อภิญญ ตะวันออก : จากมูโอต์ถึงไลด้า และการมาถึงของสหัสวรรษ

ตั้งแต่ไลดาร์ (LIDAR) กลายมาเป็นเครื่องมือของชนยุคใหม่สหัสวรรษ (มิลเลนเนียม)

และด้วยประสิทธิภาพการบันทึกเป็นวินาทีของเครื่องเจ้านั่น มันเกือบจะกลายเป็นมนตรา ที่ทำให้เราเชื่อว่า ห่างไปจากพระนครธมแห่งเสียมเรียบราว 40 กิโลเมตร ขึ้นไปทางเหนือและเข้าไปในป่าทึบแห่งเทือกเขาพนมกุเลน เราก็จะได้พบกับอาณาจักรแห่งยุคกลางอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งมหัศจรรย์และเก่าแก่กว่าถึง 300 ปี

อีกทั้งยังมีขนาดของพื้นที่ที่ช่างมเหนทรฤทธา (หรือมหึมากว่ามาก) จนยากจะเชื่อว่าถูกสร้างมาด้วยน้ำมือมนุษย์

เรื่องเกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อน นำโดยนักโบราณคดีแห่งมหาวิทยาลัยออสเตรเลีย ดร.ดาเมียน อีแวนส์ แน่นอนเมื่อข่าวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปย่อมสร้างความตื่นเต้น ปีติต่อการค้นพบ ต่อโบราณสถานยุคกลางที่เก่าแก่ราว 1,000 ปีก่อน ณ พิกัดอันยากต่อการค้นหา ต่ออาณาจักรซึ่งมีนามอันไพเราะว่า “มเหนทรบรรพต”

ทว่าอย่างที่ทราบ เมื่อมันกลายเป็นการค้นพบ (ครั้งใหญ่) ของนักวิทูกลุ่มหนึ่งไปแล้ว

จึงไม่แปลกเลยที่จะมีชนวิทูอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่ดำรงสถานะของงานวิจัยและความเชื่อไปกับองค์ความรู้เก่าในหมู่นักวิทูยุคก่อน โดยมีอาณาจักรยุคกลางอย่างนครวัด-นครธม ที่น่ามหัศจรรย์เป็นศูนย์กลางของการค้นคว้า จนกลายเป็นตรรกะทางทฤษฎี ที่ส่วนใหญ่โดยสำนักฝรั่งเศส และเป็นที่ทราบกันว่ามักเป็นวรรณะของชนผู้สร้าง เช่น บทปริเฉกว่า การถือกำเนิดของกษัตริย์ ลัทธิพราหมณ์ และความเชื่อที่นำไปสู่พิธีกรรมแห่งการสร้างปราสาทหิน

แต่การมาของไลดาร์ไม่ได้ตอบสนองความหมายในเชิงดังกล่าว ตรงกันข้ามดูเหมือนไลดาร์จะทำให้เกิดการค้นหาเรื่องเล่าชุดใหม่ ว่าด้วยการดำรงอยู่รอดของเมือง (ที่เคยขยายออกไปอย่างไพศาล) และการสูญสิ้นอย่างปาลาสนาการของเมืองดังกล่าวในกาลต่อมา

นี่คือทฤษฎีและงานวิจัยชิ้นใหม่ของนักโบราณวิทยาแห่งยุคสหัสวรรษ ที่แตกต่างจากสมมติฐานเดิม อันเกี่ยวกับสงคราม การรุกรานของอาณาจักรอื่นซึ่งทำให้อาณาจักรแห่งเมืองพระนครหลวง (นครธม) ล่มสลาย และสาบสูญหายไปชั่วกาลหนึ่ง

แต่สำหรับเครื่องมืออย่างไลดาร์ที่สามารถจะสแกนพื้นที่ในทุกๆ 4 วินาที ที่เจ้าเครื่องมือวิเศษนี้จะทะลุทะลวงผ่านพื้นดินแผ่นน้ำ โพรงไพรเสาปราสาทหินและอื่นๆ ที่มันจะบันทึกออกมาราวกับแซะซอนลงไปในโพรงพฤกษ์ไพร ก่อนที่จะสะท้อนกลับมาเป็นมวลข้อมูลของไฟล์ภาพอันมากมาย และภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ประมวลผลออกมาในลักษณะ 3 มิติ ประกอบด้วยสิ่งปลูกสร้างอันสุดมหัศจรรย์ โอบล้อมไปด้วยคูน้ำที่มีความยาว 6 กิโลเมตร และกินพื้นที่กว่า 22 ตารางกิโลเมตร

และครั้งหนึ่งในยุคที่เรืองด้วยอำนาจมากที่สุด ความยิ่งใหญ่ของเมืองนี้เคยขยายตัวออกไปถึง 1,000,000 ตารางกิโลเมตร

ด้วยการตีกรอบของไลดาร์กับสมมติฐานใหม่ที่อาศัยข้อมูลแบบภาพ 3 มิติ ที่มีส่วนหลักในการวางข้อสันนิษฐานเชิงสถาปัตย์ทั้งส่วนในและส่วนนอกของอาณาจักรแห่งยุคกลางที่กว้างใหญ่ในเชิงเปรียบเทียบ แบบเดียวกับมหานครทั้งหลายในศตวรรษที่ 21 กรุงนิวยอร์ก หรือกรุงลอนดอน ที่ถูกนำไปคำนวณพลเมืองประชากรของเมืองพระนคร (แห่งศตวรรษที่ 12) ว่าน่าจะมีอัตราส่วนประมาณใด?

เป็นตัวเลขผกผันที่น่าทึ่งและชวนให้ฉงนว่า เหตุใดกษัตริย์ผู้ครองนครและชนใต้อำนาจจึงสละทิ้งเมือง และสูญไปอย่างไร้ร่องรอย

 

แรกเลยฉันเหมือนกับถูกปลุกให้ตื่นไม่ต่างจากการดูไลฟ์สดของชาวสหัสวรรษ/2018 ที่เต็มไปด้วยวิธีการเล่าเรื่อง บ้างก็พิสดาร บ้างก็คล้ายกับว่าสิ่งเสมือนจริงเหล่านั้นช่างมีแต่ความเร้าใจ

แบบเดียวกับไลดาร์และการค้นพบอาณาจักรยุคกลางแห่งใหม่หรือ “มเหนทรบรรพต” นั่น

แต่พลัน ฉันก็ให้รำลึกถึงอ็องรี มูโอต์ (Henri Mouhot) นักสำรวจและนักธรรมชาติวิทยา และครั้งหนึ่งเขาเคยมีฐานะเป็น “ผู้ค้นพบนครวัดครั้งใหม่” เช่นกัน

แม้อ็องรี มูโอต์ จะไม่ใช่ไลดาร์ แต่การที่เขาเป็นนักการศึกษาและผู้ชำนาญในศาสตร์หลายแขนง ทั้งภาษาศาสตร์ การวาดภาพ นักปักษีและเปลือกหอยวิทยา นักมานุษยวิทยาและธรรมชาติวิทยา ซึ่งเขาได้ใช้มันทั้งหมดต่อการสำรวจสยาม-กัมพูชา (นครวัด/นครธม) ตลอดการเดินทางอันยาวนาน 15 เดือนนั้น ช่างเป็นมิติมหัศจรรย์อย่างมากต่อการสำรวจที่กว้างขวางของเขา ตลอดการเดินทางทั้งหมด 4 ครั้งระหว่างปี พ.ศ.2401-2404

ทั้งหมดนี้อยู่ในหนังสือ “บันทึกการเดินทางในสยาม กัมพูชาและลาว” ที่ไม่ได้สร้างความตกตะลึงแก่ชาวตะวันตกเท่านั้น

แต่ยังกลายเป็นมนตราวิทยาการที่เมลืองมลังอย่างมากต่อคนท้องถิ่นอย่างฉันอีกด้วย

ทั้งนี้ ขอเรียนว่า การมาถึงของไลดาร์และนักสำรวจยุคหลังอ็องรี มูโอต์ ถึง 160 ปีนั้น กล่าวกันว่า คณะสำรวจแห่งสหัสวรรษใหม่ที่อาศัยไลดาร์เพียง 5 ชั่วโมงเท่านั้น ก็สามารถรวบรวมข้อมูลมณฑลแห่งปราสาทนครวัด/นครธม เช่นเดียวกับมเหนทรบรรพตแห่งป่าพนมกุเลน

นับเป็นการไล่ล่าอาณาจักรยุคกลางทั้ง 3 ที่ยากต่อความเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ในอดีต

แต่ประหลาด ขณะที่อ็องรี มูโอต์ สามารถส่งต่อองค์รวมแห่งความรู้ต่อมวลมนุษยชาติอย่างลึกซึ้งตลอด 150 ปีแห่งการศึกษาขอมวิทยาที่ยังเต็มไปด้วยแง่มุมวิจัยในแขนงต่างๆ

นักสำรวจยุคใหม่ซึ่งมีไลดาร์เป็นเครื่องมือสำคัญ กลับขาดความลุ่มหลงที่จะไปให้ถึงซึ่งค้นพบตามข้อสมมติฐานที่ตั้งไว้

ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังคล้ายกับเคลื่อนความสนใจไปตามปัจจัยของไลดาร์เป็นตัวตั้ง เช่น การคำนวณขนาดอันมหึมาของมเหนทรบรรพต และสมมติฐานใหม่ที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวนำพา

เทียบกับอ็องรี มูโอต์ นักสำรวจผู้โดดเดี่ยวและไม่เคยรับรู้ในความสำเร็จของตน แต่ผลงานที่แลกด้วยชีวิตของเขา กลับก่อให้เกิดแรงบันดาลใจต่อนักวิจัยในรุ่นต่อๆมา อีกจำนวนมาก เริ่มจากความคลั่งไคล้อย่างทั่วไปจนกลายเป็นภาคส่วนของความกระหายใคร่รู้ ต่ออารยธรรมอุษาคเนย์ที่อ็องรี มูโอต์ ทิ้งไว้ต่อชาวโลก

ใช่แต่ความลึกลับมหัศจรรย์ของเมืองพระนครที่ถูกเผยแพร่ออกไปเท่านั้น แต่มันยังก่อให้เกิดวิทยาการก้าวหน้าทุกๆ ด้านต่อมา ทั้งแขนงศาสตร์สถาปัตยกรรม โบราณวิทยา การแผนที่และอื่นๆ ตลอดจนแม้แต่ลัทธิการเมืองแห่งอาณานิคม

เช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของสถาบันวิจัยและการศึกษา เช่น โรงเรียนฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ

เมื่อเทียบกับไลดาร์ที่เปรียบเสมือนตัวแทนของ AI แห่งอนาคตกาล (และแห่งสหัสวรรษนี้) อ็องรี มูโอต์ คือตัวแทนของความเป็นมนุษย์ (ที่กำลังถูกลืม) ต่อความสำเร็จที่เกิดจากสติปัญญา ความมุ่งมั่น ความเป็นมนุษย์ตัวเล็กๆ ที่พร้อมจะแลกต่อสรรพศาสตร์อันยิ่งใหญ่ในธรรมชาติแห่งโลกใบนี้

ขณะที่การมาของ “ไลดาร์” เกือบจะทำให้เราเชื่อต่อ “ความก้าวหน้าวิทยาการของศตวรรษที่ 21”

ทว่าด้านหนึ่ง กลับเป็นเรื่องแปลกที่ว่า การค้นพบอาณาจักรมเหนทรบรรพต กลับไม่ส่งผลต่อองค์ความรู้ที่มีจากการสำรวจครั้งนี้อย่างที่คาดหวัง

เกินกว่าจะเชื่อว่า นี่เป็นยุคชาวมิลเลนเนียนที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี แต่เหตุใดเล่าที่การค้นพบดังกล่าวกลับเต็มไปด้วยคำถามแห่งความสงสัย ไม่ต่างจากผลิตกรรมสื่อออนไลน์ ที่เต็มไปด้วยการสร้างกระแส

 

นี่เองที่ฉันเฝ้าแต่สงสัย และกลับไปหาคำตอบอ็องรี มูโอต์ ในคราที่ลูบคลำหนังสือของเขา (*)

ในยามที่จ้องดูภาพประกอบเหล่านั้น เช่น ภาพของ “รอแทะ/เกวียน” ที่มีลักษณะเหมือนเปลือกหอย และภาพระยะไกลของหมู่ควายกระบือเล็กๆ ที่มีมีรูปลักษณ์เหมือนสัตว์แรด

ต่องานอันคุณค่าที่เกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศแห่งความยากลำบากของมรสุม สัตว์ป่า ยุงร้าย ฤดูกาล ไข้มาลาเรีย และคบไฟสลัวรางตลอดการเดินทางของอ็องรี มูโอต์ นี้

มีบันทึกตอนหนึ่งของเขากล่าวตายอย่างน้อมรับ เพียงเพื่อจะประจักษ์ว่า เขาปรารถนาจะขอแลกกับมันด้วยกระดาษทั้งหมดที่มีอยู่ เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่เขาบันทึกไว้ จะเดินทางไปสู่ผู้รอคอย ณ เบื้องหลัง

—————————————————————
(*) “บันทึกการเดินทางในสยาม กัมพูชาและลาวและอินโดจีนตอนกลางส่วนอื่นๆ”, กรรณิกา จรรย์แสง แปล, สนพ.มติชน
อัญเจีย-บันทึกมูโอตา
https://goo.gl/images/TM8LfM
อัญเจีย-ภาพถ่ายทางอากาศ-เครดิต : ดาเมียน อีแวนส์
อัญเจีย3 เครดิต : blogs.bl.uk
อัญเจีย4 เครดิต: www.pinterest.com