คำ ผกา : โลกลี้ลับ

คำ ผกา

ก่อนหน้าจะมีเรื่องเด็ก 13 คนติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำ-นางนอน

เรื่องหนึ่งที่เป็นประเด็นร้อนทางสังคม วัฒนธรรมที่อยู่ในสื่อคือเรื่องร่างทรง และนำมาสู่ข้อถกเถียงว่า ความงมงาย ความเชื่อทางไสยศาสตร์เหล่านี้ จะเป็นตัวเหนี่ยวรั้งทำให้สังคมไทยไม่เจริญก้าวหน้า ห่างไกลจากความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นเหตุ เป็นผลหรือไม่

หลายคนก็ไม่เข้าใจว่า ในขณะที่เรามีชีวิตอยู่กับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อินเตอร์เน็ต มีสมาร์ตโฟนใช้กันถ้วนหน้า ทำไมเราจึงยังเชื่อในไสยศาสตร์ เชื่อร่างทรง คนทรง ที่ไม่ว่าจะมองด้วยมุมไหนก็เห็นกันชัดเจนว่าโกหก หลอกลวง

และการทรงของคนที่อ้างว่าเป็นเจ้าเข้าทรงก็พิสดารไปจนน่าขบขันไปเรื่อยๆ เช่น คนทรงคลีโอพัตรา หรืออะไรที่ประหลาดคล้ายๆ กัน

จนมาถึงกรณีเด็กติดถ้ำหลวง หลังจากที่คนทรงพยายามจะเข้าไปมีบทบาทในการวิเคราะห์ว่าเด็กไปติดในถ้ำเพราะไปลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เรื่อยไปจนถึงการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ และอื่นๆ อันนำไปสู่บทสนทนาที่น่าสนใจว่า เราจะวางความเชื่อ ความศรัทธาต่อสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่านี้ไว้ที่ไหน

และเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อความเจริญก้าวหน้า สติปัญญาของคนไทยจริงหรือไม่?

จะว่าไป นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย (และในอีกหลายสังคมในโลกนี้)

โลกสมัยใหม่นั้นมองว่า การค้นพบทางวิทยาศาสตร์นั้นปลดปล่อยมนุษย์ออกจากอวิชชา เช่น คนเราป่วยเพราะเชื้อไวรัส แบคทีเรีย ไม่ใช่เพราะถูกสาปจากแม่มด หรือน้ำท่วม แผ่นดินไหวนั้นอธิบายได้ด้วยความรู้ทางภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา การพยากรณ์อากาศที่แม่นยำขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้มนุษย์รู้ว่าทุพภิกขภัยเหล่านั้นที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพราะเหตุอาเพศ

ไม่ใช่เพราะใครไปทำอะไรไม่ดี ไปก่อความขึดความเข็ญให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทวดาฟ้าดินไม่พอใจ จึงบันดาลน้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด มาลงโทษมนุษย์

เมื่อวิทยาศาสตร์ปลดปล่อยมนุษย์ออกมาจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทวดา พระเจ้า ผี แม่มด มนุษย์ย่อมตั้งคำถามต่อความเชื่อ ความศรัทธา เช่น บนฟ้าไม่ใช่สวรรค์ ใต้ดินไม่ใช่นรก พระเจ้ามีจริงหรือเปล่า

สังคมตะวันตกที่ค้นพบความลับของจักรวาล ค้นพบไวรัส แบคทีเรีย ประดิษฐ์เครื่องบิน หลอดไฟ ค้นพบวิธีเดินเรือจากซีกโลกหนึ่งไปยังอีกซีกโลกหนึ่ง ค้นพบวัคซีน ยารักษาโรคที่ทันสมัยมากขึ้นเรื่อยๆ และก้าวหน้าต่อมาถึงขั้นสร้างยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ จนมาถึงยุคปัจจุบันที่เรากำลังจะต้องมีชีวิตร่วมกับหุ่นยนต์ที่มีความเป็นมนุษย์ มีสมองคิดได้เอง และเผลอๆ จะคิดได้ซับซ้อนกว่าเรา

มนุษย์ที่มีชีวิตในสังคมที่หันหลังให้กับความงมงาย จึงเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ เชื่อว่ามนุษย์คือผู้กำหนดชะตากรรมของตนเอง ออกแบบชีวิตได้

หรือพูดให้สั้นคือ พรหมลิขิตไม่มีจริง

มีแต่เราที่เป็นเจ้าของชีวิตของเรา และมนุษย์คนอื่นๆ ที่อยู่ร่วมสังคมร่วมชุมชนกับเราเท่านั้นที่จะช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตของเราทุกคนได้

ความเชื่อในศักยภาพของมนุษย์เดินดินด้วยกันนี่เอง ที่สั่นคลอนอำนาจของศาสนจักรในยุโรป จึงนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง

จนทำให้เราเรียกสังคมที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นว่าสังคม “สมัยใหม่”

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ยุโรปเคลื่อนเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ ดินแดนอื่นๆ ในโลกใบนี้ยังมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความเชื่อในสิ่งลี้ลับ ไสยศาสตร์ กรรมเวร พรหมลิขิต ชีวิตที่เลือกไม่ได้ คนเราป่วยและตาย อาจเป็นเพราะไปทำอะไรให้เจ้าป่าเจ้าเขาเจ้าที่โกรธขึ้ง น้ำท่วม แผ่นดินไหว สุริยุปราคา ต่างล้วนเป็นทั้งเหตุอาเพศ หรือเป็นลางบอกเหตุสำคัญอะไรบางอย่าง

เมื่อเกิดโรคระบาด มีคนตายไปครึ่งเมือง สิ่งที่ต้องทำคือจัดพิธีกรรมบวงสรวงเทวดา เพื่อขอขมา หรือขอพร

เมื่อคนยุโรปเข้ามาในดินแดนที่ยังมีความเชื่อเช่นนี้ พวกเขาจึงเห็นว่า ที่คน “พื้นเมือง” เหล่านี้ยังล้าหลัง ยังโง่ ยังเจ็บป่วย ยังอายุขัยสั้นก็เพราะความงมงาย และการขาดความรู้ในวิทยาศาสตร์

พวกเขาจึงทำสองอย่างคือ ในเมื่อคนพื้นเมืองดูไม่มีความเป็นคนเต็มคน เราจึงต้องเข้าไปปกครอง และใช้คนพื้นเมืองเหล่านั้นในฐานะแรงงานเหมือนใช้วัวใช้ควายเพื่อสร้างกำไรให้เราเสียดีกว่า

หรืออีกทางหนึ่งก็บอกว่า เราซึ่ง enlighten มาก่อนน่าจะเข้าไปให้การศึกษาแก่คนพื้นเมือง พวกเขาจะได้ฉลาดขึ้น หลุดพ้นจากการถูกหลอกลวงจากความเชื่อไร้เหตุผล และเผื่อจะพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้

คนพื้นเมืองที่ได้มีโอกาสได้รับการศึกษาแบบตะวันตก ในส่วนที่เป็นชนชั้นนำนั้นก็ได้พยายามทำตัวเองให้เป็นผู้รู้แจ้ง และเป็นผู้รักในวิทยาศาสตร์ วิทยาการ เหตุและผล ดั่งชาวตะวันตก เพื่อจะเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก

ขณะเดียวกันก็ไม่อยากให้คนพื้นเมืองคนอื่นๆ ได้รู้แจ้งเหมือนตน จึงพยายามกีดกันให้คนพื้นเมืองทั่วไปไม่ได้เข้าถึงการศึกษา

และจะดียิ่งขึ้น หากคนพื้นเมืองอื่นๆ ยังเป็นผู้งมงายในไสยศาสตร์อยู่

เพราะหายงมงายขึ้นมาเมื่อไหร่ จะลุกขึ้นเรียกร้องอะไรเยอะแยะ รังแต่จะสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย

อย่างไรก็ตาม ในทุกสังคมก็มักจะมีชนชั้นนำปลายแถวบ้าง ชนชั้นกลาง หรือชนชั้นล่างที่มีโอกาสได้สัมผัสกับความรู้ วิทยาศาสตร์ วิทยาการในทางใดทางหนึ่ง

คนเหล่านี้เมื่อ “รู้แจ้ง” แล้ว มักโกรธขึ้งแทนคนพื้นเมืองคนอื่นๆ ว่า พิโธ่ เราถูกหลอก ทำไมถึงยอมให้เขาหลอก

คนพื้นเมืองเหล่านี้ภายหลังจะพยายามผันตัวเองเป็นนักปฏิวัติบ้าง

นักต่อสู้เพื่อการเป็นอิสระจากเจ้าอาณานิคมบ้าง

และสิ่งที่พวกเขาและพวกพ้องทำมากที่สุดคือพยายามจะเขียนหนังสือ แต่งหนังสือ ให้คนหลุดพ้นจากอวิชชาที่เป็นไสยศาสตร์ต่างๆ

ที่น่าสนใจคือ ในแต่ละสังคมมีระดับความต้องการหลุดพ้นจาก “อวิชชา” ต่างๆ เหล่านี้ในระดับที่แตกต่างกัน

เช่น สังคมคอมมิวนิสต์ มองว่าศาสนาคือการมอมเมา คือยากล่อมประสาท และต้องการเอาศาสนาออกไปจากสังคมโดยสิ้นเชิง

จีนในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมนั้น แม้แต่พิธีไหว้เจ้าไหว้บรรพบุรุษก็ถูกห้ามโดยอำนาจรัฐ

แต่ในบางสังคมมองว่า ศาสนาคือสิ่งพยุงศีลธรรม ศาสนาทำให้คนเป็นคนดี แต่มีข้อแม้ว่าศาสนานั้นต้องบริสุทธิ์ ไม่แปดเปื้อน มีถูกพวก “ไสยศาสตร์” ฉวยใช้ไปทำมาหากิน หรือหลอกลวงประชาชนอย่างผิดๆ

ดังนั้น จึงต้องชำระศาสนา ปฏิรูปศาสนา ทำให้ศาสนามีความ “แท้” ใกล้เคียงกับที่พระศาสนาได้สอนเอาไว้ ไม่ผิดเพี้ยน

เช่น ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในละตินอเมริก หรือในฟิลิปปินส์ ก็จะถูกโจมตีจากปัญญาชนว่า เป็นโรมันคาทอลิกที่ถูกทำให้เพี้ยนโดยความเชื่อไสยศาสตร์ของคนพื้นเมือง ชอบไปทำให้มีเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ

อย่างรูปปั้นพระแม่มาเรียที่น้ำพระเนตรไหลออกมาเป็นเลือด – เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ปัญญาชนเห็นว่าไม่ถูกต้อง เราควรนับถือศาสนาที่คำสอน ไม่ใช่ที่อิทธิปาฏิหาริย์

สังคมไทยก็คล้ายกัน ปัญญาชนของไทยนับแต่ปลายศตวรรษที่สิบเก้า เห็นว่าศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาที่ไม่เชื่อในเรื่องลี้ลับ สิ่งศักดิ์สิทธิ์

แต่ที่ศาสนาเพี้ยนๆ ไปเพราะไปปนกับศาสนาผีของคนพื้นเมือง

ดังนั้น จึงมีความพยายามจะปฏิรูป หรือชำระพุทธศาสนาไม่ให้แปดเปื้อนด้วยความเชื่อเรื่องผีสางนางไม้ของคนพื้นเมือง

ยิ่งปัญญาชนในยุคหลังๆ ยิ่งคลั่งไคล้ว่า ศาสนาพุทธคือศาสนาแห่งเหตุผล เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นฟิสิกส์

พระที่ดีคือพระที่แน่วแน่ในความเป็นเหตุเป็นผลในหลักคำสอน

พระที่ไม่ดีคือพระที่หลอกลวงประชาชนด้วยเครื่องรางของขลัง สิ่งศักดิ์สิทธิ์

จากนั้นปัญญาชนก็ยังมีพระปัญญาชนที่ตนเองนับถือ และสบายใจว่าศาสนาที่ตนเองยึดถืออยู่นั้นยืนอยู่บนความเป็นวิทยาศาสตร์และความเป็นเหตุเป็นผล

แต่ที่ทำให้ดีเบตเรื่องนี้น่าสนใจมากขึ้นไปอีก เมื่อโลกเข้าสู่ความเป็นหลังสมัยใหม่ ความเป็นเหตุเป็นผลแบบโลกสมัยใหม่เริ่มถูกตั้งคำถามว่า คนที่ยึดมั่นในเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์นี่เป็นพวกมองโลกขาว-ดำ มองไม่เห็นความซับซ้อนของมนุษย์

ที่บางทีมีชีวิตอยู่ด้วยการต่อรองกับอำนาจหลายๆ แบบที่อยู่รอบๆ ตัวเอง ยิ่งคนที่อ่อนแอ ไร้อำนาจยิ่งต้องหาทางต่อรองหลายแบบหลายระดับ บางครั้งสิ่งที่พวกเขาทำหรือเชื่อ ที่ในสายตาของปัญญาชนดูว่าไร้เหตุผลนั้น มันอาจจะเป็นสิ่งที่ “สมเหตุสมผล” มากที่สุดก็เป็นได้

นักวิชาการด้านมานุษยวิทยาที่ลงพื้นที่ไปทำการศึกษาความคิดความเชื่อของคนพื้นเมืองในดินแดนต่างๆ ทั่วโลก มีคำอธิบายว่าทำไมคนพื้นเมืองจึงบูชาผี หรือพยายามรักษาโรคระบาดด้วยการบวงสรวงหรือร้องรำทำเพลงให้เทวดาดู

เหล่านี้ไร้สาระ งมงาย หรือมีชุดความคิดที่ทำงานอย่างเป็นระบบรองรับอยู่หรือไม่?

จากนั้นเราจึงเห็นคนมาศึกษาเรื่องผี เรื่องการไหว้ผี เรื่องคนทรง เรื่องหมอดู เรื่องลัทธิพิธีต่างๆ เพื่อจะบอกว่า คนพื้นเมืองไม่ได้โง่ และความงมงายของเขาก็ไม่ได้ไร้สาระ

บ้างก็ไปไกลถึงขั้นไปดูว่า พิธีกรรมที่ดูเหมือนงมงายต่างๆ เหล่านี้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองของผู้ถูกกดขี่อย่างไร หรือความเชื่อเรื่องผีของชนเผ่าต่างๆ มีบทบาทในการช่วยอนุรักษ์ป่าและสิ่งแวดล้อมอย่างไร บ้างก็สามารถอธิบายความเชื่อเหล่านี้จะช่วยผดุงความเข้มแข็ง สายสัมพันธ์ของคนในชุมชนเอาไว้อย่างไรด้วย

มากไปกว่านั้นยังมีการอธิบายอีกว่า คนที่น่าสงสารมากที่สุดอาจจะเป็นกลุ่มคนที่ไม่เชื่อในอะไรเลย คนสมัยใหม่ คนที่งมงายในวิทยาศาสตร์ คนที่ไม่เชื่อในพระเจ้า คนเหล่านี้น่าเคว้งคว้าง โดดเดี่ยว เปลี่ยวเหงา

เป็นปัจเจกที่เสพความหว่องและอ้างว้างเป็นอาหาร

หรือในอีกทางหนึ่ง คนที่ไม่เชื่อในอะไรเลยเหล่านี้ก็ถูกอธิบายว่า อ๋อ สิ่งที่มาแทนที่ความศรัทธาหรือศาสนาของคนเหล่านี้คือลัทธิบริโภคนิยมยังไงล่ะ

เพราะพวกเขาไม่เชื่อในพระเจ้า ไม่มีศาสนา ไม่เชื่อในลัทธิผีสางใดๆ คนเหล่านี้จึงต้องยึดโยงตัวเองไว้กับความสามารถในการบริโภค ห้างสรรพสินค้าคือมหาวิหาร สินค้าแบรนด์เนมคือรูปเคารพ ดีไซเนอร์คือศาสดา

ช่างน่าสมเพชจริง

หนีจากศาสนาไปก็ต้องไปหาความสุขจากการใช้เงิน ซื้อๆๆๆ เพื่อมาถมช่องว่างในใจที่อ้างว้างนั้น หากยังไม่สาแก่ใจในการประณามคนไม่มีศาสนา ก็อาจสามารถยกตัวอย่างให้หนักแน่นขึ้นได้อีกว่า ดูประเทศที่คนไม่มีศาสนาอย่างประเทศญี่ปุ่นสิ อัตราคนฆ่าตัวตายสูงอันดับต้นๆ ของโลกเลยนะ เห็นไหม ความเจริญทางวัตถุนั้นช่วยอะไรไม่ได้เลย

น่าสนใจไปกว่านี้ ฉันยังพบว่า ยิ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว และยิ่งถ้าเป็นปัญญาชนแบบล้ำๆ คูลๆ ในสมัยนี้ หากคุณทำตัวเป็นผู้นิยมยกย่องในศาสตร์ความเชื่อลี้ลับ เรื่องผีสาง และสามารถหาเหตุผลจากความไร้เหตุผล (มองจากมุมวิทยาศาสตร์) เหล่านี้จะทำให้คุณดูเท่อย่างยิ่ง

เพราะมันแสดงให้เห็นว่าคุณเป็นปัญญาชนที่ไม่ดูถูกชาวบ้าน คนจน คนพื้นเมือง

มิหนำซ้ำ คุณยังมีองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ ปรัชญา การเมือง ศาสนา มานุษยวิทยา วรรณกรรม สารพัดสิ่งในการทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้

และเขียนเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ออกมาให้กลายเป็นงานวิชาการที่สามัญชนที่ไหนก็อ่านไม่รู้เรื่อง (มีแต่คนที่มีความรู้และมีการศึกษาที่ดีเกินมาตรฐานมากๆ เท่านั้นที่อ่านรู้เรื่องและเข้าใจว่าทำไมคุณจึงเห็นคุณค่าแห่งการนับถือผี และเรื่องผีๆ ของชาวบ้านทั้งปวง)

ในระดับที่น่ารักลงมาหน่อย ก็จะมาพบกันตรงพื้นที่ของสิ่งที่เรียกว่า “พหุวัฒนธรรมนิยม” นั่นคือ คนที่ศิวิไลซ์แล้ว ย่อมโอบกอดความแตกต่างหลากหลายของความคิด ความเชื่อ ความศรัทธา เราไม่เชื่อในคนทรง หมอผี ก็ไม่จำเป็นต้องไปดูถูก เหยียดหยามคนที่เขาเชื่อ – นี่ไง สังคมที่เต็มไปด้วยความแตกต่าง หลากหลาย และการยอมรับ “ความต่าง”

ขอบคุณภาพจาก : เฟซบุ๊กแฟนเพจ “ญี่ปุ่นเบาเบา”, Chanelnews Asia

ปรากฏการณ์เด็กติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนล่าสุดนั้น มีดีเบตกันอย่างหลายระดับมากเกี่ยวกับความเชื่อ vs วิทยาศาสตร์ อีกทั้งการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อว่า นำเสนอในมิติเกี่ยวกับความเชื่อ มิติลี้ลับมากเกินไปหรือเปล่า โดยเฉพาะในช่วงแรก

จนกระทั่งสำนักข่าวต่างประเทศเริ่มนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะทางกายภาพและภูมิศาสตร์ของถ้ำอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ทำให้คนไทยเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น

เด็กเข้าไปติดอยู่ในนั้นเพราะอะไร มีปริมาณน้ำเท่าไหร่

ปริมาณฝนที่ตกและกำลังจะตก จะส่งผลต่อชีวิตของเด็กที่ติดอยู่ข้างในอย่างไร

บทบาทของผู้เชี่ยวชาญเรื่องการกู้ภัยในถ้ำเป็นอย่างไร การทำงานของเขาอยู่บนหลักการอะไร

นักดำน้ำธรรมดาต่างจากนักดำน้ำในถ้ำอย่างไร

เครื่องไม้เครื่องมือที่เราต้องการมีอะไร ทำไมต้องดำน้ำ ทำไมไม่เจาะหาโพรงถ้ำ ฯลฯ

จากนั้นโฉมหน้าของผู้เชี่ยวชาญ ทีมงานต่างๆ อีกทั้งงานอินโฟกราฟิกเชิงภูมิศาสตร์ก็เริ่มปรากฏในสื่อแทนที่โฉมหน้าคนทรงและหมอดูทั้งปวง จนเราเริ่มเข้าใจตรงกันว่า พิธีกรรม ความเชื่อนั้นช่วยเรื่องกำลังใจ และองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญทั้งปวงที่จะช่วยชีวิตเด็กทั้งสิบสามคนคือความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

หลังจากนี้เมื่อทุกอย่างกลับคืนสู่สภาวะปกติ ฉันก็ได้แต่หวังว่า เราจะมีความรักในความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รักในสังคมที่ให้คุณค่าแก่ความรู้มากกว่าความเชื่อ

อย่างน้อยๆ รักมันเท่าๆ กับที่รักในโลกลี้ลับบ้างก็คงจะดี