ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 กรกฎาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | เปลี่ยนผ่าน |
เผยแพร่ |
สำหรับศึกฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซียกับการเปิดศักราช-ทศวรรษใหม่ของวงการลูกหนังโลก เมื่อความสำเร็จมิได้ถูกผูกขาดอยู่กับยอดทีมอย่างเยอรมนีหรือสเปน และยอดนักเตะอย่างคริสเตียโน โรนัลโด้ หรือลิโอเนล เมสซี่
ท่ามกลางการเอาใจช่วยลุ้นว่าทีมใดจะคว้าแชมป์โลกประจำปีนี้ รายการ “ข่าวสด มติชน บอลโลก 2018” ที่เผยแพร่ทุกวัน เวลา 17.00 น. ผ่านทางเพจเฟซบุ๊กข่าวสดออนไลน์และมติชนออนไลน์ก็ดำเนินไปอย่างเข้มข้น
ตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา มีโมเมนต์น่าประทับใจเกิดขึ้นในรายการออนเพจดังกล่าวหลายต่อหลายครั้ง
เริ่มตั้งแต่การตกรอบแรกอย่างพลิกความคาดหมายของทีมแชมป์เก่า “เยอรมนี”
หลังความพ่ายแพ้ของพลพรรคอินทรีเหล็ก ทางรายการได้โฟนอินไปพูดคุยกับ “พล.อ.ท.นิกร ชำนาญกุล” เลขาธิการสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เจ้าของนามปากกา “ก.ป้อหล่วน” กูรูฟุตบอลเยอรมันเบอร์ต้นๆ ของเมืองไทย
มุมมองอานิกรมีทั้ง “จุดเหมือน” และ “จุดต่าง” กับแฟนบอลส่วนใหญ่
“จุดเหมือน” คือ กูรูบอลเยอรมันเห็นด้วยว่าการที่กุนซือ “โยอาคิม เลิฟ” หั่นชื่อ “เลรอย ซาเน่” แห่งแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ออกจากรายนาม 23 ขุนพลชุดลุยศึกบอลโลกนั้น ส่งผลให้เยอรมนีขาด “ตัวเปลี่ยนเกม” และ “ความหลากหลาย” ภายในทีม
“จุดต่าง” คือ ขณะที่หลายคนมองว่าเยอรมนีมีปัญหาเรื่องความเฉียบคมของแดนหน้า ก.ป้อหล่วน กลับชี้ว่าจุดอ่อนสำคัญของทีมอินทรีเหล็กชุดนี้อยู่ตรงนักเตะในแดนกลาง ที่ปั้นเกมและบัญชาการเกมไม่ได้ต่างหาก
เมื่อ “ตรงกลาง” พัง องค์ประกอบอื่นๆ จึงย่อยยับบุบสลายลงตามกัน
นอกจากนี้ อานิกรยังไม่เห็นด้วยที่เลิฟแต่งตั้ง “มานูเอล นอยเออร์” ผู้รักษาประตูจากบาเยิร์น มิวนิก เป็นกัปตันทีม เพราะผู้เล่นตำแหน่งโกล์นั้นอยู่ห่างไกลเหตุการณ์ต่างๆ ภายในเกม จนทำหน้าที่ “ผู้นำ” ไม่ได้
ในใจของคอลัมนิสต์อาวุโสผู้เป็นแฟนบอลเยอรมันพันธุ์แท้ เขาโหยหากัปตันอย่าง “สเตฟาน เอฟเฟนแบร์ก” หรือ “โลธาร์ มัตเธอุส” มากกว่า
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนบทสรุปที่นายพลทหารอากาศ-นักเรียนเก่าเยอรมันท่านนี้มีต่อ “ทีมชาติเยอรมนีชุดปี 2018” จะแตกต่างจากความเห็นของสหพันธ์ฟุตบอลเยอรมนีหรือเดเอฟเบอยู่พอสมควร
เพราะในขณะที่เดเอฟเบยืนกรานจะให้โยอาคิม เลิฟ ทำหน้าที่โค้ชทีมชาติต่อไป กระทั่งหมดสัญญาในปี 2022 ก.ป้อหล่วน กลับอ้างสุภาษิตเยอรมันที่ว่า “ไม้กวาดอันใหม่ ย่อมกวาดพื้นได้สะอาดกว่าอันเก่า”
ปรากฏการณ์สำคัญประการหนึ่งในบอลโลก 2018 ได้แก่ข้อเท็จจริงที่ว่าทีมซึ่งครองบอลเยอะกว่าอาจมิใช่ผู้ชนะเสมอไป ดังตัวอย่างของสเปนและเยอรมนี
ต่อประเด็นนี้ “โค้ชง้วน-สุรชัย จตุรภัทรพงศ์” อีกหนึ่งกูรูประจำรายการชี้ว่า ทีมที่ครอบครองบอลได้ดี ไม่จำเป็นจะต้องได้รับชัยชนะ เพราะแม้คุณอาจผ่านบอลได้หลายร้อยหรือถึงหลักพันครั้งต่อหนึ่งเกม แต่ถ้ายิงประตูไม่เข้า ทุกอย่างก็จบ
เกมสเปนแพ้รัสเซียตกรอบสองคือกรณีศึกษาที่ดีมากๆ
ในทางกลับกัน จะสังเกตว่าทีมที่เน้นการครองบอลมักพลาดท่าเสียทีแก่ทีมรอง ซึ่งวางแท็กติกลงมาเล่นเกมรับชนิดแน่นหนา
“โจนาธาน วิลสัน” คอลัมนิสต์กีฬาฟุตบอลชื่อดังระดับนานาชาติ อธิยายให้เห็นภาพชัดเจนว่า ทีมที่ชอบครองบอลเยอะและเพรสซิ่งสูงอย่างสเปนนั้น มักแพ้ทางทีมที่ใช้แผนการเล่น 3-5-2 ตลอดมา ตั้งแต่ชิลี ในปี 2014 อิตาลี ในปี 2016 รวมถึงรัสเซีย ในปี 2018
การวิเคราะห์ของวิลสันสอดคล้องกับโค้ชเตี้ย สะสม ที่ระบุถึงเทรนด์น่าจับตาในฟุตบอลโลกหนนี้ นั่นคือ การมี 2 ใน 4 ทีมสุดท้าย (อังกฤษและเบลเยียม) ซึ่งลงสนามโดยใช้เซ็นเตอร์แบ็ก 3 คน
ไม่ว่าทีมใดทีมหนึ่งจาก 2 ทีมนี้จะสามารถคว้าแชมป์โลกได้หรือไม่ แต่น่าเชื่อว่าระบบกองหลัง 3 ตัว อาจกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งหนึ่ง
อีกสีสันสำคัญในฟุตบอลโลกระยะหลังคือ การหาทีมชนะภายในระยะเวลา 90+30 นาทีไม่ได้ จนต้องดวลลูกโทษที่จุดโทษ
อย่างไรก็ตาม มีสื่อต่างชาติบางสำนักตั้งคำถามว่าโกล์หลายคนในบอลโลกคราวนี้ กำลังเซฟลูกจุดโทษอย่างผิดกติกาหรือไม่?
ตามกฎกติกาที่รับรู้ทั่วกันในการยิงลูกโทษที่จุดโทษ ผู้รักษาประตูจะต้องยืนหรือขยับร่างกายอยู่บนเส้นประตู และสามารถเคลื่อนตัวออกมานอกเส้นได้ ต่อเมื่อเท้าของผู้ยิงลูกโทษสัมผัสลูกฟุตบอลเรียบร้อยแล้ว
หากโกล์คนไหนขยับตัวออกมาจากเส้นก่อนเท้าคนยิงจะสัมผัสบอล และสามารถเซฟจุดโทษได้สำเร็จ ผู้ตัดสินจะต้องสั่งให้มีการยิงลูกโทษครั้งใหม่ พร้อมตักเตือนผู้รักษาประตูที่ละเมิดกฎการแข่งขัน
ดูเหมือนการละเมิดกติกาข้อนี้จะปรากฏให้เห็นในนัดรัสเซีย-สเปน และโครเอเชีย-เดนมาร์ก
ต่อคำถามดังกล่าว “โค้ชชัยยงค์ ขำเปี่ยม” อดีตนายทวารจอมเซฟจุดโทษยุค 90 และกูรูอีกคนของรายการ แสดงความเห็นว่า การดวลจุดโทษนั้นเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ ระดับชั่ววินาที ด้วยเหตุนี้ การพุ่งตัวออกมานอกเส้นโกล์ในจังหวะที่คนยิงลูกโทษกำลังง้างเท้า (ยังไม่เตะบอล) จึงกลายเป็นแบบฝึกหัดปกติของผู้รักษาประตูทั่วไป
เพราะถ้าขยับตัวออกจากเส้น หลังเท้าคู่แข่งสัมผัสบอล พวกเขาจะไม่มีทางเซฟจุดโทษได้ทัน
ดังนั้น ตราบใดที่โกล์ไม่ได้ขยับตัวออกมานอกเส้นอย่างรวดเร็วและโจ่งแจ้งจนเกินควร (ประเภทคนยิงกำลังวิ่งมา และเหลืออีกสองก้าวจึงจะถึงลูกฟุตบอล แต่คนเป็นผู้รักษาประตูดันพุ่งทะยานไปปิดมุมเรียบร้อยแล้ว) กรรมการมักผ่อนผันให้เกมดำเนินต่อ
ต่อคำถามเพิ่มเติมว่าควรนำเทคโนโลยีวีเออาร์มาตรวจสอบการยืนตำแหน่งของผู้รักษาประตูระหว่างรับจุดโทษด้วยหรือไม่?
โค้ชชัยยงค์ปฏิเสธไม่เห็นด้วยทันที เพราะเชื่อว่าวีเออาร์จะส่งผลให้การดวลจุดโทษยืดเยื้อ ขัดอารมณ์คนดู และเปลี่ยนการแข่งขันฟุตบอลให้กลายเป็นเกมเทคโนโลยีสมบูรณ์แบบ ซึ่งสูญเสียความเป็นธรรมชาติลงอย่างสิ้นเชิง
เหล่านี้คือสีสันตามรายทางที่ปรากฏในรายการ “ข่าวสด มติชน บอลโลก 2018”