องลึกในโหราศาสตร์ไทยชุด ‘คลังโหร’

 

กาลีย่ำภพ

 

พูดถึง ‘กาลี’ คำนี้แล้ว เชื่อว่าไม่มีนักพยากรณ์คนไหนไม่รู้จัก เพราะทุกคนต่างก็รู้ดีว่าเจ้าตัวนี้คือตัวแสบที่สุดในการพยากรณ์ ไปอยู่ที่ไหนเดือดร้อนที่นั่น ใครๆ ก็รู้อย่างนี้กันทั้งนั้น แต่ที่อาจจะมีคนที่ไม่ค่อยรู้อยู่บ้างก็คือ–

อยู่ตรงนี้เดือดร้อนน้อย – อยู่ตรงนี้เดือดร้อนมาก – อยู่ตรงนี้ไม่เห็นเดือดร้อนเลย ฯลฯ

ที่ว่ามานี้เป็นเรื่องจริงครับ คือแม้จะเป็นกาลกิณีหรือกาลีเหมือนกัน แต่การไปอยู่ต่างที่กันกลับส่งผลที่ไม่เหมือนกัน หรือมีกาลกิณีมาทับลัคน์เหมือนกัน แต่ดวงนี้ไม่เดือดร้อนเลย อีกดวงหนึ่งกลับร้อนฉ่า มันเป็นเพราะอะไรกันล่ะ?

อ๋อ-ตอบไม่ยากเลย  มันก็เป็นที่ภพที่ดาวน่ะซีครับ

ภพกับดาวนี่แหละที่เป็นตัวการทำให้กาลกิณีทำงานไม่เหมือนกันได้ เดี๋ยวผมจะขยายให้ฟัง ตอนนี้มารู้จักกาลกิณีกันให้ดีซะก่อนดีกว่า ทำไมถึงเป็นกาลกิณีและทำไมบางทีถึงเป็นกาลี มันต่างกันยังไง?

 

กาลกิณี-กาลี ต่างกันยังไง?

 

คําตอบก็คือ กาลกิณี นั้นเป็นโดยภูมิของทักษาซึ่งมีระบุเอาไว้แล้วอย่างที่เรารู้กันนั่นแหละ คือนับจากดาววันเกิดของเราไปตกภูมิสุดท้ายตรงไหนภูมินั้นก็เรียกว่าภูมิกาลกิณี ภูมิเป็นภูมิของดาวใด ดาวนั้นก็เรียกว่าดาวกาลกิณี

กาลกิณีนั้นมีหน้าที่ที่เรารู้กันอยู่แล้วว่า จะส่งผลเสียหายหรือเดือดร้อนมาให้ดวงชาตา ที่ใดตรงไหนเป็นภพหรือเป็นที่ตั้ง ที่นั้นตรงนั้นก็เรียกว่าเป็นภพกาลกิณี เช่น ในดวงชาตาแบบโหราศาสตร์ ราศีใดตกเป็นกาลกิณีก็หมายถึงมีผลของ ‘กาลกิณี’ กระจายไปทั้งภพนั้น ดาวใดที่ลอยอยู่ในราศีนั้นหรือแม้แต่ที่โคจรเข้ามาชั่วคราวก็ต้องพิษของกาลกิณีด้วย เรียกว่ากาลกิณีนี้กินเนื้อที่กว้างขวางอยู่ เหมือนกับบ้านที่กำลังเล่นการพนันกำถั่วกันอยู่แล้วคุณไปยืนดู พอดีตำรวจเข้ามาจับกำถั่ว และจับคุณที่มายืนดูอยู่ด้วย แม้ว่าคุณจะไม่ได้เล่นกำถั่วกับเขาเลยสักนิดเดียว เป็นคนดีแท้ๆ แต่คุณก็ต้องพิษกาลกิณีโดนจับไปปรับด้วยเหมือนกัน

นี่คือการส่งผลของกาลกิณี

 

ส่วนที่เรียกว่า ‘กาลี’ นั้นมันก็คือกาลกิณีนั่นแหละ เพียงแต่เพี้ยนคำให้สั้นลงเป็นกาลีเท่านั้นเอง แต่ก็ยังมีความหมายที่แตกต่างออกไปอยู่บ้าง คือกาลีนี้เราใช้เรียกส่วนที่ร้ายกาจและแสดงผลต่อดวงชาตาหรือต่อเจ้าชาตาโดยตรง เช่น คุณขับรถถอยหลังไปชนประตูรั้วจนประตูพังไปแถบหนึ่ง คุณก็ลงมายืนเท้าสะเอวจ้องดูรถอย่างหัวเสียและเอ่ยออกมาอย่างลืมตัวว่า

“ไอ้รถกาลี ทำกูเสียเงินอีกแล้ว !” (ไม่รู้ว่าใครเป็นกาลีกันแน่)

แบบนี้แหละครับ คือเราเรียกส่วนที่สร้างผลนั้นว่าเป็นกาลี ในทางพยากรณ์เราก็มักใช้กับตัวดาวที่ทำหน้าที่กาลกิณีนั่นแหละเป็นตัวกาลี บางทีก็เรียกดาวกาลีซะเลยก็มี ก็เพราะดาวนั้นเป็นตัวส่งผลต่อดวงชาตา คือจรมาที่นั่นที่นี่และนำผลที่ไม่ดีมาให้ จึงเป็นตัวกาลีที่เรารู้จักกัน

พูดง่ายๆ อีกทีก็คือ กาลกิณีเป็นนามธรรม แต่กาลีนั้นเป็นรูปธรรม ว่างั้นเถอะ

 

ทีนี้รู้กันแล้วว่ากาลีกับกาลกิณีเป็นยังไง

ต่อไปก็มาถึง ‘กาลีย่ำภพ’ มันคืออะไร

ก็ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอะไรหรอกครับ ภพก็คือราศีหรือภพต่างๆ ในดวงชาตานั่นแหละ

กาลีมันย่ำเข้าไปที่ภพนี้ จะเกิดอะไรขึ้น ย่ำไปภพโน้นจะเสียอะไรอีก

เรื่องพรรค์ยังงี้ยังมีคนที่ไม่ค่อยเข้าใจกันอยู่หลายคน

โดยเฉพาะนักพยากรณ์มือใหม่มักจะงงๆ ว่าจะทายยังไงดี รู้ละว่ากาลีมันไม่ดี ต้องทายเสียแน่ๆ

แต่มันเสียอะไร, เสียแค่ไหนล่ะ?

ตรงนี้แหละครับที่น้องมือใหม่ยังอึดอัดอยู่ ผมก็จะมาขยายให้ฟังกันพอเป็นความรู้ให้กระจ่างหัวกันมั่ง ได้นิดหน่อยก็ยังดี

เพราะเรื่องอย่างนี้มันจะเข้าใจให้ลึกซึ้งได้นั้นต้องใช้เวลาหาประสบการณ์กันมากเหมือนกัน แค่อ่านบทความนี้หน่อยเดียวแล้วเข้าใจหมดก็ต้องค้อมหัวให้ว่าเป็นผู้ที่สุด Smart จริงๆ

ผมจะเริ่มฝอยเรื่องกาลกิณีกันเลยนะครับ

 

กาลกิณีให้โทษอย่างไร?

 

บอกแล้วว่าเรารู้จักกาลกิณีกันทั้งนั้น แต่เรารู้จักกันแค่ไหนล่ะ?

ก็แค่รู้ว่ากาลกิณีคือ ‘ตัวร้าย’ เท่านั้นเอง แต่ยังไม่ค่อยรู้ว่าร้ายแค่ไหนร้ายยังไง เพราะมันร้ายแต่ละที่แต่ละแห่งไม่เหมือนกัน

ดังนั้น จึงไม่แปลกเลยที่นักพยากรณ์หลายคนมองเห็นความร้ายกาจของกาลกิณีปานขุนเขา คือมันใหญ่โตมโหฬารมาก จ่อเข้าไปตรงไหนก็ทายเสียแบบ 100% ไปเลย

ทั้งที่ความจริงมันไม่ได้เสียถึงขนาดนั้น และทุกคนก็อยากรู้ตรงนี้แหละว่า ดูตรงไหนถึงจะกำหนดได้ว่ากาลกิณีจะร้ายเท่าใด?

แต่ผมบอกตายตัวลงไปไม่ได้หรอกครับว่า กาลกิณีมันร้ายแค่นั้นแค่นี้ อันนี้มันขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยในเรื่องนั้นตอนนั้น แต่ผมจะแจงตรงนี้แหละให้ฟังไปทีละขั้น

ขั้นต้น คุณต้องรู้เสียก่อนว่า กาลกิณีเป็นตัวร้ายก็จริง แต่มันไม่ได้ร้ายน่ากลัวเป็นยักษ์เป็นมารอย่างที่มีหลายคนคิดกันอยู่หรอก

จริงอยู่, บางเรื่องกาลกิณีก็ทำให้ถึงกับหักโค่นได้ แต่หลายเรื่องก็แค่นิดเดียวเท่านั้นเอง

ที่เป็นยังงี้ก็เพราะคุณสมบัติ (ที่จริงควรเรียกว่าโทษสมบัติ) ของกาลกิณีมันไม่ได้เป็นความร้ายชนิดฆ่าฟันกันให้ล้มตายลงไปหรือให้พินาศฉิบหายกันทั้งโคตรวงศ์อะไรอย่างนั้น

ความร้ายของกาลกิณีนั้นท่านถือว่าเป็นความร้ายที่ก่อให้เกิดอัปมงคลแก่เจ้าตัวที่ได้รับกาลกิณีเข้ามา คุณเคยได้ยินคำว่า “เสนียด, อัปรีย์, จัญไร ฯลฯ” บ้างไหมล่ะ

นี่แหละครับ ความร้ายแบบนี้แหละเป็นตัวหลักของกาลกิณีเขาละ

เมื่อสิ่งเหล่านี้มันไปผสมกับความชั่วร้ายอื่นๆ เข้าอีก มันก็เลยถูกดึงเอาเข้าไปเป็นองค์แห่งความร้ายอันนั้นเลย อะไรๆ ก็เลยกลายเป็นกาลกิณีไปหมด ทั้งที่บางเรื่องบางอย่างมันไม่ใช่กาลกิณีซักนิดเดียว

ดังนั้น การที่คุณถอยรถชนประตูรั้วจึงไม่ใช่กาลกิณี หรือคุณเดินไปหกล้มหัวเข่าแตกก็ไม่ใช่กาลกิณี แต่เป็นเรื่องดวง (ชาตา) ไม่ดีของคุณเอง

แต่ถ้าช่วงหนึ่งคนในบ้านของคุณเกิดเจ็บป่วยกันขึ้นมาพร้อมกันสามสี่คน ยังงี้อาจจับเอาเป็นเรื่องของกาลกิณีได้

คือคุณอาจได้รับพิษของกาลกิณีมาเข้าตัวไว้แล้วพิษมันแสดงผลขึ้นมา

แบบที่ชาวบ้านพูดกันว่า บ้านนี้เป็นบ้านกาลกิณี หรือเป็นบ้านที่มีตัวกาลีอยู่ มันถึงเดือดร้อนยังงี้

 

ที่ผมยกตัวอย่างมานี่ก็เพื่อให้เห็นว่า พิษของกาลกิณีนั้นเป็นยังไง แต่พิษของกาลกิณีก็ไม่ได้มีแค่นี้หรอก มันมีมากกว่านี้อีกเยอะ ผมยกหมดไม่ไหว

เพียงแต่บอกได้ว่า ถ้าเป็นการทำงานของกาลกิณีแล้วมักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความไม่เป็นมงคลของชีวิตมากกว่าอย่างอื่น

ในวิชาโหราศาสตร์หรือเลข 7 ตัวนั้นไม่มีกาลีหรือกาลกิณีร่วมอยู่ด้วยเลย เราเอานิยามนี้มาจากทักษาทั้งดุ้นเลยครับ และทักษาก็กำหนดนิยามกาลกิณีว่าเป็นนิยามร้าย ใช้พยากรณ์ในทางร้ายทางเสื่อม ซึ่งแต่แรกก็ใช้ทายผลเสียทางด้านอัปมงคลนั่นแหละ

เช่น มีแมวดำโดดข้ามโลงศพแล้วคุณเอาแมวตัวนั้นมาเลี้ยงไว้ เขาก็ถือว่าคุณเอากาลกิณีเข้าบ้านแล้ว

ทีนี้ต่อมามีเหตุร้ายอะไรเกิดขึ้น เขาก็เหมาเอาว่าเพราะคุณเลี้ยงไอ้ตัวกาลีไว้นั่นแหละจึงเป็นเหตุให้คุณเดือดร้อน

ต่อมาก็เลยใช้คำกาลีนี้กับสิ่งร้ายทุกเรื่องที่เกิดขึ้น แล้วก็ติดกันมาจนถึงบัดนี้แหละครับ

กลายเป็นว่า เดี๋ยวนี้กาลกิณีคือสิ่งร้ายทั้งปวง ไม่ยกเว้นอะไรทั้งสิ้น กาลี (นามในภาคหนึ่งของพระแม่อุมา) ก็เป็นไอ้ตัวร้ายทั้งหลายทั้งปวงไปด้วยเช่นกัน

เป็นอันว่า บัดนี้เรายอมรับกันแล้วว่า กาลีคือตัวร้ายที่เราใช้ทายกันในการพยากรณ์ทุกแบบนะครับ

และที่ผมจะได้กล่าวต่อไป ก็จะว่าถึงเฉพาะบทของกาลกิณีแค่นี้แหละ ว่าได้บรรจุความร้ายกาจเอาไว้อย่างไรแค่ไหน และในยามที่เขาโคจรไปยังภพต่างๆ ในดวงชาตานั้นจะมีผลเป็นยังไงกันมั่ง โดยจะใช้ดาวที่ถูกกำหนดให้เป็นกาลกิณีนั่นแหละเป็นตัวแสดง

เริ่มเลยนะครับ

 

กาลกิณีกำเนิด

 

ตัวนี้หมายถึงกาลกิณีที่ติดมากับดวงเดิมเลยนะครับ คือเป็นตัวดั้งเดิมที่เป็นกาลกิณีวันเกิดของเราเอง เมื่ออยู่ในดวงเดิมก็แปลว่าเขาจะไม่เคลื่อนย้ายไปไหนอีก คงที่อยู่ในดวงเดิมนั่นแหละ คุณสมบัติของดาวนั้นเป็นอย่างไรก็คงเป็นอย่างนั้นตลอดไป แต่ภพอาจเปลี่ยนได้นะแม้จะเป็นดวงเดิมก็ตาม คือเปลี่ยนไปตามลัคนาจรที่เราเคลื่อนไปปีละราศีนั่นแหละครับ พิษของกาลีหรือกาลกิณีตัวนี้ก็เปลี่ยนไปตามหน้าที่ของภพนั้นด้วย แต่คุณสมบัติของดาวยังคงเดิม

“เอ๊ะ-ชักงง ภพเปลี่ยนแต่คุณสมบัติไม่เปลี่ยน มันแปลว่ายังไงล่ะครับ ‘จารย์?”

อยากรู้ก็ต้องติดตามอ่านกันในตอนหน้านะครับ มันไม่ใช่ของยากอะไรหรอก มันเป็นแค่แง่มุมหนึ่งของการพยากรณ์เท่านั้นเอง