ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 กรกฎาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | คลุกวงใน |
ผู้เขียน | พิศณุ นิลกลัด |
เผยแพร่ |
สำหรับนักฟุตบอลอาชีพ การได้แชมป์กับสโมสรฟุตบอล 3 สมัย 5 สมัย ก็ไม่ยิ่งใหญ่เท่ากับมีชื่อในประวัติศาสตร์ว่าเป็น 1 ในผู้เล่นทีมที่ได้แชมป์ฟุตบอลโลก เพราะการแข่งขันฟุตบอลโลก 4 ปีมีครั้งเดียว
ถ้าพลาดปีนี้ก็ไม่มีอะไรมารับรองว่าอีก 4 ปีข้างหน้าจะมีโอกาสได้กลับมาแก้ตัวอีก
ดังนั้น การได้แชมป์ฟุตบอลโลกเพียงหนึ่งครั้งก็เป็นความภาคภูมิใจไปตลอดชีวิต
นอกจากเป็นการแข่งขันเพื่อเกียรติประวัติแล้ว เงินรางวัลของการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ก็มหาศาลเย้ายวนใจสมาคมฟุตบอลทุกประเทศทั่วโลก
เมื่อปี 2017 สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) แถลงว่า 32 ประเทศที่ผ่านการคัดเลือกได้เข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลโลกที่รัสเซีย จะได้รับเงินส่วนแบ่งจากเงินรางวัลทั้งหมด 400 ล้านดอลลาร์ (13,300 ล้านบาท) ตามผลงานที่แต่ละทีมทำได้ในการแข่งขันที่กินเวลา 1 เดือน
ทีมยิ่งเข้ารอบลึก ยิ่งได้เงินเยอะ
โดยเริ่มจากเงินก้อนแรก…
ทั้ง 32 ทีมที่ได้เข้าไปเล่นในรอบแบ่งกลุ่มที่รัสเซีย จะได้เงินค่าบำรุงทีม ทีมละ 8 ล้านดอลลาร์ (266 ล้านบาท) เท่ากันทุกทีม
ถ้าผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย แม้เตะรอบน็อกเอาต์นัดแรกแพ้ตกรอบทันที ก็ยังได้เงินรางวัลเพิ่มอีกทีมละ 4 ล้านดอลลาร์ (133 ล้านบาท) รวมเป็น 12 ล้านดอลลาร์ (399 ล้านบาท)
ส่วนทีมที่ได้เข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย (Quarter-Final) แต่โดนเขี่ยตกรอบ จะได้เงินรางวัลทีมละ 16 ล้านดอลลาร์ (532 ล้านบาท)
สําหรับ 4 ทีมสุดท้าย เงินรางวัลแบ่งออกเป็น 4 กอง ดังนี้…
ทีมที่ได้อันดับ 4 (แพ้นัดชิงที่ 3) จะได้เงินรางวัล 22 ล้านดอลลาร์ (731 ล้านบาท)
อันดับ 3 จะได้เงินรางวัล 24 ล้านดอลลาร์ (798 ล้านบาท)
รองแชมป์ จะได้เงินรางวัล 28 ล้านดอลลาร์ (931 ล้านบาท)
และแชมป์ฟุตบอลโลก 2018 จะได้เงินรางวัล 38 ล้านดอลลาร์ (1,263 ล้านบาท)
เงินรางวัลส่วนนี้ของทั้ง 4 ทีม ยังไม่รวมเงินบำรุงทีมซึ่งทั้ง 32 ทีมที่ผ่านเข้าไปเล่นรอบสุดท้ายจะได้อีกทีมละ 1.5 ล้านดอลลาร์ (49.8 ล้านบาท) เท่ากับว่าแชมป์ปีนี้จะได้เงินรางวัลรวม 39.5 ล้านดอลลาร์ (1,313 ล้านบาท)
ในฟุตบอลโลก 2014 เงินรางวัลรวมของการแข่งขัน 358 ล้านดอลลาร์ (11,908 ล้านบาท) แชมป์คือทีมชาติเยอรมนี ได้เงินรางวัล 35 ล้านดอลลาร์ (1,164 ล้านบาท) อาร์เจนตินา รองแชมป์ได้ 25 ล้านดอลลาร์ (831 ล้านบาท)
อันดับ 3 คือทีมชาติเนเธอร์แลนด์ ได้เงิน 22 ล้านดอลลาร์ (731 ล้านบาท) ส่วนบราซิลอันดับ 4 ได้ 20 ล้านดอลลาร์ (665 ล้านบาท)
เงินรางวัลทั้งหมดทางฟีฟ่าจ่ายให้สมาคมฟุตบอลของแต่ละชาติหลังจบฟุตบอลโลก
ซึ่งนักฟุตบอลในทีมชาติจะได้เงินโบนัสอัดฉีดคนละเท่าไรขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทางสมาคมว่าคาดหวังผลงานมากน้อยขนาดไหน
บ่อยครั้งผู้จัดการของนักฟุตบอลก็มีส่วนเข้าไปช่วยเจรจาเรื่องเงินอัดฉีดด้วย
อย่างในปีนี้มีรายงานว่าทีมชาติอังกฤษของแกเร็ธ เซาธ์เกต จะได้รับเงินส่วนแบ่ง 5 ล้านปอนด์ (220 ล้านบาท) เป็นเงินอัดฉีดหากอังกฤษสามารถคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้เป็นสมัยที่ 2
เท่ากับว่านักเตะทีมชาติอังกฤษจะได้เงินอัดฉีดคนละ 215,000 ปอนด์ (9 ล้าน 4 แสนบาท)
ส่วนแชมป์เก่าเยอรมนี ที่ตกรอบแบ่งกลุ่มไปอย่างช็อกโลก ทางสมาคมฟุตบอลเยอรมนีตั้งเงินอัดฉีดไว้เลิศหรูว่า หากสามารถป้องกันแชมป์ฟุตบอลโลกไว้ได้ จะมอบเงินอัดฉีดรวม 8 ล้านยูโร (312 ล้านบาท) ถ้าแบ่งเป็นรายคนก็จะได้คนละ 350,000 ยูโร (13 ล้านบาท 6 แสนบาท)
แต่ถ้าได้รองแชมป์ ก็ยังได้คนละ 200,000 ยูโร (7 ล้าน 8 แสนบาท)
หากจบอันดับ 3 นักเตะทีมชาติเยอรมนีจะได้เงินอัดฉีดคนละ 150,000 ยูโร (5 ล้าน 8 แสนบาท) อันดับ 4 จะได้คนละ 125,000 ยูโร (4 ล้าน 8 แสนบาท)
หรืออย่างน้อยๆ ถ้าเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย ก็จะได้เงินอัดฉีดคนละ 75,000 ยูโร (2 ล้าน 9 แสนบาท)
แต่ผลปรากฏว่าทีมชาติเยอรมนีตกรอบแรก ไม่ได้เงินอัดฉีดตามที่สมาคมฟุตบอลเยอรมนีตั้งไว้