วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์/ยุคคณะราษฎร : โมเดิร์นที่หายไป (2)

วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์

 

ยุคคณะราษฎร

: โมเดิร์นที่หายไป (2)

 

ในนิทรรศการ “ของ(คณะ)ราษฎร” มีวัตถุที่สะท้อนยุคสมัยและความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ทั้งในด้านชาติ ภาษา เครื่องแต่งกาย และอาหารการกิน หนึ่งในนั้นคือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และสิ่งพิมพ์ ซึ่งก่อให้เกิดความคิดและการรวมกลุ่ม

 

สยามมีหนังสือพิมพ์มานานแล้ว แต่ที่น่าสนใจคือ การพาดหัวหนังสือพิมพ์โดยใช้ตัวพิมพ์ขนาดใหญ่ ซึ่งใหม่มากในยุคนั้น

ตัวพาดหัวเปลี่ยนแนวทางการออกแบบ คือเน้นเส้นตั้งมากกว่าเส้นนอน ถือเป็นการเริ่มต้นของวิธีการอ่านแบบใหม่คืออ่านในใจ ซึ่งใช้ตามากกว่าหู และพัฒนามาจนถึงทุกวันนี้

และเนื่องจากเป็นตัวพาดหัวที่ใช้กันมาก ในบทความของผู้เขียน (โป้งแซ : ตัวพิมพ์ปฏิวัติ, มติชนสุดสัปดาห์ 2553) จึงเรียกโป้งแซว่าเป็นตัวพิมพ์ปฏิวัติ

ที่น่าสนใจอีกอันคือ ตัวประดิษฐ์ หรือตัวเหลี่ยม ซึ่งปรากฏบนปกของนิยายสิบสตางค์ในยุค 2470 ตัวเหลี่ยมเน้นเส้นที่ตรงและหนา และให้เส้นนอนมีอิทธิพลมาก

พูดอีกอย่าง มีหลักการเดียวกับตัวละตินแบบไม่มีเชิง (serif) ซึ่งเพิ่งจะเป็นที่นิยม ใน Darkest Hour (2017) ตัวนี้จะปรากฏในแผนที่รถไฟใต้ดินของลอนดอน ในฉากที่ตัวเอกลงไปสถานีเป็นครั้งแรก

ในขณะเดียวกัน การมีผิวหน้าที่เรียบเกลี้ยง และใช้เส้นตรงและโค้งมาก บอกว่าตัวเหลี่ยมได้รับอิทธิพลจากอาร์ตเดโค หรือสไตล์หนึ่งของโมเดิร์นดีไซน์ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการออกแบบวัตถุสิ่งของ ภาพวาด และแฟชั่น ทั้งในสยามและทั่วโลก (ตัวเหลี่ยม : อัตลักษณ์ความทันสมัย, มติชนสุดสัปดาห์ 2558)

 

 

มองลึกลงไป นอกจากสิ่งพิมพ์จะก่อให้เกิดความคิดและการรวมกลุ่มแล้ว รูปภาพ ดีไซน์ และแบบของตัวพิมพ์ ยังชวนให้คิดถึงบริบทหรือวาทกรรมอื่นๆ ด้วย เช่น บทบาทของชาตินิยม

เคยมีคำอธิบายว่าการปฏิวัติครั้งนั้นเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือไม่ก็ความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ในระบบราชการ แต่นักวิชาการ เช่น คริส เบเกอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร ผู้เขียนประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย และ Matthew Phillip Copeland ผู้เขียน Contested Nationalism and the 1932 Overthrow of the Absolute Monarchy in Siam ชี้ว่าประเด็นสำคัญคือ “ชาตินิยม” ซึ่งกำลังแผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วโลก ได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทเหนือความคิดอื่นๆ

สยามยุคนั้นมีชาตินิยมหลายแบบ เช่น ชาตินิยมของราชสำนัก ซึ่งหมายถึงเจ้านาย ขุนนางและข้าราชการบางส่วน และของคนชั้นกลางในเมือง อันได้แก่ ข้าราชการบางส่วน พ่อค้า และปัญญาชน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงเกิดจากความขัดแย้งระหว่างชาตินิยมของกลุ่มเหล่านี้

ที่น่าสนใจคือ ในยุคที่ชื่อประเทศยังเป็นสยาม คนบางกลุ่มจะนิยมคำว่าไทย โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้าจีน ซึ่งเรียกตนเองว่าพ่อค้าไทย เพื่อบอกว่าตนเองไม่ได้เป็นทั้งสยามและจีน (นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ชาติ “ไทย” ที่เจ๊กสร้าง มติชนสุดสัปดาห์ 24 ก.พ.-2 มี.ค. 2560)

ตัวเหลี่ยมของคณะราษฎรปรากฏในหลัก 6 ประการคือ เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา และถูกใช้บ่อยๆ แต่ที่สำคัญคือในไทยใหม่ หนังสือพิมพ์ที่มีเจ้าของคือพ่อค้า “ไทย” คือ นายเอก วีสกุล และนายเล็ก โกเมศ เป็นเจ้าของ

ไทยใหม่มีบทบาทวิจารณ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบรัฐสภาอย่างแข็งขัน ต่อมามีนิตยสารในเครือ เช่น ไทยใหม่วันอาทิตย์ และไทยใหม่วันจันทร์ ซึ่งปรับปรุงรูปแบบให้สวยงามอยู่เสมอ

ที่น่าสนใจคือหัวของไทยใหม่วันจันทร์ ซึ่งเรียงตัวเหลี่ยมเป็นเส้นรอบวง วางไว้มุมซ้ายบนของปก การเปลี่ยนจากตัวริบบิ้นหรือนริศมาเป็นตัวเหลี่ยม บอกทิศทางการพัฒนาของอักษร ในแง่เครื่องมือของช่างวาดคือเปลี่ยนจากพู่กันแบนมาเป็นปากกา หรือใช้ตัวเหลี่ยม ที่ตรง หนา และมีการลดทอน เพื่อเพิ่มความทันสมัยให้แก่หนังสือ

ตัวเหลี่ยม ในฐานะที่เป็นตัวแทนของยุค จึงเรียกได้ว่าเป็นตัวพิมพ์ยุคโมเดิร์น หรือ “ไทยใหม่”

 

ปีพ.ศ.2482 เมื่อก้าวเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง สยามเข้าข้างฝ่ายอักษะ ซึ่งหมายถึงญี่ปุ่น เยอรมนีและอิตาลี และประกาศสงครามกับฝ่ายตรงข้ามคือสัมพันธมิตร

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ออกนโยบาย “รัฐนิยม” (Statism) ซึ่งเป็นส่วนผสมของชาตินิยมกับรัฐทหาร ซึ่งกำลังเฟื่องฟูในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น

ด้านหนึ่ง รัฐนิยมคือชาตินิยมที่เน้นความเสมอภาค มีการเร่งสร้างประเพณีใหม่ๆ และใช้สไตล์ที่บอกว่าเรากำลังพัฒนาไปสู่ความทันสมัย

แต่อีกด้านหนึ่ง รัฐนิยมคือลัทธิทหารที่ส่งเสริมระเบียบวินัยและความเลื่อมใสในผู้ปกครอง และทำให้ความเป็นไทยถูกกำหนดอย่างตายตัว

นอกจากนั้น ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง รวมทั้งคนต่างชาติต่างภาษา

คำว่าไทยทวีความสำคัญมากขึ้น ในช่วงนี้ตัวพิมพ์ที่เคยเป็นอัตลักษณ์ไทยใหม่เข้า “รับราชการ” หรือถูกรัฐบาลนำไปใช้เป็นตัวแทนของประเทศ และเป็นมาตรฐานในสิ่งพิมพ์มากมาย ตัวอย่างได้แก่หนังสือที่ออกในงานรัฐธรรมนูญ ในช่วงปี พ.ศ.2482-2484 ซึ่งทำหน้าที่คล้ายรายงานประจำปีของรัฐบาล คำว่า “ไทย” ที่อยู่บนปกบอกความแข็งแรงและสง่างามด้วยตัวเหลี่ยม เช่น “ไทยในสมัยสร้างชาติ” และ “ไทยในสมัยปัจจุบัน”

อีกตัวอย่างคือ “สร้างตนเอง” นิตยสารของรัฐบาล บนปกฉบับมกราคม พ.ศ.2485 คำว่า “สร้างตนเอง” เกิดจากการแกะสลักของชายคนหนึ่งซึ่งใช้ค้อนและสิ่วเป็นเครื่องมือ เสื้อผ้าและพื้นหลังที่เป็นไร่นาและภูเขาบอกว่าเป็นชาวชนบท

ปกบอกว่าคำนี้สัมพันธ์กับชีวิตชาวบ้านและอักษรซึ่งเป็นตัวเหลี่ยม

ทำหน้าที่บอกความแข็งแรงและทันสมัยของแนวทางดังกล่าว

“สร้างตนเอง” ทำหน้าที่โฆษณานโยบายต่างๆ ของรัฐ เช่น สนับสนุนให้คนไทยทำการค้าขาย ทำสวนครัวในบ้าน กินก๋วยเตี๋ยว และส่งเสริมบทบาทของผู้หญิง ฯลฯ เมื่อมาถึงกลางปี พ.ศ.2485 ได้กลายเป็น

“ส้างตนเอง”