ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 กรกฎาคม 2561 |
---|---|
เผยแพร่ |
อาทิตย์ละมื้อ / “คนข้างครัว”
สังขยาใบเตย
สังขยา ของหวานที่หลายๆ คนชื่นชอบ
สังขยาเป็นที่นิยมในประเทศต่างๆ แถบอุษาคเนย์ สังเกตได้จากวัตถุดิบ เป็นวัตถุดิบหาได้ง่ายในภูมิภาคนี้ นั่นคือ ไข่ น้ำตาล กะทิ
โดยคำว่าสังขยาน่าจะมีที่มาจากภาษมลายู คือคำว่า กายา (Kaya) หรืออินโดนีเซียคือ ศรีกายา (Serikaya) ซึ่งมีความหมายว่า ร่ำรวย
เวลาเราพูดถึงสังขยาหลักๆ แล้วก็จะมีอยู่ 2 ชนิดที่เรานิยมกินกัน
ชนิดแรกเป็นสังขยาที่กินคู่กับข้าวเหนียวมูนหรือใส่ฟักทองแล้วนำไปนึ่ง
สันนิษฐานว่าเป็นหนึ่งในขนมที่ได้รับอิทธิพลมาจากโปรตุเกส
ส่วนอีกชนิดคือ “สังขยาใบเตย” ที่กินกับขนมปังนึ่ง นิยมกินกันเป็นอาหารว่าง นุ่มละมุนลิ้น เด็กกินได้ ผู้ใหญ่กินยิ่งดี
ว่าแล้วต้องลองมาทำกินกัน รับรองว่าไม่ยาก
ส่วนผสม
น้ำตาลทราย 250 กรัม, แป้งสาลี 30 กรัม, แป้งข้าวโพด 25 กรัม, นมข้นจืด (หรือนมสด) 200 กรัม, กะทิ 100 กรัม, ไข่ไก่ 2 ฟอง, ใบเตย ประมาณ 5 ใบ, เกลือ 1/2 ช้อนชา
วิธีทำ
- ล้างใบเตยให้สะอาด จากนั้นนำมาหั่นเป็นท่อน แล้วใส่เครื่องปั่น เติมน้ำเปล่าลงไป ปั่นให้ละเอียด เสร็จแล้วนำมาคั้นและกรองน้ำใบเตยออกมาให้ได้น้ำใบเตยเข้มข้น 3-4 ช้อนโต้ะ (ถ้าใครไม่มีเครื่องปั่นให้นำไปโขลกในครกให้ละเอียด)
- ตอกไข่แล้วนำไปตีให้เข้ากัน จากนั้นใส่น้ำใบเตยคั้น แป้งสาลี แป้งข้าวโพด น้ำตาล นมสด เกลือ กะทิ ลงไป คนให้เข้ากัน (ระวังอย่าให้ส่วนผสมจับตัวเป็นเม็ด)
- จากนั้นนำส่วนผสมที่คนเข้ากันแล้วมาอุ่นในกระทะ โดยเติมน้ำเปล่าลงไป คนไปเรื่อยๆ จนตัวสังขยาข้นเนียนเป็นเนื้อเดียวกันแล้วยกลง เติมนมข้นจืดลงไปเพิ่มความมันให้กับชีวิต
จากนั้นถึงเวลาฟินกับความอร่อย